Skip to main content
sharethis

หนึ่งช่วงชีวิตที่หายไปของเอเชีย (3)


 


รายงานชิ้นนี้ เป็นการเรียบเรียงจากการทำงานของเครือข่ายผู้สื่อข่าวเอเชีย (Asia News Network-ANN) ที่เฝ้าดู ติดตามสถานการณ์เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของเอเชีย และได้เห็นว่า ความขัดแย้งและสงครามได้ทำลายชีวิตของเด็กลงไปเป็นจำนวนมาก เหยื่อเหล่านี้ไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ และถูกบังคับให้ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร และเด็กๆ ยังคงถูกเอาเปรียบและถูกใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะโดยความสมัครใจหรือถูกบังคับ ด้วยสาเหตุนานาประการที่เด็กเองก็อาจไม่เข้าใจ เนื้อหาของรายงานชิ้นนี้จัดแบ่งออกเป็น 4 ตอน เริ่มจาก เรื่องราวของเด็กผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่า ในเรื่อง "ดาวดวงใหม่" ต่อด้วย "เสียงครวญจากบัตติคาโลอา" จากศรีลังกา และ "ขอความเป็นธรรมให้เด็กมินดาเนา" จากฟิลิปินส์ สุดท้าย "แล้วเด็กอาเจ๊ะห์จะเป็นอย่างไรต่อไป" จากอินโดนีเซีย


 


3. ขอความเป็นธรรมให้เด็กมินดาเนา


 


เช้าวันที่โชคร้ายนั้น เด็กชายเจสันวัย 9 ขวบ และคูนี่วัย 13 ขวบ กำลังเดินทางกลับบ้านจากการไปเก็บใบปาล์มกับพ่อแม่และเพื่อนบ้านอีกหลายคนได้มาพบกับพวกทหารโดยบังเอิญ ปืนจ่อมาที่เด็กๆ แล้วสั่งให้พวกเขาขุดหลุมพร้อมกับถามว่า อยากจะให้ตัวถูกฝังตัวเองทั้งเป็นตรงไหน


 


"พวกเขาจะต้องเติบโตขึ้นมาอยู่กับกองทัพใหม่ของประชาชน (New People"s Army- NPA) อยู่แล้ว" ทหารพูด


 


ใกล้กันนั้นบรรดาผู้เป็นพ่อกำลังถูกทรมานในขณะที่ผู้เป็นแม่กำลังร้องของชีวิต ขอให้ทหารอย่าทำอย่างนั้นเลย


 


ถึงวันนี้ทั้งเจสัน และคูนี่ก็ยังคงจมอยู่บาดแผลแห่งความเจ็บปวดจากเหตุการณ์นั้นไม่หาย


 


สองวันก่อนหน้านั้น ชาร์ลี ฮ็อคลาริต ชาวนาวัย 17 จาก ซาน ออสติน ก็ถูกทรมาน วัยรุ่นอีกสองคนจากหมู่บ้าน มักคาฮูเนา ในซาน ออสติน คนหนึ่งคือ ฮุนเรย์ คาซิล วัย 17 ปี และ รันลี คาซิล วัย 13 ก็ ถูกบังคับให้เป็นผู้นำทางเป็นไกด์ให้กับทหาร ทั้งสองกล่าวว่า พวกเขาทั้งถูกทำร้ายและถูกตี


 


เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อมีปฎิบัติการเต็มรูปแบบของทหารในจังหวัด ซูริเกา เดล ซูร์ ในเดือนเมษายน หลังจากที่มีการปะทะกันของฝ่ายทหารรัฐบาลและกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์


 


หาความเป็นธรรม


การต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นมานานนับทศวรรษ ในสมัยหลังสงครามในฟิลิปปินส์ กองกำลังฝ่ายรัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อต้านกลุ่มคอมมิวนิสต์ กลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มกองโจร มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 ทั้งในรูปแบบของการปะทะกันเล็กๆ น้อยรายวัน หรือในรูปของสงครามเต็มรูปแบบที่ประกาศโดยฝ่ายบริหาร


 


เด็กๆ ได้รับความปวดร้าวมากในระหว่างการปฎิบัติการของกองกำลังทหาร เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับการยกเว้นจากการถูกทรมานโดยเงื้อมมือของฝ่ายทหาร


 


