รายงาน : ชาจีน เขย่าตลาดชาโลก

 

แม้ว่าคนรุ่นใหม่ในจีนอาจเปลี่ยนรสนิยมเรื่องเครื่องดื่มกันไปมากแล้ว หลายๆ คนอาจไม่สนใจที่จะดื่มชาจีน แต่ยังมีคนอีกหลายล้านบนโลกที่ยังคงนิยมดื่มชาอยู่ และที่สำคัญประเทศจีนนั้นก็มีชาอยู่หลายหลากชนิด และพื้นที่ปลูกชาก็ยังมีอยู่มากมาย

 

ชาเขียวที่มีคุณภาพดีที่สุด คัดมาเฉพาะยอดอ่อนๆ และนำมาคั่วในกะทะด้วยมือก็ยังมีราคาขายที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่งอยู่ที่หลายร้อยดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ทว่า ทุกวันนี้ โคคา-โคลา เป็บซี่ แมคโดนัลด์  เคเอฟซี และสินค้าอื่นๆ จากตะวันตกกำลังใช้ทุกกระบวนท่าที่จะเข้ามาดับกระหายในเมืองจีน โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว  การเปลี่ยนรสนิยมเรื่องเครื่องดื่มตามกระแสที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยนักธุรกิจที่ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ จึงทำให้ร้านน้ำชาในจีนกำลังถูกแทนที่โดยร้ายกาแฟ และ สตาร์บั๊ค ซึ่งผุดร้านขึ้นมากว่า 140 สาขาและกำลังขยายธุรกิจออกไปเรื่อยๆ

 

ด้วยว่าชาในจีนนั้นมีอยู่มากมายมหาศาล ดังนั้นชาจำนวนมากจึงถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ  พัน จินถู ชาวไร่ชายุคที่ 3 ก็เช่นกัน เขามีแนวคิดที่จะส่งชาไปจำหน่ายให้กับร้านสตาร์บั๊ค ในอเมริกา

 

"ตอนนี้ คนจำนวนไม่น้อยชอบดื่มน้ำชา ดังนั้นผมจึงเห็นว่าธุรกิจของเราน่าจะเติบโตได้" พัน เชื่ออย่างนั้น

 

แต่ว่า การเพิ่มยอดจำหน่ายโดยคนที่ปลูกชาจีนอย่างพันนั้นจะส่งผลสะเทือนอย่างมากให้กับประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นๆ ที่มีชาเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก อย่างเช่น อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เคนยา มาลาวี และซิมบับเว

 

เหมือนอย่างเช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับกรณีของสิ่งทอ ในขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอของจีนเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการยกเลิกโควตาสิ่งทอโลก ก็ได้สร้างผลกระทบให้กับประเทศยากจนหลายๆ ประเทศ  อุตสาหกรรมชาของจีนก็กำลังจะเข้ามาท้าทายประเทศที่ยากจนอื่นๆ ในโลกเช่นกัน หากคิดปริมาณจำนวนตันแล้ว จีนมีปริมาณการส่งออกชาเป็นอันดับหนึ่งของโลกไล่ทันศรีลังกาในปีนี้ และ เคนยาในปีหน้า

 

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ( เอดีบี) บอกว่า มีคนจำนวนมากในเอเชียที่ยังชีพได้โดยอาศัยอุตสาหกรรมชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ คือประเทศที่ประสบภัยสึนามิเมื่อเดือนธันวาคม ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย และสูงสุดคือศรีลังกา ซึ่งรายได้จากการปลูก การแปรรูป จนกระทั่งการขนส่งชานั้น ช่วยเลี้ยงดูคนได้ถึงหนึ่งในสิบของประชากรทั้งหมด

 

ทั้งนี้ การกลับมากลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อีกครั้งของจีนนั้น นับเป็นการกลับมาในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ในตอนนั้นบริษัท British East India ซึ่งซื้อชามาจากจีน ได้ผูกขาดการจัดจำหน่ายชาในตลาดอังกฤษ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2377 เมื่อการผูกขาดได้ยุติลงเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ถึงสามารถเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ได้ การผูกขาดดังกล่าวทำให้เกิดสำนวนภาษาอังกฤษสำนวนหนึ่งตามมาว่า "ผมไม่ได้ทำแบบนั้นกับชาทุกชนิดในจีน" ( I wouldn"t do that for all the tea in China  ซึ่งมีความหมายถึง การปฎิเสธที่จะทำบางสิ่งบางอย่างแม้ว่าจะได้รับเงินก้อนใหญ่มากก็ตาม

