Skip to main content
sharethis

"พวกเราขอยืนยันว่า ประชาชนทุกกลุ่มชนไม่ว่าเกษตรกรคนจน หรือนายทุนพ่อค้านักธุรกิจ ก็จะต้องได้รับการปฏิบัติทางนโยบายจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ตรงไปตรงมาจากนโยบายที่แก้ไขปัญหาได้จริง ไม่ใช่นโยบายน้ำผึ้งอาบยาพิษ หรือกลลวงประชานิยม เพียงเพื่อหลอกประชาชนให้เพ้อฝันไปเพียงวันๆ รอรับส่วนบุญจากนโยบายส่วนบนเท่านั้น พวกเรายืนยันข้อเสนอเดิม และภายใต้สิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พวกเราจะเคลื่อนไหวผลักดันจนกว่าปัญหาทั้งหมดจะได้รับแก้ไขถึงที่สุด" นั่นคือคำแถลงการณ์ของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่


 


ทำไม สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ต้องออกมาเรียกร้อง


ในหนังสือแถลงการณ์ระบุว่า นับจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นมาบริหารประเทศเป็นครั้งที่ 2 เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้ว ที่ปัญหาของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ (สกน.) ไม่ได้รับการแก้ไขหรือปรากฏความคืบหน้าแต่ประการใด ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงตามผลการเจรจาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 เมษายน 2545 และหลังสุดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 เห็นชอบให้มีคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหากับรัฐบาลไว้แล้ว ซึ่งตัวแทนเกษตรกรได้ยื่นหนังสือถึงมือนายกรัฐมนตรีโดยตรงถึงสองครั้งคือเมื่อวันที่ 10 และ 13 มิถุนายน 2547 ที่ จ.เชียงใหม่ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จากรัฐบาล


 


จากสถานการณ์ดังกล่าว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลส่งตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรี ลงมาชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2545 และ 7 เมษายน 2547 ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือที่ชัดเจน ว่าจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่ดำเนินการภายใน 30 วัน ทาง สกน.จะส่งตัวแทนไปพบนายกรัฐมนตรีโดยตรง


ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาเกษตรกร เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นหรือเอาชนะความยากจนตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภานั้น รัฐจะต้องเปิดให้โอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ไม้ประดับของนโยบายรัฐ อีกทั้งรัฐจะต้องไม่ทำลายกลไกการแก้ไขปัญหาเดิมซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้เป็นอย่างดีและมีรูปธรรมที่ชัดเจน ดังเช่น คณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหากลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ เป็นต้น


ทางกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ยังชี้แจงอีกว่า ภายใต้ความล่าช้าและไม่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ได้ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาอย่างรุนแรง เกิดการละเมิดสิทธิอย่างมากมาย ทั้งกรณีการจับกุมดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านในกรณีปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า การติดตามความคืบหน้าในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการนำร่องปฏิรูปที่ดิน กรณีปัญหาการถือครองที่ดิน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาชนเผ่าและชาติพันธุ์ และผู้เดือดร้อนจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง เป็นต้น


ทั้งนี้ นายธนกร ประมูลผล ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากกลุ่มสหพันธ์ฯ พร้อมกล่าวว่า ทางจังหวัดยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวเอาไว้ เพื่อรายงานไปทางรัฐบาลทราบ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มเกษตรกรต่อไปตามลำดับขั้นตอน


 


อย่างไรก็ตาม นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขาสหพันธ์ฯ กล่าวว่า หลังจากเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอุดม พัวสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เพื่อจี้ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินที่มีปัญหายืดเยื้อมายาวนาน หลังจากเคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว แต่กลับหายเงียบไปนั้น


 


"ล่าสุด ทาง ผวจ.ลำพูน ได้ชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว พบว่า หนังสือที่ยื่นให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อหลายเดือนก่อน ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว หลังจากนี้ คงต้องรอให้ ครม.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขกันต่อไป ซึ่งทางสหพันธ์ฯ คงต้องรอดูท่าทีของ ครม.กันว่าจะจริงใจต่อการแก้ปัญหาหรือไม่ หากยังคงล่าช้า ทางเราคงต้องออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ กันอย่างแน่นอน" นายสุริยันต์ กล่าว


 


กลุ่มเกษตรกรชี้ "การปฏิรูปที่ดินโดยรัฐล้มเหลว"


