Skip to main content
sharethis


ประชาไท-6 ต.ค. 48  'โคทม' เตือนรัฐอย่าหนุนสื่อให้ยั่วยุการใช้ความรุนแรง หวั่นซ้ำรอยปลุกกระแสประชาชนฆ่าประชาชนเหมือนกรณี 6 ตุลา 2519 ชี้ ผ่านไป 29 ปี บุคคลเดียวกันนี้กลับมาปฏิบัติการอีกแล้ว


                                                    


นายโคทม อารียา เลขานุการร่วมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ "จาก 6 ตุลา 2519 ถึงตากใบ ประชาชนเรียนรู้อะไร" ในงานรำลึก 29 ปี 6 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า รัฐบาลกำลังปล่อยให้มีการใช้สื่อบางอย่างปลุกปั่นสังคมทำให้เกิดอารมณ์รุนแรงและความเกลียดชังใส่กัน เหมือนกับเมื่อ 29 ปีก่อนเคยมีการใช้สถานีวิทยุในลักษณะนี้ในช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นองเลือด


 


"30 ปีให้หลัง บุคคลคนเดียวกันนี้ยังทำอยู่ ท่านอยากเห็นประชาชนที่ฆ่าประชาชนด้วยกันหรือ รัฐบาลต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ขอร้องว่าอย่าใช้สื่อแบบนี้สร้างความเกลียดชังเลย มีประเทศใดบ้างที่ยอมให้มีการใช้สื่อแบบนี้ อย่าให้มองได้ว่ารัฐบาลให้ความสนับสนุนเป็นอันขาด" นายโคทม กล่าว


 


นายโคทม ยังกล่าวถึงความคล้ายกันในการกระทำของรัฐบาลต่อประชาชนในกรณี 6 ตุลา 2519 กับกรณีตากใบ อีกด้วยว่า เป็นลักษณะการล้อมจับผู้ชุมนุม ไม่ใช่การสลายการชุมนุม ต่อจากนั้นก็มีการสร้างข่าวเหมารวมว่า คนที่ถูกจับเป็นฝ่ายตรงข้ามทั้งเพื่อปกปิดความจริงที่ใช้ความรุนแรง


 


แต่เมื่อไม่สามารถปกปิดได้และกระแสสังคมทวงถามหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นดังกล่าว รัฐบาลในยุค 6 ตุลา ได้หาทางออกด้วยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับทุกฝ่ายเพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดชอบ ในขณะที่กรณีตากใบมีเพียงการสวบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น


 


ทั้งนี้ นายโคทมต้องการให้ใช้หลักการ "อภัยวิถี" คือ ยอมรับความจริงและออกมารับผิดชอบในการใช้ความรุนแรงกรณีตากใบ ก่อนที่จะกลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ต่อไปอีก 30 ปี เหมือนในขณะนี้ที่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ประสบมาแล้ว 29 ปี


 


โดย การยอมรับผิดตามหลักการอภัยวิถีนั้น จะทำให้เกิดการพูดคุย และนำมาสู่การให้อภัยกันได้ แต่ที่ผ่านมานั้น นายโคทมยังเห็นว่า รัฐยังไม่จริงใจในการยอมรับความจริงและปล่อยให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการสูญเสียในกรณีตากใบไม่ต้องรับโทษ ขณะเดียวกันกลับดำเนินคดีต่อผู้ที่รัฐบาล เชื่อว่าเป็นแกนนำในการชุมนุมเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอยากเรียกร้องให้ รัฐบาล นิรโทษกรรมผู้ต้องหาในกรณีดังกล่าว รวมถึงผู้ต้องหาในกรณีกรือเซะด้วย


 


นอกจากนี้ นายโคทมยังยืนยันในการปาฐกถาครั้งนี้ด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องแก้ไขด้วยการใช้แนวทางสันติวิธีก่อนการใช้ยุทธศาสตร์ และจากเหตุการณ์ 6 ตุลา มาจนถึงเหตุการณ์ที่ตันหยงลิมอนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่บอกว่าเป็นการพ่ายแพ้ของสันติวิธีอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ โดยทาง กอส.จะยึดแนวทางนี้ต่อไป เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นเพียงเสียงนกเสียงกาหรือไม่


 


สุดท้าย นายโคทมกล่าวปิดการปาฐกถาว่า อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับและให้เกียรติผู้ที่เสียชีวิตไปในเหตุการณ์ 6 ตุลา ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 29 ปี ต้องยอมรับว่า คนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามก็ถือว่าอยู่ในกระบวนการของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย และควรจะทำให้กรณี 6 ตุลา เป็นสิ่งที่มีนัยยะกับสังคมไทยด้วย


 


สำหรับบรรยากาศภายในงานรำลึก 6 ตุลา ปีนี้ เป็นไปด้วยความเงียบเหงาและไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเหมือนปีที่ผ่านๆมา มีนักศึกษายุคปัจจุบันมาร่วมงานไม่กี่คน ส่วนนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เหลือมาสืบทอดลมหายใจอีกเฮือกของคนเดือนตุลาก็คือ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)


 


นอกจากนี้ก็มีเพียงกี่เหล่าญาติๆ ของผู้เสียชีวิต หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เท่านั้น มีบุคคลบางคนที่มีตำแหน่งอยู่ในรัฐบาลขณะนี้มาร่วมงาน แต่ก็ไม่ได้มาร่วมในฐานะตัวแทนจากทางรัฐบาล เช่น นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ (แซ่ฉั่ว) นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ส่งพวงหรีดมาแทน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net