Skip to main content
sharethis

ประชาไท—6 ต.ค. 48         พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้เปิดช่องให้ลูกจ้างสามารถรวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของตนโดยเสนอข้อต่อรองกับนายจ้างได้  ทว่ากระบวนการตามกลไกกฎหมายดังกล่าว กลับถูกปฏิเสธจากนายจ้างอย่างสิ้นเยื่อขาดใย ดังเช่น กรณีของสหภาพแรงงานไก่สดเซ็นทาโก้และสหภาพแรงงานคอทโก้ ที่มีปัญหากับนายจ้างมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน ซ้ำร้ายยังถูกรังแกจากนายจ้างยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย จึงได้จัดงานสัมมนา เรื่อง "ข้อพิพาทแรงงานไก่สดเซ็นทาโก้+คอทโก้ เมื่อระบบแรงงานสัมพันธ์ล้มเหลว นายจ้างปฏิเสธ! สหภาพ ล้ม! ข้อตกลง" ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา


 


โดยวิทยากรในงานสัมมนาดังกล่าว ประกอบด้วย  นายเอกพร รักความสุข กรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร  นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เลขาธิการศูนย์ประสานงานกรรมกร นายอิทธิพล แผ่นเงิน ผู้อำนวยการงานประนอมข้อพิพาทและข้อขัดแย้ง ดำเนินรายการโดย นายสุนทร บุญยอด เจ้าหน้าที่สหพันธ์อาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย


 


สำหรับปัญหาที่สหภาพแรงงานของโรงงานไก่สดทั้ง 2 แห่งประสบนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยพนักงานระดับผู้บังคับบัญชา บจก.คอทโก้เมททอลเวอร์คส ได้จัดตั้งสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชา ซีซีเอ็น สัมพันธ์ ขึ้นเมื่อ 15 มิ.ย. 48 และได้ยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จำนวน 13 ข้อ เนื่องจากพบว่าบริษัททำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541


 


ต่อมาวันที่ 26 ก.ค. 48 พนักงานทั่วไปก็ได้จัดตั้งสหภาพแรงงานลูกจ้างคอทโก้ สัมพันธ์ ขึ้นมา และได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างเพิ่มเติม แต่นายจ้างก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหภาพทั้งสองมาโดยตลอด ทั้งบริษัทยังได้ประกาศปิดงานมานานกว่า 67 วันแล้ว (3 ส.ค.-6 ต.ค.48) โดยเลือกปฏิบัติเฉพาะกับสมาชิกสหภาพแรงงานและพนักงานที่ลงลายมือชื่อทุกคน


 


ด้านสหภาพแรงงานไก่สดเซ็นทาโก้ ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท 4 ข้อ เมื่อ 10 พ.ค. 48 แต่ยังไม่ได้รับการตกลงใดๆ จากนายจ้าง โดยมีการปิดงานและนัดหยุดงานเป็นระยะ ล่าสุดบริษัทได้ประกาศให้พนักงานเริ่มทำงานแล้วเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 48  แต่บริษัทได้โยกย้ายตำแหน่งงาน เปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน ทั้งยังกีดกันสมาชิกสหภาพแรงงานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตั้งกล้องวีดีโอ กล้องวงจรปิด หรือแม้แต่ให้ชายฉกรรจ์มายืนคุม เป็นต้น


 


การสัมมนาเริ่มต้นด้วย นายเอกพร รักความสุข กรรมาธิการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานยกร่างประมาลกฎหมายแรงงานของไทย ได้กล่าวถึงการ "อภิวัฒน์แรงงาน" โดยกล่าวว่า ปัญหาแรงงานสัมพันธ์นั้นต้องแก้ที่รากเหง้า ซึ่งจำเป็นต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ


 


นายเอกพร เห็นว่า "การจดทะเบียนสหภาพแรงงานไม่มีประโยชน์อันใด ทั้งยังสร้างปัญหาตามมาอีกด้วย ผมแนะนำว่าควรรวมกลุ่มกันตามรัฐธรรมนูญมากกว่า ไม่ใช่แค่ไตรภาคี (รัฐ-นายจ้าง-ลูกจ้าง) เพราะจะเกิด "ตายภาคี" เนื่องจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับที่ใช้ในปัจจุบันยังล้าสมัยอยู่มาก ดังจะเห็นได้ว่ายังต้องอาศัยภาคราชการลงมาดูแล"


 


อย่างไรก็ตาม นายเอกพร เสนอว่า ในระดับแรงงานนั้นต้องสร้างกรอบแนวคิดใหม่แบบบูรณาการ ไม่ควรใช้กฎหมายเพียงฉบับเดียว แต่ต้องมีภาคีอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะตอนนี้ไตรภาคีอ่อนแอมากจนกลายเป็นกระบวนการที่ลูกจ้างพึ่งไม่ได้ไปเสียแล้ว


 


