Skip to main content
sharethis

ผู้จัดการออนไลน์ 10 ตุลาคม 2548 19:53 น. ส.ว.แฉแหลก-ก่อนสภาสูงมีมติรับร่าง กม.กิจการโทรคมนาคมตามคาดแค่ 61 ต่อ 13 เสียง ด้าน "แก้วสรร" ค้านให้ต่างชาติถือหุ้นร้อยละ 49 หวั่นเปิดช่องให้เอกชนฮุบ ขณะที่ "สมเกียรติ" แฉแหลกขบวนการจ้องแก้ไข-เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน อัดซ้ำ 8 ปีไม่เคยพัฒนาเทคโนโลยี ก่อนชี้ "3 กลุ่มทุนใหญ่" ร่ำรวยได้สิทธิพิเศษ


      


วันนี้ ( 10 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมวุฒิสภาว่า ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบมาแล้ว โดยนายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯ อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างฯ ดังกล่าว เนื่องจากได้มีการแก้ไขเกี่ยวกับการถือหุ้นของต่างชาติจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 ซึ่งเสียความรู้สึกที่มีการแก้ไขเปิดช่องให้มีเอกชนเข้ามาฮุบ และทำไมถึงแก้ไขให้ผู้ประกอบกิจการเป็นผู้กำหนดในการออกระเบียบเอง ซึ่งรัฐควรกำหนดกรอบเอาไว้


      


ด้าน นายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ว.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ที่นายแก้วสรรบอกว่าเสียความรู้สึกกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม โดยส่วนตัวคิดว่านายแก้วสรรรู้ แต่อาจแกล้งโง่ เพราะภาษีสรรพามิตรที่เก็บขึ้นมานั้น เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพราะสัญญาที่ ทศท. หรือกสท.ทำกับบริษัทต่างๆ ล้วนเป็นไปตามสัญญาเดิมในเมื่อไม่มีการแปรสัญญาณที่แน่ชัด ดังนั้นค่าบริการก็เป็นไปตามสัญญาเดิม หากผิดไปจากนี้แสดงว่าเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ และเรื่องต้องปรากฏขึ้นมา ตรงนี้คณะกรรมาธิการถึงเข้าไปเกี่ยวข้อง ปกติถ้าไม่มีเรื่องอื้อฉาว ทางคณะกรรมาธิการจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะจะถูกข้อครหาได้ จึงขอยืนยันว่าคณะกรรมาธิการได้ทำไปตามหน้าที่


      


จากนั้น นายแก้วสรร ลุกขึ้นอภิปรายอีกว่า รู้สึกผิดหวังกับความคืบหน้าในการแปรรูปสัญญาณที่ไม่ไปถึงไหน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ และมีผลประโยชน์มาก เมื่อเก็บภาษีสรรพสามิตไปร้อยละ 2 แล้วมีการจ่ายอีกหรือไม่ ชาวบ้านถามว่าแปรรูปแล้วได้อะไร ตรงนี้เป็นสิ่งที่หวัง และไม่ได้แกล้งโง่ ถ้าเคารพกันไม่น่าใช้คำนี้ คณะกรรมาธิการการคมนาคมต้องตามเรื่องเมื่อเกิดความเอื้อฉาวต้องเข้าไปตรวจสอบ


      


ขณะที่ นายสมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว.สุพรรณบุรีและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อภิปรายว่า ที่มีการแก้ให้ร่วมลงทุนร้อยละ 49 นั้น เป็นกฎหมายธรรมดาที่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน แต่ไม่ต้องการให้ครอบงำกิจการธุรกิจของไทย เพราะธุรกิจโทรคมนาคมไม่ใช่ธุรกิจธรรมดาที่มุ่งมั่นที่จะลงทุนเพื่อสร้างงาน ส่งออก หรือนำรายได้จากการส่งสินค้าออก แต่เป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรพื้นฐานที่พระผู้เป็นเจ้าให้มาคือ ความถี่อากาศ หรือตำแหน่งที่ตั้งดาวเทียมในอวกาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประมาณค่ามิได้


      


"รัฐเล็กๆ ที่อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เช่น ตองก้า ไม่มีดาวเทียม แต่เป็นเจ้าของอวกาศที่มีตำแหน่งที่ตั้งดาวเทียมของระหว่างประเทศ ซึ่งเขาได้ให้นานาชาติไปเช่ายิงดาวเทียม แต่ของเรากลับยกให้เอกชนไปตั้งโดยให้สัมปทานในราคาที่ถูกมาก ดังนั้นกิจการโทรคมนาคมไม่ใช่ธุรกิจธรรมดา แต่เป็นกิจการที่ตั้งบนพื้นฐานการเอาเปรียบโดยใช้ทรัพยากรของประชานไปแสวงหาผลกำไร ซึ่งไม่มีการส่งออก หรือมีการนำเข้า ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการพิเศษในโลก เพราะเป็นกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเต็มที่ มากกว่าการทำมาค้าขาย หรือใช้เช่าเครือข่ายต่างๆ ตามมาตรา 40 โดยต้องการให้ค่าโทรศัพท์มือถือถูกลง"ส.ว.สุพรรณบุรี กล่าว


      