การสู้รบระหว่างฝ่ายทหารกับกลุ่มกบฏนั้นยังคงทิ้งความทรงจำอันเจ็บปวดเอาไว้ให้กับเด็กๆ และสำหรับเด็กส่วนใหญ่แล้ว การเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏนั้นกลายเป็นทางเดียวที่จะเรียกร้องขอความเป็นธรรม


 


องค์กรพัฒนาเอกชนชื่อกาเบรียลา ได้จัดกลุ่มเด็กเอาไว้ดังนี้ คือ 1. เด็กที่ถูกบังคับให้อพยพไปอยู่ค่ายผู้ลี้ภัย 2. เด็กที่ถูกฆ่าตายระหว่างที่มีปฎิบัติการทางการทหาร 3. เด็กที่ถูกฆาตกรรมและได้รับบาดเจ็บจากการสังหารหมู่ 4.เด็กที่ถูกจับกุม คุมขัง และถูกทรมาน 5.เด็กที่ล้มป่วยลงเนื่องจากผลของความขัดแย้ง และ 6 .เด็กอยู่ในภาวะของความเจ็บปวดเนื่องจากผลกระทบของความขัดแย้งที่ตกแก่ครอบครัวและชุมชนของเขา


 


เยาวชน ที่แม้ว่าอายุจะน้อยเพียง 9 ขวบ ก็มีรายงานว่า ได้ไปต่อสู้ให้กับกองทัพคอมมิวนิสต์ NPA แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร และ กลุ่มอาบู ซายาฟ


 


กองทัพฟิลิปปินส์กล่าวว่าในปี 2002 มีเด็กถึงประมาณ 2002 คนเข้าร่วมกับกลุ่มเหล่านี้


 


ในหมู่บ้านที่ โคตาบาโตเหนือ ที่มีการปะทะกันเป็นประจำระหว่างกลุ่มกบฎ แนวร่วมอิสลามแบ่งแยกดินแดนโมโร ( Moro Islamic Liberation Front -MILF) กับกองกำลังทหารของรัฐบาล ผู้หญิงและเด็กถูกขับให้อพยพออกจากพื้นที่อยู่ตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่คนที่มีอายุมากพอ ก็จะเข้าร่วมหรือถูกเกณฑ์ให้ต่อสู้ในฐานะของนักรบของ MILF


 


ในขณะที่มีการศึกษาหลายชิ้นได้เปิดเผยว่า ความยากจน และความละเลยจากรัฐบาล เป็นที่เป็นเหตุผลสำคัญสูงสุดให้เด็กถูกชักจูงกลุ่มติดอาวุธเหล่านั้น ส่วนปัจจัยอื่นๆ ก็คือมาจากพื้นฐานทางครอบครัว


 


ซาตูร์ โอคาโป ตัวแทนจากพรรคบายัน มูนา ( พรรคทางเลือก) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโฆษกของแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (the National Democratic Front- NDF) องค์กรที่เป็นร่มของ NPA กล่าวว่า "ไม่ว่าจะเป็นตัวเด็กเองหรือตัวผู้ปกครอง ก็ต้องการเข้าร่วมกับ NPA"


 


"พวกเขาเป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อการปฎิวัติ แต่พวกเขาไม่ใช่นักรบ ไม่อนุญาตให้มีนักรบเด็ก เด็กๆ นั้นเข้าร่วมในส่วนของงานด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการศึกษาภาคพิเศษ" โอคัมโพกล่าว


 


NPA ปฎิเสธรายงานที่ว่ามีการเกณฑ์เยาวชนจำนวนมากในเดือนมกราคม 2003 โดยกล่าวว่า เด็กๆ ที่ปรารถนาจะเข้าร่วมกับ NPA จะต้องทำงานของตนอย่างเคร่งครัด ส่งข่าวสาร หรืองานประเภทเดียวๆ กันนี้


 


NPA ได้กล่าวเช่นเดียวกันนี้เมื่อปี 2004 ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีนั้น ถูกมอบหมายงานที่ไม่ใช่งานสู้รบ ในเรื่องขององค์กรเด็กและเยาวชน งานการผลิต และสหกรณ์การเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ งานพัฒนาวัฒนธรรมและการสอน


 


ทั้งนี้มีการประมาณการณ์ว่า NPA นั้นมีสมาชิกอยู่ระหว่าง 5,000- 8,000 คน


 


แหล่งข่าวจากรัฐบาลประมาณการเมื่อปี 2002 ว่า ประมาณร้อยละ 10 ถึง 15 ของกองกำลัง MILF ประมาณ 10,000 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี (ทางการมีรายงานว่ากองกำลัง MILF มีประมาณ 10,000 คน แต่ MILF อ้างว่ามีสมาชิกมากกว่านั้นถึง 12 เท่า)


 


MILF กล่าวกับเครือข่ายทหารเด็กในปี 2004 ว่า ทางกลุ่มไม่ได้นำเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มาเป็นนักรบ แต่ก็เพิ่มเติมว่า บางครั้งเด็กก็ติดอยู่ในการสู้รบ


 


ส่วนกลุ่มอาบู ซายาฟ นั้น มีรายงานว่าในจำนวนสมาชิกที่ติดอาวุธที่มีอยู่จำนวน 300 คนนั้น คาดว่าประมาณร้อยละ 15 ถึง 30 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี


 


การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ


สำหรับเด็กบางคนที่เคยมีประสบการณ์จากสงครามมาแล้วต่างก็ส่งเสียงบอกออกมาว่าจะเข้าร่วมกับกลุ่มกบฎ


 


"มีหลายปัจจัยที่ผลักดันให้ผมเลือกที่จะเข้าร่วมกับ MILF ปัญหานาประการและความจริงที่ว่าชาวบังซาโมโรยังถูกติดอยู่กับโซ่พันธนาการก็มีเหตุผลมากพอที่จะต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพแล้ว" อับดุลอายุ 17 กล่าว เขาเข้าร่วมกับกลุ่มนี้ตั้งแต่อายุ 12 ปี


 


ชาวบังซาโมโร เป็นคำที่ใช้เรียกชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นมุสลิมโดยทั่วไป และยังหมายถึงพื้นที่ที่ทาง MILF อ้างสิทธิ์ในมินดาเนา หมู่เกาะซูลู และ พาลาวัน


 


อี๊ด คาบาลู โฆษกของ MILF กล่าวว่า แม้เด็กจะเข้ามาอยู่ที่ค่ายทหาร แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ถืออาวุธ ยกเว้นพวกที่เป็นเด็กกำพร้าจากสงคราม


 


เด็กผู้หญิงถูกคัดเลือกให้ไปทำงานประเภทส่งเอกสารและสอดแนม คาบาลูยอมรับว่า MILF มีทหารเด็ก แต่ก็อ้างว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปรบที่แนวหน้า และบอกว่าทหารเด็กที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างน้อยก็ประมาณไม่กี่สิบคน


 


จากเอกสารจากกรมแรงงานและการจัดหางานในปี 2002 รายงานว่า เด็กๆ เต็มใจที่จะร่วมกับกลุ่มเหล่านี้เพราะว่า ได้รับการจูงใจว่าจะได้มีส่วนร่วมกระทำสิ่งที่น่าตื่นเต้น หรือเด็กบางคนก็มาจากแรงกดดันจากเพื่อนในกลุ่ม หรือจากการโฆษณาชวนเชื่อ ส่วนบางคนก็มีรายงานว่าถูกลักพาตัวและบังคับให้เป็นทหาร


 


กรมแรงงานฯกล่าวว่า เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยากจน ไม่ได้อยู่กับครอบครัว พลัดถิ่น อาศัยอยู่ในเขตสงคราม หรืออยู่ในชุมชนที่สวัสดิการสังคมไม่เพียงพอ หรือเข้าไม่ถึงการศึกษา มีจำนวนไม่น้อยที่มีญาติเข้าร่วมในการต่อสู้อยู่แล้วได้ชักนำให้เด็กอาสาเข้ามาร่วมทำงานกับกลุ่ม


 


กรมแรงงานกล่าวว่า "ทหารเด็ก" ตามที่เยาวชนเหล่านี้ถูกเรียกนั้น ถือเป็นอุดมคติในการทำงาน เพราะว่า "เด็กเหล่านี้ไว้ใจได้และบริสุทธิ์เหมือนเด็ก แต่ว่ามีกำลังและความแข็งแกร่งเหมือนผู้ใหญ่ และในขบวนการต่อสู้นั้นพวกเขาก็รวดเร็วและสู้ไม่ถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากครอบครัวของเขาตกเป็นเหยื่อ"


 