ด้าน นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เลขาธิการศูนย์ประสานงานกรรมกร มองว่ากรณีปัญหาของโรงงานไก่สดทั้ง 2 แห่งนั้น รัฐต้องใช้หลักกฎหมายและกลไกทางราชการมาจัดการอย่างเร่งรัดเพื่อให้ยุติอย่างเป็นธรรม ทั้งยังจะต้องทำให้กลับสู่สภาพที่นายจ้างไม่มีการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย แต่ถึงอย่างไรก็เชื่อว่าในที่สุดแล้วรัฐก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้


 


"เราอยู่ใต้กติกาที่เสียเปรียบ มีแต่การกดขี่ขูดรีดแรงงาน การที่นายจ้างปิดงานเพื่อสู้กับลูกจ้าง และลูกจ้างก็หยุดงานเพื่อสู้กับนายจ้าง จำเป็นที่แต่ละฝ่ายจะต้องทราบเงื่อนไขในขณะนั้น ลูกจ้างเองก็ต้องเข้าใจและรอบคอบในการยื่นข้อเรียกร้องแต่ละครั้ง จึงเป็นสิ่งที่ลูกจ้างต้องเรียนรู้  ขณะที่รัฐก็ยังปล่อยให้ลูกจ้างเสียเปรียบในความขัดแย้งมาโดยตลอด" นายสมศักดิ์ แสดงทัศนะ


 


นอกจากนี้ เลขาธิการศูนย์ประสานงานกรรมกร ยังกล่าวต่อไปว่า "การเลิกจ้าง เท่ากับการประหารชีวิต" ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมองว่าหากเกิดความขัดแย้งขึ้นต้องยกผลประโยชน์ให้คนทำงาน เพราะถ้าหากมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา จะปล่อยให้นายจ้างเอาทุนและกำไรมาก่อนโดยเอาคุณธรรมไว้ทีหลังไม่ได้


 


นายสมศักดิ์ มองว่ามนุษย์ถือว่างานเป็นเรื่องใหญ่  ดังนั้นการตกงานก็เท่ากับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์หมดไปด้วย  ส่วนการขออำนาจรัฐมาช่วยนั้นเท่ากับว่าลูกจ้างไม่มีอำนาจจริง ทั้งๆ ที่ลูกจ้างนั่นแหละที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐด้วยตัวเอง โดยขอให้เชื่อในพลังการต่อรองและเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายหาทางสู้ในระยะยาวต่อไป


 


ขณะที่ ตัวแทนสหภาพแรงงานเซ็นทาโก้ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า "ขณะนี้ยังไม่เข้าใจว่าแรงงานสัมพันธ์คืออะไรกันแน่ หรือคือการที่ลูกจ้างต้องยอมรับอำนาจของนายจ้าง แม้จะมีการเจรจาก็จริง แต่ผู้รับมอบอำนาจเต็มมาเพื่อมาเจรจานั้นมีอำนาจเฉพาะวันนั้น  โดยไม่มีอำนาจไปพิจารณาต่อได้ สำหรับการเจรจาที่ผ่านมาประมาณ 22-23 ครั้ง นายจ้างก็บอกอย่างเดียวว่าให้ไม่ได้"


 


การที่บริษัทแบ่งแยกสมาชิกสหภาพแรงงานออกจากลูกจ้างทั่วๆไป ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่แตกต่างกันนี้ ตัวแทนจากสหภาพแรงงานเซ็นทาโก้ ตั้งคำถามทิ้งท้ายเอาไว้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานหรือไม่ ส่วนการที่นายจ้างสั่งให้มีชายฉกรรจ์มาคุมนั้น เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือไม่ และการกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่


 


นอกจากนั้น นายจรัญ ก่อมขุนทด เจ้าหน้าที่ศูนย์การจัดตั้งสหภาพแรงงาน ได้เล่าถึงสภาพปัญหาของสหภาพแรงงานที่พบให้ฟังว่า "ผมไปประจำอยู่ทางภาคตะวันออกมีสหภาพแรงงานตั้งใหม่เกือบ 30 แห่ง แต่ข้อเรียกร้องยังประสบปัญหาอยู่มาก เพราะหลังเจรจาตกลงตามข้อเรียกร้องแล้วลูกจ้างไม่ได้อะไรขึ้นมา ทั้งยังถูกกลั่นแกล้ง ถูกโยกย้าย ซ้ำร้ายบางคนยังตกงานอีกด้วย"


 


อย่างไรก็ตาม งานสัมมนาดังกล่าว ได้เอ่ยถึงเครื่องมือที่เป็นความหวังสุดท้ายของลูกจ้างแรงงานทั้งหลายว่า จะต้องให้ประเทศไทยตกลงตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 โดยปฏิญญาสากลดังกล่าวว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว การเจรจาที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาสหภาพแรงงานของไทยทั้งที่ประสบอยู่ในปัจจุบันและป้องกันปัญหาในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net