Skip to main content
sharethis

เหลืออีกไม่กี่วันที่นักอ่านและนักซื้อจะมีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 10 แต่สิ่งที่น่าจับตามองหลังการปิดฉากประจำปีของมหกรรมดังกล่าว คือ ความพยายามของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยที่จะผลักดันให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหนังสือของโลก ภายในปี 2008 หรือ Bangkok World Book Capital 2008


 


การจับตามองในครั้งนี้ มิใช่มุ่งหวังที่จะจับผิดโครงการหรือกิจกรรมที่ดีๆ หากแต่เป็นการจับตามองเพื่อให้เกิดการทบทวนว่า โอ้กรุงเทพเมืองฟ้าอมรของเรา มีความเหมาะสมเพียงพอสำหรับการก้าวขึ้นไปยืนอยู่ในฐานะเมืองแห่งการอ่าน และการเรียนรู้ของโลกแล้วหรือ?


 


World Book Capital กับเกณฑ์การตัดสิน


การประกวด World Book Capital เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2001 มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมกิจกรรมการอ่านในระดับเมืองและระดับประเทศ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมการอ่านในระดับนานาชาติ


 


ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ถึงปัจจุบัน มีเมืองที่ได้รับคัดเลือกทั้งสิ้น 7 เมือง ได้แก่ เมืองมาดริด ประเทศสเปน ในปี 2001 เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ปี 2002  เมืองนิวเดลฮี ประเทศอินเดีย ปี 2003  เมืองอันเวิร์บ ประเทศเบลเยียม ปี 2004  เมืองมอนรีออล ประเทศแคนาดา ปี 2005  เมืองตูริน ประเทศ อิตาลี ปี 2006  แล เมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย ปี 2007


โดยทางคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากโครงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านของยูเนสโก คือ สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ สมาคมห้องสมุดนานาชาติ และสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือนานาชาติ ในฐานะหน่วยงานผู้จัดการประกวด World Book Capital จะพิจารณาความเหมาะสมจากระดับการอ่านหนังสือของคนในประเทศที่ส่งชื่อเข้าประกวด ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกระตุ้นการอ่าน ผลการประเมินความก้าวหน้าของแต่ละกิจกรรมแต่ละโครงการ (ที่กระตุ้นการอ่าน) และผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการอ่าน (ข้อมูลจาก เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 695 วันที่ 26 กันยายน 2548)


นอกจากนี้ อัตราการเติบโตด้านยอดจำหน่ายของธุรกิจหนังสือ เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ด้านการจัดพิมพ์ และด้านการกระจายหนังสือ ก็เป็นเกณฑ์ที่ทางคณะกรรมการจากยูเนสโกจะใช้พิจารณา ซึ่งนายวรพันธ์ โลกิตสถาพร เลขาธิการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "มีแผนจะเสนอชื่อเมืองกรุงเทพฯ เข้าชิงในช่วงเดือนมีนาคมปี 2006 และคาดว่าจะทราบผลในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน"


ด้าน บรรณาธิการสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ทศสิริ พูลนวล เห็นเกี่ยวกับเรื่องการเสนอชื่อ กรุงเทพมหานคร เข้าชิง World Book Capital ในปี 2008 ว่า "โดยส่วนตัวเป็นกรรมการของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เลยเข้าใจเจตนารมณ์ว่าทางสมาคมก็ไม่ได้มองว่าสถิติการอ่านในประเทศไทย พร้อมสมบูรณ์ในการเป็นเมืองแห่งการอ่าน เพราะสถิติการอ่านที่ปรากฏของคนไทยยังต่ำอยู่ ต้องผลักดันกันอีกเยอะ แต่เราก็จะถือโอกาสนี้เพื่อทำให้สถิติการอ่านขยับอีกครั้ง"


ส่วน รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า  "โครงการ "กรุงเทพเมืองหนังสือ" เป็นการสนับสนุนการอ่านของคนไทยอย่างหนึ่ง แต่ว่าเพียงได้ตำแหน่งนั้นมาคงจะไม่มีความหมายอะไร เพราะในความเป็นจริงมันยังไม่ใช่เมืองหนังสือจริงๆ


"เท่าที่เห็น โครงการจะเป็นตึกใหญ่มากแล้วก็มีหนังสือเต็มไปหมด สิ่งนั้นดีมากถ้าเกิดขึ้นจริง เพราะจะเป็นจุดที่ทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ก็ให้ความสำคัญในสิ่งนี้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอีก 3 ปีข้างหน้า ระหว่างนั้นเราก็คงต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศแห่งการอ่าน"


แม้ข้อมูลทั้งจากบรรณาธิการสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก และนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ล้วนสนับสนุนการผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็น "เมืองหนังสือโลก" (World Book Capital) แต่สิ่งที่แฝงอยู่ในข้อมูลของคนในวงการวรรณกรรมก็บ่งชี้ว่า แท้ที่จริงแล้วจำนวนผู้อ่านหนังสือ หรือระดับการอ่านหนังสือในสังคมไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเรื่องวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว


แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าการอ่านยังไม่ได้เป็นวัฒนธรรม?


สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ซึ่งเป็นหนังสือที่มีผลทางความคิดต่อปัญญาชนในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 เคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าสังคมไทย การอ่านมันไม่เป็นวัฒนธรรม อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น ดาราก็สามารถกลายเป็นนักเขียนมีชื่อได้ ขายดีด้วย ระบบสายส่งก็อาจจะกลายเป็นผู้ชี้นิ้วกำหนดบทบาทให้กับนักเขียน  แทนที่จะเป็นผู้พิทักษ์สิทธิ"


 


"ผมถูกถามว่าทำไมคนหนุ่มสาวสมัยนี้ชอบอ่านหนังสือที่ดาราเขียน หรืออ่านการ์ตูน หนังสือพวกนี้จะขายได้เป็นเรือนแสนเรือนล้าน...ถ้ามันยังเป็นเช่นนี้อยู่ อย่างนี้สังคมอาจจะกำลังมีปัญหา เพราะมันไม่ใช่เป็นเรื่องการอ่าน มันกลายเป็นเรื่องค่านิยม" (หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2541) นี่คือข้อมูลจากบรรณาธิการอาวุโส ซึ่งเคยกล่าวไว้เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังดูเหมาะสมกับยุคสมัย


 


จากวันนั้นถึงวันนี้ หนังสือประเภทที่ถูกผลิตขึ้นด้วยชื่อเสียงของดารา หรือคนดังยังคงครองอันดับ 1ใน 10 ของหนังสือขายดีอยู่เสมอ ทศสิริ พูลนวล บอกว่า "หนังสือประเภทนี้ใช้วิธีทางการตลาดช่วยปั่นกระแส เหมือนการปั่นหุ้น การทำให้เห็นภาพว่าเป็นหนังสือขายดี ทำให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อหา ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตหนังสือที่มีคุณภาพจะต้องต่อสู้ เพื่อให้คนอ่านสามารถเข้าถึงหนังสือที่มีคุณภาพ"


 


รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน "ตอนนี้พวกดาราก็มาเขียนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือบันเทิง แต่ก็ไม่เลว ถือว่าหนังสือเป็นเครื่องประดับชื่อเสียงอย่างหนึ่งของคนดัง...แต่เราจะทำอย่างไรให้หนังสือที่มีคุณภาพถึงมือคนอ่าน"


 


สิ่งนี้อาจช่วยยืนยันว่า "ค่านิยม" "กระแสสังคม" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "แฟชั่น" ยังคงเป็นเครื่องชี้นำการอ่านในสังคมไทย เพราะฉะนั้นผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่สามารถจับกระแสความนิยมของสังคมได้ย่อมได้เปรียบในเชิงการผลิตสินค้า และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังเติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20% (ข้อมูลจาก นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร เลขาธิการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย)


 


วรรณกรรมต่างประเทศ ธุรกิจ กับเมืองหนังสือโลก


"ตอนนี้หนังสือออกมาเยอะ แต่ถ้าพูดถึงวรรณกรรมจะเห็นว่าส่วนมากจะเป็นวรรณกรรมจากต่างประเทศ ตอนนี้เรียกได้ว่า หนังสือต่างประเทศมาครองตลาดเมืองไทยมากกว่าครึ่ง ประมาณ 80%...งานแปลทะลักเข้ามามาก แม้กระทั่งงานแปลเกาหลี" นั่นแสดงว่า "เราอ่านหรือเราเสพงานต่างประเทศมากกว่าที่พวกเราเขียนกันขึ้นมา"


 


หากสังเกตข้อมูลข้างต้นจากนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จะพบว่า องค์ประกอบหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตของธุรกิจหนังสือในประเทศไทยปัจจุบัน ก็คือวรรณกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นข้อมูลที่ช่วยอธิบายว่า เหตุใดธุรกิจของสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่จึงสามารถขยับขยายตนเอง ในขณะที่ยอดจำหน่ายของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กจึงหยุดนิ่ง


 


เพราะเรื่องของการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศมาแปลเป็นภาษาไทย ย่อมหมายถึงเงินลงทุนจำนวนมาก และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวรรณกรรมจากต่างประเทศ อย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น ที่กำลังจับกลุ่มวัยรุ่นวัยใสขณะนี้ ล้วนถูกปลุกกระแสขึ้นมาจากละครซี่รี่ทางโทรทัศน์ 


 


แต่ในอีกมุมหนึ่ง "ต้องยอมรับว่างานบางส่วนของต่างประเทศที่แปลมามันสนุก นักเขียนไทยจะเขียนยังไงให้อ่านสนุกด้วย ลุ่มลึกด้วย อ่านแล้วบันเทิงทางปัญญา ในด้านคุณภาพของงาน นักเขียนของเราก็คงต้องพยายามไปให้ถึงจุดนั้นด้วย


 


