Skip to main content
sharethis

 


 


 


สันติภาพ ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากยังมีอคติต่อกัน


 


อคติ มักเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง หากปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรังก็อาจแปลเปลี่ยนกลายเป็นความรุนแรงที่สร้างความเสียหายอย่างมากมาย อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในลักษณะการตอบโต้กันระหว่างฝ่ายการก่อการร้ายกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกในขณะนี้


  


หรือหากจะบีบกรอบให้แคบลงมามองเฉพาะกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุสำคัญมาจากการมีอคติในบางอย่าง และตราบใดที่ยังไม่ทำอะไรให้อคติดังกล่าวนี้เบาบางลง  ตราบนั้น "สันติภาพ" ก็จะไม่มีทางเกิด


 


รายงานการเสวนา "การเมืองของการก่อการร้ายกับการสร้างสันติภาพของประชาชน" ที่พูดถึงการหาต้นเหตุของอคติในพื้นที่และการจัดการ ก็อาจเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่ง ที่กำลังสร้างการรับรู้ใหม่ที่เปิดกว้างและเข้าใจกันและกันมากขึ้น


 


และก้าวเล็กๆ นี้ก็หวังว่าจะทำให้เราเดินเข้าไปใกล้กับ "สันติภาพ" ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราทุกคนต่างต้องการอีกก้าวหนึ่งแล้ว


 


วรวิทย์ บารู :


รองอธิการบอดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


 


ปัญหาภาคใต้คือยังไม่มียุทธศาสตร์ที่เป็นเราเอง ยุทธศาสตร์ที่ใช้ก็มาจากฝรั่งทั้งหมด รัฐบาลเองก็ยังไม่รับว่านี่คือการก่อการร้าย คนทั่วไปก็มักจะมองชาวมุสลิม หรือคนใน 3 จังหวัดลบตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะปิดบังประวัติศาสตร์


 


การสร้างสันติต้องเปิดเผยและยุติธรรมพอ มันไม่ผิดถ้าเราจะรู้ว่าพม่าบุกมาเผาวัดที่อยุธยาไปหลายวัด ซึ่งเราเคารพของเรา แต่ถ้ากองกำลังสยามไปบุกปัตตานี แล้วเผามัสยิดกรือเซะในขณะนั้น ถ้ายอมรับกันจริงๆ ในขณะนี้จะผิดอะไร มันเป็นเรื่องคนละเรื่องกับการสร้างชาติ


 


การสร้างชาติที่ต้องบอก คือ การที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆร่วมกันสร้างขึ้นมา แต่ที่ผ่านมา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกทำให้ดูเป็นคนอื่นไกลตลอดเวลา


 


ประเด็นที่ 2 กระแสโลกกำลังเข้าสู่ความเป็นอิสลามมากขึ้น แต่เราไม่เข้าใจการมองการเชื่อมต่อกับโลก แล้วมองว่าการรวมทุนต่างๆของอิสลามเป็นการเอาไปช่วยเหลือการก่อการร้าย


 


ดังนั้น มองไม่เห็นเลยว่ากระบวนการที่ใช้อยู่ในขณะมันจะแก้ไขได้ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ความรุนแรงเข้าแก้ไข ที่จริงความรุนแรงเคยเกิดขึ้นแล้วใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ สุดท้ายประชาชนมักจะเสียคนที่ได้รับการนับถือ นั่นเป็นประวัติศาสตร์ยุคแรก


 


นอกจากนี้การจัดการที่แตกต่างกันยังทำให้เกิดปัญหา มีคำถามว่า ทำไมปัตตานีจึงมีปัญหา แต่สตูลไม่มีปัญหา ก็เพราะว่า เจ้าเมืองปัตตานีไปตายที่กลันตัน แต่ลูกหลานเจ้าเมืองสตูลมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเหมือนการรับสืบทอดการเป็นเจ้าเมืองสตูลต่อ ต้องออกแบบการจัดการให้เข้าใจในตรงนี้


 


มีอีกข้อที่น่าสังเกตคือ ได้มีโอกาสเจอกับบางคนที่คิดว่ารู้เรื่องในกรณีปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคมและกระบวนการเมื่อวันที่ 28 เมษายน คนที่เกี่ยวข้องในกรณี 4 มกราคม จะปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณี 28 เมษายน


