Skip to main content
sharethis


ผู้จัดการออนไลน์ 13 ตุลาคม 2548 19:05 น. รายงานจากห้องประชุมกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว. อุบลราชธานีเป็นประธาน ที่มีการพิจารณาเรื่องการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยเชิญ นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสหัสวรรษ และ นักวิชาการอิสระ เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการฯ เตือนสังคมจับตาแปรรูป กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ ตั้งข้อสังเกตการปล้นชาติครั้งใหญ่ที่สุด รวมมูลค่ากว่า 3.4 ล้านล้านบาท เตรียมเห็นค่าไฟเพิ่มจาก 10 สตางค์เป็น 1 บาทเข้ากระเป๋า 1.2 แสนล้านบาทต่อปี


      


โดยนายวุฒิพงษ์กล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลชุดนี้ถือเป็นเดิมพันทางธุรกิจครั้งใหญ่ โดยมีการเชื่อมโยงกัน 4 ส่วนหลักด้วยกันคือ 1.ปตท.ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ขณะที่ในตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่า 5 ล้านล้านบาท 2.ปิโตรเคมีมูลค่า 3 แสนล้านบาท และธุรกิจโทรคมนาคมอีก 5 แสนล้าน ดังแค่รวมสามส่วนนี้ก็มีมูลค่ามหาศาลถึง 2.1 ล้านล้านบาทแล้ว ยังไม่รวมส่วนที่ 4. คือกฟผ.ซึ่งยังไม่ได้เข้าตลาดจึงยังไม่รู้ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ แต่คาดว่าใกล้เคียงกับ ปตท. อย่างไรก็ดีทั้ง 4 ส่วนนี้น่าจะเป็นมูลค่า 3.4 ล้านล้านบาทเกินกว่ามูลค่าครึ่งหนึ่งของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจของไทยครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคธุรกิจพลังงาน


      


 นักวิชาการผู้นี้ยังกล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคมนั้นมาเกี่ยวพันเป็น 1 ใน 4 ของธุรกิจพลังงานได้ก็เพราะว่าเสาไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ในส่วนของแกนสายได้สอดไฟเบอร์ออฟติคไว้แล้วถือเป็นโครงข่ายโทรคมนาคมที่วิเศษที่สุด ดีกว่าโครงข่ายของ กสท. เสียอีก เพราะว่า กฝผ.สามารถเข้าไปในพื้นที่บางพื้นที่ที่ กสท.เข้าไปไม่ได้ ตรงนี้ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะฉีกออกไปเป็นอีกหนึ่งบริษัทคือ อีเก็ตเทเลคอมได้สบายเพราะเป็นเจ้าของสายไฟเบอร์ออฟติคที่แพร่ขยายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ


      


 "ลองคิดดูว่าคอมลิงค์ซึ่งวิ่งตามเฉพาะทางรถไฟ ในแต่ละภูมิภาคจะมีสายหลักอยู่เส้นเดียวยังสร้างความร่ำรวยได้มหาศาลแล้ว ถ้ามาพ่วงกับโครงข่ายของ กฝผ.ที่ดีที่สุดในประเทศ จะมีมูลค่าขนาดไหน จริงอยู่ว่าสายไฟของ กฟผ.ยังไม่สามารถเชื่อต่อมายังบ้านได้ จำเป็นต้องหาพันธมิตรเพื่อมาทำการเชื่อมต่อตรงนี้ ซึ่งการเชื่อมต่อมายังบ้านมี 2 แบบใหญ่ ๆ คือแบบมีสายซึ่งก็คือการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งคงมีการคิดกันแล้วว่าจะต้องมีการรวมกันเป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งแห่งก่อนแล้วค่อยนำไปขายในตลาดหลักทรัพย์ และการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ซึ่งอย่างหลังก็คือบริษัทโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ นั่นเอง" นายวุฒิพงษ์ ระบุ


      


ผู้อำนวยการสถาบันสหัสวรรษยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้เทคโนโลยีในอนาคตนั้นจะทำให้ปลั๊กไฟบ้านสามารถเสียบสายโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นสายไฟฟ้านอกจากจะจ่ายไฟฟ้ายังสามารถส่งผ่านสัญญาณโทรศัพท์ได้ หากรวม กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จะยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายของดีแทคและเอไอเอส เพราะบริษัทเอกชนทั้งสองได้แต่ฝันเพราะทำอย่างไรก็ไม่ทางทำได้ขนาดนี้


      


"ผมขอพูดเป็นสมการแบบง่าย ๆ อย่างสมการแรก ทีเอ็มบีบวกไอเอฟซีที บวกดีบีเอส จะเท่ากับชินแบ็งก์ ส่วนกรณี อีแก็ตบวกพีทีที(ปตท.)จะเท่ากับชินเอ็นนิจีส์ (Shin Energy) ซึ่งจะเชื่อมต่อกันเป็นอาณาจักรใหญ่ ซึ่งใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจประเทศ การนำ กฟผ.เข้าตลาดหุ้นจึงเป็นจิ๊กซอว์ใหญ่ที่จะทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ กฝผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อไหร่ก็เกมส์โอเวอร์"นายวุฒิพงษ์กล่าว


      


ผู้อำนวยการสถาบันสหัสวรรษกล่าวว่า อีกไม่เกิน 1 ถึง 2 ปีจากนี้เราคงเห็นค่าไฟจากหน่วยละ 10 สลึงกลายเป็น 4 บาท ไม่ต่างอะไรจากราคาน้ำมันในขณะนี้ หากมีการขึ้นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 1 บาทเงินจะไหลเข้ากระเป๋าเจ้าของ กฝผ. ซึ่งเวลานี้ยังนึกไม่ออกว่าเป็นใคร 1 แสนสองหมื่นล้านบาทต่อปีตรงนี้เฉพาะค่าไฟเท่านั้นยังไม่รวมประโยชน์จากไฟเบอร์ออฟติค ต่อไปนี้คนที่รวยที่สุดในโลกคงไม่ใช่บิลเกตส์อีกแล้วแต่จะเป็นคนใกล้ตัวแถวนี้ การแปรรูปการไฟฟ้าจะร้ายแรงกว่า ปตท.มากเพราะในบ้านเรากิจการการค้าน้ำมันยังผูกขาดไม่สมบูรณ์มีหลายเจ้าที่ค้าน้ำมันแข่งกัน แต่สำหรับไฟฟ้านั้นหากเราไม่ซื้อไฟจาก กฝผ.ก็ต้องไปซื้อถ่านไฟฉายตราแมวดำมาใช้


      


"ไม่มีการปล้นชาติครั้งใดหอมหวานเท่าครั้งนี้ เป็นการทำให้อำนาจทางการเมืองควบรวมกับอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราก็เห็นตัวอย่างจากการกระจายหุ้น ปตท.แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น หนึ่งในสามของหุ้น ปตท. ถือครองโดยหน่วยลงทุน 2 หน่วยจากสิงคโปร์ ใครก็ตามที่จะเป็นเจ้าของของหน่วยลงทุนทั้ง 2 หน่วยนี้จะได้ผลประโยชน์ถึง 6 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญสามารถทำให้หุ้นขึ้นหรือลงได้แทบทุกวัน แค่บอกว่าจะขยายโรงกลั่นหรือ สร้างโรงไฟฟ้า หุ้นก็พุ่ง พออีกอาทิตย์บอกว่าทบทวนมติ ครม.หุ้นก็ดิ่ง เวลานี้บ้านเมืองกลังถูกปลาหมึกยักษ์กิน วิธีการสู้กับปลาหมึกยักษ์เขาว่าอย่าไปแหย่ที่หนวดให้แทงที่หัว"นายวุฒิพงษ์กล่าวและว่า ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ทำอะไรร้าย ๆ กับไฟฟ้าและพลังงานเยอะ แต่ก็ยังไม่ร้ายและโจ๋งครึ่มเท่าครั้งนี้


      


หลังจากพิจารณาในประเด็นนี้เสร็จสิ้น นายวุฒิพงษ์ได้เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้(14 ต.ค.) ตนและเพื่อน ๆ ที่ทำการศึกษาเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะเข้าร่วมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ซึ่งรายการจะย้ายจากเดิมจัดที่หอประชุมศรีบูรพา(หอประชุมเล็ก)มาเป็นหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างแน่นอน


      


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกมธ.จะดำเนินการพิจารณาถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกี่ยวกับการแปรรูป กฝผ.ในครั้งนี้ โดยมีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายและเกี่ยวพันทางด้านการเมือง โดยจะแถลงให้สาธารณะทราบครั้งต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net