Skip to main content
sharethis

ผู้เป็นภรรยาทุกคน ล้วนต้องการเป็นภรรยาเฉยๆ ไม่อยากเป็นภรรยาน้อย และไม่อยากเป็นภรรยาหลวง    ในขณะที่ลูกทุกคน ก็ต้องการจะเป็นลูกของพ่อและแม่  ไม่มีใครอยากเป็นลูกเมียน้อย ลูกเมียหลวง หรือแม้กระทั่งลูกชู้


 


ที่ผ่านมา  แม้นโยบายของรัฐไทยจะทำเสมือนว่า "มองไม่เห็น" หรือปฏิเสธตัวตนของคนเป็นเมียน้อยในทางกฎหมาย แต่ในข้อเท็จจริงของสังคม ก็ปรากฏว่า มีทั้ง "เมียน้อย" และ "ลูกเมียน้อย" อยู่จำนวนไม่น้อย


 


กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน โดยครอบคลุมให้ผู้มีภรรยามากกว่า 1 คน ก็สามารถใช้สิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรได้ด้วยนั้น จึงเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ไม่เหมาะสม เพราะอาจเกื้อหนุนค่านิยมที่ผิดศีลธรรมให้กับสถาบันครอบครัว


 


พูดง่ายๆ ว่า อาจจะเป็นการส่งเสริมทางอ้อม ให้ผู้ชายมีเมียน้อย  หรือมีลูกกับเมียน้อย!


 


 


สิทธิของลูกเมียน้อย


มาตรการดังกล่าวเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน  มองกันได้สองมุม


 


การที่รัฐเอาเงินไปสงเคราะห์เด็กที่เกิดกับสตรีอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาโดยถูกกฎหมาย ก็เท่ากับว่า รัฐมีส่วนเข้าไป "อุดหนุน" หรือช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กที่เกิดกับเมียน้อย


 


อย่างไรก็ตาม  การจะมีเมียน้อย ยังมีต้นทุนด้านอื่นอีกมาก ที่ผู้ชายให้น้ำหนัก คือ "ต้นทุนทางสังคม"  ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ความสงบสุขในครอบครัว ความไว้ใจจากภรรยา ความเคารพรักจากลูก  ฯลฯ  ดังนั้น จึงมีผู้ชายจำนวนน้อยมากๆ ที่ตั้งใจอยากจะมีลูกกับเมียน้อย เพราะทราบดีว่าจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย


 


ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เมื่อปัจจุบันมี "ลูกเมียน้อย"  เกิดขึ้นมาแล้ว มีอยู่จริง และก็เป็นมนุษย์เหมือนกับคนอื่นๆ    สังคมและรัฐควรจะมีมาตรการดูแลเขาอย่างไร


 


คนที่เห็นใจคนเป็นเมียหลวง จึงควรเห็นใจลูกเมียน้อยไม่แพ้กัน  เพราะต่างก็เป็นผู้บริสุทธิ์  ไม่รู้เห็น และไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดใดๆ ทั้งสิ้น


 


ลูกเมียน้อย ก็เป็นคน   ขึ้นชื่อว่า "คน" ก็ต้องมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และได้รับการปกป้องคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ


 


มาตรา ๓๐ "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน    การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สถานะภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม... จะกระทำมิได้"


 


ทัศนะของนายสิทธิพล รัตนากร รองเลขาธิการสปส. ที่บอกว่า "ไม่ได้มองกรณีใครเป็นลูกเมียหลวงเมียน้อย แต่คำนึงถึงผู้ประกันตนโดยภาพรวม โดยเฉพาะการให้ความใส่ใจให้กับเด็กที่เกิดใหม่ถือเป็นความสำคัญ หากไปตัดสินว่าเด็กเป็นลูกเมียน้อยก็จะไม่เป็นธรรม" จึงเป็นเรื่องที่น่ารับฟัง


 


และยิ่งน่าคิด  เมื่อลองนึกเปรียบเทียบกับผลกระทบของนโยบายครอบครัวในประเทศจีน ที่ส่งผลกระทบทางสังคมอย่างใหญ่หลวงชนิดคาดไม่ถึง ในกรณี "นโยบายลูกคนเดียวของจีน"


 


นโยบายลูกคนเดียว (one child policy)


๒๐ กว่าปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ทางการจีนประกาศใช้นโยบายที่ให้ประชาชนมีลูกคนเดียว (one child policy) เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร คงคาดไม่ถึงว่า จะเกิดผลผลกระทบทางสังคมอย่างใหญ่หลวงตามมาในปัจจุบัน


 


นโยบายมีลูกคนเดียวของจีน ก็คือ การบังคับว่า ผู้หญิงหนึ่งคนจะต้องมีลูกได้เพียงคนเดียว!


 


นโยบายดังกล่าว ประสบความสำเร็จในแง่ที่ว่า ทำให้จำนวนประชากรของจีนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงสมความตั้งใจของทางการจีน แต่กลับปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของทางการได้นำนโยบายนี้ไปปฏิบัติอย่างเข้มงวด เอาจริงเอาจัง โดยผู้ฝ่าฝืนนโยบายนี้ จะถูกลงโทษสถานหนัก ถูกตัดสวัสดิการสังคมต่างๆ ถูกจับ ถูกปรับ และถึงขนาดว่า ถ้าผู้หญิงคนไหนมีลูกอยู่แล้ว เกิดตั้งครรภ์  ก็จะถูกบังคับให้ไปทำแท้ง!