 

ประวัติศาสตร์ของชาเองก็สามารถเชื่อมโยงกลับไปที่จีนในสมัยโบราณ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ว่า ประมาณ 5,000 ปี ก่อน เมื่อจักรพรรดิ์ เซิน หนง  ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ค้นพบการชงชานั้นได้ทำใบชาตกลงไปในน้ำร้อนโดยบังเอิญ

 

สำหรับชาเขียวนั้น เชื่อกันว่า มีประโยชน์บางอย่างทางการแพทย์ ชาดำ ที่อาจจะมีประโยชน์เช่นเดียวกัน ถูกใช้ในทุกๆ ยี่ห้อตั้งแต่ดาร์จีลิ่ง ไปจนถึง เอิร์ล เกรย์ ซึ่งต่างก็ทำมาจากใบชาต้นแบบเดียวกับชาเขียว แต่ว่ากระบวนการแตกต่างกัน

 

กระนั้น แม้ชาจะที่เป็นที่นิยมมานานหลายพันปีแล้ว แต่การบริโภคชาในจีนก็เพิ่มขึ้นเพียงปีละ 2 % เท่านั้น ในทางกลับกันการผลิตชากลับเพิ่มขึ้นถึง 8.7% ในปีที่ผ่านมา และมีการเร่งให้ต้นชานั้นเติบโตพอที่จะเก็บใบได้อย่างรวดเร็ว และจากที่เป็นไร่ของรัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพก็กลายมาเป็นผู้ประกอบการที่เล็งผลเลิศในยอดการผลิต

 

สามปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่เรื่องของการบรรเทาความยากจนของคนในชนบท และลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนที่อยู่ในเมืองชายฝั่งและคนชนบท เพื่อให้ได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมชา รัฐบาลท้องถิ่นและเทศบาลต่างแข่งขันกันเสนอเงินอุดหนุนในอุตสาหกรรมที่เล็งเห็นแล้วว่าเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาความยากจนและการว่างงานในชนบท และยังจ่ายเงินให้ถึงครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการปลูกชาใหม่ในไร่ และสร้างโรงงานแปรรูปชา

 

รัฐบาลจีนยังได้ยกเลิกภาษีการผลิตชาที่เคยเก็บ 8% ออกไป นโยบายส่งเสริมการผลิตชา ซึ่งรวมทั้งการให้ค่าใช้จ่ายจำนวนมากของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ชาที่ดีขึ้นก็ได้รับเงินอุดหนุนด้วยเช่นกัน ดูเหมือนว่านี่จะนำซึ่งความมั่งคั่งมาสู่พื้นที่ปลูกชา

 

ทางการจีนที่หางโจวเปิดเผยตัวเลขว่า จากการสนับสนุนของรัฐบาล ช่วยให้การส่งออกชาจีนพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 18.9 เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการส่งออกเป็น 437 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 17,000 บาทล้านบาท ทว่าเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว ดังนั้นจีนจึงได้สงวนท่าทีที่จะกล่าวถึงการเพิ่มผลผลิตชาในอนาคต

 

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของชาจีน ทำให้หลายประเทศไม่ทั้นตั้งรับ อย่างเช่นผู้ปลูกชาในอินเดีย ศรีลังกา และอินโดนีเซียที่เพิ่งลงทุนในอุปกรณ์แปรรูปชาเขียวใหม่แทนชาดำ มาพบว่าจีนนั้นเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวขนาดไหนก็เมื่อไม่นานมานี้เอง ประเทศเหล่านี้เพิ่งเริ่มจะเห็นก้าวขนาดยักษ์ อย่างเช่นการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จีนได้ทำเพื่อการเพิ่มศักยภาพในการผลิตชา

 

โครงสร้างพื้นฐานของจีนนั้นล้ำหน้ากว่าผู้ที่ปลูกชาในอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ ที่ยังมีถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นและไฟฟ้าที่ดับครั้งแล้งครั้งเล่าเป็นอย่างมาก จีนมีถนนที่กว้างกว่า ทำให้ลดต้นทุนในการส่งน้ำมันดีเซลเพื่อใช้การผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานแปรรูปและการการส่งชาออกมา ปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับที่เคยเป็นปัญหาในปีที่ผ่านมาตอนนี้ก็หมดไปแล้วเนื่องจากมีการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

