Skip to main content
sharethis


องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า หากมีการระบาดและกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสหวัดนก จะมีผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านคน และอาจทำให้มีผู้เสียชีวิต 2-7 ล้านคน และถึงวันนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยอมรับว่าโรคไข้หวัดนกที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ H5N1 เป็นโรคระบาดที่มีความรุนแรงและกลายเป็นปัญหาในระดับโลก


 


เพราะเมื่อดูสภาพความเสียหายจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกเฉพาะในเอเชียตั้งแต่ปลายปี 2546 ซึ่งพบว่าเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมูลค่ากว่า 320,000 - 480,000 ล้านบาท ต้องทำลายไก่ไม่น้อยกว่า 150 ล้านตัว และมีผู้เสียชีวิต 60 ราย


 


ดังนั้นในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงจึงมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยหลังจากพบไก่และสัตว์ปีกในรัสเซียและคาซัสสถานติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดเอ (H5N1) เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา และมีนกที่ติดเชื้อไวรัสหวัด H5N1 ตายในฟาร์มใกล้ทะเลเอเจียนในตุรกีกว่า 2,000 ตัวเมื่อต้นเดือนต.ค. ทำให้อียูออกคำสั่งเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ห้ามนำเข้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกทุกชนิดจากตุรกีเข้าไปในยุโรป


 


รวมถึงเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการด้านอาหารและสุขภาพสัตว์ของอียู ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญเข้าไปทดสอบตัวอย่างเชื้อหวัดนกในไก่และเป็ดจากฟาร์มแห่งหนึ่งในบริเวณสามเหลี่ยมดานูบ ประเทศโรมาเนีย ปรากฎว่า 2 ใน 3 ของตัวอย่างที่นำมาทดสอบมีผลเป็นบวกคือมีการติดเชื้อไวรัสหวัดนกชนิด H5 แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นไวรัสชนิดที่จะสามารถติดต่อสู่คนได้หรือไม่


 


แต่ในมาตรการขั้นต้นอียูได้สั่งห้ามนำเข้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกจากโรมาเนียและประเทศต่างๆ ในฝั่งตะวันออกซึ่งพบการติดเชื้อไข้หวัดนก อาทิ คาซัคสถาน, ไทย, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, จีน, เวียดนาม, เกาหลีเหนือ, ปากีสถาน, มาเลเซียและรัสเซีย(ไซบีเรีย) เข้าไปในประเทศสมาชิกทั้ง 25 ประเทศแล้ว


 


"คณะกรรมาธิการตัดสินใจดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ในโรมาเนียเรามีแต่เพียงข้อสงสัยว่าน่าจะมีสัตว์ปีกติดเชื้อไวรัสหวัดนก แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่ามีการติดเชื้อจริง ซึ่งต้องรอผลการทดสอบในห้องแลปหลังจากนี้อีก 4 วัน ส่วนกรณีของตุรกีนั้นต่างจากโรมาเนียเพราะสามารถยืนยันได้ว่ามีการติดเชื้อไวรัสหวัดนกจริง โดยไม่ต้องรอผลการพิสูจน์จากห้องแลปในอังกฤษ" ฟิลิปส์ โทด โฆษกคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุขของอียู กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ สิ่งที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปกังวลคือสามเหลี่ยมดานูบอยู่ห่างจากบังแกเรียเพียง 100 กิโลเมตร และขณะนี้พบว่ามีเป็ด 40 ตัวและไก่ 1 ตัวในบังแกเรียตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นก่อนการรุกรานจากโรคไข้หวัดนกในยุโรป ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้จึงต้องตื่นตัวพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะแพร่กระจายตามแนวเส้นทางอพยของนกจากเอเชียเข้าไปฝั่งตะวันตกได้


 


 โดยเมื่อเดือนมี.ค.อังกฤษสต็อกยาทามิฟูจำนวน 14.6 ล้านเม็ด และเมื่อเดือนก.ค.อังกฤษนำไก่ 3,000 ตัวจากนิวคาสเซิลซึ่งพบว่าเป็นโรคติดต่อไปทดสอบในห้องแลป จากผลการทดสอบเมื่อเดือน ก.ย.พบว่า ไก่เหล่านั้นติดเชื้อหวัดนกแต่ไม่ใช่พันธุ์เดียวกับไวรัสหวัดนกในเอเชีย ส่วนในฝรั่งเศสนับตั้งแต่เกิดการติดเชื้อไข้หวัดนกในรัสเซีย ทางการฝรั่งเศสมีคำสั่งให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกต้องแยกสัตว์ที่ป่วยออกจากฟาร์มทันที


 


ขณะนี้มียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกที่ได้ผลคือ โอเซลทามิเวียร์ และ ซานามิเวียร์ ซึ่งเป็นยากินเพื่อการรักษาและการป้องกัน มีทั้งชนิดน้ำสำหรับเด็กและชนิดแคปซูลสำหรับผู้ใหญ่ และยาทามิฟูซึ่งใช้สำหรับรักษา ผลิตโดยบริษัทโรช โฮลดิ้งค์ ประเทศสวิตเซอแลนด์


 


หลายประเทศได้สั่งสต็อกทามิฟูไว้แล้ว รวมทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งมีทามิฟูในคลังยามากกว่า 40 ล้านเม็ด และเมื่อสุดสัปดาห์ก่อนประธานาธิบดีบุช ก็ได้พบปะกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและสถาบันสุขภาพแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีการวิจัยและผลิตวัคซีนเพื่อรักษาและป้องกันโรคไข้หวัด เนื่องจากสหรัฐตระหนักว่าทามิฟูอาจหมดประสิทธิภาพได้ หากเชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์


 


และเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ต.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงการณ์ผ่านเวบไซต์ระบุว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสหวัดนกในฟาร์มที่ตั้งอยู่บริเวณขอบทวีปยุโรป มีโอกาสเกิดการติดเชื้อในคนเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องเฝ้าติดตามตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสอย่างเข้มงวดทั้งในสัตว์ปีกและคน แต่จากหลักฐานในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าไวรัส H5N1 จะแพร่เชื้อที่พบในนกถึงคนได้รวดเร็วนัก


 


"การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสหวัดนกในฟาร์มเลี้ยงในพื้นที่ใหม่ ทำให้ต้องตระหนักว่าอาจจะมีโอกาสทำให้การติดเชื้อในคนเพิ่มขึ้น" WHO กล่าวในเวปไซต์ และแนะนำว่า ประเทศต่างๆ ที่เคยมีประสบการณ์การติดเชื้อไวรัสหวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกมาแล้ว ควรต้องดำเนินมาตรการป้องกันโดยทันที รวมทั้งต้องแยกผู้ติดเชื้อให้อยู่ในพื้นที่จำกัดและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด


 


อย่างไรก็ตามขณะนี้ WHO ยังไม่ได้มีการปรับระดับการเตือนภัยถึงโอกาสที่จะเกิดโรคระบาดร้ายแรงทั่วโลกในหมู่คน โดยยังคงไว้ที่ระดับ 3 จากระดับเตือนภัยทั้งหมด 5 ระดับขององค์กร นั่นหมายความว่าไวรัสชนิดใหม่มีโอกาสจะแพร่สู่คน แต่ยังไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net