Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 7 ต.ค.48        ประชาชนภาคตะวันออก 8 จังหวัดสุดทนรัฐแก้ปัญหาน้ำ รวมตัวตั้ง "สภาประชาชนท้องถิ่นผู้ใช้น้ำอย่างเป็นธรรม" เตรียมวิจัยเฟ้นหาทางออกการจัดการน้ำเอง หวังขยายแนวร่วมทั่วประเทศ


 


ในงานสัมมนา "แผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ กับการมีส่วนร่วมของประชาชน : กรณีการจัดการลุ่มน้ำภาคตะวันออกและภาคใต้" นายไพฑูรย์ ปฏิบัติ จากสมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดระยอง กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกได้รวมตัวกันตั้ง "สภาประชาชนท้องถิ่นผู้ใช้น้ำอย่างเป็นธรรม" ขึ้นแล้ว เพื่อติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอต่างๆ ที่ชาวบ้านในภาคตะวันออกได้เสนอรัฐบาลไปในช่วงที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ และเกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเมื่อไม่นานมานี้


 


"ตอนนี้เรื่องต่างๆ เงียบไปเพราะพระเจ้าช่วยให้ฝนตก เลยมีน้ำเติมในอ่างบ้าง แต่บอกได้เลยว่ายังไม่อยู่ในระดับที่พ้นวิกฤต ตอนนี้ฝนหลวงก็ทำอยู่ตลอด แต่ฝนก็ยังไม่ตก" นายไพฑูรย์กล่าวพร้อมทั้งระบุว่าแม้มีการร้องเรียนมากมาย แต่แนวทางการแก้ปัญหาของรัฐก็ยังคงมุ่งผันน้ำ จัดหาน้ำไปสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเช่นเดิม


 


นายธีรวัจน์ นามดวง สมาชิกที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งสภาประชาชนฯ กล่าวว่า สภาดังกล่าวจะค้นหาระบบบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับแต่ละภาค โดยกระบวนการวิจัย เพื่อนำไปเป็นข้อเท็จจริงให้แก่สาธารณชน นำไปสู่การกำหนดนโยบาย อีกทั้งมุ่งหวังให้ประชาชนภาคต่างๆ เข้าร่วมสภานี้เพื่อยกระดับให้เป็นสภาประชาชนท้องถิ่นผู้ใช้น้ำแห่งชาติ


 


นายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชนระยอง กล่าวว่า ขณะนี้สภาดังกล่าวได้เริ่มต้นสำรวจข้อมูลน้ำต้นทุน และความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกแล้ว เนื่องจากข้อมูลที่ภาครัฐนำเสนอนั้นไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง


 


ในส่วนของการสัมมนานั้น ตลอดทั้งวันตัวแทนชาวบ้านจากลุ่มน้ำในภาคตะวันออกและภาคใต้ ได้แก่ ลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกและตะวันตก ลุ่มน้ำตาปี และลุ่มน้ำสงขลา ต่างสะท้อนปัญหาร่วมกันว่า แม้จะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำต่างๆ ตามแนวทางการจัดการน้ำแบบบูรณาการ 25 ลุ่มน้ำของรัฐบาล ซึ่งระบุให้ประชาชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการมีส่วนร่วมในรูปแบบ ไม่ใช่ระดับของเนื้อหาสาระและการตัดสินใจ


 


นอกจากนี้แผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการก็ยังเน้นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนขนาดใหญ่อยู่เช่นเดิม ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ประสบปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้านรุนแรง โดยที่โครงการจำนวนมากก็ไม่สามารถดำเนินการหรือแก้ปัญหาได้ตามวัตถุประสงค์


 


ด้านตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า ขณะนี้แผนจัดการน้ำแบบบูรณาการ 25 ลุ่มน้ำยังไม่แล้วเสร็จ โดยอยู่ระหว่างการประมวลข้อมูลระดับพื้นที่ ทั้งนี้ แผนจัดการน้ำรวมดังกล่าวจะมีการรวบรวมโครงการของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกรมชลประทานซึ่งมีหน้าที่จัดหาน้ำโดยตรงมาประมวลจัดทำแผนรวมด้วย


 


ขณะที่ตัวแทนจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า ในขณะนี้ทาง สผ.ได้มีแนวคิดในการวางแผนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในภาพรวม หรือ SEA โดยมีการเขียนแผนงานเรียบร้อยแล้วโดยเฉพาะลุ่มน้ำสำคัญ เช่น ลุ่มน้ำภาคตะวันออก คาดว่าน่าจะได้ดำเนินการเร็วๆ นี้


 


"ตัวอย่างง่ายๆ ลุ่มน้ำบางปะกงจะมีอะไรใหม่ ก็เอาไอเดียทั้งหมด ทั้งของชลประทาน สนามบิน โครงการถนนต่างๆ มาประเมินผลกระทบทั้งหมด แทนที่จะรอให้แต่ละโครงการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แบบแยกส่วน ซึ่งที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่ามีปัญหาในการจัดการ วางแผน และง่ายที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซง" ตัวแทน สผ.กล่าว


 


ท้ายที่สุด นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า กสม.จะรวบรวมข้อมูล ปัญหา และแนวทางแก้ปัญหา จากการจัดเวทีสัมมนาที่ได้จัดมาเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และใต้ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net