หนึ่งช่วงชีวิตที่หายไปของเอเชีย : 2.เสียงครวญจากบัตติคาโลอา

หนึ่งช่วงชีวิตที่หายไปของเอเชีย (2)

 

รายงานชิ้นนี้ เป็นการเรียบเรียงจากการทำงานของเครือข่ายผู้สื่อข่าวเอเชีย (Asia News Network-ANN) ที่เฝ้าดู ติดตามสถานการณ์เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของเอเชีย และได้เห็นว่า ความขัดแย้งและสงครามได้ทำลายชีวิตของเด็กลงไปเป็นจำนวนมาก เหยื่อเหล่านี้ไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ และถูกบังคับให้ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร และเด็กๆ ยังคงถูกเอาเปรียบและถูกใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะโดยความสมัครใจหรือถูกบังคับ ด้วยสาเหตุนานาประการที่เด็กเองก็อาจไม่เข้าใจ เนื้อหาของรายงานชิ้นนี้จัดแบ่งออกเป็น 4 ตอน เริ่มจาก เรื่องราวของเด็กผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่า ในเรื่อง "ดาวดวงใหม่" ต่อด้วย "เสียงครวญจากบัตติคาโลอา" จากศรีลังกา และ "ขอความเป็นธรรมให้เด็กมินดาเนา" จากฟิลิปินส์ สุดท้าย "แล้วเด็กอาเจ๊ะห์จะเป็นอย่างไรต่อไป" จากอินโดนีเซีย

 

 

2. เสียงครวญจากบัตติคาโลอา

 

ตอนบ่ายของวันที่มีแดดจ้า สุเทศวัย 15 กับเพื่อนอีก 2 คนกำลังเดินทอดน่องสบายๆ เพื่อจะไปเรียนพิเศษ ระหว่างนั้นก็มีชาย 3 คนเข้ามาหาเพื่อจะถามทาง แต่แล้วอย่างไม่มีปีมีขลุ่ย กลุ่มชายเหล่านั้นก็ดึงเอาผ้ามาโปะที่จมูกเด็กผู้ชายทั้งสาม ดูเหมือนผ้านั้นมีอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาสลบไปทันที จากนั้นผู้ชายพวกนั้นก็มัดตัวเด็กชายทั้งสามแล้วเอาตัวขึ้นรถออกไปทันที

 

เป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่จะลักพาตัวเด็กในบัตติคาโลอา เมืองที่ตั้งอยู่บนที่มีความเสี่ยงสูงบริเวณชายแดนระหว่างเขตของกลุ่มสิงหลและทมิฬในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของศรีลังกา

 

เรื่องความโชคร้ายของแบบที่เด็กชายทั้งสามเจอนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องเดียว อรุณ เด็กชายอายุ 14 ถูกลักพาตัวระหว่างที่เดินทางอยู่กับเพื่อนๆ ในขณะที่เขากำลังขับรถมอเตอร์ไซด์อยู่ คนที่ลักพาตัวก็ได้เข้ามาขู่ที่จะฆ่าเขาหากเขาขัดขืน

 

ราชู เด็กชายวัย 15 ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ประสบภัยสึนามิของคณะกรรมการตลาดข้าวในเมืองบัตติคาโลอา หลังจากที่ได้พลัดถิ่นออกมาจากเมือง ธิรุเช็ทเธอร์ ( Thiruchethur)

 

อันนา อิลไล

"อันนา อิลไล" ( Anna Illai) คือคำตอบจาก มานี น้องชาย เมื่อมีใครมาถามว่าพี่ชายอยู่ที่ไหน คำตอบของเขาคือ "พี่ชายไม่อยู่"

 

สองเดือนที่ผ่านมานี่เอง ในขณะที่ราชูกำลังเดินไปทำงาน (เขารับจ้างเก็บขยะ) ก็มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งมาคว้าตัวเขาไป เขาก็หายไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา เขาไม่มีพ่อ ส่วนแม่ของเขานั้นก็มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการเก็บซากปรักหักพังจากสึนามิ หรือจากการทำงานก่อสร้างที่แสนหนัก ไม่มีอำนาจบารมีใดๆ ที่ไปทำให้ลูกถูกปล่อยตัวออกมาได้ เธอรู้ว่าลูกอยู่ที่ไหนแต่ก็รู้ว่าก็คงช่วยอะไรไม่ได้