ภายใต้มาตรา 4 ของ พิธีสาร 2 ของอนุสัญญาเจนีวานั้น เด็กที่อายุยังไม่ครบ 15 ปีจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในการต่อสู้ และถึงแม้ว่าเขาจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อสู้และถูกจับได้เขาก็จะได้สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษที่มีให้แก่เด็ก


 


อย่างไรก็ตาม ยูนิเซฟรายงานว่ามีเด็กร้อยละ 10 ถึง 13 ที่เขตที่มีความขัดแย้งถูกคัดเลือกไปอยู่กับกลุ่มกบฏ


 


ฟารุค โฟโยแซต หัวหน้าแผนกการคุ้มครองเด็กของยูนิเซฟ ประจำประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า กลุ่มของเขาได้ติดตามและรายงานการคัดเลือกเด็กโดยกลุ่มที่ไม่ใช่ของรัฐ ในประเทศฟิลิปปินส์นั้น "เป็นไปได้ทั้งโดยการบังคับและสมัครใจ" โดยเด็กที่พ่อแม่อยู่กลุ่มกบฏอยู่แล้วรับรู้ว่าเขาอยู่ในกองทัพแต่ไม่รู้ว่าเขากำลังต่อสู้เพื่ออะไร


 


สันติภาพบนเส้นขอบฟ้า


รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังไม่ได้บรรลุข้อตกลุสันติภาพกับกลุ่ม MILF ทั้งที่ได้จัดการเจรจาเกิดขึ้นมาแล้วหลายรอบ นักวิพากษ์ชี้ว่า ทางไปสู่สันติภาพในภาคใต้ของฟิลิปปินส์นั้นคงจะอีกยาวไกล ถึงแม้ว่าจะหลังจากการที่สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้แล้วก็ตาม


 


MILF นั้นต้องการที่จะตั้งรัฐอิสลามอิสระทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์


 


อย่างไรก็ตามหัวหน้าทีมเจรจาข้อตกลงสันติภาพกล่าวเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมว่า เขาคาดว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับ MILF ได้ภายในต้นปี 2006


 


ซิลเวสเตอร์ อฟาเบลรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารกล่าวว่า การลงนามในข้อตกลงสันติภาพนี้จะเป็นการปูทางไปสู่ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนามินดาเนาจากองค์การระหว่างประเทศ อย่างเช่น ธนาคารโลก เป็นต้น


 


"เราจะขัดเกลาข้อตกลงสันติภาพขั้นสุดท้ายและคาดว่าคิดว่าจะลงนามได้ภายในระหว่างต้นปีถึงกลางปีหน้า"


 


"ความหวังของการมีสันติภาพกับกลุ่มกบฏมุสลิมมีมากขึ้นเมื่อคณะเจรจาจากทั้งสองฝ่ายได้หาทางออกร่วมกันได้ในเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานถึงประเด็นเขตแดนของบรรพบุรุษ" อฟาเบลกล่าว


 


เขายังได้กล่าวชมเชย MILF ที่ช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย อย่างเช่น อาบู ซายาฟ และสำหรับการสังเกตการณ์ในการหยุดยิง


 


" เราจะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดถึงข้อตกลงเกี่ยวกับประเด็นเขตแดนของบรรพบุรุษ แต่ที่บอกได้ตอนนี้ก็คือเราพอใจในการเจรจา มติที่เป็นเอกฉันท์ที่สามารถนำไปสู่กระบวนการทางรัฐธรรมนูญได้" อฟาเบลกล่าว


 


การเจรจารอบต่อไปจะมีขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย จะพูดถึงการถอนกำลัง ปลดอาวุธ และ การกลับคืนสู่สังคมของเหล่านักรบ MILF


 


อฟาเบลกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นด้วยที่จะให้ คณะกรรมการติดตามสังเกตการณ์นานาชาติ ( the International Monitoring Team- IMT) ที่เดิมจะมาสังเกตการณ์และติดตามการหยุดยิง ให้เข้ามาติดตามและสังเกตการณ์การไหลเข้ามาของกองทุนจากต่างประเทศที่จะเข้าที่มินดาเนาด้วย


 


หากเส้นทางสู่สันติภาพยังคงยาวไกลและอยู่ท่ามกลางกระแสลมแรงอยู่อย่างนี้ จะมีเด็กที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะสงครามที่ผู้ใหญ่ทำขึ้นมากขึ้นอีกเรื่อยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net