รู้จักโรคไข้หวัดนกจาก 'ดร.โรเบิร์ต จี เวบสเตอร์'

 

การพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในกลุ่มประเทศยุโรป บ่งบอกกับโลกว่า มีเรื่องร้ายแรงที่คอยคุกคามมนุษยชาติที่ยากเกินกว่าจะรับมือและหนักหนาเกินกว่าจะใช้ทรัพยากรและพลังงานไปหมกมุ่นอยู่กับสงครามที่มนุษย์ที่สร้างขึ้น ในห้วงเวลาที่ไข้หวัดนกกลายเป็นประเด็นของโลก "ประชาไท" ขอนำบทสัมภาษณ์ 'ดร.โรเบิร์ต จี เวบสเตอร์' นักจุลชีววิทยา ผู้ใช้เวลากว่า 40 ปีเพื่อค้นหาต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัด ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งแปลเรียบเรียงและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเมื่อเดือนกันยายน มาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อย้ำหรือทำให้พวกเรารู้จักภัยคุกคามนี้มากขึ้น

 

            0 0 0

 

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของ ดร.โรเบิร์ต จี เวบสเตอร์ นักจุลชีววิทยา ผู้ใช้เวลากว่า 40 ปีเพื่อค้นหาต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัด  และหนึ่งในข้อสังเกตของ ดร.เวบสเตอร์ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น คือ กำเนิดสายพันธุ์ไวรัสหวัดจะปรากฏให้เห็น 2 หรือ 3 ครั้งในรอบ 100 ปี และความน่ากลัวของมันคือไวรัสเหล่านี้มีโอกาสจะผสมกันระหว่างไวรัสหวัดในคนและไวรัสหวัดในนกได้

 

มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ดร.เวบสเตอร์ และนักวิทยาศาสตร์อีกหลายๆ ท่านเชื่อว่า 'เอเชียน ฟลู' เป็นไข้หวัดที่เคยเกิดขึ้นในจีนเมื่อปี 2500 น่าจะเป็นไวรัสสายพันธุ์เดียวกับไวรัสหวัดนกที่แพร่ระบาดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนในช่วง 2 - 3 ปีนี้

 

"การแพร่ระบาดของไข้หวัดเริ่มขึ้นในประเทศจีนเมื่อ 2500 และเป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสในนกที่แพร่กระจายเมื่อหลายปีก่อน' ดร.เวบสเตอร์ กล่าว

 

เชื้อไวรัสหวัดหรือในศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า ไวรัส H5N1 ชนิดเอ (A/H5N1) แพร่ระบาดไปทั่ว จากการย้ายถิ่นของนกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2539 และพบในฟาร์มไก่ในไซบีเรียและคาซัสสถานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน

 

ตั้งแต่ปลายปี 2546 มีสัตว์ปีกอย่างนก ไก่ เป็ดกว่า 150 ล้านตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนต้องตายเนื่องจากติดเชื้อไวรัสและจากมาตรการจำกัดวงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก

 

แต่สิ่งที่ ดร.เวบสเตอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาเป็นห่วงก็คือ มีข้อมูลระบุว่า มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 จำนวน 112 รายกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งแสดงว่ามีอัตราการตายของผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกเกิดขึ้นกว่าร้อยละ 55 ในเวลาอันรวดเร็ว และในการบันทึกสถิติการระบาดของไข้หวัดนกในคนก็พบว่า ในยุคที่เกิดโรคไข้หวัดสเปน (Spanish Flu) ช่วงปี 2461 - 2462 ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปไม่น้อยกว่า 50 ล้านคน

 

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำไมเชื้อไวรัสชนิดนี้จึงยังไม่ตายแม้นักวิทยาศาสตร์จะพยายามค้นหาวิธีการกำจัดมันแล้วก็ตาม

 

เชื้อไวรัสไข้หวัดจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในเซลล์บริเวณลำคอและหลอดลม และเพิ่มจำนวนขึ้นจนเป็นสาเหตุให้บริเวณที่เชื้อไวรัสฝังตัวเกิดการอักเสบ แต่ในที่สุดไวรัสเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดออกไปโดยอัตโนมัติจากระบบภูมิต้านทานภายในร่างกายของมนุษย์ แต่ในบางกรณี ไวรัสจะเข้าไปทำลายปอด ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเข้าสู่อวัยวะส่วนในได้สะดวกขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม

 

สำหรับไวรัส H5N1 แล้ว มันมี 2 รูปแบบที่ทำให้เกิดอันตราย คือ หนึ่ง ตามปกติไวรัสหวัดทั่วไปจะเติบโตได้ในลำคอและปอดเท่านั้น แต่ไวรัส H5N1 จะมีโปรตีนที่ปล่อยออกมาเพื่อไปจับอยู่ในอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้วก็เกิดการคัดลอกขยายจำนวนขึ้น เช่นในตับ ลำไส้ หรือสมอง ฉะนั้นจากการติดเชื้อเฉพาะที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่กระจายไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย

 

ขณะเดียวกันรูปแบบที่สองก็จะเกิดขึ้น โดยปล่อยเชื้อของไวรัสที่ออกมาจากกระบวนการทางเคมีของระบบภูมิต้านทานที่เรียกว่า ไซโตคีนส์ (Cytokines) ซึ่งโดยปกติไซโตคีนส์จะต้องทำหน้าที่ต่อสู้กับสิ่งสกปรกหรือเชื้อแบคทีเรียที่เป็นพาหะนำโรคร้ายเข้าสู่ร่างกาย แต่เมื่อไวรัส H5N1เข้าไปอยู่ในร่างกาย มันก็ทำให้ระบบภูมิต้านทานผลิตไซโตคีนส์ออกมามากเกินความจำเป็น และกลายเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อในร่างกายอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้

 

พฤติกรรมการแพร่กระจายตัวของเชื้อไวรัสที่กล่าวถึงนี้ ทำให้รู้ได้ว่า แหล่งกำเนิดเชื้อไวรัสหวัดอาจเกิดได้ทุกที่โดยไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และนักวิทยาศาสตร์ยังต้องค้นหาวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้

 

ดร.เวบสเตอร์ แนะนำว่า นักวิทยาศาสตร์ควรติดตามการติดต่อของเชื้อไข้หวัดทุกๆ ชนิด ไม่ควรจะเลือกศึกษาเพียงแต่ไวรัสหวัดที่เกิดกับมนุษย์เท่านั้น

 

หัวข้อใหญ่ที่ ดร.เวบสเตอร์สนใจในเวลานี้คือ การศึกษาว่า ไวรัสไข้หวัดนกเปลี่ยนตัวเองอย่างไรเพื่อให้สามารถไปจับกับไวรัสในมนุษย์ได้

 

ดังนั้นในฐานะที่เป็นผู้ดูแลห้องทดลองด้านจุลชีววิทยาจำนวน 4 โครงการ โดยหนึ่งในนั้นคือติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงที่เกิดจากโรคทางพยาธิวิทยา และในแต่ละสัปดาห์ ดร.เวบสเตอร์ต้องเฝ้าติดตามการเติบโตของไวรัสหวัดจากไข่ไก่ที่อุดมสมบูรณ์เต็มที่กว่า 3,000 ใบในห้องทดลอง เพื่อค้นหาวัคซีนสำหรับปราบเชื้อโรคไข้หวัดนก

 

ซึ่งขณะนี้ อีริกส์ ฮอฟแมน เพื่อนร่วมงานของ ดร.เวบสเตอร์ จากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ก็ได้ค้นพบหัวเชื้อไวรัสเพื่อนำไปผลิตเป็นวัคซีนต้านเชื้อไวรัส H5N1ที่จะเกิดในคนได้แล้ว และเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ดร.เวบสเตอร์มีโอกาสเสนอรายงานแก่นายกรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียนในหัวข้อที่ว่า จะทำอย่างไรเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัส H5N1 หรือเชื้อไข้หวัดนก แต่ถึงวันนี้เขากลับบอกว่า "การแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดนกเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไปไม่ได้แล้ว ฉะนั้นสิ่งเดียวที่ทำได้คือปล่อยให้มันพัดผ่านไป"

 

ไวรัส H5N1 มีศักยภาพมากมายที่จะขึ้นมาเป็นโรคระบาดชนิดใหม่แทนไวรัสตัวอื่นๆ และแม้ไข้หวัดชนิด A จะเกิดจากไวรัสธรรมดา แต่มันก็ทำให้คิดได้ว่า สักวันหนึ่ง ไวรัสชนิดนี้ก็อาจจะสามารถปรับตัวเองและสร้างอันตรายให้แก่ชีวิตมนุษย์ได้เหมือนกับไวรัสตัวอื่นๆ ที่ต้องการอาหารจากเซลล์ที่มันเข้าไปทำลายด้วยเช่นกัน

 

การดัดแปลงตัวของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จะเกิดขึ้นได้เมื่อยีน 8 ตัว ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกันมาจับตัวกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า สายเกลียวของยีน แล้วยีนเหล่านี้ก็จะสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่จะมีเพียงไวรัสที่ต่างกัน 2 ตัวเท่านั้นที่จะสามารถมาเจอกันในเซลล์เดียวกันได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เป็นไปยากมากด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามในสิ่งมีชีวิตเป็นล้านหน่วย ไม่ว่าจะเป็นคน ไก่ หรือ หมู ต่างมีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสหวัดทั้งที่มาจากคนและจากนกได้เหมือนกัน

 

การข้ามสายพันธุ์ของยีนที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า 'รีแอสสอร์ทเมนต์' (reassortment) หรือการคัดเลือกสายพันธุ์ ซึ่งเมื่อทศวรรษ 1960 ดร.เวบสเตอร์ได้ตั้งสมมติฐานว่า น่าจะมีบางสิ่งที่คล้ายกับกระบวนการการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ยังไม่มีใครศึกษา และให้คำอธิบายการทำงานที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับไวรัสหวัดในมนุษย์

 

และนี่คือทฤษฎีสำคัญที่ ดร.เวบสเตอร์ใช้เวลากว่า 10 ปี เพื่อศึกษาหาคำอธิบายต่อกระบวนการทางจุลชีวะดังกล่าว

 

เขาเริ่มทดสอบสมมติฐานด้วยการผสมซีรั่มเพิ่มแอนตี้บอดี้ที่ได้จากเหยื่อผู้ติดเชื้อไวรัสเอเชี่ยน ฟลูหรือเชื้อไข้หวัดเมื่อปี 2500 เข้ากับเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง เขาก็พบว่าแอนตี้บอดี้จากคนได้ทำลายเชื้อไข้หวัดนกบางส่วน

 

การทดลองนี้จึงทำให้เห็นว่า ไวรัสจากคนนั้นสามารถรวมตัวกับไวรัสจากนกได้ แต่มันเป็นเพียงการทดลองที่อยู่ในกระดาษเท่านั้น และผ่านการทดสอบในห้องทดลองเพียงแค่ครั้งเดียว

 

ส่วนสิ่งที่พบจากการทดลองครั้งนั้นที่สำคัญคือ เขาพบว่ายีนที่อยู่ในเชื้อไข้หวัดนกจะจับกันเป็นเกลียวจากยีน 8 สาย โดยมี 3 สายที่มาจากนกและมียีน 2 สายจากนกที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อไวรัสหวัดที่เรียกว่า hemagglutinin (H) กับ neuraminidase (N) และปรากฎการณ์นี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วที่ฮ่องกงเมื่อปี 2511 เมื่อสายพันธุ์ไวรัสฮ่องกงพบ hemagglutinin (H) จากนกด้วยกระบวนการรีแอสสอร์ทเมนต์ ที่เหมือนกับการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกด้วยเช่นกัน

 

หนทางที่ไวรัสไข้หวัดนกจะปรับตัวเข้ากับไวรัสของคนนั้นจะค่อยๆ กลายพันธุ์ไปอย่างช้าๆ แต่มันก็มีโอกาสที่จะเข้าไปรวมตัวกับไวรัสในคนได้อย่างง่ายดายด้วยการเพิ่มจำนวนไวรัสในอวัยวะที่มันเข้าไปทำลายได้

 

วิวัฒนาการของไวรัสเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเชื้อโรคมีแนวโน้มจะใช้ความบกพร่องจากการคัดลอกยีนส์ของสิ่งมีชีวิต และมันก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ และนั่นย่อมเปิดโอกาสให้ไวรัสข้ามสายพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ได้

 

ด้วยเหตุผลนี้การกำจัดการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดนกจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะป้องกันการระบาดเชื้อไวรัสนี้ในคน เช่นในจีนและอินโดนีเซีย ได้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัส H5N1 ในฟาร์มสัตว์ปีกทั่วประเทศ ส่วนเวียดนามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ทุ่มเงินกว่า 35 ล้านดอลลาร์เพื่อรณรงค์การป้องกันสัตว์ปีกจากเชื้อไวรัสหวัดนกและเร่งฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรค

 

ไดแอน ฮอลส์ นักวิจัยในทีมของ ดร.เวบสเตอร์ ได้ให้ข้อสังเกตที่สำคัญอีกข้อว่า การทดลองที่ผ่านมาพบว่า ยังไม่พบการตายของเป็ดที่ติดเชื้อไวรัส H5N1 ในขณะที่สายพันธุ์ไวรัสนี้ทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมาก นั่นแสดงว่าแม้เราจะจัดการฆ่าไก่ที่ติดเชื้อจนหมดแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคนี้ได้ เพราะไวรัส H5N1 ยังคงมีอยู่ในเป็ดต่อไปได้

 

และจากข้อสังเกตที่ ดร.เวบสเตอร์และ ดร.ฮอลส์ ก็ทำให้เมื่อพฤศจิกายน 2547 ประเทศไทยส่งเจ้าหน้าที่กว่า 70,000 คนเข้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อสืบหาเป็ดที่ป่วยและเก็บตัวอย่างมูลของเป็ดกลับมาที่ห้องทดลอง แล้วก็ฆ่าเป็ดในเล้าที่พบว่าติดเชื้อไข้หวัดนกทันที

 

นอกจากนี้เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยของ ดร.เวบสเตอร์ที่ประจำอยู่ในประเทศจีน ได้แจ้งว่า ฤดูอพยพของนกที่กำลังจะมาถึง กำลังจะพาเชื้อไวรัส H5N1ไปยังอินเดีย ออสเตรเลีย และเอเชียกลาง และจากผลสำรวจนี้ยังระบุด้วยว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปในมองโกเลีย ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยพบเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน และประเทศเหล่านี้ก็ต้องรีบสำรวจตรวจหาเชื้อโรคนี้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท