Skip to main content
sharethis

คลื่นความคิด


โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์และทีมงาน


ออกอากาศ    เสาร์  9.00-10.00 น. / อาทิตย์  8.30-10.00 น.


ออกอากาศซ้ำ (re-run) ประมาณ 02.45 -03.00 น. คืนวันเสาร์-อาทิตย์


ทางสถานีวิทยุ FM 101 เมกะเฮิร์ตซ์  


(คลื่นความคิดเป็นรายการสนทนาเชิงวิเคราะห์ในหลากหลายเรื่องราว ตั้งแต่ปรัชญา แนวคิด เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ค่านิยม ธรรมชาติ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ไปจนถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ในมิติของประวัติศาสตร์ ปัจจุบันและอนาคต)


 


 


น้ำมันกับความมั่นคงเชิงป้องกัน


(ออกอากาศ 24-25 กันยายน 2548)


 


"จงสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตัวท่านด้วยความสันโดษ เพราะนี่คือป้อมปราการที่ไม่มีผู้ใดจะตีแตก"


                                                                                                                Epictetus                                                                                                                                        


 


สัปดาห์นี้คงต้องคุยกันถึงเรื่องน้ำมันอีกครั้ง เพราะนับวันน้ำมันได้กลายเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลกยิ่งขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นๆ ลงๆ ของราคาที่ระยะนี้ขึ้นกันพรวดๆ พราดๆ มีอะไรเข้ามากระทบหน่อยก็พุ่งขึ้นจนเรียกได้ว่าเป็นราคาสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์


 


ราคาพุ่งเพราะปั่นและเก็งกำไร???


อาการเช่นนี้มีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าไม่ใช่เรื่องปกติหรือไม่ได้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติสักเท่าไหร่ แต่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการ "ปั่นราคา" หรือการ "เก็งกำไร" กันอุตลุดมากกว่า เช่นความเห็นของ นาย "อัดนัน ชิฮับ เอลดิน" รักษาการเลขาธิการใหญ่กลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก หรือ "โอเปค" ที่พูดในฐานะส่วนตัวว่า อันที่จริงราคาน้ำมันที่แท้จริงและที่จะเป็นไปในอนาคต น่าจะอยู่ที่ระดับ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นอย่างมาก ไม่น่าจะพุ่งไปถึง 60-70-80 หรือไปถึง100 ดอลลาร์อย่างที่กลัวกัน ราคาที่พุ่งสูงขึ้นไปนั้นน่าจะเป็นเพราะการปั่นราคาหรือเก็งกำไรนั่นเอง ด้านนาย "สตีฟ ฟอร์บส์" อภิมหาเศรษฐีเจ้าของนิตยสารฟอร์บส์ ที่ชอบจัดอันดับคนรวยในโลกได้แสดงความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีการเก็งกำไรราคาน้ำมันจนมีสภาพเช่นเดียวกับ "ภาวะฟองสบู่" และเชื่อว่าฟองสบู่ราคาน้ำมันนี้ใกล้แตกเต็มที หากแตกขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็เชื่อว่าจะทำให้ระดับราคาน้ำมันในโลกกลับไปอยู่ที่ประมาณ 30-35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เรียกได้ว่าจะกลับมาสบายๆ ให้บริโภคกันแหลกลาญอีกครั้ง


ต้องเรียกว่าเป็นความเห็นใคร-ความเห็นมัน แล้วแต่จะพูดกันไป และแล้วแต่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อกันขนาดไหน??? ซึ่งผู้ที่เชื่อว่าราคาน้ำมันแพงแบบโอเวอร์เพราะการเก็งกำไรเป็นหลัก ก็ดูเหมือนจะมีนายกรัฐมนตรีของเรารวมอยู่ด้วย ที่ดูๆ จะคิดออกมาในแนวนี้ สังเกตได้จากเวลาที่ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความเห็นเรื่องน้ำมันแพง ท่านก็มักจะหยิบประเด็นเรื่อง "นักเก็งกำไร" มาพูดมาย้ำกันเป็นหลัก  หรืออย่างตอนที่ไปพบประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เที่ยวล่าสุด เท่าที่อ่านจากข่าวเห็นบอกว่าได้มีการหยิบเรื่องการเก็งกำไรราคาน้ำมันขึ้นมาหารือ แล้วไหว้วานให้สหรัฐอเมริกาช่วยดูแลเรื่องนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะให้ดูแลแบบไหน อย่างไร เพราะว่าไปแล้วบรรดาคนสนิทของบุชก็น่าจะกำลัง "รับเละ" หรือรวยไม่เสร็จกันเยอะแยะ  เพราะล้วนแต่อยู่ในแวดวงธุรกิจ-อุตสาหกรรมน้ำมันทั้งนั้น ส่วนในประเทศไทย ถึงจะมีการเก็งกำไรหรือปั่นราคากันอย่างไร   ผู้คนที่ถือหุ้นบริษัทน้ำมันในประเทศอย่าง ปตท.   ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับแวดวงการเมืองมากน้อยขนาดไหนก็ไม่ทราบได้ แต่ก็น่าจะรวยไปตามๆ กันอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นก็เลยยังงงๆ คิดไม่ออกว่าจะให้ดูแลกันแบบไหน อย่างไร ???


มาถึงตรงนี้คงต้องบอกว่าไม่ว่าจะมีการเก็งกำไร ปั่นราคากันขนาดไหน เพียงใด ก็แล้วแต่ โดยเนื้อแท้หรือโดยข้อเท็จจริงของแนวโน้มราคาน้ำมันว่าจะเป็นอย่างไรกันต่อไป คงเป็นเรื่องที่น่าจะหาทางมองภาพกันให้ชัดๆ มากกว่าที่จะโน้มเอียงไปยึดมั่นกับความเชื่อในแบบใดแบบหนึ่ง จนอาจทำให้การคาดการณ์ คาดหวังมันคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เพราะอย่างที่ว่าไว้แล้วว่าน้ำมันนั้นเป็น "ปัจจัยพื้นฐาน" ที่สำคัญอย่างมาก สำหรับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ในทุกประเทศ หรือในระดับโลก การมองภาพเหล่านี้ให้ชัดจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรแลกเปลี่ยน ติดตาม อย่างน้อยก็เพื่อทำให้สามารถกำหนดบทบาท สถานะของตัวเราให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทั้งในระดับประเทศและในระดับโลกให้ได้มากที่สุด


 


ศักยภาพในการ "กลั่น" มีปัญหา


อันที่จริง ถึงแม้จะมีการปั่นราคาหรือเก็งกำไรกันขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้ามองถึงปริมาณความต้องการน้ำมันของทั้งโลก หลังจากที่ประเทศต่างๆ หันมาเดินบนเส้นทาง "ทุนนิยม" กันหมด ก็คงต้องยอมรับว่า มันน่าจะมีผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงแบบระเบิดเถิดเทิงได้ไม่ยาก ดังที่องค์กรด้านน้ำมันแห่งหนึ่งได้แสดงข้อมูลให้เห็นว่า เพียงแค่ในช่วง 10 ปี หรือ1 ทศวรรษเท่านั้น ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมันของโลกเพิ่มกันในระดับวันละ 12 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว หรือทำให้ตัวเลขความต้องการบริโภคน้ำมันพุ่งขึ้นมาถึงวันละ 79-80 ล้านบาร์เรล ซึ่งการตอบสนองต่อความต้องการที่พุ่งขึ้นๆ ในแบบที่ต่างฝ่ายต่างหิว ต่างก็อยากได้น้ำมันมารองรับระบบเศรษฐกิจของตัวเองให้ขยายตัวไปได้เรื่อยๆ ก็คงทำให้โอกาสที่จะเกิดการผลิต เกิดการหาสิ่งที่มาตอบสนองความต้องการกับความหิวกระหายในระดับนี้ คงต้องลำบากยากเย็นเอาการตามไปด้วย


ถึงแม้จะมีทฤษฎีที่ว่าน้ำมันกำลังจะหมดไปจากโลกในอีกไม่ใกล้ไม่ไกล เช่น ทฤษฎีของผู้เชี่ยวชาญน้ำมันอย่าง ดร."เอ็ม. คิง. ฮับเบิร์ต" ที่ได้สาธยายให้เห็น "จุดพีค" หรือจุดการผลิตสูงสุดของแหล่งน้ำมันในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าในตะวันออกกลาง  ทะเลเหนือ  อเมริกา ไปจนถึงแถบเอเชียกลาง  หรือในทะเลสาบแคสเปียน ว่าน่าจะใกล้หมดแล้ว แต่ก็มีหลายคนที่ไม่เชื่อหรือพยายามที่จะไม่เชื่อ คือยืนยันว่ายังมีน้ำมันดิบอีกมากเพียงแต่ต้องใช้ต้นทุนในการขุดเจาะสูง ก็เลยยังไม่ขุด ในขณะที่ทุกวันนี้ ศักยภาพในการนำน้ำมันดิบในแต่ละแหล่ง แต่ละหลุมมาแปรสภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมัน    หรือกลั่นให้เป็นน้ำมันให้ทันกับความต้องการบริโภค    เรียกได้ว่าทำ


ไม่ไหว หรือทำไม่ทันกันไปแล้ว


เช่นข่าวคราวที่ได้รับฟังมาว่า ในการประชุมรัฐมนตรีน้ำมันของกลุ่มโอเปค ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีความเห็นคล้ายๆ กันว่า แม้จะขุด จะสูบน้ำมันดิบจากแหล่งสำรองต่างๆ ขึ้นมาเพิ่มอย่างไรก็แล้วแต่ จะหวังให้ไปช่วยลด ช่วยกดดันราคาน้ำมันให้ลดๆ ลงมาบ้างนั้น คงจะทำไม่ได้สักเท่าไหร่ เพราะมันติดขัดอยู่กับเรื่องบางเรื่องที่เรียกว่า "ศักยภาพในการกลั่นน้ำมัน" ของบรรดาโรงกลั่นต่างๆ ในโลก ที่ได้ลงแรงกันเต็มที่หรือเต็มศักยภาพแล้ว แต่ไม่สามารถแปรรูปน้ำมันดิบเท่าที่ขุดมาได้ในขณะนี้ให้เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป


รายงานข่าวจากสำนักข่าวเอพี. ที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจตีพิมพ์ไว้บอกว่า ชีค อาเหม็ด ฟาฮัด อัล อาเหม็ด อัล ซาบาห์ รัฐมนตรีน้ำมันคูเวตซึ่งดำรงตำแหน่งประธานโอเปค ได้เปิดเผยก่อนหน้าการประชุมว่าโอเปคอาจต้องเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมันก่อนสิ้นปีนี้ เพราะโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว (จากกรณีเฮอริเคนแคทรีนาถล่ม) และซีกโลกเหนือกำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว  แต่รัฐมนตรีโอเปคหลายรายลังเลที่จะสนับสนุนการเพิ่มเพดานการผลิต เนื่องจากเหตุผลที่ว่าปัจจุบันกำลังการกลั่นน้ำมันของโลกได้เต็มศักยภาพแล้วและไม่สามารถแปรรูปน้ำมันดิบเพิ่มได้อีก นายอาลี ไนมี รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดิอาระเบีย สมาชิกโอเปคที่มีความสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากที่สุดกล่าวว่า ไม่ต้องการเห็นปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในตลาด เช่นเดียวกับนายราฟาเอล รามิเรซ  รัฐมนตรีน้ำมันเวเนซุเอลา ที่กล่าวว่า เวเนซุเอลาไม่ได้ต่อต้านการเพิ่มเพดานการผลิตของโอเปค แต่เห็นว่าปัญหาใหญ่นั้นอยู่ที่ความสามารถในการกลั่นน้ำมันมากกว่า…"


 


ถมเท่าไหร่…ไม่รู้จักเต็ม


สรุปง่ายๆ ว่า ปัญหาไม่ได้อยู่เพียงแค่ปริมาณน้ำมันดิบในแต่ละแหล่งสำรองเท่านั้นที่เถียงๆ กันว่ามีอยู่ในระดับใดแน่ แต่ศักยภาพในการแปรรูปน้ำมันดิบให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกที่หิวไม่รู้จักอิ่มในขณะนี้ก็ยังทำได้ลำบากขึ้นเรื่อยๆ  เพราะฉะนั้น โอกาสที่ระดับราคาน้ำมันในโลกจะลดลงอย่างที่ใครต่อใครอยากให้ลดหรือหวังว่าจะลดกันง่ายๆ สามารถกลับไปใช้น้ำมันในระดับราคา 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีกในเวลาไม่ช้าไม่นานอย่างที่นายสตีฟ ฟอร์บส์ ดูดวงน้ำมันไว้ ก็น่าจะยากพอสมควร ยิ่งกว่านั้น ความคิด ความเห็นที่มีการถ่ายทอดเป็นรายงานขององค์กรสำคัญระดับโลกคือ องค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ที่หยิบเรื่องแนวโน้มของภาวะราคาน้ำมันไปเกี่ยวโยงกับการคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นๆ อีก 5 ปีข้างหน้า ก็ต้องเรียกว่า แทบจะมองไม่เห็นโอกาสที่เราจะกลับไปเติมน้ำมันกันในราคาแบบนั้น โดยไม่ต้องเติมไปขนหัวลุกไป หรือเติมไปบ่นไปอย่างเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้


หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมาสรุปไว้ว่า "ในรายงานเรื่องแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกของ IMF ที่จะนำลงตีพิมพ์ในไฟแนนเชียล ไทมส์คราวนี้ จะมีการประกาศถึงคำเตือนเกี่ยวกับเรื่องขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันสำรองของกลุ่มประเทศโอเปคในระยะอีก 5 ปีข้างหน้าไว้ด้วย ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนของในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า กำลังการผลิตน้ำมัน น่าจะไม่สามารถขยายตัวได้มากพอที่จะรองรับการขยายตัวของพลังความต้องการบริโภคน้ำมันของโลกในอนาคต หรือจะไม่สามารถสร้างกำลังการผลิตสำรองเพียงพอกับความต้องการได้ภายในช่วงระยะเวลาที่ว่า…"


เหตุที่ IMF สรุปเช่นนี้ก็เนื่องจากมีการนำปริมาณความต้องการน้ำมันของประเทศยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐอเมริกา มาเทียบเคียงกับศักยภาพการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปคภายในช่วงระยะเวลาที่ว่า จนเกิดข้อสรุปคือ อุปสงค์หรือความต้องการน้ำมันในระดับสูงของทั้งสองประเทศ จะกลายเป็นตัวจำกัดความสามารถของโอเปคในการลดแรงกดดันภาวะราคาน้ำมันของโลกให้ต่ำลง หรือให้เข้าสู่ภาวะที่ควรจะเป็น พูดง่ายๆ ก็คือ IMF เห็นว่าความหิวน้ำมันของประเทศยักษ์ๆ ในโลก เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันไม่มีโอกาสลดลง


 


ตามล่าขุมน้ำมันสุดขอบฟ้า


เคยหยิบกรณี "ความหิวน้ำมันของจีน" มาคุยแลกเปลี่ยนหลายครั้งแล้วว่ามันพุ่งทะยานไปตามความพยายามขยายตัวของเศรษฐกิจจีน หรือความพยายามที่จะวิ่งไล่กวดสหรัฐอเมริกา จนทำให้นโยบายด้านการเมือง-ความมั่นคงของทั้งสองประเทศ  แทบจะมีลักษณะไม่แตกต่างจากกัน คือต่างก็ถือเอา "น้ำมันเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ" หรือต่างก็ดำเนินบทบาทด้านการต่างประเทศในลักษณะที่เรียกว่า "การทูตน้ำมัน"


อย่างที่ปรากฏว่าจีนได้บุกตะลุยหาทางฮุบแหล่งพลังงานน้ำมัน ฮุบกิจการน้ำมันที่มีความสำคัญต่อท่อขนส่งน้ำมันในเอเชียกลาง เช่น กรณีความพยายามฮุบกิจการ "ยูโนแคล" บริษัทน้ำมันอันดับ 9 ของสหรัฐฯ จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แม้นว่าในที่สุดจะฮุบไม่ติดหรือฮุบพลาด เรียกว่าไม่ได้คว้าอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกันเลย หรือไม่เก๋าเท่ากับที่แกรมมี่คิดจะฮุบมติชน คือต้องถอย ยกธงขาวโดยไม่มีโอกาสเข้าไปซื้อหุ้นยูโนแคลแม้แต่หุ้นเดียว ทั้งนี้ก็เพราะนักการเมืองสหรัฐฯ แทบจะทั้งสภาผู้แทนราษฎรโดดออกมาขวางกันเต็มที่


ถึงจะพลาดจากยูโนแคล จีนยังคงเดินหน้าต่อ คราวนี้เปลี่ยนเป้าหมายไปฮุบบริษัทน้ำมันของแคนาดา นั่นก็คือกรณีที่บริษัทน้ำมันจีนชื่อ     "China National Petroleum  Corporation"       หรือ  CNPC   ได้ตัดสินใจ


เข้าประมูลซื้อกิจการบริษัทน้ำมันแคนาดาที่เข้าไปลงทุนขุดเจาะน้ำมันในประเทศคาชัคสถาน โดยใช้ชื่อว่า บริษัทปิโตร-คาชัคสถาน หรือ PK โดยเสนอซื้อในมูลค่าสูงถึง 4,180 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ถือเป็นการซื้อ-ขายบริษัทในต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ธุรกิจจีนก็ว่าได้ เป็นการเสนอราคากันอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง เต็มเม็ดเต็มหน่วย สูงกว่าตัวเลขของบริษัทคู่แข่งที่เสนอเพียง 3,600 ล้านดอลลาร์ หรือสูงกว่าคู่แข่งถึงเกือบ 600 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 20,000 ล้านบาท ทำให้แนวโน้มที่บริษัทจีนแห่งนี้จะคว้าพุงปลาไปรับประทาน มีความเป็นไปได้สูงมาก   และคาดกันว่าคงไม่ถูกต่อต้านเหมือนคราวที่บริษัทน้ำมัน


จีนอีกรายคือ ซีนู้คคิดจะซื้อยูโนแคล เพราะสำหรับแคนาดาแล้ว บริษัทน้ำมันไม่ได้ถือเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคง หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองมากมายนัก ออกจะเป็นไปในทางธุรกิจล้วนๆ


แต่สิ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในข่าวที่ว่านี้     แม้ว่าจะไม่มีเรื่องของอเมริกาที่พยายามครอบครองแหล่งน้ำมัน


ทั่วโลกและปิดกั้นจีนมาเกี่ยวข้องโดยตรงก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาบริษัทคู่แข่งของจีนครั้งนี้ คือบริษัทออยล์ แอนด์  เนเจอร์รัล ก๊าซ คอร์เปอเรชั่น (Oil and Natural Gas Corporation) หรือ ONGC ว่าเป็นใครกันแน่? ผลปรากฏว่า บริษัทที่ว่านี้คือ บริษัทสัญชาติอินเดีย ซึ่งถือว่าหิวน้ำมันไม่น้อยไปกว่ากันเท่าไหร่ จึงกลายเป็นการ "เปิดศึก" แย่งชิงแหล่งน้ำมันระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกัน ที่ต่างก็พยายามจะขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยกันทั้งคู่ หรือกลายเป็นการแย่งยื้อแหล่งพลังงานของประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อันดับที่1 และ 2 ในเอเชีย ที่ต้องโคจรเข้ามาวิ่งไล่แย่งน้ำมันกันอุตลุด ความหิวกระหายน้ำมันในแบบที่ว่านี้นี่แหละ ที่ใครต่อใครเห็นว่ามันทำให้แนวโน้มที่ระดับราคาน้ำมันในระยะนี้หรือในอนาคตอันใกล้จะลดระดับหรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะยิ่งยากเย็นยิ่งขึ้น และท้ายที่สุดก็จะส่งผลไปเกี่ยวพันกับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกจนได้


 


จีน+อินเดีย = จินเดีย


ลมโลกาภิวัตน์พัดจากตะวันออก?


 มีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของอินเดียว่าคงจะต้องวิ่งแข่งและวิ่งคู่กับจีนไปตลอด แม้ในปัจจุบันเศรษฐกิจอินเดียจะมีสัดส่วนอยู่แค่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี (GDP)โลก     ในขณะที่จีนมีสัดส่วนประมาณ


4 เปอร์เซ็นต์  แต่ภายใต้ลู่วิ่งของทุนนิยมตามแนวนี้ คาดกันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือในค.ศ. 2025 ถ้าหากเศรษฐกิจจีนพุ่งไปถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก เศรษฐกิจอินเดียก็น่าจะพุ่งตามไปอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์  และถ้าหากมองเลยไปถึงค.ศ. 2050 เมื่อเศรษฐกิจจีนทะยานไปถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก เศรษฐกิจอินเดียก็จะไล่กวดไปถึง 17 เปอร์เซ็นต์ค่อนข้างแน่ เพราะฉะนั้นในเส้นทางที่เป็นเช่นนี้ ความพยายามวิ่งไล่ครอบครองแหล่งพลังงานไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจหรือการขยายตัวของจีดีพีให้เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ในระยะยาว จึงเป็นอย่างที่นักวิเคราะห์ในวงการน้ำมันบอกว่า…สุดท้ายจะต้องเปิดศึกแย่งชิงกันดุเดือดเลือดพล่านค่อนข้างแน่


อย่างที่นาย  "เดวิด ซวิก"  ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง


ได้ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ในระยะนี้เศรษฐกิจของอินเดียจะไม่ร้อนแรงเท่าจีนก็ตาม แต่การหันมาสู่ลู่วิ่งทุนนิยมอย่างเต็มสูบนั้น ย่อมทำให้อินเดียต้องดิ้นรนหาแหล่งพลังงานสำรองของตัวเองแบบสุดขีดโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการที่อินเดียเป็นตัวละครอีกตัวที่โผล่เข้ามา          ก็ยิ่งทำให้ลู่วิ่งทุนนิยมในอนาคต ดูน่าปวดหัวและชุลมุนชุลเก


ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจอย่างเช่นในนิตยสารบิสซิเนส วีค เคยใช้มุมมองทางธุรกิจคาดการณ์ไว้ในทำนองว่า แค่อีกประมาณ 3 ทศวรรษ หรืออีกใน 30 ปีข้างหน้า ตัวละครต่างๆ ในลู่วิ่งทุนนิยมอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น จีนอาจกลายเป็นประเทศที่มีจีดีพีเป็นอันดับหนึ่งของโลก แซงหน้าสหรัฐฯ ที่ตกไปเป็นที่ 2 ครองแค่เหรียญเงิน และอินเดียก็อาจแซงหน้าประเทศในยุโรปอย่างเยอรมนี หรือประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีจีดีพีสูงกว่าอินเดียเป็นสิบๆ เปอร์เซ็นต์ โดยอินเดียอาจกลายเป็นผู้คว้าเหรียญทองแดง หรือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกกันเลยก็ไม่แน่


และเมื่อหันมามองทางการเมืองดูบ้าง ก็จะยิ่งน่าปวดหัว หรือน่าจะวุ่นวายหนักข้อเข้าไปอีก เพราะแทบมองไม่ออกเลยว่าแต่ละประเทศนั้นสุดท้ายจะแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย จับคู่หรือจะแยกทางกันอย่างไรในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะจีนกับอินเดียนั้น ว่ากันว่าถ้าหากหันมาร่วมมือกันทางเศรษฐกิจแล้ว ก็จะใหญ่คับโลก แค่จำนวนประชากรก็ปาเข้าไป 1 ใน 3 ของประชากรโลกแล้ว ยิ่งถ้าหากนำศักยภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละฝ่ายเข้ามาผนวกกัน อย่างที่จีนมีจุดเด่นอยู่ที่การผลิตสินค้าจำนวนมากๆในราคาต้นทุนที่ได้เปรียบคู่แข่ง ส่วนอินเดียก็ถนัดจัดเจนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไอที นักวิเคราะห์บางรายอย่างของบิสซิเนส วีค ถึงกับนำจุดแข็งของทั้งสองประเทศมารวมกันแล้วสมาส-สนธิชื่อประเทศจีนกับอินเดียกลายเป็น "จินเดีย" กันไปเลยก็มี แล้วสรุปว่าถ้ารวมตัวกันได้เมื่อไหร่ ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจะต้องหมดสภาพหรือหมดบทบาทในการนำโลกไปทันที หรือที่เขาใช้คำอธิบายว่า จะไม่สามารถผลักดันกระแสโลกาภิวัตน์ให้เป็นไปตามแนวทางตะวันตกได้อีกต่อไป แต่จะต้องกลายเป็นโลกาภิวัตน์ที่ถูกผลักดันโดยกระแสตะวันออกเป็นหลัก


 


คำประกาศของสหรัฐฯ


ไม่ให้ใครวัดรอยเท้า


แต่ก็อย่างว่า   การมองเฉพาะมุมมองด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอาจจะหยาบเกินไปหน่อย คืออะไรต่อ


มิอะไรมันคงไม่ได้เป็นไปตามตัวเลขกันได้ง่ายๆ ชีวิตมนุษย์หรือชีวิตของประเทศจะใช้แค่ตัวเลขมากำหนดนั้นน่าจะลำบาก เพราะคงต้องมีเรื่องการเมือง สังคม วัฒนธรรม ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ หรืออะไรต่อมิอะไรอีกหลายเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก ซึ่งเมื่อมาถึงจุดนี้ ก็คงยังสรุปไม่ได้ง่ายๆ ว่าตัวละครในลู่วิ่งทุนนิยมที่ว่านี้จะเดินไปในแนวไหนกันแน่ อาจจะหันมาร่วมมือกันในบางช่วงบางโอกาส แล้วก็อาจหันไปตีกันเองในอีกไม่นานไม่ช้า อะไรต่างๆ มันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำโลกอยู่ในขณะนี้ และได้ประกาศยุทธศาสตร์ความมั่นคงของตัวเองต่อหน้าชาวโลกครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จะไม่ยอมให้ใครก้าวขึ้นมาเทียบเคียง ไม่ต้องถึงขั้นแซงหน้าหรอก แค่เบียดหลังเบียดไหล่ หายใจรดต้นคอก็ไม่ยอมเด็ดขาด ฉะนั้น อเมริกาคงไม่คิดจะปล่อยให้อะไรต่อมิอะไรเป็นไปตามตัวเลขกันเฉยๆ เป็นแน่


ยิ่งล่าสุดในรายงาน  "ข่าวเด่นที่ไม่เป็นข่าว"  ปีล่าสุด  ( censor news 2005)      ที่อ้างถึงเอกสารรายงาน


"ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ" ของนายโจซี โจเซฟ ที่ว่า สหรัฐฯ นั้นคิดจะเช่าหรือเข้าไปตั้งฐานทัพในอินเดียกันเลย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความหิวน้ำมันของอินเดียก็เคยสร้างแรงกระทบกระแทกกับสหรัฐฯ เหมือนกัน อย่างกรณีที่อินเดียต้องดิ้นรนเข้าไปหาน้ำมันในอิหร่านที่เป็นไม้เบื่อไม่เมากับสหรัฐฯ และกำลังจะถูกกดดันในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์พอดี ในขณะที่จีนกับอินเดียก็กระทบกระทั่งกันไม่น้อย เช่น ในกรณีแย่งชิงบริษัทน้ำมันปิโตร-คาชัคสถาน อย่างที่กล่าวไปข้างต้น


 


 


คำเตือนเรื่อง "อัตราเสี่ยง" จาก IMF


ไล่เรียงจากปัจจัยต่างๆ และสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ คงพอจะสรุปได้ว่าราคาน้ำมันที่จะลดลงหรืออยู่ในสภาพปกติใน 5 ปีข้างหน้านั้น น่าจะเป็นไปได้ยากมาก ภาวะราคาน้ำมันที่เป็นเช่นนี้สายตา IMF จึงเกิดข้อสรุปว่า จะเป็นภาวะที่ก่อให้เกิด "อัตราเสี่ยง" สูงมากสำหรับประเทศใดก็ตามที่มีมุมมองในเชิงอนุรักษ์ หรือมีมุมมองเศรษฐกิจแบบ "ตายตัว" เกินไป  หรือผู้ที่มองเห็นแต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง โดยไม่ได้สนใจต่อเรื่อง "การประเมินความเสี่ยง" โดยเฉพาะต่อ "การลงทุนใหม่ๆ" ที่จะมีขึ้นในประเทศนั้นๆ


แม้เราจะไม่ค่อยชอบหน้า IMF สักเท่าไหร่ เพราะเคยสร้างความเจ็บปวดให้กับเราทั้งหลายในตอนวิกฤตเศรษฐกิจปีค.ศ.1997 หรือพ.ศ. 2540 กันสุดขีด  แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การส่งเสียงเตือนขององค์กรระหว่างประเทศอย่าง IMF ในแต่ละคราวนั้น ถึงเราจะไม่ชอบอย่างไรก็ตาม แต่การที่จะปฏิเสธ หรือไม่หยิบมาทบทวน คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 8 ปีที่แล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่า IMF ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงอัตราเสี่ยง หรือแนวโน้มที่จะพังพินาศของประเทศไทยอยู่เหมือนกัน


ยิ่งถ้าหากนำเอาสิ่งอื่นนอกจากคำเตือนนี้มาเทียบเคียง มาประกอบการพิจารณาในทุกแง่ทุกมุม ก็จะพอสรุปได้ว่าอย่างน้อยคำเตือนเหล่านี้น่าจะมีน้ำหนักอยู่บ้าง หรืออย่างน้อยก็อาจจะกล่าวได้ว่าถึงเราจะไม่ฟังคำเตือนก็ตาม  แต่ภาวะราคาน้ำมันที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้มันน่าจะเป็นตัว   "ส่งสัญญาณ"    ที่ชัดเจนพอสมควรแล้วว่าน่า


จะต้องมีการทบทวนเรื่องทางเศรษฐกิจ ที่มีความผูกพันกันในระดับพื้นฐานกับความเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานหรือเรื่องน้ำมันกันในแทบทุกเรื่อง แทบทุกกรณี และน่าจะต้องมีการทบทนกันในระดับรากฐานโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจกันทีเดียว ไม่ใช่เพียงแค่การทบทวนมาตรการปิดไฟ-เปิดไฟ ปิดปั๊ม-เปิดปั๊มกันตอนไหนเท่านั้น


 


ความมั่นคงเชิง "ป้องกัน"


 "เศรษฐกิจพอเพียง" คือคำตอบ


ถึงช่วงสรุปคงต้องบอกว่า การที่น้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกระบบทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าการผลิต การค้า การขนส่ง ฯลฯ  ได้กลายเป็นปัญหา ทั้งในเรื่องปริมาณที่จะนำมาใช้ ทั้งในเรื่องแนวโน้มราคาที่สูงพรวดพราด ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี พลังงานทดแทนที่ไม่ค่อยสัมพันธ์กับความต้องการในการใช้ การบริโภค ที่แสดงความหิวกระหายกันหนักขึ้นๆ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นการ "ส่งสัญญาณเตือน" ถึงระบบเศรษฐกิจในระดับทั้งโลกกันชัดเจนแล้วว่า ถ้าหากไม่มีการปรับตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์เช่นนี้ ก็คงจะต้องกลายเป็นการเดินหน้าไปสู่การแตกหัก ถึงจุดพังพินาศกันขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งได้ไม่ยาก


แม้กระทั่งประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับมหัศจรรย์ ก้าวหน้าสูงสุดอย่างจีน ก็เผชิญกับผลกระทบไม่น้อยจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังที่นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มบางเหล่า ได้มองถึงขั้นว่า ทุกๆ ครั้งที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปทุกๆ 10  เปอร์เซ็นต์  จะทำให้จีดีพีของจีนที่กำลังขยายตัวแบบรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ต้องลดลงไปไม่น้อยกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์


สำหรับประเทศไทยนั้น ทุกวันนี้ก็ได้เห็นผลกระทบจากราคาน้ำมันกันชัดเจนแล้วว่าหนักหนาสาหัสขนาดไหน จากตัวเลขประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะโต 7 โต 8 เปอร์เซ็นต์ แล้วค่อยๆ ลดลงเหลือ 6  เหลือ 5 เหลือ 4 จนกระทั่งขณะนี้ หลายสำนักได้ลดระดับลงให้เหลือโตแค่ 3.5-3.8  ล่าสุด  IMF ให้แค่ 3.5  ก็คงได้ยินได้ฟังกันอยู่ และก็ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องตัวเลขเท่านั้น สิ่งที่กระทบต่อชีวิตผู้คนทั้งในแง่รายได้ ในแง่สังคม ลุกลามไปจนกลายเป็นการดิ้นรนเอาตัวรอดจนเกิดปัญหาอาชญากรรมมากขึ้น หนักขึ้นเรื่อยๆ


ซึ่งว่าไปแล้ว การที่ประเทศระดับยักษ์ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ฯลฯ จะยังคงเดินหน้าไปในแนวนี้ก็อาจจะมีเหตุผล มีเงื่อนไขของแต่ละประเทศ อาจจำเป็นจะต้องหาทางวิ่งไล่กวดกันเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกขจัดออกไปจากตำแหน่งที่ยืนในจุดใดจุดหนึ่ง เพราะมีเหตุผลทางการเมือง ความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากมาย ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของเขา แต่สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ อาจจะไม่ถึงกับมีความจำเป็นอะไรมากมายนักที่จะวิ่งไล่กวดใครต่อใครในระดับชิงเหรียญเงิน เหรียญทองให้ปวดหัววุ่นวายกันไปนัก หรือว่าไปแล้ว ถ้าหากจะมองกันถึงในแง่ความมั่นคงของความเป็นชาติ เป็นประเทศ ความมั่นคงของประเทศเล็กๆ อย่างเรา มันน่าจะเป็นความมั่นคงที่เป็นไปในเชิง "ป้องกัน" มากกว่าที่คิดจะรุก คิดจะขยายตัวเข้าไปครอบครองหรือครอบงำใครต่อใครไม่ว่าทางการเมืองหรือเศรษฐกิจก็ตาม


หรือพูดง่ายๆ ว่า ในความเป็นประเทศเล็กๆ สิ่งสำคัญที่อาจจะถือว่าเป็นแก่นสาระหลักในแง่ความมั่นคงนั้นน่าจะหมายถึงการทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการป้องกันผลกระทบใดๆ ที่โลกจะมีต่อเรา อย่างในยุคที่เคยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียแล้วลุกลามไปทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็คงเคยได้ยินสิ่งที่ผู้รู้-ผู้เชี่ยวชาญในระดับโลกเคยเสนอทางเลือก หรือทางออกให้กับบรรดาประเทศเล็กๆ ที่ต้องอยู่ภายใต้แรงกด แรงบีบหรือความผันแปรของระบบทุนนิยมระดับโลกเอาไว้ด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า "เครือข่ายป้องกันทางสังคม" หรือโซเชียล เซฟตี เนต ( social safety net)


การสร้างความมั่นคงเชิงป้องกันนี้    ว่าไปแล้วข้อสรุปที่น่าจะสอดคล้องกับประเทศเรามากที่สุด     ก็หนี


ไม่พ้นการที่ต้องย้อนกลับไปพูดเรื่องที่มีการพูดกันมานานนับสิบๆ ปี แต่ก็ไม่เคยดูเป็นจริงเป็นจังพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ได้ถูกทำให้เป็นจริง จนสามารถกลายเป็นเครือข่ายป้องกันทางสังคม หรือกลายเป็นหลักประกันความมั่นคงในเชิงป้องกัน ในขณะที่โลกที่เราอยู่ร่วมด้วยนับวันจะผันแปรหนักขึ้นเรื่อยๆ


นั่นก็คือการพูดถึง   "ความพอเพียง"   หรือ   "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"       ที่ว่าไปแล้วพระบาทสมเด็จ


พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสมาตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีหรือเกือบ 30 ปีมาแล้ว และได้ถูกนำมาย้ำ ถูกทำให้มีน้ำหนักเป็นที่ยอมรับแพร่หลายมากขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ หรือวิกฤตการณ์ทางการเงินในช่วงปีพ.ศ. 2540 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว  แม้นว่าในช่วงนั้นเราจะเคยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ว่านี้ไม่น้อย แต่คงต้องยอมรับว่าเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป 8 ปี  การพูดถึงสิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆ จางลงไป และเราก็ต้องย้อนกลับไปสู่โลกแห่งความเสี่ยงหรือกลับเข้าไปสนุกกับ "อัตราเสี่ยง" ต่างๆ ที่มันเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีความจำเป็น หรือมีเงื่อนไขอะไรที่ต้องไปวิ่งไล่กวดทุนนิยมตามแบบประเทศยักษ์ๆ หรือประเทศมหาอำนาจที่กำลังแย่งชิงอะไรต่างๆ แม้แต่น้อย


อันที่จริง การที่ราคาน้ำมันขึ้นไปถึงระดับนี้ น่าจะถือเป็น "สัญญาณ" ที่ชัดเจนที่ทำให้เราน่าจะย้อนกลับมาทบทวนถึงความจำเป็นที่จะต้องหาทาง "ปรับระบบเศรษฐกิจ" กันใหม่ หรืออาจจะถึงขั้นต้อง "เปลี่ยนแปลงปรัชญาทางเศรษฐกิจ" กันทั้งระบบก็ว่าได้ และปรัชญาหรือระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น   "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" หรือ  "ระบบเศรษฐกิจพอเพียง"     ที่องค์พระบาทสมเด็จ


พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้แนวทางไว้นับสิบๆ ปีมาแล้ว อาจจะต้องสรุปกันว่าปรัชญาชนิดนี้เท่านั้น หรือระบบเศรษฐกิจที่เดินไปตามปรัชญาชนิดนี้เท่านั้น ที่จะสามารถสร้างความมั่นคงในเชิงป้องกัน หรือสร้างเครือข่ายป้องกันทางสังคมให้กับประเทศได้มากที่สุด หรือสอดคล้องที่สุด   ส่วนปรัชญาอื่นๆ  แนวคิดอื่นๆ   ไม่ว่ามันจะดูแปลกๆ พิสดาร พันลึก หรืออาจจะถึงขั้นวิตถาร หรือไม่ว่าจะดูมีสีสันขนาดไหน รับรองว่าไม่ใช่คำตอบถึงความมั่นคงของประเทศ  ของสังคม หรือของประชาชนเด็ดขาด


ภาวะที่โลกเป็นเช่นนี้ คำตอบหรือข้อสรุปน่าจะมีอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็เลยจำเป็นที่เราจะต้องจบกันด้วยบทสรุปแบบซ้ำๆ ที่เคยพูดแล้วพูดเล่ามาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง นั่นก็คือสรุปว่าเหลือแต่การที่จะต้องเร่งหาทางปรับ หาทางเปลี่ยนแปลงให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถกลายเป็นแนวทางหรือเป็นทิศทางชี้นำระบบต่างๆ ในประเทศให้เร็วที่สุดเท่านั้น เราถึงจะพอคลายความวิตก กังวล หรือสามารถสร้างแนวป้องกันเอาไว้ล่วงหน้าได้บ้าง ซึ่งแม้นจะต้องหยิบมาพูดถึง มาเตือนความจำกันอีกเที่ยว แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการนำเอาสิ่งที่เป็นมงคลมากระตุ้นพวกท่าน ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ถ้าหากเราพยายามรำลึก หรือตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่ว่านี้กันบ่อยๆ


ส่วนที่ท่านจะนำไปคิด นำไปปฏิบัติอย่างไรกันต่อไป คงต้องเป็นเรื่องที่แล้วแต่สภาพต่างๆ ไม่ว่าในทางส่วนตัวของท่านหรือในทางอัตวิสัย หรือในแง่เงื่อนไขสภาพแวดล้อม หรือในทางภววิสัยจะเอื้ออำนวยกันมากน้อยขนาดไหน ก็คงต้องว่ากันไปตามสภาพ


แต่อย่างน้อยที่สุดถ้าหากสิ่งเหล่านี้พอทำให้ท่านได้กลับไปย้อนคิด กลับไปทบทวนกันได้บ้างก็ถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดแล้ว ไม่ว่าสำหรับตัวท่านเอง หรือกับบ้านเมืองในอนาคตข้างหน้า.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net