 

"ไม่มีทางที่รถคอนเทนเนอร์จะเข้ามาถึงไร่ของเราได้ เพราะว่าถนนนั้นแคบเกินไป และสะพานก็ต่ำเกินไป" รังกา เบดี คนปลูกชาแถวๆ บังกาลอร์ จากอินเดียกล่าว

 

การผลิตชาเป็นกิจกรรมจ้างงานขนาดใหญ่ในประเทศแถบมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งได้แก่ ชาติแอฟริกาตะวันออก  บังคลาเทศ  รวมทั้ง อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ทว่าขณะนี้มีไร่ชาดำถึง 48 แห่งที่ปิดตัวลงไปแล้วเมื่อสองปีที่ผ่านมา คนงานนับหมื่นในอินเดียใต้ต้องตกงาน  ชานั้นเป็นการผลิตที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก และต้องใช้คนเก็บใบทุกอาทิตย์เป็นเวลา 7 ถึง 12 เดือนต่อปี

 

ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีใครทำนายเหตุการณ์จากใบชาได้ แต่ก็มีข้อท้าทายอยู่หลายอย่างที่จะทำให้ธุรกิจชาจีนนั้นลดความแรงลงได้บ้าง  ประการแรก ได้แก่ การต้องมีพื้นที่ป่าบนภูเขาจำนวนมาก ซึ่งการปรับพื้นที่ได้กลายเป็นปัญหา "รัฐบาลกลางจะเข้ามาควบคุมบางพื้นที่ เนื่องจากว่าคนยังคงพัฒนาไร่ชาตามใจชอบของตัวเองอยู่ ต้นไม้จำนวนมากถูกตัด" ไต ชางหัว  ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท Bonna Tea Enterprise จากตำบลเจี้ยซาน เมืองจินหัว มณฑลเจ้อเจียงกล่าว

 

ประการต่อมาก็คือ ความสมบูรณ์ของที่นี่ได้ทำให้ค่าแรงสูง  ดังนั้นไร่ต่างๆ จึงได้ดึงเอาแรงงานย้ายถิ่นจากจังหวัดอื่นๆ และบางครั้งก็ใช้แรงงานที่เป็นนักโทษเข้ามาทำงานเป็นเวลาหลายปีแล้ว   และเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวในบางช่วงของปี ต้นชาในภาคกลางของจีนจะออกใบใหม่ในช่วงหน้าหนาวเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม ในทางตรงกันข้ามสำหรับต้นชาในที่อากาศอบอุ่นกว่า อย่างเช่นภาคใต้ของอินเดียและชวาตะวันตกของอินโดนีเซียนั้น สามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี และประการสุดท้าย เนื่องจากการเพิ่มค่าเงินหยวนของจีน ที่ถึงแม้ว่าจะขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ว่า "ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเรา" หุ ไห่หรง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยชาแห่งมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงกล่าว

 

สำหรับภาคธุรกิจระดับโลก ความกังวลที่มีมากกว่าก็คือ จะมีชาจีนทะลักออกมาสู่ตลาดโลกมากแค่ไหน การหลั่งไหลเข้ามาของชาจีนย่อมเติบโตขึ้นแน่หากประชาชนชาวจีนยังคงเปลี่ยนรสนิยมไปดื่มเครื่องดื่มอย่างอื่นมากขึ้น อย่างสตาร์บั๊ค ที่ขายทั้งชาและกาแฟในจีน ก็บอกว่า "ลูกค้าชอบดื่มกาแฟมากกว่า" คริสติน เดย์ ประธานบริษัทประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิคกล่าว

 

ที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่งในหางโจวซึ่งเป็นดินแดนที่ผู้คนนิยมดื่มชาอย่างมาก สามีภรรยคู่หนึ่งซึ่งเป็นคู่หมอ ขณะที่ทั้งคู่นั่งดื่มน้ำชายามบ่ายอยู่ ก็รู้สึกเศร้าใจว่าลูกชายวัย 25 ปี ไม่เคยมาร่วมดื่นน้ำชาด้วยกันเลย

 

"เขาไม่ชอบน้ำชา" ชายแซ่ เหริน ผู้เป็นสามีกล่าว "เขาไม่ชอบกาแฟ ส่วนใหญ่แล้วเขาจะดื่ม สไปรท์ โคคา-โคล่า และน้ำเปล่า"

 

---------------------------------------------------

เรียบเรียงจาก : www.nytimes.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท