Skip to main content
sharethis

คนทำงานด้านเอดส์และยาเสพติดยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบโครงการทดลองยาทินอฟโฟเวียร์ เพื่อใช้ป้องกันเอดส์ของ กทม. แต่กรรมการสิทธิฯ ด้านสุขภาพออกโรงป้องโครงการดังกล่าว แจงเป็นการวิจัยที่ถูกต้องสมบูรณ์แบบ เอ็นจีโอค้านเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่ด่วนสรุป เรียกร้องให้ประธานกรรมการสิทธิฯ ชี้แจง 


 


เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 ตุลาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และกลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโครงการทดลองยาทินอฟโฟเวียร์ในกรุงเทพมหานคร (การศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิผลของการได้รับยาทิโนโฟเวียร์ อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย) โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณประดิษฐ์ เจริญไทยทวี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฝ่ายสุขภาพ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน


 


แต่หลังจากที่ทางศาสตราจารย์เกียรติคุณประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ได้พูดคุยกับทางกลุ่มของตัวแทนเอ็นจีโอที่เข้ามายื่นหนังสือฯ ปรากฏว่า มีการพาดพิงถึงผู้ใช้ยา (เสพติดชนิดฉีด) และแสดงความคิดเห็นต่อโครงการวิจัยดังกล่าวว่าเป็นโครงการที่สมบูรณ์ และไม่พบข้อผิดพลาดทั้งๆที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบตามที่ทางกลุ่มเอ็นจีโอเรียกร้องมาในหนังสือที่ทำการยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิฯ  ซึ่งทำให้กลุ่มเอ็นจีโอไม่พอใจกับคำพูดของกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง จนต้องขอเข้าพบศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อชี้แจงป็นการด่วน


 


และเมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกันศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มาพบกับทางกลุ่มเอ็นจีโอตามข้อเรียกร้อง เพื่อรับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น และรับปากที่จะดำเนินการตรวจสอบโครงการดังกล่าวให้อย่างเป็นธรรม โดยมอบหมายให้นายสุรชัย เมธาวิกูล ผู้อำนวยการ สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นผู้รับผิดชอบ


 


"เป็นที่ทราบกันดีว่า การวิจัยที่มาจากต่างประเทศ มักจะมีผลประโยชน์แอบแฝงเข้ามาเสมอ ซึ่งถ้าเราปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการวิจัยของประเทศก็เป็นได้ ส่วนกรณีการวิจัยยาทินอฟโฟเวียร์ก็เช่นกัน ทางคณะกรรมการสิทธิต้องตรวจสอบถึงที่มาที่ไปของการวิจัยตั้งแต่เริ่มต้น และผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการดังกล่าวว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียบ้าง ในเบื้องต้นทางคณะกรรมการสิทธิฯ จะตรวจสอบไปยัง กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเจ้าของโครงการฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าขัดแย้งกับประเด็นที่ทางกลุ่มเอ็นจีโอเสนอมาหรือไม่" ศ.เสน่ห์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net