หากเราย้อนกลับไปมองปัญหาการถือครองที่ดินในหลายๆ พื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ของ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 เป็นต้นมา จะพบว่า ปัญหาเรื่องที่ดินนั้นมีความหมักหมมมายาวนาน ซึ่งล้วนแต่เกิดจากความบกพร่องของภาครัฐในการจัดการที่ดินทั้งสิ้น ไม่ว่าในเรื่องของกฎหมาย หรือนโยบายต่างๆ ล้วนแต่มุ่งเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเอกชน ให้กลุ่มนายทุนเข้าไปแย่งชิงที่ดินสาธารณะของชุมชน โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายและการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐในการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบกันอย่างกว้างขวาง  


 


จากกรณีดังกล่าว ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรชาวไร่ชาวนากันเป็นอย่างมาก จนเกิดขบวนการประชาชนออกมาเคลื่อนไหว มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับภาครัฐและกลุ่มนายทุน และหาช่องทางแย่งชิงที่ดินที่ถูกนายทุนเข้ายึดครองกลับคืนมา เพื่อกระจายที่ดินให้เกษตรกรคนยากจนได้เข้าไปใช้ประโยชน์และทำกินกันใหม่ ที่เรียกกันว่า "การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" แต่ในทางปฏิบัติ กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดเข้าไปดำเนินการจับกุมชาวบ้าน และทำให้ชาวบ้านหลายร้อยหลายพันคน ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันอย่างต่อเนื่อง


 


ในขณะที่นักวิชาการหลายท่าน ต่างก็ออกมาพูดว่า หากพิจารณาในทางกฎหมาย การเข้าไปทำการปฏิรูปที่ดินของแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ อาจจะขัดต่อกฎหมายที่ดินในเมืองไทยที่มีอยู่ปัจจุบัน แต่หากพิจารณากันให้ลึกลงไปอีก จะเห็นว่า การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนนั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ปี พ.ศ.2518 และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม


 


ย้ำนโยบายรัฐเดิม แก้ปัญหาที่ดินไม่ได้


นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือฯ (สกน.) กล่าวว่า ขณะนี้ เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า นโยบายดังกล่าว ไม่สามารถแก้ปัญหาชาวบ้านได้ ตราบใดที่ยังมีการกระจายการถือครองที่ดินในภาคเอกชนกันอยู่ รัฐบาลจะมาแก้ปัญหาโดยการลงทะเบียนเพื่อแก้ปัญหาด้านความยากจนและที่ดิน หรือแม้กระทั่งกรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ออกมาเสนอให้มีการออกโฉนดใหม่ ด้วยการทำแผนที่แนวเขตที่ดิน มาตราส่วน 1:50,000 ทั่วประเทศ เพราะดูในภาพรวมทั้งประเทศ จะเห็นว่ามันล้มเหลว


 


ศึกษากรณี ปัญหาที่ดินลำพูน


ตามที่กลุ่มสหพันธ์เกษตรภาคเหนือ และเครือข่ายประชาชนภาคเหนือ (สกน.) ได้ยื่นหนังสือถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2548 ที่บ้านปางแดง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และต่อมาในวันที่ 13 มิ.ย.ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคณะทำงานแก้ไขปัญหาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือฯ กรณีการแก้ไขปัญหาที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมนั้น


 


โดยทางตัวแทนชาวบ้าน ได้เน้นย้ำขอให้รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยไม่ชอบในพื้นที่บ้านดงขี้เหล็ก ม.5 ต.ศรีเตี้ย บ้านหนองสูน ม.1 บ้านท่ากอม่วง ม.3 และบ้านหนองเขียด ม.4 ต.หนองปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยเร็ว


 


เนื่องจาก มีการตรวจสอบดูจากแผนที่ทางอากาศแล้ว พบว่า พื้นที่บ้านหนองสูน ม.1 ต.หนองปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน มีการออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าไม้ถาวร จำนวน 5 แปลง และรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวนประมาณ 3 แปลง


 


ในพื้นที่บ้านดงขี้เหล็ก ม.5 ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน มีการตรวจสอบในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ โดยพบว่า มีการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าไม้ถาวร จำนวนประมาณ 29 แปลง สำหรับการถ่ายทอดและลงนามรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติในระวางแผนที่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการของสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 16 ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


 


รายงานสรุปชี้ชัด มีกระบวนการสร้างเอกสารอันน่าจะเป็นเท็จ


จากรายงาน สรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกไปโดยมิชอบฯ ในเขตพื้นที่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ที่นายจาดุร อภิชาตบุตร ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินฯ จ.ลำพูน ได้นำเสนอต่อ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหากลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือฯ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2547 ที่ผ่านมา ได้สรุปออกมาชัดเจนว่า


 


กรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการออกเอกสารสิทธิดังกล่าวเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่บางส่วนมีเจตนาและพัวพันกับกระบวนการทุจริตในหน้าที่ มีการจงใจและละเลยไม่ปฏิบัติตามมติในที่ประชุมกรมที่ดิน เมื่อวันพุธที่ 11 เม.ย.2533 ที่มีมติว่า


 


"พื้นที่ส่วนที่ราษฎรครอบครองทำประโยชน์อยู่ ให้แจ้งจังหวัดออกใบจองตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป ส่วนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะทำการเกษตรกรรม และไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ ก็ให้ดำเนินการสงวน หวงห้าม เพื่อประชาชนใช้ร่วมกัน"


 


แต่ปรากฏว่า ได้มีการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว โดยมีกระบวนการสร้างเอกสารอันน่าจะเป็นเท็จ


 


ยกกรณีตัวอย่าง กระบวนการทุจริตคอรัปชั่น


โดยในหนังสือสรุปรายงานฉบับดังกล่าว ได้ยกกรณีตัวอย่างถึงกระบวนการทุจริตคอรัปชั่นระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับนายทุนที่เข้าไปกว้านซื้อที่ดินในเขตพื้นที่ของ จ.ลำพูน


 


กรณีที่มีการนำ ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาออก น.ส.3 ก. เลขที่ 2882 และ 3496 ในเขต ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง ซึ่งได้ตรวจสอบแล้ว ที่ดินตาม น.ส.3 ก. กับ ส.ค.1 นั้น ไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกัน


 


อีกกรณีหนึ่ง โฉนดที่ดิน เลขที่ 10329 หน้าสำรวจ 1572 ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง ออกโฉนดที่ดินเมื่อปี พ.ศ.2533 ซึ่งผู้ขอโฉนดที่ดินอ้างว่า ได้ซื้อมาจาก นายคำ ต่อมสังข์ มาประมาณ 5 ปี แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามใบมรณบัตรของนายคำ ต่อมสังข์ ระบุว่า เสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2518 จึงถือว่า เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยแจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ


 


อีกกรณีตัวอย่าง โฉนดที่ดินเลขที่ 16749 หน้าสำรวจ 590 ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง ผู้ขอออกโฉนดที่ดิน อ้างว่า ได้ซื้อมาจาก นายอินสม โยปันเตี้ย ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเดิมได้ครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฎว่า นายอินสม โยปันเตี้ย เกิดเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2490 ดังนั้น จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยแจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จทั้งสิ้น


 


เสนอให้ ปปช. สอบ จนท.รัฐ พัวพันออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ


อย่างไรก็ตาม ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและการเพิกถอนฯ จ.ลำพูน ระบุว่า ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้มีความเห็นกันว่า กระบวนการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิในที่ดิน อันเป็นมูลเหตุกรณีทั้งหมดตามที่ยกตัวอย่างมา รวมทั้งการปฏิบัติงานเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในพื้นที่น่าจะมีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตคอรัปชั่น


 


จากข้อเท็จจริงทั้งหมด ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ จึงได้มีมติให้นำข้อมูลทั้งหมดส่งให้กรมที่ดิน และเสนอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พิจารณาดำเนินการ ซึ่งหลังจากนั้น พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหากลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือฯ ได้บันทึกเห็นชอบ ก่อนเสนอให้ทาง ปปช. ดำเนินการตรวจสอบต่อไป


 


ทว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2547 จนถึงบัดนี้ ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ทำให้ชาวบ้านได้ออกมาเรียกร้องมาโดยตลอด แต่ทางรัฐบาลก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น


 


ชาวบ้านกลายเป็นแพะ เพราะความผิดพลาดของนโยบายรัฐ


จากกรณีที่รัฐมีโครงการจัดการที่ดินผืนใหญ่ บ้านโฮ่ง-ป่าซาง เมื่อปี พ.ศ.2509 โดยได้นำป่าแพะจำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ในเขตพื้นที่ 9 หมู่บ้าน ในเขต อ.บ้านโฮ่ง และใช้วิธีการจัดสรรที่ดินด้วยการจับฉลาก แต่โครงการดังกล่าวได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง กลับกลายเป็นว่า มีกลุ่มนายทุนจากข้างนอก เข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว


 


ซึ่งการเข้ามาของนายทุน ได้ใช้วิธีการบีบบังคับชาวบ้านโดยทางอ้อม ด้วยการซื้อที่ดินปิดล้อมรอบๆ ที่ดินของชาวบ้านไว้หมด พร้อมกับมีการข่มขู่ จนสุดท้าย ชาวบ้านต้องจำยอมขายที่ดินให้นายทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งกลุ่มนายทุนยังได้นำไปออกโฉนดที่ดิน แม้กระทั่งที่ดินสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้านก็ถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ์ในหลายๆ พื้นที่


 


หลังจากนั้น มีการนำโฉนดที่ดินไปจำนองกับธนาคาร ก่อนปล่อยให้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า


ครั้นพอชาวบ้านได้รวมตัวกัน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน โดยมี "การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" เข้าไปจัดสรรที่ดินที่รกร้างว่างเปล่ามาใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อทำการเกษตร ทว่ากลับถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุก ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมดำเนินคดีเกษตรกรในเขตภาคเหนือทั้งหมดกว่า 1,000 คดี และกลายเป็นผู้ต้องหาทั้งหมด 146 ราย


 


ภาคประชาชน เสนอให้มีการปฏิรูปที่ดินนำร่อง 27 พื้นที่


ดังนั้น ตัวแทนเกษตรกร ได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลดำเนินการจำหน่าย หรือยกเลิกคดีทั้งหมด อันเกิดจากความผิดพลาดจากนโยบายของรัฐทั้งสิ้น นอกจากนั้น ตัวแทนเกษตรกร จ.ลำพูน ยังได้ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้มีการปฏิรูปที่ดินนำร่อง 27 พื้นที่ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และ ลำพูน


 


โดยตัวแทนชาวบ้านบอกว่า ปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ เป็นความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับผู้ปฏิบัติที่ไม่ยอมลงมือทำ นี่คือโจทย์ของการแก้ไขปัญหาที่ดินลำพูนที่ยังแก้ไขไม่ได้ ซึ่งหากมีการดำเนินการปฏิรูปที่ดินนำร่อง 27 พื้นที่ ตามมติการประชุมของคณะทำงานปฏิรูปที่ดินนำร่องในพื้นที่ของกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรฯ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2547 เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างจะต้องคลี่คลาย และสามารถนำไปปรับใช้ในอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ


 


ยืนยันนโยบายรัฐเดิม แก้ปัญหาที่ดินไม่ได้


นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือฯ (สกน.) กล่าวว่า ขณะนี้ เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า นโยบายดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาชาวบ้านได้ ตราบใดที่ยังมีการกระจายการถือครองที่ดินในภาคเอกชนกันอยู่ รัฐบาลจะมาแก้ปัญหาโดยการลงทะเบียนเพื่อแก้ปัญหาด้านความยากจนและที่ดินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะดูในภาพรวมทั้งประเทศจะเห็นว่ามันล้มเหลว


 


"ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมามองกระบวนการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนด้วย โดยพิจารณาดูว่า โครงสร้างกลไกเดิมโดยการตั้งคณะกรรมการคณะทำงานเพื่อแก้ไขฯ ตามมติ ครม. ที่มีอยู่เดิม เพราะว่าปัญหาที่ดินที่ชาวบ้านกำลังเรียกร้องอยู่นี้ ไม่ใช่ปัญหาที่รัฐบาลจะนำนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยนำที่ดิน 7 ประเภทนั้น ไม่ได้สอดคล้องและนำมาใช้ปฏิบัติได้ เพราะไม่มีที่ดินประเภทดังกล่าว"


 


ทางตัวแทนเกษตรกรภาคเหนือ ยังย้ำอีกว่า ที่ดินผืนใดที่ทางเอกชนถือครองอยู่นั้น จะต้องมีการเพิกถอนก่อน หากมีการดำเนินการตรวจสอบชัดเจนว่า ได้มาโดยมิชอบ หรือมีการปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่าเกิน 10 ปี รัฐจะต้องดำเนินการเพิกถอน ซื้อ เช่าซื้อ หรือเวนคืนมา เพื่อนำมาดำเนินการใหม่ อาจใช้รูปแบบของ สปก. โดยให้ชาวบ้านเป็นกรรมการบริหารร่วม มีการจัดตั้งเป็นกองทุนที่ดิน สหกรณ์ที่ดิน


 


"รัฐจะต้องแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน โดยต้องนำ คณะกรรมการชุดเดิม ซึ่งมีมติ ครม.อยู่แล้ว ไม่ได้มีการยกเลิก เพียงแต่ว่าไม่มีคนรับผิดชอบ ซึ่งหากมีคนรับผิดชอบ ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะมีความคืบหน้า ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net