Skip to main content
sharethis

โดย อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ)


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา ปรานีเสมอ


ขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสดามุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน


 


ในช่วง วันที่ 5 ตุลาคม 2548- 2 พฤศจิกายน 2548 เป็นช่วงที่ชาวไทยมุสลิมและมุสลิมทั่วโลกกำลังถือศีลอด


 


การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ)


 


คำจำกัดความ และเป้าหมายของการถือศีลอด


บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (ศิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า "คือ การงดเว้นจากการทำให้เสียศีลอด ตั้งแต่รุ่งอรุณจนตะวันตกดิน ด้วยการเนียต (ตั้งเจตนา) ถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺ (al-Zuhairi,1998:566) กล่าวคือ การงดเว้นของห้ามต่างๆ เช่น การกิน การดื่ม และการร่วมประเวณี ระหว่างสามีภรรยาตั้งแต่รุ่งอรุณจนตะวันตกดินด้วยการเนียตการถือศีลอด เพื่ออัลลอฮ์ในเวลาหลังตะวันตกถึงรุ่งอรุณ"


 


เหตุที่ทำให้เสียศีลอดมี 8 ประการ1.เจตนากินหรือดื่มแม้แต่เล็กน้อย 2.เจตนาร่วมประเวณี 3.เจตนาทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกมาจะด้วยวิธีใดก็ตาม 4.เสียสติโดยเป็นบ้า เป็นลมหรือสลบ 5.เจตนาทำให้สิ่งใดล่วงล้ำเข้าไปภายในอวัยวะ 6.เจตนาอาเจียน 7.ปรากฏมีเลือดประจำเดือน(เฮด) เลือดหลังคลอดบุตร (นิฟาส) 8.ตกมุรตัด (สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม)


หมายเหตุ การเสียศีลอดด้วยเหตุดังกล่าวต้องเป็นไปตามนี้คือ ก.เป็นไปในเวลากลางวัน ตั้งแต่แสงอรุณจนตะวันตกดิน ข.มิได้ถูกกดขี่บังคับ....


 


พระเจ้าได้ตรัสว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้า ดังที่พระองค์ได้เคยบัญญัติแก่ชนยุคก่อนจากท่าน เพื่อว่าสูเจ้าจะเป็นผู้ที่ยำเกรง" (อัลกุรอ่าน บทที่ 2 โองการที่ 183)


 


คำว่าผู้ยำเกรงตามทัศนะอิสลามหมายถึงการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว อิหม่ามชะฮาบุดดีน ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอิสลามได้ อธิบายคำว่า ความดีในหนังสือ( al-Furuk) หน้า 15ไว้ว่า " การกระทำความดีหมายถึงการช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ การบริจาคทานแก่คนยากจน การให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหย การให้เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ขัดสน การพูดจาไพเราะอ่อนโยนกับทุกคน การให้ความเมตตาต่อผู้คน การปรึกษาหารือซึ่งกันและกันเพื่อขจัดความขัดแย้งและการทะเลาะวิวาทและอื่นๆอีกมากมายที่เกี่ยวกับความดีทุกชนิด"


 


ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า"การถือศิลอดเป็นโล่ ถ้าหากว่าผู้หนึ่งในพวกท่านถือศีลอดในวันหนึ่งแล้วเขาไม่ทำชั่วและพูดจาหยาบคายเมื่อมีผู้หนึ่งดาทอต่อเขาหรือระบายความไม่ดีแก่เขา( ผู้ถือศีลอด) จงกล่าวว่า แท้จริงฉันถือศิลอด"


 


ดังนั้นการถือศีลอดที่แท้จริงจะสามารถป้องกันและปรับปรุงตัวของผู้ที่ถือศีลอดเองและจะส่งผลดีต่อสังคมโดยนำสังคมไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริงเพราะสังคมจะปราศจากความชั่วและอบายมุขและเต็มไปด้วยความดี


 


แต่ก็มีผู้ที่ถือศีลอดมากมายเช่นกันที่ไม่บรรลุเป้าหมายการถือศีลอด ผลบุญก็ไม่ได้รับนอกจากความหิวโหยและความกระหายอย่างเดียวดังที่ศาสดามุฮัมหมัดได้วจนะกับสาวกของท่านเมื่อ 1,400 ปีที่ผ่านมาว่า "ผู้ที่ถือศีลอดท่านใดไม่สามารถละทิ้งคำพูดที่เหลวไหลและประพฤติชั่วเขาจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากพระเจ้านอกจากความหิวและความกระหาย"