 

เมืองติไรมาดู กำลังวุ่นวายกับการส่งมอบบ้านเรือนที่กำลังผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ที่อาศัยชั่วคราวแถวแล้วแถวเล่าบนพื้นที่ที่ดูคล้ายทะเลทรายสีขาวที่ร้อนระอุและแห้งแล้ง

 

ในบ้านหลังหนึ่ง เด็กหญิงกำลังอ่านหนังสืออยู่ เธอจะรู้หรือไม่ว่า มีเด็กผู้ชายหายไปเมื่อสองสามวันก่อน "รู้ค่ะ" เธอพยักหน้า

"เด็กชายสองคนที่เรียนพิเศษห้องเดียวกับหนูถูกพาตัวไปเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว พวกเขามาจากชั้นม. 4"

 

เด็กทั้งสองที่มาจากชั้น ม. 4 นั้นน่าจะมีอายุประมาณ 16 ปี เด็กที่นี่ต้องใช้ชื่อสมมติ เพราะต้องการปกปิดตัวตนที่แท้จริง

 

แต่ว่า ใครเป็นคนเอาตัวเด็กพวกนี้ไป มีเสียงกระซิบเป็นภาษาทมิฬว่า "อาวารฮาล" หรือ "พวกนั้น" มีคนน้อยมากที่จะกล้าออกชื่อมาดังๆ เนื่องจากกลัวการยึดครองจากตะวันออกของศรีลังกา

 

"พวกนั้นต้องการที่จะพิสูจน์ว่าที่บัตติคาโลอานี้พวกเขากลับมาครองอีกครั้งหนึ่ง" คุณพ่อ (บาทหลวง) แฮรี่ มิลเลอ์ กล่าวอย่างประชด "บัตติคาโลอาชอบคิดว่าได้ปลดแอกจากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมแล้ว"

 

การเอาเด็กเข้าไปเป็นทหาร เป็นกระบวนการสามัญมากตลอดเวลาหลายปีแล้ว บาทหลวงผู้มีประสบการณ์ผู้ซึ่งเป็นเสมือนดั่งสถาบันในบัตติคาโลอา สะท้อนให้ฟัง

 

ชาวทมิฬทุกครอบครัวจะต้องส่งลูกให้กับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ เรื่องอายุเท่าไรก็ไม่ใช่ปัญหา และไม่สนด้วยซ้ำว่าเด็กจะโตพอที่จะแบกปืนไหวหรือไม่ เด็กพวกนี้ก็จะถูกกระชากออกมาพร้อมกับเสียงกรีดร้องของครอบครัว

 

กลุ่มพยัคทมิฬอีแลม มีความขัดแย้งกับรัฐบาลศรีลังกามาตั้งแต่ปี 1983 ( 2526) และได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวไปเมื่อปี 2001 มีข้อตกลงหยุดยิงอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬตามมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2002

 

การเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นที่ นอรเวย์ เยอรมนี และประเทศไทย ในปี 2002 และ 2003 และผู้แทนคณะทำงานติดตามเรื่องศรีลังกาจาก 5 ประเทศก็ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อให้ดูแลการดำเนินการเพื่อการหยุดยิง

 

หลังจากที่มีการลงนามการหยุดยิงไปในปี 2002 ทุกๆ คนก็หวังว่าการเอาเด็กไปเป็นทหารน่าจะยุติลง

 

"การสงบศึกชั่วคราวทำให้เรามีช่องทางสำเร็จรูปในการร้องเรียน ทว่าการส่งสารไปยังพยัคฆ์ทมิฬไม่มีความคืบหน้ามากไปกว่าเดิมเลย" บาทหลวงมิลเลอร์กล่าว โดยตัวท่านเองนั้นเป็นตัวแทนรัฐบาลในคณะกรรมการติดตามศรีลังกา "เรื่องทหารเด็กยังคงไม่ยุติ"

