Skip to main content
sharethis

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 ตุลาคม 2548 12:49 น.


 


       วุฒิสภาลงมติด้วยคะแนน 91 ต่อ 47 เสียงไม่รับพิจารณาญัตติ 22 ส.ว.ที่เสนอให้พิจารณาสถานะผู้ว่าฯ สตง.ของ "คุณหญิงจารุวรรณ" สว.กทม.เตือน "สุชน" อย่าปัดความรับผิดชอบ ชี้ปัญหาอาจบานปลาย


      


       วันนี้ (10 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่สุดที่ประชุมวุฒิสภาลงมติไม่รับพิจารณาญัตติของ 22 ส.ว.ที่เสนอให้พิจารณาสถานะของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามความคาดหมาย ด้วยคะแนนเสียง 91 ต่อ 47 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง


      


       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภาได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. มีนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ว.สุรินทร์ คือ นายสรรพกิจ ปรีชาชนะชัย พร้อมทั้งได้มีการปฏิญาณตนก่อนทำหน้าที่


      


       จากนั้น นายสุชนชี้แจงกรณีที่ไม่ได้พิจารณาญัตติที่ นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพมหานคร พร้อม 21 ส.ว.ยื่นญัตติให้ยืนยันอำนาจวุฒิสภาในความเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และปิดประชุม โดยยืนยันว่าไม่ได้ปิดประชุมหนีญัตติดังกล่าว เพียงแต่ไม่มีรัฐมนตรีมาชี้แจง และได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการพิจารณาญัตติและกระทู้ฯพิจารณาจึงได้ปิดประชุม และขณะนี้ได้รับแจ้งมาว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือเห็นว่าญัตตินี้พิจารณาในสมัยประชุมนี้ได้ และอีกฝ่ายเห็นว่าไม่สามารถพิจารณาได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นเรื่องของการเลือกหรือแต่งตั้งบุคคล


      


       นายสุชน ย้ำว่า เรื่องที่เกิดขึ้นในฐานะประธานมีสิทธิ์ที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยว่าควรจะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาหรือไม่ แต่ตนไม่ขอใช้อำนาจตรงนี้ และจะให้ที่ประชุมเป็นผู้ตัดสินว่าจะสามารถรับญัตตินี้พิจารณาในสมัยประชุมนี้ได้หรือไม่ แล้วค่อยพิจารณาญัตติดังกล่าว


      


       ด้าน นายแก้วสรร กล่าวว่า ในความเข้าใจทางกฎหมายของพวกตนเห็นว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขั้นตอนการสรรหาคุณหญิงจารุวรณไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องนำเรื่องนี้กลับเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา เพราะวุฒิสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบและเป็นผู้กราบบังคมทูลรายชื่อผู้ว่าฯ สตง. และเมื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาแล้วก็จะมีทางเลือก 2 ทาง คือ หากเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในกรอบอำนาจ และต้องผูกพันว่าวุฒิสภาจะต้องเคารพคำวินิจฉัยนั้นก็ยอมทำตามศาลรัฐธรรมนูญ คือนำเรื่องกราบบังคมทูลให้ออก หรือจะยืนยันอำนาจของวุฒิสภาว่าศาลรัฐธรรมนูญก้าวล้ำเข้ามาแดนอำนาจนี้ไม่ได้


      


       "แต่ที่ผ่านมาได้ข้ามขั้นตอนนี้ คือแทนที่จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมวุฒิสภา และขึ้นไปหาพระราชอำนาจ แต่ปรากฏว่ากลับนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกส่งไปยัง คตง.(คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน) ซึ่งเป็นเพียงคณะกรรมการสรรหา แล้วไปวินิจฉัยเอาเองว่าพ้นจากตำแหน่ง แล้วเกิดสรรหาคุณวิสุทธิ์ มนตริวัต เข้ามา จึงเป็นปัญหาว่า คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งแล้วหรือยัง และพอคุณวิสุทธิ์ถอนตัวก็ควรต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมนี้ แต่กลับส่งเรื่องไปหา คตง.อีก ดังนั้น เราควรต้องประชุมกัน เพราะผมเห็นว่าตรงนี้เป็นปัญหาการแต่งตั้งการให้ความเห็นชอบผู้ว่าฯ สตง." นายแก้วสรร ระบุ