"แต่นักเขียนไทยน่าสงสาร น่าเห็นใจ อย่างคุณวินทร์ (เลียววารินทร์) คุณชาติ (กอบจิตติ) (นักเขียนรางวัลซีไรต์ 2 สมัย) ปัจจุบันก็ต้องมารับผิดชอบเรื่องการพิมพ์หนังสือเอง ซึ่งหมายความว่าจะต้องทำทุกขั้นตอน ทั้งที่จริงๆ แล้วนักเขียนน่าจะได้ใช้สติปัญญาความสามารถในการเขียนแทนที่จะต้องมานั่งดูแลธุรกิจ แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเขาก็อยู่ไม่ได้


 


"... บางครั้งก็แย่เหมือนกัน เนื่องจากการขายหนังสือก็ไม่ใช่ว่าจะได้กำไรมากมาย เพราะเขาไม่ใช่คนที่มีเงินทุนมากๆ เหมือนเจ้าของกิจการใหญ่ๆ" รศ.ดร.ตรีศิลป์ ช่วยขยายความถึงสาเหตุการทะลักเข้ามาของวรรณกรรมต่างประเทศ และอธิบายถึงข้อจำกัดบางประการที่ทำให้นักเขียนไทยไม่มีโอกาสพัฒนาฝีมือได้อย่างเต็มที่


 


ไม่ว่าจะอย่างไร จากข้อมูลที่กล่าวมา จะพบว่าวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยยังมีสภาพที่อ่อนแอ เนื่องจากยังมีผู้อ่านอีกจำนวนมากที่เลือกอ่านเพราะถูกสื่อชี้นำหรือถูกปั่นในกระแส เพราะฉะนั้นหากมองกันในเชิงธุรกิจที่มุ่งหวังกอบโกยผลกำไร การจับกระแส และการผลิตสินค้าตามความต้องการของคนในสังคมก็ดูจะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งผลกำไรได้ง่ายกว่าการลงทุนรณรงค์ให้คนไทยรู้จักเลือกที่จะเสพ หรือพัฒนางานวรรณกรรมดีๆ


 


"สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศทุนนิยมทั่วโลก แต่ของเขามีทางออกให้เลือก ทางเลือกอันหนึ่ง ระบบห้องสมุดของเขามีความเข้มแข็ง สองระบบปรัชญาการศึกษาต่างประเทศเขามีทางออกให้กับคน อย่างน้อยคุณเรียนปีหนึ่งคุณอ่านหนังสือไม่ถึง 200 เล่ม คุณขึ้นปีสองไม่ได้


 


"ระบบการเรียนการสอนของบ้านเรากับต่างประเทศก็มีระบบที่ค่อนข้างจะผิดกัน ต่างประเทศเขาให้เชื่อในศักยภาพของแต่ละคนเอง เชื่อในศักยภาพของปัจเจก คุณเข้าไปแสวงหาเอาได้จากห้องสมุด ครูหรือกลุ่มอาจจะทำหน้าที่เป็นแค่ผู้แนะนำ ความเข้มแข็งในการอ่านมันก็เกิดขึ้น ไม่ใช่จะเป็นการสอบเอาคะแนนเท่านั้น  แต่มันกลายเป็นวิถีชีวิต  การอ่านกลายเป็นวิถีชีวิต" (สุชาติ สวัสดิ์ศรี : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2541)


 


ในเมื่อวัฒนธรรมการอ่านของเรายังไม่เข้มแข็งพอ ในเมื่อเรายังต้องนำเข้าลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะกระแสบริโภคตามสื่อ หรือฝีมือนักเขียนไทยยังไม่ถึง แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ว่า ยังมีปัญหาอีกมากที่แวดวงวรรณกรรมไทยจะต้องแก้ไข


 


เมื่อนำสภาพปัญหาเหล่านี้มาพิจารณาประกอบกับจำนวนศูนย์การส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นโครงการห้องสมุดประชาชน หรือโครงการบ้านหนังสือซึ่งปัจจุบันในเขตกรุงเทพมหานครมีอยู่ทั้งหมด 46 แห่ง และแม้กำลังจะลงทุนสร้างเพิ่มอีก 5 แห่ง แต่ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาของแวดวงวรรณกรรม หรือเพียงพอต่อการส่งเสริมสังคมไทยให้เป็นสังคมที่รักการอ่าน และการเรียนรู้


 


ในระดับชาติ แม้ปัจจุบันจะมีสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีบรรยากาศสร้างสรรค์ ทันสมัย สะดวกในการเข้าถึงและใช้บริการ เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ..และเป็นห้องสมุด ที่มีมากกว่าหนังสือ แต่ด้วยจำนวนที่นับได้ไม่เกินหนึ่งเดียวในประเทศไทย ก็แน่ใจได้เลยว่ายังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อจำนวนของประชากรได้


 


ด้วยปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ไขอีกมากมาย ท้ายที่สุดแล้วหน้าตาของ "กรุงเทพเมืองหนังสือโลก" จะเป็นอย่างไร การเร่งเป็นสัญลักษณ์ของโลกเพียงพอแล้วหรือที่จะเป็นคำตอบของการพัฒนามันสมอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net