 


การเข้มงวดของทางการ ภายใต้ระบบค่านิยมและประเพณีจีน ซึ่งยึดถือลูกชายเป็นผู้สืบวงศ์ตระกูล  ยังส่งผลให้คู่สามีภรรยาผู้ถูกกำหนดให้มีลูกได้เพียงคนเดียว พยายามจะมีลูกชายมากกว่าลูกสาว  หลายกรณีพบว่า เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ จะมีการไปตรวจดูเพศของลูกในครรภ์ หากพบว่าเป็นลูกสาว ก็ถึงกับไปทำแท้ง เพื่อรักษาโควต้าการมีลูกคนเดียวนั้นไว้สำหรับลูกชาย!


 


บางกรณี ถ้าตรวจไม่ทราบว่าลูกเป็นเด็กผู้หญิง พอคลอดออกมาแล้ว ก็นำไปฝังดิน หรือนำไปทิ้ง!


 


ผลของนโยบายดังกล่าว นำไปสู่การทำแท้งอย่างมหาศาลในประเทศจีน หรือเรียกได้ว่า ก่อให้เกิดการฆ่าลูกสาวชาวจีนไปจำนวนหลายล้านคน!


 


นโยบายมีลูกคนเดียว กำลังทำให้โครงสร้างประชากรของจีนไม่สมดุล เพราะมีจำนวนประชากรในวัยทำงาน เป็นชายมากกว่าหญิง  ดังปรากฏว่า มีชายจีนที่ไร้คู่จำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐ ล้านคน


 


ยิ่งกว่านั้น  โลกทัศน์ ความคิด การรับรู้ และสภาพจิตใจของคนกลุ่มนี้ ยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดค่านิยม วัฒนธรรม รูปแบบการใช้ชีวิต และทิศทางของสังคมจีนสมัยใหม่


 


ได้รับรู้จากหนุ่มสาวชาวจีน ซึ่งเป็นเพื่อนของลูกสาว อยู่ในวัย ๑๗-๑๘ ปี ว่า คนจีนรุ่นของเขา ขาดความรู้จักและรู้สึกที่ลึกซึ้งถึงคำว่า "พี่" หรือ "น้อง"  เพราะตัวเขาและคนรุ่นใกล้เคียงกับเขา  ไม่เคยมีพี่ และไม่เคยมีน้องแท้ๆ ที่คลานตามกันออกมา


 


เขาไม่รู้จักคำว่า ลุง ป้า และอา ว่ามีความหมายลึกซึ้งอย่างไร เพราะพ่อของเขาก็ไม่เคยมีพี่ และไม่เคยมีน้องเช่นกัน


 


เขาไม่รู้จักคำว่า น้า และป้า ก็เพราะแม่ของเขาไม่มีน้องและไม่มีพี่


 


ยิ่งคำว่า "ลูกพี่-ลูกน้อง" เขายิ่งไม่รู้จักถึงความหมายในส่วนลึก ว่ามันมีความหมายผูกพันกันอย่างไรไนเนื้อแท้ของความเป็นจริง   


 


ที่สำคัญที่สุด  การมีระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติสั้นๆ อย่างนี้ ได้ทำลายระบบประกันสังคมตามธรรมชาติ ที่คนเป็นเครือญาติ จะคอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน


 


กลายเป็นว่า ครอบครัวคนจีนที่เป็นผลพวงจากนโยบายมีลูกคนเดียว  ต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น มีความมั่นคงทางสังคมน้อยลง  ถ้าหากลูกโตขึ้นไม่อยู่กับพ่อแม่  ครอบครัวก็จะเหลือเพียงคนแก่สองคน ดูแลกันเอง หรือถ้าแม่ตายไป ก็จะเหลือตาแก่อยู่คนเดียว จะอยู่อย่างไร ถ้าไม่มีใครดูแล 


 


หรือถ้าเกิดพ่อแม่ตายไปแล้ว ลูกก็จะเหลือเพียงตัวคนเดียว ไม่มีญาติพี่น้องที่ไหนอีกต่อไป ความรู้สึกและหนทางชีวิต จะโดดเดี่ยวแค่ไหน?


 


นโยบายของรัฐบาลจีน ได้ทำลายความมั่นคงของมนุษย์ และตัดขาดสายใยความสัมพันธ์ทางเครือญาติของสถาบันครอบครัวให้สั้นลง และบางเบายิ่งขึ้น  


 


ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่า นโยบายของรัฐเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวไม่ใช่เรื่องเล่นๆ  เพราะอาจจะไม่ปรากฏผลในระยะสั้น แต่อาจจะมีผลต่อชีวิตของลูกหลานในระยะยาว 


 


น่าคิดว่า...  คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ  คุณวัฒนา  หรือคุณสมศักดิ์  จะนำพาสังคมครอบครัวไทยไปทางไหนกัน?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net