 

ในเดือนเมษายน ปี 2003 การเจรจาสันติภาพก็ล่ม โดยทางฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬบอกว่า เนื่องจากว่า ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของการถอนทหารออกจากพื้นที่ ในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กลับคนถิ่นในประเทศที่เป็นชาวทมิฬ และในการแก้ปัญหาความยากจนในภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศ

 

"ไม่เคยมีรับรู้เกี่ยวกับข้อร้องเรียนเรื่องการนำเด็กไปเป็นทหารเลย ความพยายามในการค้นหาเด็กเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในลำดับรองๆ ไม่เคยมีความสำเร็จที่จะนำเด็กกลับมาได้เลย เวลาเดียวที่เด็กจะกลับมาหาครอบครัวได้นั้น ก็มีแต่ตอนที่เด็กหนีออกมาได้เท่านั้น" บาทหลวงกล่าว

 

เรื่องของสุเทศ

สุเทศเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เด็กๆ ที่หนีออกมาได้ เขาถูกจับไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม และหนีออกมาได้ในอีกสองวันต่อมา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Island ( เครือข่ายของ ANN) รายงานว่า ในระหว่างการพูดคุยกันนั้น เด็กชายมีแววตาหวาดๆ และไม่ค่อยเต็มใจ มองพุ่งตรงที่ประตูบ้านของตายาย เสียงที่ไม่คาดฝันทำให้เขาเริ่มพูด เขาไม่นอนที่บ้านของตัวเองอีกแล้วและเวลาจะไปไหนมาไหนก็มีพ่อไปเป็นเพื่อนด้วย

 

พ่อของเขาอยากจะส่งเขาออกจากบัตติคาโคอาเหลือเกิน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะส่งไปที่ไหนและอย่างไร ส่วนเพื่อนของเขาสองคนนั้นขณะนี้ก็ย้ายไปอยู่ในส่วนอื่นของประเทศไปแล้ว

 

"เขาเอาพวกเราไปที่ค่าย" สุเทศกล่าว "ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะผมถูกปิดตาและสลึมสลือ เราถูกกลุ่มผู้ชายกันเอาไว้ พวกเขามีปืนดูเหมือนจะเป็นสมาชิกระดับอาวุโส ผมถูกผ้ามัดมือเอาไว้"

 

"เขาบอกให้ผมเข้าร่วมกับประภาการัน (หมายถึงเวฬุพิไล ประภาการัน หัวหน้าของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ)" เขากล่าว

 

"เขาต้องการให้พวกเราสนับสนุนการต่อสู้ เขาขอให้เราสู้เพื่ออิสรภาพ และเพื่อทมิฬ อีแลม เขาเตือนผมว่า ถ้าผมหนีเขาจะตามหาตัวให้เจอแล้วก็จะยิงทิ้งเสีย"

 

"เขาบอกผมด้วยว่า เพื่อนของผมอีกหลายๆ คนก็จะถูกนำตัวมาด้วย"

 

ด้านพ่อแม่ของสุเทศนั้นด้วยความตกใจที่ลูกไม่กลับมาจึงได้เข้าไปแจ้งความกับตำรวจ และร้องเรียนต่อคณะกรรมการกาชาดสากล องค์กรยูนิเซฟ และอื่นๆ

 

"พวกนั้นคงได้ยินว่าพ่อแม่ผมไปร้องเรียนเขาตีผมหนักมากในค่าย" สุเทศกล่าว

 

"ผมยังมีเสื้อตัวที่ผมใส่วันนั้นอยู่ ดูสิ" ด้านหลังของเสื้อขาดวิ่น เขาจับมัดไว้แล้วบิดเป็นก้อนกลมแล้วกำเอาไว้ในมือข้างหนึ่ง

 