นายสมเกียรติ์ กล่าวอีกว่า ประชาชนจะได้นำข้อมูลสื่อสารในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และรัฐสภา หรือการแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมธรรม ซึ่งอินเตอร์เน็ตต้องราคาถูกลง หรือฟรี เพราะตอน ส.ส.ร.ได้คุยกันว่าสิ่งเหล่านี้รัฐธรรมนูญต้องการให้ประชาชนได้รับการบริโภคข่าวสารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือครูบาอาจารย์ ยกเว้นผู้ที่ทำธุรกิจ ซึ่งผู้ที่ให้บริการฟรีเหล่านี้ รัฐบาลจะต้องไม่เก็บค่าสัมปทานที่สูงจนเกินไป ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.ร่างขึ้น ต้องการให้กิจการโทรคมนาคมไทยยิ่งใหญ่กว่ากิจการของพ่อค้า นักธุรกิจในสหรัฐ และยุโรป และต้องการให้มีนายทุนน้อยที่สุดในการดำเนินการกิจการนี้ โดยเฉพาะต้องการให้ องค์กรโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ( ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ( กสท.) เป็นของรัฐต่อไป


      


"ต้องคำนึงถึงจุดนี้ให้มาก โดยให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทศท.และ กสท.ก็ทำตัวเป็นนักธุรกิจ จึงต้องมาบ่นว่าไม่มีทุน ทำให้เสียจุดมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ ตอนนี้รัฐธรรมนูญได้ใช้มา 8 ปี บริษัทโทรคมนาคมทั้งหลายในไทย ทั้งบริษัทโทรศัพท์ หรือบริษัทดาวเทียม ทศท.และ กสท. ไม่เคยพัฒนาเทคโนโลยีอะไรขึ้นมาเพื่อบอกกับคนไทยว่าเราทำได้เอง ไม่เคยส่งออกเทคโนโลยีไปขายต่างชาติที่ผลิตมือถือ อย่างดีก็แค่ผลิตซองหนังใส่โทรศัพท์ โดยเฉพาะชินคอร์ปฯ ทำอะไรบ้าง ผลิตอะไรบ้างที่เป็นเงิน เป็นเทคโนโลยี หรือดีเทค ออเรนจ์ เทเลคอมเอเซีย รวยกันจนติดอันดับนิตยสารต่างประเทศ เพราะไม่ได้ทำอะไรให้กับประเทศชาติ นอกจากร่วมมือกับต่างชาติ ขอเทคโนโลยีเข้ามา และไม่เคยคืนอะไรให้กับสังคม"นายสมเกียรติ์ กล่าว


      


ส.ว.สุพรรณบุรี กล่าวอีกว่า นักลงทุนชาวไทย 3 กลุ่มที่ร่ำรวยนั้น ร่ำรวยเพราะมีสิทธิพิเศษ และมีอำนาจในการวิ่งเต้นบนโต๊ะ ใต้โต๊ะ และขอสัมปทานผูกขาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีเงินจริง เทคโนโลยีไม่พอ และไม่มีจิตสำนึกที่จะทำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ดังนั้นนักลงทุนเหล่านี้จึงไม่ชอบ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมที่วุฒิสภาแก้ไขไป และจะรู้สึกโกรธ จึงทำให้ตนถูกต่อว่าจากบริษัทเหล่านี้ว่าทำอย่างนี้ได้อย่างไร และพวกเขาจะอยู่อย่างไรเพราะไม่มีเทคโนโลยี มีแค่สัมปทาน คนพวกนี้บอกว่าจะกลับมาแก้กฎหมายให้ได้เมื่อนายเขามาเป็นนายกฯ หรือเป็นรัฐมนตรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นจริง และมีบันทึกไว้ชัดเจน จนมีการพยายามถ่วงให้พ้นวุฒิสภาสมัยนี้ เพื่อให้ร่างนี้ล่าช้าไปอีก 6 เดือน หรืออีก 1 ปี แล้วทุกอย่างจะหายไปหมด


      


 "ดังนั้นผมขอค้านพวกนายทุนที่ไม่มีปัญญาสร้างเทคโนโลยี แต่มีอำนาจวิ่งเต้นต่อรอง รู้จักต่างชาติมาแล้วเอาเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อมาทำธุรกิจเต็มรูปแบบ แล้วอ้างความสะดวกเพื่อการลงทุน ตอนนี้อยากถามว่าค่าโทรศัพท์ถูกลงมีหรือไม่ หรือทำอะไรบ้างเพื่อเพิ่มตลาดแรงงาน นอกจากวิ่งเต้นแล้วชวนต่างชาติมาครอบงำกิจการ และการที่บอกว่าให้ต่างชาติถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 นั้น ส่วนใหญ่ก็มีหุ้นตัวแทนถือไว้ทั้งสิ้น เช่น ยูบีซีเป็นหุ้นส่วนในเครือบริษัทของนายกฯ กับบริษัทในเครือของลูกเขยของนายทุนที่เป็นรัฐมนตรี จึงขอค้านร่าง พ.ร.บ..แก้ไขฉบับนี้"นายสมเกียรติ กล่าว


      


จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบรับร่างฉบับดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 61 ต่อ 13 ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญไปพิจารณาแปรญัตติต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net