      


       ส.ว.กทม.ผู้นี้ยังเปรียบเทียบอีกว่า เรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นลูกบอลในเท้าของวุฒิสภา เป็นความรับผิดชอบของวุฒิสภา ถ้าวุฒิสภาเห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งเรื่องกราบบังคมทูลไป ไม่ต้องมาเถียงกัน ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมากไปกว่านี้ไม่ได้ ในทางกลับกันถ้าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาหารือ พวกตน(ผู้เสนอญัตติ) จะยืนว่าคำวินิจฉัยนี้นอกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เป็นแดนอำนาจเด็ดขาดของวุฒิสภาในเรื่องของการสรรหาแต่งตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล้ำเข้ามาไม่ได้ จึงขอเพื่อนสมาชิกมีมติไม่ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น การที่ตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ต้องทำให้สิ้นกระบวนการ ถ้าเราไม่อยากให้สิ้น เราเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญผิด เราก็ไม่ต้องอนุมัติตามศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมนี้ควรจะได้โอกาสเช่นนี้ แต่ไม่เคยได้เลย


      


       "แต่ถ้าใครก็ตามเห็นว่าวุฒิสภาไม่เกี่ยว วุฒิสภาต้องอยู่นิ่งๆ ให้เขาเสนอชื่อว่าแล้วคอยบอกว่า ใช่หรือไม่ใช่ แล้วป่วนกันทั้งบ้านทั้งเมือง ถ้าท่านเห็นอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าตามมาตรา 159 ต้องเป็นเรื่องมีชื่อเป็นๆ มาให้เลือก ท่านก็ลงมติว่าไม่เข้า 159 ประชุมไม่ได้ แต่ถ้าท่านลงมติอย่างนั้น สิ่งที่ซ่อนคือ ท่านยืนบนทฤษฎีว่าท่านไม่ต้องรับผิดชอบอะไร นั่งอยู่นิ่งๆ คอยเขี่ยบอลไปมา แล้วรอชื่อเป็นๆ มาให้เลือก กราบบังคมทูลไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ ถ้าจะเห็นอย่างนั้นก็ขอเชิญ เชิญลงมติไปเลยว่าเราพิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ถ้าท่านเห็นว่าเราต้องรับผิดชอบ โปรดตีความว่าเราประชุมได้ และประชุมแล้วเราจะเลือกตรงไหน ก็ค่อยว่ากัน เพราะเขาเลือกเรามา เพื่อให้รับผิดชอบ ไม่ได้เลือกมาเป็นขุนนาง และวุฒิสภามีไว้เพื่อรับผิดชอบเรื่อง นี้ แต่ถ้าท่านยังคิดว่าเราต้องนั่งนิ่งๆ ให้เขาป้อนไปป้อนมา ก็เชิญ เชิญเลือกเส้นทางของขุนนางได้" นายแก้วสรร กล่าว


      


       พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไผ่นวล ส.ว.บุรีรัมย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วขอยืนยันว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการสิ้นสุด เมื่อทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิบัติตาม และเห็นว่าแม้ว่าประธานจะมีอำนาจในการบรรจุวาระการประชุม แต่มีปัญหาเกิดขึ้น เท่ากับประธานจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายที่จะดำเนินการตามมาตรา 303 ได้


      


       ด้าน พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ส.ว.สระบุรี อดีตประธานวุฒิสภา อภิปรายโดยหยิบยกบทความของนายชุมพล ศิลปอาชา ส.ว.กรุงเทพฯ นำมาแจกในเรื่องความรับผิดชอบของวุฒิสภาและ คตง.ในกรณีผู้ว่าการ สตง. พร้อมกับแสดงความชื่นชมบทความดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยที่ระบุว่าความผิดพลาดทั้งหมดเกิดจากฝีมือของคนคนเดียว คือนายปัญญา ตันติยวรงค์ อดีตประธาน คตง. ที่ฝ่าฝืนมติ คตง.ให้เสนอชื่อผู้เหมาะสมให้วุฒิสภาเลือกเป็นผู้ว่าการ สตง.เพียงคนเดียว แต่กลับส่งให้วุฒิสภา 3 ชื่อ รวมทั้งคนที่ไม่ได้คะแนน เพื่อให้วุฒิสภาเลือก โดยหลงเชื่อทำตามอำนาจครอบงำของ ส.ว.บางคนที่ใกล้ชิดกับอดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นการกล่าวหาให้ตนเสียหาย และเสียชื่อเสียง อย่างไรก็ตามในเรื่องผู้ว่าการ สตง.นี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งแล้ว อยากถามว่าใครไม่เคารพพระบรมราชโองการบ้าง ขอให้ยกมือขึ้น เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่านรัฐสภาแล้ว ไม่มีใครที่จะมาลบล้างได้


      


       ขณะที่ นายไสว พราหมณี ส.ว.นครราชสีมาและในฐานะประธานที่ปรึกษาด้านกฎหมายประธานวุฒิสภา กล่าวว่า จะบรรจุเรื่องนี้หรือไม่ เป็นอำนาจของประธานวุฒิสภา แต่ตนมีข้อสังเกตไว้ 2 ข้อ คือ การที่จะให้วุฒิสภาบรรจุญัตตินี้คงไม่สามารถทำได้ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติตามมาตรา 159 เพราะไม่เกี่ยวกับการให้การเลือก และการให้ความเห็นชอบของผู้ดำรงตำแหน่ง เว้นแต่สภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา และวุฒิสภา ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตีความเพราะในรัฐธรรมนูญให้เป็นอำนาจของสษลรัฐธรรมนูญในมาตรา 27และเมื่อมีคำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กรซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของวุฒิสภาอย่างชัดเจน อีกทั้งขณะนี้ยังมีร่างกฎหมายรออยู่เราเหลือเวลา 6 วัน หรือประมาณ 2 เดือนก็จะปิดสมัยประชุม คงประชุมพิจารณาจริงไม่เกิน 30 วัน ซึ่งแต่ละกฎหมายใช้เวลามากในวาระ 1 และ 2 จึงควรใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ


      


       "ขณะนี้เรื่องนี้อยู่ในขั้นของ คตง.ดำเนินการอยู่ จึงไม่ควรหยิบยกขึ้นมาจะเป็นการซ้ำซ้อนและสร้างความสับสนให้แก่สังคม จึงไม่เห็นด้วยที่นำญัตติบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมนี้และในส่วนของความรับผิดชอบ ผมอยากเสนอให้ประธานตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนว่าใครจะต้องรับผิดชอบในส่วนที่เป็นปัญหา จะต้องลงลึกสะสางที่คนมองว่าวุฒิสภาตกต่ำ ถึงเวลาสอบสวนให้เกิดความกระจ่าง" นายไสว กล่าว


      


       นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กทม.กล่าวว่า ตนอยากตั้งข้อสังเกตถึงที่ปรึกษาของประธานวุฒิสภาที่ประธานใช้ในเรื่องนี้ ปรากฎว่าหลายคนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ส.ว.สิงห์บุรี พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไผ่นวล นายไสว พราหมณี ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ยื่นเรื่องให้ตีความการเป็นผู้ว่าการสตง.ของคุณหญิงจารุวรรณ คนเหล่านี้ก็ต้องยืนยันของเดิม ดังนั้นหากจะหาที่ปรึกษาก็ต้องหาคนกลาง


      


       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกทั้งสองฝ่ายลุกอภิปรายแสดงเหตุผลสนับสนุนกันอย่างกว้างประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ส.ว.กาฬสินธ์ ได้เสนอปิดอภิปราย แต่นายสงวน นันทชาติ ส.ว.พะเยา ไม่เห็นด้วยเพราะต้องการอภิปรายต่อ ในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นด้วยให้ปิดอภิปรายด้วยเสียง 74 ต่อ 48 คะแนน จากนั้นประธานจึงขอมติว่าจะรับญัตติของ 22 ส.ว.เข้าพิจารณาในสมัยประชุมนี้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าที่ประชุมมีมติไม่รับญัตติของ 22 ส.ว.ด้วยคะแนน 91 ต่อ 47 คะแนน งดออกเสียง 9 คน และได้เข้าสู่ระเบียบวาระตามปกติต่อไป


      


       ก่อนหน้านี้ นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภาได้บอกว่าจะยอมให้มีการหารือเพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าว โดยระบุว่าแล้วแต่มติของเสียงส่วนใหญ่ว่าจะออกมาอย่างไร


      


       นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กรุงเทพฯ 1 ใน 22 ส.ว.ที่ร่วมเสนอญัตติดังกล่าว กล่าวก่อนการประชุมวุฒิสภา ถึงการเสนอให้วุฒิสภาตีความรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นที่สุดในการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เข้าเกณฑ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 สามารถบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระพิจารณาในสมัยนิติบัญญัติได้หรือไม่ ว่า ญัตตินี้เป็นญัตติที่สมาชิกเสนอเข้าสู่ระเบียบวาระ หากประธานวุฒิสภามีเหตุขัดข้องควรให้ที่ประชุมพิจารณา มิฉะนั้นสมาชิกคงจะซักถาม เนื่องจากที่ผ่านมาประธานวุฒิสภาได้ให้อนุกรรมาธิการกลั่นกรองญัตติและกระทู้ถาม วุฒิสภา พิจารณาล่วงหน้าไปแล้ว แต่ปรากฏว่าการลงคะแนนมีคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานวุฒิสภาจึงควรตัดสินใจว่า จะบรรจุลงในระเบียบวาระการประชุมหรือไม่


      


       ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า การที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะของคุณหญิงจารุวรรณนั้น คิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับญัตติที่สมาชิกวุฒิสภาเสนอ เพราะญัตติดังกล่าวเป็นการพิจารณาประเด็นกฎหมายที่มุ่งแก้ปัญหาเรื่องตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ในกรณีสถานภาพของคุณหญิงจารุวรรณ ว่า มติวุฒิสภาที่ได้มีมติเลือกและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไปแล้ว เป็นข้อยุติในทิศทางใด ถือว่าญัตตินี้เป็นญัตติที่แก้ปัญหา หากไม่นำเข้าสู่การประชุมวุฒิสภา จะหาข้อยุติไม่ได้ และจะกลายเป็นปัญหาบานปลายยาวนานต่อไปอีก คิดว่าประธานวุฒิสภาควรแจ้งให้ที่ประชุมทราบ


      


       นายเสรี กล่าวอีกว่า สำหรับความเห็นของ คตง.เป็นการทำงานตามหน้าที่ของ คตง. ส่วนความชัดเจนในการทำหน้าที่ของวุฒิสภา ก็ควรมีความชัดเจน เพื่อที่จะเป็นแนวทางสำหรับครั้งต่อไปว่า มติวุฒิสภาที่ได้ลงมติไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะพิจารณา เพราะเป็นเรื่องของการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ


      


       "แนวโน้มความยืดเยื้อมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะความรับผิดชอบของแต่ละองค์กรไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภาหรือองค์กรอื่น ตอนหลังๆ จะเห็นว่าความรับผิดชอบน้อยลงและความรับผิดชอบดังกล่าวก็สร้างปัญหาให้กับงานที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองมากมาย อยากขอร้องให้ทุกองค์กรต่างรับผิดชอบและติดสินให้เด็ดขาดตามหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรตัวเองดีกว่าจะให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมาตัดสินชี้ขาด ไม่เช่นนั้นแล้วการตัดสินชี้ขาดจะไม่อยู่กับองค์กรนั้นเลย มีอะไรก็ต้องคอยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ องค์กรที่รับผิดชอบควรตัดสินปัญหาเองก่อน หากตัดสินไม่ได้ค่อยไปพึ่งองค์กรอื่น" นายเสรี กล่าว


      


       ส่วนการเคลื่อนไหวเพื่อล่ารายชื่อถอดถอนนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา นั้น นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร คงดูเรื่องการทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภาต่อไป หากพบว่ามีปัญหาการทำงานค่อยตัดสินใจกัน และในกรณีที่มีการออกมาพูด ก็เป็นการพูดต่อกันไป เป็นความเข้าใจผิด ตอนนี้ขอดูการทำงานของประธานวุฒิสภาไปก่อน


       

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net