 


กิจกรรมของมุสลิมไทยในช่วงเดือนรอมฎอน


ในช่วงกลางวันมุสลิมจะงดเว้นการบริโภคแต่ก็จะปฏิบัติงานตามปกติ ในช่วงกลางคืนมุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชราจะไปปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดของชุมชนตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-20.30 น.หลังจากปฏิบัติศาสนกิจเสร็จเด็กๆจะเล่นกันที่บริเวณมัสยิดอย่างสนุกสนาน ผู้ใหญ่ก็จะนั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยมีอาหารว่างและน้ำชาเป็นตัวเสริม


 


โอกาสของรัฐในการบูรณาการพัฒนาชุมชนในช่วงรอมฎอน


ในหนังสือยุทธศาสตร์และทิศทางการบริหารประเทศ หน้าที่367ของนายกทักษิณ ชินวัตร อยากให้ภาครัฐทุกภาคส่วนทำงานในเชิงรุก โดยเข้าไปหาชุมชน ท่านนายกฯได้ตัวอย่างการทำงานของโรงพยาบาลว่า "เมื่อก่อนเรามองคนที่มาโรงพยาบาล คือคนไข้ เรารักษาไข้ แต่เดี๋ยวนี้ เขาบอกว่ารักษาคนไข้ไม่ใช่รักษาไข้ คือต้องรุกเข้าไปจนถึงชุมชน ไปดูบ้านเขาจะได้รู้ว่าบ้านเขาเลี้ยงอะไรที่สามารถจะติดเชื้อได้ไหม เวลามาโรงพยาบาลมีโรคแปลกๆ จะได้เดาถูก เพราะมีประวัติอยู่"


 


ดังนั้นในช่วงเดือนรอมฎอนมัสยิดน่าจะเป็นศูนย์รวมอีกแห่งหนึ่งที่ภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณมากมายในการจัดประชุมเพราะมัสยิดของชุมชนจะมีทุกคนไม่ว่าจะเด็กเล็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้ใหญ่(ชายหรือหญิง) คนชรา หรือที่มีตำแหน่งทางราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปประกอบศาสนกิจในมัสยิด


 


เพราะฉะนั้น ทุกหน่วยงานของรับน่าจะใช้โอกาสนี้ จัดเป็นโครงการ "คลายทุกข์ชุมชน"เหมือนกับนายกฯจัดโครงการคลายทุกข์ประชาชนระดับประเทศเมื่อ 10 ตุลาคม 2547 โดย ให้ผู้ว่า ซี อี โอ หรือ นายอำเภอเป็นหัวหน้าคณะนำส่วนราชการต่างๆมานั่งรับปัญหาจากชุมชนซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากความอยุติธรรมจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและเป็นการแก้ปัญหาไฟใต้ให้เบาบางลงไปได้บ้าง


หรืออาจจะให้หน่วยงานต่างๆให้ความรู้และบริการแก่ชุมชนไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตร สาธารณสุขหรือแม้กระทั่งกระทรวงกีฬาโดยจัดกีฬาสร้างเสริมสุขภาพแก่ชุมชนในเวลากลางคืนหลังพิธีกรรมศาสนาและในขณะเดียวกันให้ความรู้และบริการแก่ชุมชนด้านต่างๆไปด้วยหรือจัดสภากาแฟแก่ชุมชนหลังพิธีกรรมศาสนา เพราะโดยปกติเวลาประมาณ 21.30-23.00 น.มุสลิมจะใช้เวลาดังกล่าวรับประทานกาแฟ ของหวาน และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังพิธีกรรมศาสนาที่มัสยิด


 


ในส่วนฝ่ายค้านเองหรือผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาสมัยหน้าหากจะนำยุทธศาสตร์นี้แข่งขันกันนำเสนอสิ่งที่ดีๆ แก่ชุมชนบ้างก็ไม่เป็นไรที่สำคัญคือชุมชนได้รับประโยชน์


 


พระเจ้าได้ตรัสในอัลกุรอานว่า " ท่านทั้งหลายจงแข่งขันกันทำความดี"


 


………………………………


เกี่ยวกับผู้เขียน : อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ) เป็นนักศึกษาปริญญาเอกศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย และผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net