"ยังมีเด็กอีกสามคนที่ยังอยู่ในค่าย" เขากล่าวเพิ่ม " สองวันหลังจากที่เราไปถึงพวกนั้นก็ถูกนำตัวออกไปโดยมีคนคุมไป 2-3 คน เนื่องจากมีคนเหลืออยู่น้อยในค่ายของเรา ผมจึงหนีออกมาได้โดยไม่มีใครทันเห็น"

 

พวกเขาวิ่งผ่านหมู่บ้านมาเรื่อยๆ เดิมผ่านทะเลสาบ คลานมาตามขอบถนนและไหล่ทาง ตะลอนๆ อยู่กว่า 7 ชั่วโมงก่อนที่จะได้กลับมาพบเส้นทางสาย อัมพารา-บัตติคาโลอา ถนนเลียบชายฝั่งตะวันออก แล้วในเวลาต่อจากนั้นไม่นานนักพวกเขาก็ได้คืนสู่ครอบครัวอีกครั้ง

 

อัมพารา และ บัตติคาโลอา เป็นสองเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตความขัดแย้งของจังหวัดทางตะวันออก ที่ได้ถูกผนวกเข้ากับจังหวัดภาคเหนือชั่วคราวซึ่งเป็นเขตของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ

 

ในเมืองทั้งสองนี้ เป็นเมืองที่มีกลุ่มเล็กๆ ที่เข้มแข็งมากของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬตะวันออก ที่นำโดยอดีตผู้บัญชาการทหารของพยัคฆ์ทมิฬ ที่มาตั้งศูนย์บัญชาการอยู่

 

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองบางคนเชื่อว่าที่เมืองบัตติคาโลอา เด็กที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารยังคงมีอยู่ เพราะว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีอิสระในการเคลื่อนไหวอันเนื่องมาจากข้อตกลงหยุดยิงที่ยังคงมีอยู่ต่อไปแม้ว่าทางฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬตะวันออกได้เพิ่มการโจมตีให้เสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บ่อยครั้ง

 

"เราจำเป็นต้องส่งเขาไปอยู่ที่อื่น เดี๋ยวนี้" ปู่ของสุเทสวิงวอน

 

"คุณช่วยเราได้มั้ย ครับ เขากำลังเรียนอยู่ที่วิทยาลัย เซนต์ ไมเคิล และกำลังจะขึ้นระดับ โอ ในเดือนธันวาคมนี้ เขาเพียงแค่เด็กคนหนึ่งเท่านั้น"

 

ความลำบากของอรุณ

ที่เมืองมานกาดุ อีกฝากหนึ่งของสะพานคาลลาดี หญิงชรากำลังทุกข์ใจอย่างมากในเรื่องของหลานชาย น้ำเสียงแหบพล่าสั่นเครือเมื่อพูดถึง อรุณ ที่ถูกจับตัวไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม

 

"เขาต้องการจะเดินทางกับกลุ่มเพื่อน" ยายพีธัมบาราน นาคารัตนาม วัย 65 ปี เอามือปาดน้ำตาและสั่นศีรษะ เพื่อนอีกคนของอรุณก็ถูกจับไปด้วยแต่ต่อมาก็หนีออกมาได้ เด็กคนนั้นได้เล่าเหตุการณ์นี้ให้ครอบครัวฟัง

 

ลุงของอรุณกระโดดขึ้นมอเตอร์ไซด์แล้วขับพุ่งออกไปเต็มที่ ไปยังค่ายในปาลุกามามตามที่ได้รับคำบอกเล่าว่าหลานชายอยู่ที่นั่น พวกเขาบอกให้ลุงไปเอาจดหมายจากค่ายของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีกค่ายหนึ่งในก๊อกกาดิโชไล ที่ออกคำสั่งให้อิสรภาพแก่อรุณมาก่อน เขาจึงยังเอาตัวอรุณออกมาไม่ได้

 

"เราเลี้ยงดูเขามา" พีธัมบาราม กล่าว " พ่อของเขาทิ้งเขาไปนานาแล้ว เราต้องการเขากลับมา เขาเป็นลูกหลานของเรา ยังเรียนหนังสืออยู่เลย"

 

"พวกเขา (พยัคฆ์ทมิฬ) ต้องการตัวเขาไปเพื่อวัตถุประสงค์ของเขา เขาจะทำอะไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ แต่เราจำเป็นที่จะต้องได้เขากลับมา"

 

เด็กชายวัย 15 ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับอรุณก็ยืนมองดูย่าพูดอยู่ตรงนั้นด้วย " แน่นอนครับ ผมกลัว ผมไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าพวกนั้นมาจับผมไปด้วย" เขากล่าว

 

การช่วยเหลือที่คืบคลานมาอย่างหอยทาก

มีแผ่นป้ายผ้าแขวนเอาไว้ที่สำนักงานเด็กและสตรีแห่งบัตติคาโลอา ว่า "คนรุ่นใหม่คืออนาคตของเรา เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องให้การตุ้มครอง"

 

ทว่า จริงๆ แล้วตำรวจทำอะไรเพื่อช่วยให้เด็กปลอดภัยจากการลักพาตัวได้น้อยมาก ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติๆ หรือ เพื่อนต่างไปแจ้งความ ส่งหนังสือร้องเรียน แต่คดีก็ไม่เคยคืบหน้าเลย

 

"ตำรวจไม่เคยแตะต้องพวกพยัคฆ์ทมิฬเลย" คุณพ่อมิลเลอร์กล่าว "ที่สุดแล้วก็คือไม่มีใครที่จะให้ร้องขอความช่วยเหลือได้เลย"

 

องค์การยูนิเซฟ ถูกวิจารณ์อย่างมากในเรื่องที่ไม่สามารถที่จะต่อสู้เรื่องการจัดหาเด็กได้ แต่ เจฟฟรี คีเล โฆษกของยูนิเซฟบอกว่า สถานการณ์ในศรีลังกากำลังดีขึ้น แม้ว่าจะช้ามากๆ ก็ตาม

 

ยูนิเซฟมีเด็กประมาณ 50,000 คน ซึ่งเป็นเด็กพลัดถิ่นและอดีตทหารเด็กเข้ามาอยู่ในโครงการ "เกาะติดการศึกษา" (Catch-up education program) ในศรีลังกา

 

"สิ่งต่างๆ กำลังดีขึ้นแต่ก็พัฒนาไปอย่างช้ามากๆ และจะต้องเป็นกระบวนการระยาวที่จะสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมาใหม่หลังจาก 20 ปีในสงคราม ความจริงก็คือการที่เรามีเด็กเหล่านี้อยู่ในโรงเรียนนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าเรามีระยะเวลาสำหรับโครงการนี้เพียง 2-3 ปีเท่านั้นในขณะนี้" คีเลกล่าว

 

ระบบการศึกษาในภาคเหนือและภาคตะวันออกของศรีลังกาถูกตัดแยกส่วนออกมาเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬยังคงมีอยู่

 

" ตอนนี้ขาดครูอยู่ประมาณ 5,000 ตำแหนง หลายคนพลัดถิ่นจากบ้านเกิด เด็กๆ ต้องหยุดไปโรงเรียน หรือ บ้างก็ถูกย้ายไปอยู่ไกลจากโรงเรียน" คีเลกล่าว

 

ผลกระทบในทางลบในระยะยาว ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และสังคมยิ่งไร้ความหวังมากขึ้น ไม่มีการสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมา เด็กๆ เลยต้องสมัครเข้าไปอยู่กับพยัคฆ์ทมิฬ เพราะว่าเขาไห่เห็นว่ามีทางเลือกไหนอีกสำหรับชีวิต" คีเลกล่าว

 

อย่างไรก็ตามเขาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การงานสร้างขึ้นมาใหม่ของยูนิเซฟทั้งในเรื่องของการ ศึกษา การดูแลสุขภาพ การอบรมครูและ นักสังคมสงเคราะห์นั้นจะต้องเผลกระทบอย่างแน่นอน

 

เนื่องจากว่ามีเด็กจำนวนน้อยมากที่ถูกปล่อยตัวออกมาจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ยูนิเวฟเลยตัดสินใจปิด "บ้านส่งต่อ" ( transit home) ในบัตติคาโลอา คิลิโนชิ และตรินโคมาลี

