Skip to main content
sharethis


ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 เวลา 19:10 น.  ในกรณีศาลปกครองสั่งไม่รับฟ้องคดี สรรหา กสช.รอบสอง เหตุเพราะ "พิทยา ว่องกุล" ประธาน ครป. อดีตผู้สมัคร กสช.รอบแรก ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายปกครอง ด้าน ครป. เตรียมหารือสู้คดี กสช.ต่อพร้อมจวก "สุรนันทน์" มีวาระซ่อนเร้น


 


ที่ศาลปกครอง ถ.สาทรใต้ วันที่ 12 ต.ค.48  ศาลปกครองกลาง โดยนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนคดีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีที่นายพิทยา ว่องกุล ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และอดีตผู้สมัครสรรหาเป็น กสช. ยื่นฟ้องคดีคณะกรรมการสรรหา กสช.ทั้ง 17 คน, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ตามลำดับในความผิดฐานเป็นหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ผู้ฟ้องยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.48 ระบุว่า เคยเป็นผู้เข้าสมัคร กสช.ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2545 ซึ่งผู้ฟ้องเคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 13 ก.พ.46 ให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่คัดเลือกผู้สมควรเป็น กสช.14 คน โดยหลังจากนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ 6 คนจึงขอถอนตัว แต่ขณะที่คงเหลือคณะกรรมการสรรหาฯ จำนวน 11 คน พบว่ามีคณะกรรมการสรรหาฯ 2 คนมีสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การสรรหาไม่เป็นกลาง เนื่องจากกรรมการสรรหามีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนธุรกิจสื่อ ซึ่งผู้ฟ้องเห็นว่าเมื่อศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาแล้วให้เพิกถอนกระบวนการสรรหาฯ จะต้องถือว่าการกระทำของคณะกรรมการสรรหาฯ ชุดเดิมทั้งหมด 17 คนไม่ชอบด้วยกฎหมายและหมดความชอบธรรมที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะทำหน้าที่ต่อไป ส่วนคณะกรรมการสรรหาฯ ชุดเดิมที่ไม่ยอมลาออกก็ต้องถือว่าสิ้นสภาพตามหลักกฎหมายด้วย แต่ในการสรรหา กสช.ครั้ง 2 พบว่าคณะกรรมการสรรหาฯ ก็ยังประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนและมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย


       


ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ก็ไม่ได้ดำเนินการสรรหา กสช. ตามขั้นตอนการปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยยังให้สิทธิการสมัครกับเฉพาะผู้สมัครเดิมทั้ง 103 รายเท่านั้น อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.องค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 อย่างชัดเจน ที่ต้องการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมีโอกาสสมัครเป็น กสช. ซึ่งการสรรหาครั้งใหม่พบผู้สมัครเดิมยืนยันสมัครใหม่เพียง 37 รายเท่านั้น ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 ตัดโอกาสตัวเองที่จะพิจารณาตัวบุคคลใหม่ กรณีนี้จึงถือว่าเป็นการจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อันเป็นการกระที่ขัดต่อประโยชน์สาธารณะอย่างชัดแจ้ง


      


ส่วนผู้ถูกฟ้องที่ 2-4 เป็นหน่วยธุรการและเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ที่จะดำเนินการสรรหาและคัดเลือก กสช.ให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย แต่หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษา กลับไม่เคยปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องที่ 2-4 จะดำเนินการใดเพื่อตรวจสอบการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่ยังปล่อยให้คณะกรรมการสรรหาฯ 2 คนที่มีสภาพร้ายแรงต่อความไม่เป็นกลางในการสรรหา ยังปฏิบัติหน้าที่ร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาฯ ชุดใหม่อยู่ต่อไป ดังนั้น แม้ว่าขณะนี้วุฒิสภาจะมีมติคัดเลือกผู้สมัคร 14 ให้เหลือ 7 คนเป็น กสช.ตามที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 เสนอมาแล้ว ก็ต้องถือว่าการกระทำดังกล่าวยังไม่มีผลและยังไม่สภาพใดๆ ตามกฎหมาย เพราะที่ผ่านมากระทำของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ฟ้องขอให้ศาลมีมติเพิกถอนคำสั่งประกาศของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่เสนอรายชื่อบุคคล 14 คนให้วุฒิสภาเลือก 7 คนเป็น กสช. และให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2-4 ออกคำสั่งหรือประกาศที่มีผลเป็นการเพิกถอน หรือทำให้สถานภาพของผู้ถูกฟ้องที่ 1 สิ้นสุดลง และให้มีคำสั่งดำเนินกระบวนการสรรหา กสช.ชุดใหม่


      


ทั้งนี้ ศาลปกครองตรวจพิจารณาคำฟ้อง ประกอบ พ.ร.บ.องค์กรการจัดสรรคลื่นฯ, พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แล้วเห็นว่า ตามกฎหมายศาลปกครอง ม.42 ผู้ที่มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้จะต้องเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายจากการกระทำ หรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทำหนังสือขอเข้าสมัครในการสรรหา กสช.ครั้งใหม่ด้วย ดังนั้น ไม่ว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่เสนอผลการคัดเลือกบุคคลให้วุฒิสภามีมติเลือก กสช. 7 คนจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ซึ่งการที่ผู้ฟ้องอ้างว่าไม่เข้าสมัครใหม่เพราะพบว่ากรรมการสรรหา ฯ บางคนไม่เป็นกลางนั้น ก็เป็นความเห็นของผู้ฟ้องเองที่ตัดสินใจยืนยันไม่ลงสมัคร ดังนั้นเมื่อผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายตามกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


      


ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ตนคิดว่าที่ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง โดยระบุเหตุผลว่าเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่ได้ยืนยันสิทธิในการสมัครเข้ารับคัดเลือกนั้น เป็นสิ่งที่เรากังวลใจตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าศาลปกครองจะตีความผู้เสียหายแคบเกินไปเหมือนกรณีการฟ้องไอทีวีก่อนหน้านี้ ทั้งที่เป้าหมายการฟ้องคดีเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ


 


อย่างไรก็ตาม ครป.คงต้องเคารพคำพิพากษาศาลปกครอง แต่ ครป.ปรึกษากับทนายความเพื่อหาแนวทางต่อสู้คดีต่อไป ซึ่งคาดว่ามี 3 แนวทางด้วยกัน คือ 1.การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคำฟ้องดังกล่าวเป็นการฟ้องกระบวนการสรรหาทั้งระบบที่เป็นปัญหาไม่ใช่เจาะจงฟ้องผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเมื่อระบบมิชอบก็ไม่มีหลักประกันว่าผลประโยชน์จากคลื่นวิทยุโทรทัศน์จะตกถึงมือประชาชนด้วยต้นไม้เป็นพิษก็จะออกลูกเป็นพิษอย่างที่คุณวิษณุ เครืองามพูดไว้


 


2.แนวทางที่จะหาผู้เสียหายคนอื่นมาฟ้องได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทาบทามผู้เสียหายโดยตรงบางท่านที่เข้ารอบ 28 คนสุดท้ายไว้แล้ว แต่เนื่องจากทาง ครป.เกรงว่านายกฯจะแอบทูลเกล้าฯ ไปก่อน ซึ่งเป็นวิธีถนัดของเนติบริกรบางคน ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงให้นายพิทยายื่นฟ้องคดีไปก่อนเพื่อให้นายกฯ ไตร่ตรองให้รอบคอบ และ 3.ครป.อาจจะตรียมรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อยื่นถวายฎีกาไปยังสำนักราชเลขา สำนักพระราชวัง


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการต่อสู้ดังกล่าว ครป.จะประชุมปรึกษาหารือกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในวันพรุ่งนี้



      


 "ทุกอย่างยังไม่จบ เพราะยังมีอีก 2 คดีสำคัญที่ศาลพิจารณาอยู่จากกรณีที่คุณประมุท สูตะบุตร อดีตผู้สมัคร กทช.เคยยื่นฟ้องกรรมการสรรหา กทช. และสำนักปลัดสำนักนายกฯ ซึ่งศาลรับฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว และอีกคดีล่าสุดที่คุณประมุทยื่นฟ้องประธานวุฒิสภาและวุฒิสภาเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา" เลขาธิการ ครป.กล่าว


 


นายสุริยะใส ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ระบุว่า ครป.ใช้อคติและมีวาระซ่อนเร้นต้องการให้คนของตนเองไปเป็น กสช.ว่า เรายืนยันว่าการเคลื่อนไหวทำด้วยความสุจริตใจและไม่เคยเชื่อว่าเมื่อตัวแทนภาคประชาชน ที่เข้าไปสมัครจะได้รับการคัดเลือก เพียงแต่ต้องการเข้าไปสมัครเพื่อใช้สิทธิทักท้วงตรวจสอบและกำกับการให้กระบวนการสรรหาเกิดความชอบธรรมมากที่สุด และพยายามเปิดโปงวาระซ่อนเร้นของฝ่ายการเมือง


      


 "คนที่มีวาระซ่อนเร้นคือคุณสุรนันทน์นั่นแหละไม่ใช่ใคร คอยดู ทันทีที่มีการตั้ง กสช.เป็นทางการ เชื่อว่ารัฐบาลจะยืมมือ กสช.หาประโยชน์แน่นอน เริ่มต้นคือการจัดระเบียบวิทยุชุมชนแบบเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการแอบเอื้อใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ให้กับพวกพ้อง ซึ่งตอนนี้มีบรรดานายทุนบริวารของรัฐบาลเตรียมประกาศตั้งสถานีโทรทัศน์รอแล้ว คุณสุรนันทน์ก็น่าจะรู้ดี ซึ่งสังคมต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป" เลขาธิการ ครป. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net