 


แต่แปลกใจว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีเป้าหมายในการแยกดินแดนเหมือนกัน แล้วใครเป็นผู้กดสวิตซ์ให้สองกลุ่มนี้เชื่อมโยงกัน ขอให้สังคมไทยร่วมกันหา


 


จนขณะนี้ในเชิงลึกที่ได้ข้อมูลมาเขาเรียกกลุ่มนี้กันว่าเป็นผู้ตกจากศาสนา  เขาก็ยังไม่ยอมรับพวกนี้กัน มีอุซตาสท่านหนึ่งที่บอกผมว่าเคยพบหัวหน้าของบีอาเอ็น โคออร์ดิเนท ครั้งหนึ่งก่อนที่จะหนีไป เมื่อถามถึงกรณี 28 เมษา ท่านก็ตอบว่าเป็นพวก "หลงทาง" ซึ่งเป็นคำที่ใหญ่โตแสดงว่า หลุดจากศาสนา


 


เราเรียกร้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมแต่กลับมองว่าชุมชนเป็นกลุ่มก่อการร้ายทั้งหมด ขณะนี้ชุมชนไม่มีสิทธิที่จะเสนออะไรเลย ในขณะที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในอดีตเคยให้คนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมแก้ปัญหา


 


เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมาเกิดกรณีรุนแรงขึ้น เคยได้เสนอกับนายแพทย์ประเวศ วะสี ว่าน่าจะมีคณะกรรมการนโยบายสันติสุข 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งชาติ ตอนนั้นได้เสนอให้มีโครงสร้าง ที่มาจากภาคส่วนต่างๆ 5 ฝ่าย แต่ที่ปรากฏว่ากรรมการที่ออกมาเป็นฝ่ายความมั่นคงหมดเลย อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ บอกว่ามาจากสภาความมั่นคงเสนอทั้งหมด


 


โดยโครงสร้างที่เสนอไปตอนนั้น ประกอบไปด้วย



  1. สายหอการค้านักธุรกิจ

  2. ผู้นำศาสนาทั้งพุทธมุสลิม

  3. กลุ่มนักการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ

  4. ฝ่ายความมั่นคง

  5. พลเรือน

 


นอกจากนี้ต้องมองว่า ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เรื่องศาสนา หรือเรื่องเชื้อชาติ แต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรม ต้องเอานโยบายที่ชัดเจนมาใช้ แบบที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีใช้ แล้วเลือกคนทำงาน แล้วท่านก็แก้ปัญหาสำเร็จในตอนนั้น แสดงว่านักปกครองที่ดีเยี่ยมสามารถแก้ปัญหาเพราะมีนโยบายที่ดี ตอนนี้มองไม่เห็นทางเลยเพราะใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา


 


 


สุกรี หลังปูเต๊ะ:


คณะบดีคณะศิลปศาสตร์วิทยาลัยอิสลาม ยะลา


 


ยะลาในวันนั้นน่าอยู่กว่าวันนี้ แม้จะบอกว่าปัญหาเกิดมาเป็น 100 ปีแล้วก็ตาม แต่ความจริงคือวาระในวันนั้นต่างจากวันนี้


 


ในวันนั้นเป็นวาระพื้นที่ เป็นวาระของสังคมไทย แต่วันนี้คือวาระของความอยู่รอดของคนทั้งโลก


 


ปัญหาของความรู้สึกในพื้นที่มันเริ่มตั้งแต่ ผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกของปัตตานีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นชาวเชียงใหม่  ท่ามกลางคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนจากเหนือสุดสู่ใต้สุดจะไปอยู่อย่างไร มันมีความแปลกแยก เขาก็นำสิ่งที่บูชามาด้วย ก็คือพระพุทธรูป เอาไปไว้ที่จวน ใครจะขึ้นจวนก็ต้องกราบไหว้ ท่านไม่ได้ผิด แต่ถ้ามองระบบคือเริ่มนำสิ่งที่ประชาชนเริ่มจะรับไม่ได้ขึ้นมา


 


ในขณะนั้นอาจจะไม่ได้มองว่าจะทำให้เกิดสิ่งที่เป็นปัญหาในวันนี้ ถือว่าเป็นอุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ถ้าลืมไม่ได้ก็คือภาพปัญหาที่เจอในวันนี้ ซึ่งขอสรุปสาเหตุไว้ดังนี้


 


เรื่องความเป็นมลายู มีนักวิชาการชาวมาเลเซียเคยบอกว่าจะต้องมี 4 ประการร่วมกัน คือ  ภาษา ภูมิศาตร์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้พูดถึงอำนาจ หรือรัฐ เป็นการพูดถึงอัตลักษณ์มากกว่า ในพื้นที่มี Synonyme of  Problem อยู่ ตราบใดที่คนในพื้นที่ยังคิดว่า คนสยามคือคนพุทธ  คนมลายูคือคนมุสลิม แสดงว่ากระบวนการในการสร้างชาติไทยยังไม่นิ่ง


 


ตรงนี้น่าจะเอาตัวอย่างของมาเลเซียมาใช้  สิ่งที่มาเลเซียทำคือพยายามจัดการความขัดแย้งระหว่างชนชาติต่างๆที่มีในประเทศ คือ มลายู อินเดีย แล้วก็จีน จนทำให้จีนในมาเลเซียภูมิใจในความเป็นจีนมาเลเซีย อินเดียภูมิใจในความเป็นอินเดียมาเลเซีย


 


สิ่งที่มหาเธร์ฯ ทำได้ดี คือการที่ส่งรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายจีนไปทำมาค้าขายกับจีน   กับอินเดียก็ส่งรัฐมนตรีเชื้อสายอินเดียไปเช่นกัน เพราะเมื่อใดที่กำแพงภาษาหมด กำแพงภาษีมันก็จะลด เช่นเดียวกัน บางครั้งก็จะเห็นว่า มหาเธร์ฯ ส่งคนมลายูมาคุยกับวันนอร์ ฯ


 


ประการต่อมาคือศาสนา แต่จะบอกว่าเป็นปัญหาทั้งหมดคงจะไม่ใช่


 


แต่ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ ผลประโยชน์ ซึ่งคงบอกไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ที่ได้ แต่บอกได้ว่าตลอดมาผู้ที่เสียคือประชาชนอย่างแน่นอน


 


ความจริงเรามียุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว คือเข้าถึง เข้าใจ พัฒนา มุสลิมเองก็ไม่ได้มองต่างออกไป หลักการสมานฉันท์ในอิสลามมี 3 ขั้นตอนที่สอดคล้องกัน ก็คือ


 


การรู้จักซึ่งกันและกัน คนข้างบนต้องรู้จักคนข้างล่าง คนข้างล่างต้องรู้จักคนข้างบน ต้องรู้จักกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือการเข้าถึง


 


ต่อมา การเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจซึ่งกันและกันด้วยก็ตรงกับความหมายความเข้าใจในพะราชดำรัสอยู่แล้ว


 


สุดท้ายคือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป้าก็คือ การพัฒนา นั่นเอง


 


 


อุษา เลิศศรีสันทัด:


 เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ มูลนิธิผู้หญิง


 


หลังจากเหตุการณ์ วันที่28 เมษา มีการพดคุยกันในเครือข่ายว่ามีการก่อการร้ายเกิดขึ้น และคนในสังคมเห็นด้วยกับการเข่นฆ่าตามข้อมูลที่ปรากฏในโพลต่างๆ  แต่นั่นคือมีความสูญเสียเกิดขึ้นกับคนมุสลิมด้วย


 


จึงมีการพูดคุยกับองค์กรต่างๆ เช่น กลุ่มผู้หญิง กับเอดส์ เครือข่ายแรงงาน และอื่นๆ โดยมีความต้องการขจัดอคติที่มีต่อคนมุสลิม และอยากรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวผู้สูญเสียบ้าง ซึ่งส่วนมากก็คือผู้หญิงกับเด็ก


หลังจากรับฟังข้อมูลจากภายในพื้นที่ ทำให้รู้ว่าคนที่สูญเสียไม่เพียงย่ำแย่ทางด้านจิตใจที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัวเท่านั้น สภาวะทางด้านเศรษฐกิจก็ลำบากด้วย จึงอยากให้สาธารณชนเห็นใจคนในพื้นที่และมองอีกด้านหนึ่งนอกจากมองว่าภาคใต้มีแต่การใช้ความรุนแรงด้วย


 


นอกจากนี้ข้อมูลจากเครือข่ายผู้ดูแลเด็ก พบว่า สถานการณ์ในพื้นที่ได้ส่งผลกระทบกับเด็กค่อนข้างมาก บางทีก็มีเสียงปืน ในบางครั้งก็มาจากทหารซ้อมปืน หรือการเห็นทหารที่เดินถือปืนอยู่ในชุมชนจะทำให้เด็กๆซึมซับการใช้ความรุนแรงตลอดเวลา


 


การแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ใช่แค่การเจรจาไกล่เกลี่ยแต่ต้องมองก่อนว่าความขัดแย้งเป็นคนละอย่างกับความรุนแรง คือ คิดว่าเมื่อมีความขัดแย้งจะต้องเกิดความรุนแรงทุกครั้งหรือเปล่า


ความจริงความขัดแย้งสามารถนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงและความเจริญงงอกงามได้


 


แต่ความขัดแย้งทางภาคใต้ยังไม่มีโจทย์ว่าขัดแย้งเรื่องอะไรกันแน่ ดังนั้นจำเป็นต้องหาโจทย์ตรงนี้ก่อน เพื่อจัดการอย่างลงตัว


 


สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ ทำให้เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพคุยกับเครือข่ายผู้ดูแลเด็ก ว่าเด็กอยู่ในสถานการณ์ที่มีเสียงปืน เสียงระเบิด เขาจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และความขัดแย้งเป็นสิ่งที่แก้ไขได้


 


ก่อนนี้ทางผู้ดูแลเด็กเคยสร้างนิทานเรื่องช้างกับมดขึ้นมาถามเด็กๆ คือ ช้างกับมดทะเลาะกัน ช้างไปเหยียบมดที่มาขวางทาง ผู้ดูแลเด็กแต่งเรื่อง ว่า มดแก้ไขโดยรวมพลังกันกัดจนช้างตกเหวตาย เราก็บอกว่าตรงนี้ก็จะเข้าเรื่องการแบ่งเป็นสองขั้ว  ขั้วดีกับขั้วไม่ดี หากจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นต้องเปลี่ยน ซึ่งปกติเรามักถูกสั่งสอนเรื่องความสามัคคีโดยที่เราไม่สนว่าจะเกิดผลอะไรขึ้น


 


จึงปรับเรื่องใหม่เป็นมดจะบอยคอร์ดช้าง ไม่มีใครเล่นกับช้างแทน สำหรับเด็กก็เข้าใจดี แต่กับผู้ใหญ่อาจจะเป็นเรื่องยากเพราะในสังคมเรามักถูกสอนให้สามัคคีสู้รบจนข้าศึกตายทุกที จนกลายเป็นค่านิยมที่ปลูกฝังจนกลายเป็นวิถีของปัจจุบันว่าความขัดแย้งต้องสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง หรือสร้างเป็นขั้วคามขัดแย้งตลอดเวลา


 


ดังนั้นต้องเปลี่ยนการมองความขัดแย้งว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ต้องปลูกฝังเด็กๆและไม่ใช่ปลูกฝังเฉพาะแค่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ต้องรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย


 


 


สุรัตน์ โหราชัยกุล :


ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าการบริหารงานในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้มีปัญหารุนแรงเกิดขึ้นในระดับ Scale แบบนี้ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด ต้องรวมถึง Globalize Identityและ Globalize Islam ด้วย


 


ในปี1996 มีการจัดเสวนาเรื่องปาเลสไตน์ ที่ จังหวัดเชียงใหม่ มีการพูดถึงปัญหาของ โคโซโว บอสเนีย และในหลายสถานที่ ซึ่ง Identity ที่ข้ามไปมาระหว่างกันเหล่านี้มีนัยยะใหม่เกิดขึ้น


และต้องยอมรับว่าตอนนี้มีกระบวนการที่นำไปสู่ความสุดโต่งอีกแบบหนึ่งด้วย


 


เหตุเหล่านี้มีผลมากๆในการเกิดการปะทะกันระหว่างอารยะธรรม และไม่ได้เกิดผลกับอิสลามแค่ด้านเดียว แต่เกิดผลกับด้านตะวันตกด้วย มีการพยากรณ์ในหนังสือของ ฮันนิงตัน ที่ใช้คำว่า Speculate ซึ่งเป็นที่มีผลต่อการกระทำของคนด้วยเพราะมีการหาจุดหมายปลายทางร่วมกันอยู่


 


หนังสือฮันนิงโตเนี่ยนธิซิส มีอิทธิพลสูงเพราะต้องยอมรับว่ามีอคติที่บ่งบอกความว่า ความคิดและสังคมอิสลามจะเป็นเช่นนี้ โดยสื่อก็รองรับสิ่งเหล่านี้มาเป็นเวลานานพอสมควรที่รองรับทฤษฎีนี้ ดังนั้นทำให้พอจะชี้ได้ว่าการรับรู้ในเรื่องอิสลามตอนนี้ก็ค่อนข้างมีปัญหาอคติ


 


การรับรู้ในประเทศไทยเองก็ไม่ได้แตกต่างไป คนไทยส่วนใหญ่เมื่อดูเครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดก็จะเสียใจมาก เพราะเอา Modelity ไปผูกไว้กับกับการใส่สูทผูกไทค์ แต่ในขณะที่ในซูดาน หรือปาเลสไตน์ คนที่มีหนวดมีเคราอาจจะโดนกระสุนไปไม่รู้กี่ระลอกแล้วกลับไม่ได้รู้สึกเสียใจเช่นนั้น


 


คือมันมีคติอยู่ อย่างล่าสุดก็ในกรณีที่นาวิกโยธินเสียชีวิต มีนักศึกษาส่งข้อความมาคุยว่า น่าเศร้าเหลือเกินที่ 2 นาวิกโยธินเสียชีวิตที่ภาคใต้ ช่างโหดร้ายอะไรเหลือเกิน แต่ผมก็ถามต่อไปว่า แล้วที่อื่นๆโหดร้ายบ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีแม่เอาเหรียญกรอกปากลูก แม่เอาลูกไปทิ้งน้ำอะไรต่างๆเหล่านี้ เขาก็เริ่มที่จะตอบไม่ได้ชัดเจน เพราะว่ามีอคติ


 


ประการต่อมา หากพูดถึงการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ ก็ควรจะเลิกพูดถึงเรื่อง "ทักษิณ ชินวัตร" ได้แล้ว เพราะเขาคงอยู่ต่อแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้ก็สมัยที่สองแล้ว แต่แน่นอนถ้าไม่มี คุณทักษิณ ปัญหาคงจะเบากว่านี้ เพราะปากไม่เป็นกัลยาณมิตร ซึ่งไม่สมควรในการที่มีปัญหาแบบนี้ เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ


 


ดังนั้นควรจำเป็นที่จะพูดถึงการศึกษาแทน และเป็นการศึกษาที่ไม่ได้พูดถึงการจบ จุฬาฯ หรือ ธรรมศาสตร์ เพราะการจบในที่เหล่านี้ก็ทำให้คนไปตีหัวชาวบ้านได้เหมือนกัน แต่ที่จะพูดถึงคือความรู้ในในเรื่องของอัตลักษณ์ความหลากหลาย


 


ทั้งนี้เพราะเราไว้ใจรัฐไม่ได้รัฐแก้ไขปัญหาได้ไม่ดี ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ความรู้ตรงนี้มันเกิดโดยไม่ต้องมีปริญญาหรือวุฒิบัตรรับรอง เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ


 