 

ทั้งนี้ บ้านส่งต่อนั้นแรกทีเดียวตั้งขึ้นหลังจากที่มีกระบวนการสันติภาพเริ่มขึ้นในปี 2002 สำหรับเด็กที่เคยอยู่กับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬมาเป็นเวลานานที่จะต้องเปลี่ยนกลับไปใช้ชีวิตในสังคมปกติซึ่งอาจจะต้องพบกับความยุ่งยาก

 

ทว่า กว่า 2 ปีที่ผ่านมามีเด็กถูกปล่อยตัวออกมาประมาณ 1,200 คน ซึ่งคีเลบอกว่า ส่วนใหญ่ก็กลับไปบ้านของตัวเองโดยตรง

 

"ที่เราพบก็คือเด็กที่ถูกปล่อยมานี้ไม่ใช่เด็กที่จำเป็นจะต้องมาอยู่ในบ้านส่งต่อ เพราะเด็กที่มาอยู่ในบ้านส่งต่อนี้ ต้องเป็นเด็กที่ทำงานอยู่กับพยัคฆ์ทมิฬมานาน หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องเป็นเด็กที่ภาวะที่ต้องการการคุ้มครอง" คีเลกล่าว

 

ยูนิเซฟตัดสินใจปิดบ้านส่งต่อไปแล้ว แต่ว่าบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็จะมอบให้เป็นสมบัติชุมชน

 

"ชุมชนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเอาบ้านนี้ไว้ใช้ทำอะไรในอนาคต จะเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์การศึกษาภาคพิเศษ หรือว่าจะเป็นศูนย์เพื่อเด็กและสตรี อะไรก็ได้" เขากล่าว

 

"และเมื่อใดก็ตามที่มีจำนวนเด็กที่เป็นทหารถูกปล่อยตัวออกมาเพียงพอที่เราจะเปิดบ้าน เราก็จะสามารถปรับบ้านหลังนี้มาใช้ได้ใหม่อีกครั้ง"

 

ตัดวงจร

รายงานของโครงการสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา ( UNDP) ประจำปี 2005 ที่ออกมาในเดือนกันยายนที่ผ่านมากล่าวว่า ในบางประเทศ อย่างเช่นศรีลังกา กลุ่มกบฏได้จัดหาเด็กจากครอบครัวที่ยากจนมากๆ โดยได้เสนอที่จะให้เงินหรืออาหารแก่ครอบครัวของเด็กเหล่านั้น

 

รายงานดังกล่าวยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันมีเด็กต้องไปเป็นทหารอยู่ประมาณ 250,000 คนทั่วโลก และการลักพาตัวก็เป็นยุทธศาสตร์หลักในการเกณฑ์ทหาร ความยากจนก็เป็นอีกแรงผลักดันให้เด็กต้องมาอยู่ในกลุ่มติดอาวุธ

 

พ่อแม่ไม่กล้าส่งลูกไปโรงเรียนในยามที่มีความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัย นี่เป็นสถานการณ์ปกติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของศรีลังกา

 

รายงานยังกล่าวด้วยว่า ข้อตกลงสันติภาพนั้นบ่อยครั้งมักเป็นบทโหมโรงสำหรับความรุนแรงครั้งใหม่ ครึ่งหนึ่งของประเทศที่ได้ก้าวออกมาจากความขัดแย้งได้เปลี่ยนไปเป็นสงครามภายในเวลา 5 ปี

 

การจะตัดวงจรนี้จำเป็นที่จะต้องมีพันธสัญญาทางการเมืองและการเงินเพื่อให้ความมั่งคง ให้มีการดูแลให้เกิดการสร้างสรรค์เงื่อนไขใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการแข่งขันในตลาดและภาคการลงทุนของเอกชนที่ต้องใช้เวลาและใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่ง แต่พันธสัญญาเช่นนั้นมักไม่สามารถมองเห็นได้ง่ายนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท