Skip to main content
sharethis

วาทกรรมพระราชอำนาจหรือประชาธิปไตยแบบคิดสั้น
ธงชัย วินิจจะกูล
Madison, Wisconsin



บทความชิ้นนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 664
เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9555.html


เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548


หมายเหตุ - บทความนี้เขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ


"Same Old Royalism Hatches Again "
เพื่อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง


ฉบับภาษาไทยนี้แปลโดย ไอดา อรุณวงษ์
แต่ผู้เขียนปรับปรุงต้นฉบับเองพอสมควรตลอดทั้งบท แล้ว เขียนเพิ่มตอนท้ายประมาณหนึ่งหน้า
คำว่า royalist - บางคนใช้ว่าพวกนิยมเจ้า บางคนใช้ว่าพวกกษัตริย์นิยม บทความนี้ใช้ทั้งสองคำในความหมายเดียวกัน


…………….


กระแสคลั่งไคล้หนังสือ พระราชอำนาจ ของประมวล รุจนเสรี สร้างความมึนงงแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง หนังสือนี้เป็นความคิดเก่าๆเดิมๆที่ "เวอร์" ไปด้วยสำนวนโวหาร ทว่าบังเอิญออกมาได้จังหวะพอดี คือในยามที่สาธารณชนกำลังรู้สึกเหลืออดเหลือทนกับอำนาจล้นฟ้าและความอหังการของนายกรัฐมนตรี


หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยวิธีคิดเลื่อนเปื้อนและการให้เหตุผลที่ลุ่มๆดอนๆอ่อนแอ ลองมาดูกันแค่ประเด็นเดียวซึ่งประมวลภูมิใจนักหนาในความคิดของตน จนมักจะยกมาแสดงในที่ต่างๆ นั่นคือ ข้อถกเถียงของเขาที่ว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองรัฐธรรมนูญก่อนจึงจะประกาศใช้ได้ แสดงว่าพระราชอำนาจของพระองค์ย่อมล้นพ้นกว่าที่ระบุไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ


นี่เป็นตรรกวิตถาร การที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นผู้ลงนามในกฎหมายทุกฉบับก่อนประกาศใช้ หมายความว่าเขาอยู่เหนือกฎหมายหรือ? การที่เขามีอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย เท่ากับว่าเขาอยู่เหนือกฎหมายหรือ? ไม่ใช่เลย ประมวลเองเป็นคนลงนามคำสั่งและระเบียบต่างๆมาหลายฉบับสมัยที่อยู่กระทรวงมหาดไทย หมายความว่าเขาอยู่เหนือกฎระเบียบพวกนั้นใช่ไหม? (อาจจะใช่ก็ได้)


การอาศัยกลอุบายในทางตรรกะมาชี้นำสาธารณชนให้ไขว้เขวเช่นนี้ ย่อมเป็นการไร้ความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลอุบายเหล่านั้นนำไปสู่ข้อเสนอว่ากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ


หนังสือ พระราชอำนาจ นั้น เป็นแค่การเผยแพร่ความคิดเดิมๆ ที่ดำรงอยู่ในหมู่พวกกษัตริย์นิยมหลัง ๒๔๗๕ ให้กว้างขวางต่อสาธารณชนในปัจจุบันเท่านั้นเอง พวกกษัตริย์นิยมพยายามอยู่หลายครั้งที่จะรื้อฟื้นอำนาจของพระมหากษัตริย์ การต่อสู้อย่างดุเดือดในข้อนี้นำไปสู่กบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองราคาแพง มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และต่อมานำไปสู่การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ในปี ๒๔๗๘ หลังจากที่พระองค์ทรงพ่ายแพ้ในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อจะเพิ่มพระราชอำนาจของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ


พวกกษัตริย์นิยมถูกกดปราบลงไปในสมัยแรกของจอมพลป.พิบูลสงคราม
(๒๔๘๑-๒๔๘๗) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้ผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายซึ่งห้ามเจ้านายมีส่วนร่วมทางการเมือง และคืนฐานันดรศักดิ์ให้กับพระราชวงศ์ทั้งหลาย ในที่นี้รวมถึงสมเด็จฯกรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสของรัชกาลที่ ๕ พระองค์สุดท้ายที่ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในขณะนั้น พระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลาต่อมา และเป็นผู้นำสำคัญพระองค์หนึ่งของฝ่ายนิยมเจ้านับจาก ๒๔๗๕ ตราบจนสิ้นพระชนม์


การประนีประนอมของปรีดีเป็นผลมาจากการเมืองภายในประเทศช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากฝ่ายกษ้ตริย์นิยมหลายคนเป็นแกนนำของขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านจอมพล ป. สิ่งที่ปรีดีไม่ได้คาดไว้ก็คือ พวกกษัตริย์นิยมวางแผนแก้แค้นปรีดีเกือบจะในทันที ควบคู่ไปกับการเริ่มกอบกู้พระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ พวกเขาไม่ได้ต้องการระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบก่อน ๒๔๗๕ แต่ต้องการขยายพระราชอำนาจให้มากที่สุดภายใต้รัฐธรรมนูญ ในแนวที่รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพยายามต่อสู้แต่ไม่บรรลุผล


การใส่ร้ายป้ายสีว่าปรีดีเกี่ยวข้องกับกรณีลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ ก็เป็นผลงานสกปรกของคนกลุ่มนี้ ปรีดีต้องประสบความยากลำบากอย่างแสนสาหัสตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตก็ด้วยฝีมือของพวกนิยมเจ้าเหล่านี้


รัฐประหารปี ๒๔๙๐ เป็นการปิดฉากปรีดี (ท่านพยายามกลับสู่อำนาจในไม่กี่ปีต่อมาแต่ล้มเหลว) จึงถือกันว่ารัฐประหารปี ๒๔๙๐ เป็นการปิดฉากคณะราษฎรด้วย นักประวัติศาสตร์มักจะให้ความสนใจกับบทบาทของผู้นำรุ่นใหม่ในกองทัพบกอย่างผิน ชุณหะวัณและเผ่า ศรียานนท์ ข้อเท็จจริงก็คือว่า พวกกษัตริย์นิยมมีบทบาทมากมายเต็มไปหมดในการรัฐประหารครั้งนี้ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงบางองค์ ลงมาจนถึงพี่น้องสกุลปราโมชที่ต่อต้านปรีดีอย่างเอาการเอางาน


พวกกษัตริย์นิยมมีบทบาทสูงในการเมืองไทยต่อมาอีก ๔ ปี บุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในช่วงนั้น คือ สมเด็จฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร หรือพระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งขัดขวางความพยายามของรัชกาลที่ ๗ ในการที่จะ "ปฏิรูป" การเมืองไทย พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ที่ปราดเปรื่อง ในระยะที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมถอยร่นในช่วงสมัยแรกของจอมพล ป. พระองค์ท่านเก็บตัวทำงานวิชาการอยู่เงียบๆ บทบาทสำคัญต่อมาคือ ทรงเป็นพระอาจารย์ที่ถวายการอบรมตระเตรียมยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์เพื่อขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงรับหน้าที่นี้หลายปีต่อมากระทั่งพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันทรงมีวุฒิภาวะ พระองค์เจ้าธานีฯ ยังเป็นประธานองคมนตรีหลังจากที่สมเด็จฯ กรมขุนชัยนาทฯ สิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๙๔


ในเดือนมีนาคม ๒๔๘๙ พระองค์เจ้าธานีฯ แสดงปาฐกถาถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระราชชนนี และพระอนุชาของพระองค์ (พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) ต่อเนื่องมาจากปาฐกถา พระองค์เจ้าธานีฯได้ทรงนิพนธ์บทความวิชาการเป็นภาษาอังกฤษ ในหัวข้อ "The Old Siamese Conception of the Monarchy" พระนิพนธ์นี้เป็นงานสั้นๆ กระชับ ทว่ามีความสำคัญอย่างสูง เพราะงานชิ้นนี้ประมวลรวบยอดแนวความคิดหลักๆของลัทธิกษัตริย์นิยมขึ้นเป็นทฤษฎีว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ของไทย และกลายเป็นฐานทางภูมิปัญญาของ "วาทกรรมพระราชอำนาจ" ซึ่งมุ่งขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญหลัง ๒๔๗๕ ทฤษฎีและวาทกรรมชุดนี้เป็นกรอบเค้าโครงสำหรับพัฒนาการของสถาบันกษัตริย์ไทยตลอดระยะ ๖๐ ปีที่ผ่านมา จนทุกวันนี้มีสถานะสูงส่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน


นักประวัติศาสตร์มักเห็นว่า การฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์เริ่มในยุคสฤษดิ์ แต่เราจะพบว่าทั้งความคิดทางการเมืองของระบอบสฤษดิ์ และพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวในระยะ ๒๐ ปีแรก รวมทั้งความคิดของคึกฤทธิ์ ปราโมชเรื่องสถาบันกษัตริย์ ต่างเป็นผลิตผลของวาทกรรมตามทฤษฎีที่พระองค์เจ้าธานีฯทรงเสนอไว้ตั้งแต่ระยะใกล้กับที่คณะราษฎรปิดฉากลง


ประเด็นหลักแทบทั้งหมดในหนังสือ พระราชอำนาจ เป็นแค่การถ่ายทอดความคิดเดิมๆ ของนักคิดฝ่ายกษัตริย์นิยมเมื่อหลายสิบปีก่อน (ผ่านการอธิบายขยายความโดยวิทยานิพนธ์ของธงทอง จันทรางศุในปี ๒๕๒๙) ทั้งสิ้น ประมวลเพียงแค่เพิ่มเติมข้อถกเถียงที่ไม่ค่อยเข้าท่าของตน นำเสนอด้วยสำนวนโวหารและกรณีที่ทันยุคสมัย และผลิตออกมาในจังหวะทางการเมืองที่เหมาะเจาะ ไม่มีอะไรมากกว่านั้นเลยจริงๆ


คุณูปการของหนังสือนี้ที่มีต่อทฤษฎีแบบกษัตริย์นิยม และ"วาทกรรมพระราชอำนาจ" ก็คือ ทำให้งานวิชาการเข้าใจยาก กลายเป็นที่นิยมบริโภคง่ายในหมู่ผู้คนที่ขาดความรู้ความเข้าใจและขาดมุมมองทางประวัติศาสตร์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังสือนี้เป็นที่ฮือฮาก็เพราะมันสอดรับกับการเคลื่อนไหวเชิดชูเจ้าเสียยิ่งกว่าเจ้าเอง ของผู้เกลียดชังรัฐบาลปัจจุบัน คนกลุ่มหลังนี้กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของพวกกษัตริย์นิยมที่จะทำให้พระราชอำนาจในทางพฤตินัย กลายเป็นพระราชอำนาจอันชอบธรรมตามธรรมชาติของพระมหากษัตริย์ในทางนิตินัย


ถ้าหากว่าพสกนิกรผู้ห่วงใยบ้านเมืองในรุ่นปัจจุบัน รวมถึงนักหนังสือพิมพ์ใหญ่โตหลายท่าน จะรู้สึกดื่มด่ำเห็นคล้อยตามความคิดในหนังสือ พระราชอำนาจ ย่อมสะท้อนความผิวเผินและขาดวิจารณญาณของคนเหล่านั้น และสะท้อนว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์ของพวกเขานั้น แย่เอามากๆ สำหรับผู้สมาทานลัทธิกษัตริย์นิยมนั้น พวกเขาตอบสนองต่อหนังสือเล่มนี้อย่างไร ย่อมเป็นเรื่องคาดเดาได้ไม่ยาก เราจะคาดหวังให้พวกเขาตอบรับในแบบอื่นได้อย่างไร ยกเว้นนิ่งเงียบไม่พูดอะไรทั้งสิ้น


ก่อนที่จะเห่อหนังสือเล่มนี้ เราจึงควรจะศึกษาให้ตระหนักว่าปรีดี พนมยงค์ ตกระกำลำบากเพียงใดด้วยน้ำมือของพวกนิยมเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี ๒๔๘๙-๒๔๙๒ เรื่องตลกเศร้าที่สุดก็คือผู้สนับสนุนการขยายพระราชอำนาจบางคนเล่าเรื่องของปรีดีว่าท่านร่วมมือกับพวกเจ้าในการกอบกู้พระราชอำนาจด้วย


หากจะให้ความเห็นอย่างเบาที่สุดต่อเรื่องพรรค์นั้น คงต้องขอบอกว่า "เหลวไหลทั้งเพ"


ผู้เขียนไม่ใช่ผู้สนับสนุนทักษิณ ทั้งได้เขียนและพูดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนี้ในหลายๆแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดล้มเหลวแต่ยังอวดดีกับนโยบายผิดๆ วิธีการผิดๆ ในการแก้วิกฤติในภาคใต้ แต่ผู้เขียนเห็นว่าความพยายามต่อสู้กับรัฐบาลบ้าอำนาจด้วยวาทกรรมพระราชอำนาจ ยอมตนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของพวกกษัตริย์นิยม เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง และควรต้องมีการทัดทาน


ทำไม? เพราะเราไม่น่าสิ้นคิดและจนตรอกถึงขนาดโยนความสำเร็จเมื่อ ๗๓ ปีก่อนลงถังขยะประวัติศาสตร์


การต่อสู้ด้วยวิถีทางพรรค์นี้ผิดหลักการโดยพื้นฐาน


ประการแรก ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายถึง ระบอบประชาธิปไตย ที่มีประมุขดำรงสถานะตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ มิได้หมายถึงระบอบสุ่มสี่สุ่มห้าอะไรก็ได้ ขอให้มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระราชอำนาจมากๆ เป็นใช้ได้

ทัศนะอย่างหลังมักอิงกับจินตนาการว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีตและอนาคตย่อมวิเศษเหมือนพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันตลอดชั่วกาลปาวสาน การอภิปรายที่ธรรมศาสตร์เมื่อ ๖ กันยายน ที่ผ่านมา ยืนยันความเพ้อฝันข้อนี้อย่างเห็นได้ชัด ประวัติศาสตร์ในทัศนะลัทธิกษัตริย์นิยมก็อิงกับความเพ้อฝันแบบเดียวกัน


วาทกรรมพระราชอำนาจชอบอ้างอิงอดีต แต่กลับขาดสำนึกอดีตและวิสัยทัศน์ทางประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง พวกเขากำลังวางระเบิดเวลาลูกใหญ่แก่ประเทศไทยในอนาคต เพื่อแลกกับผลทางการเมืองระยะสั้นๆในปัจจุบัน


หรือว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพระราชอำนาจไม่เคยคิดถึงอนาคตเลย?


ประการที่สอง การใช้อาวุธตอบโต้อาวุธ ไม่ก่อให้เกิดสันติ ฉันใด การต่อสู้กับรัฐบาลอำนาจนิยม ด้วยอำนาจพิเศษ เป็นวิถีทางที่ไม่ช่วยให้ประชาชนหรือสังคมเข้มแข็งขึ้นมา ไม่ก่อผลดีใดๆเลยต่อประชาธิปไตย ฉันนั้น

ทำไมเราจึงมักง่าย จะต่อสู้กับรัฐบาลซึ่งทำลายประชาธิปไตย ด้วยการละทิ้งวิถีทางประชาธิปไตย ?


ทำไมเราคิดจะต่อสู้กับสื่งที่ผิด ด้วยวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง? ผิด+ไม่ถูก จะกลายเป็น ถูก ได้อย่างไรกัน?


ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ารัฐบาลปัจจุบันทำร้ายระบอบประชาธิปไตย ด้วยการจูงจมูกประชาชน ไม่ส่งเสริม ไม่ไว้ใจ ไม่ให้โอกาส แต่กลับทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่หากเราต่อสู้จนชนะด้วยวิถีทางที่ไม่เห็นหัวประชาชนพอๆกัน เราจะชนะไปทำไม ในเมื่อเราช่วยกันย่ำยีหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย จนไม่เหลืออะไรที่น่าเคารพอีกต่อไป


ยอมเจ็บตัวระทมทุกข์กับปัจจุบัน แล้วต่อสู้อย่างยึดมั่นในหลักการกันต่อไปดีกว่า อย่างน้อยเราจึงจะสามารถยืดอกเชิดหน้าได้อย่าสง่างาม


หาไม่แล้ว จะเหลือเกียรติภูมิอะไรในตัวเราเองอันควรค่าแก่การเคารพอีก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net