และในส่วน NGO ก็ต้องเลิกไล่อาการอย่างที่ทำอยู่ ควรต้องมาร่วมคิดการบางอย่างที่จะเป็นอันใหญ่อันกลางขึ้นมา ซึ่งก็คือความรู้ที่ว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน คือต้องมีความคิดว่า บิน ลาเดน ก็ไม่ใช่ตัวแทนของอิสลาม และฮันนิงตันก็ไม่ใช่ตัวแทนของตะวันตก ขึ้นมาให้ได้


 


อีกประเด็นก็คือ เวลา NGO พูดเรื่องการกระจายอำนาจแบบเกินเลยไปมาก ทั้งนี้ การกระจายอำนาจมีระดับของมัน ถ้าในเรื่องศาสนา พิธีกรรม ศาสนา เป็นเรื่องที่ควรกระจายอำนาจ แต่การกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างผมไม่เชื่อ ผมเชื่อในรัฐกลางที่เข้มแข็ง


 


คือ ขณะนี้จำเป็นที่จะต้องเอารัฐไปบูรณาการกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อต่อสู้กับสภาวะสมัยใหม่ที่เราไม่สามารถกำหนดได้  การกระจายอำนาจนำมาสู่การแตกแยกไม่ใช่การแก้ไข จึงเป็นเรื่องที่ไม่พึงประสงค์ หากการกระจายอำนาจยังไม่สามารถกำหนดนโยบายต่างประเทศได้ ไม่สามารถกำหนดนโยบายความมั่นคงได้ ไม่สามารถกำหนดอัตราภาษีได้ หรือกำหนดผู้เก็บภาษีให้รัฐกลางได้ ดังนั้นการกระจายอำนาจคือมายาคติชุดใหญ่ที่ต้องคุยกันอย่างจริงจังว่าควรจะเป็นเช่นไร


 


 


"เราควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร"


พล.ต.เอกชัย ศรีวิลาศ :


หัวหน้างานคลังสมอง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร


 


หากเอาตำราอเมริกันมาวิเคราะห์ก็จะมองว่าภัยคุกคามต่อไป คือ จีน และจะมองว่าอิสลามจะต้องปราบให้หมดทั้งโลก จะอยู่รวมกับโลกตะวันตกหรืออเมริกันไนซ์ไม่ได้เด็ดขาด จึงขอใช้ภูมิปัญญาตัวเองในการวิเคราะห์


 


ภาคใต้มีปัญหาที่มั่ว ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งหากทหารทำจะมีวิธีการจัดองค์กรขั้นตอนที่ชัดเจนมาก คือจะรู้ว่าใครรายงานใครจะไม่มีการก้าวก่าย ไม่ได้จัดอย่างนี้


 


มีข้อสังเกตอีกอย่างคือ ตัวเลขของ UNDP ได้ศึกษาในพื้นที่ 76 จังหวัดของประเทศไทยว่าการพัฒนาคนในพื้นที่ต่างๆผลเป็นอย่างไร มีการตั้งเกณฑ์ เป็นเลข 1-5 ดังนี้


 








































เรื่อง


สตูล


ปัตตานี


ยะลา


นราธิวาส


อนามัย


4


3


3


2


การศึกษา


3


3


4


1


แรงงาน


2


3


3


2


รายได้กับความเป็นอยู่


4


3


4


4


ครอบครัว


4


4


5


5


 


ประเด็นก็คือว่าจากตัวเลขความเป็นอยู่เขาดีมากแล้วเราจะเอาอะไรไปให้เขาอีก จะให้เขาทำอะไรอีก เปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆใน 76 จังหวัด มีจังหวัดที่ตัวเลขเป็น 1 ก็เยอะ แต่ตัวเลขในพื้นที่นี้อยู่ใน ระดับ 3-5 แล้วจะเอาอะไรไปพัฒนาอีก เพราะฐานเขาเข้มแข็งกว่าที่จะเข้าไปพัฒนาอีก


 


ดังนั้นคำตอบที่ได้ก็คือว่า เมื่อไหร่ที่คิดว่าจะไปพัฒนาให้เศรษฐกิจเขาดี เมื่อไหร่ที่มองว่าเขาไม่มีความรู้ เมื่อไหร่ที่มองว่าเขายากจน เมื่อนั้นก็คือการมองที่ผิด


 


การพัฒนาคือต้องให้เขาอยู่อย่างนี้ การมีส่วนร่วมของเขาก็ดีมาก ในเรื่องการเมืองก็ดีมาก น่าจะนำตรงนั้นมาใช้


 


ข้อสังเกตอีกประการจากการเลี้ยงนกของคนภาคใต้ มีแต่คนมองว่าคนที่ภาคใต้ ทำไมๆวันๆเอาแต่เลี้ยงนก แต่หารู้ไม่ว่าเขามีความสุขมาก ส่วนเรื่องศาสนาที่บอกว่ามีปัญหาก็มองว่าไม่ใช่ ตัดทิ้งไปได้เลย


 


ในส่วนของต่างประเทศ ที่คิดว่าตะวันตกจะรบกับการก่อการร้ายที่บอกว่าคือพวกมุสลิม แต่หากดูเทรนด์คนมุสลิมแล้วมันเพิ่มขึ้นมาก ในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้น ในโลกนี้มีมุสลิมประมาณ 1,500 ล้านคน ในประชากรทั้งหมด6,300 ล้านคน คิดแล้วก็ประมาณ 25 เปอเซ็นต์ ก็ให้คิดดูว่ากำลังจะรบกับใคร อเมริกันเองก็มีมุสลิมอยู่ถึง 10 ล้านคน


 


แต่หากจะเลือกรบ มุสลิมก็แบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม


 


กลุ่มที่ 1  คือ มุสลิมสายเคร่ง เป็นสายที่ศาสนาเป็นอำนาจรัฐ เช่น กลุ่มอิหร่าน อัฟกานิสถาน กลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่อเมริกันเกลียดที่สุด และคิดว่าเป็นพวกก่อการร้ายที่ต้องจัดการ


 


กลุ่มที่ 2 คือ มุสลิมแนวปฏิวัติ คือ อิรัก ซีเรีย ลิเบีย กลุ่มนี้ มีลักษณะเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ อเมริกันไม่ใช่ไม่ชอบเผด็จการ สมัยไทยเป็นเผด็จการอมริกันก็สนับสนุนมาก เพราะเกลียดคอมมิวนิสต์ แต่บางทีอเมริกันก็ไม่ชอบเผด็จการถ้าผลประโยชน์ขัดแย้งกัน กลุ่มนี้ก็เริ่มถูกจัดการตั้งแต่ อิรัก ซีเรีย ส่วนลิเบียเรียบร้อยไปแล้ว


 


กลุ่มที่ 3 คือ มุสลิมสมัยใหม่กึ่งประชาธิปไตย มีปากีสถาน อิยิปต์  อัลจีเรีย เลบานอน ตูนีเซีย จะเห็นภาพว่า ทำไมต้องดึงซีเรียออกจากเลบานอน ตำตอบก็เพื่อจัดการแทรกแซง โดยใช้กระบวนการใต้ดินหรืออื่นๆล้มล้างรัฐบาลแล้วเลือกตั้งใหม่ อเมริกันใช้เงินทุ่มหัวไปแล้ว 30,000 ล้านในลักษณะนี้ในสมัยรบกับอัฟกานิสถาน


 


ส่วนอีกสามกลุ่มคือกลุ่ม มุสลิมประชาธิปไตยสมัยใหม่ คือ พวกมาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่อมาคือกลุ่มประเทศมุสลิมที่ปกครองโดยกษัตริย์ซึ่งก็ยังมีอยู่บ้าง และก็สุดท้ายคือมุสลิมผสมสายสลาฟที่แยกตัวมารัสเซีย


 


ผมวิเคราะห์มาล่วงหน้า 3 ปี ว่า กลุ่มสุดท้ายนี้จะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาต่อไปในอนาคต หากดูแผนที่และการวิเคราะห์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะเห็นว่าทำไมอเมริกาจึงเดินไปที่อัฟกานิสถาน แล้วไปต่อที่อิรัก แล้วทำไมถึงจะต้องเดินไปที่อิหร่าน คือ สุดท้ายอเมริกาจะไปรัฐเอกราชทั้งหมดของรัสเซีย ซึ่งมีอะไรมหาศาลให้อเมริกา


 


............................................


หมายเหตุ เสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net