จ้างงานเร่งด่วนชายแดนใต้

ประชาไท 18 ตุลาคม 2548 ครม.มีมติเห็นชอบในการหลักการของการดำเนินงานโครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2549 ในกรอบการจ้างงาน 42,000 อัตรา


 

นายดนุพร ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯแถลงว่า ครม.มีมติเห็นชอบในการหลักการของการดำเนินงานโครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2549 ในกรอบการจ้างงาน 42,000 อัตรา ตามที่ พล.ต.อ.ชิดชัย รมว..มหาดไทย เสนอ โดยให้พิจารณาตามความพร้อมและสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งทางประธาน กสชต.ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิจารณาหาแนวทางการดำเนินงาน โครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งนายเนวินได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2548 และได้สรุปแบ่งกลุ่มภารกิจการจ้างงานไว้ 5 กลุ่ม

 

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มภารกิจโครงการตามราชสาวนีย์ จำนวน 10,000 อัตรา ซึ่งกำหนดการจ้างงานเริ่มวันที่ 15 ต.ค.2548 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษประสานงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร.เป็นผู้ดำเนินการ

 

กลุ่มสอง เป็นกลุ่มภารกิจโครงการช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเยียวยา จำนวน 2,300 อัตรา เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2548 ซึ่ง ครม. มีข้อเสนอว่าอาจจะบรรจุกลุ่มนี้เข้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในอนาคตต่อไป

      

กลุ่มสาม เป็นกลุ่มภารกิจโครงสร้างเสริมสร้างสันติสุขในชุมชนจำนวน 11,810 อัตรา เริ่มดำเนินตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2548

 

กลุ่มสี่ เป็นกลุ่มภารกิจพัฒนาอาชีพ ตามความต้องการประชาชน จำนวน 10,000 อัตรา กลุ่มนี้ต้องอบรมก่อน

 

กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มสำรองไว้เพื่อความจำเป็นเร่งด่วน จำนวน 7,890 อัตรา ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะไปอยู่ในส่วนไหน

 

ส่วนอัตราค่าจ้าง ได้กำหนดไว้ว่า คนละ 4,500 บาทต่อเดือน หรือวันละประมาณ 150 บาท โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลและการจ้างงานในระดับจังหวัด โดยให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบด้วยการสนับสนุนกำลังคน และงบประมาณ จาก กอ.สสส.จชต. และจัดทำฐานข้อมูลในการจ้างงานในภาพรวมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา และกำหนดให้มีการประเมินผลทุก 4 เดือนให้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทราบต่อไป

      

นายดนุพร แถลงด้วยว่า นายกฯ ยังได้มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ในการที่จะจ้างงานหรือฝึกอบรมทั้ง 42,000 อัตรา ควรจะให้ทุกคนได้มีสมาร์ทการ์ด เพื่อจะได้สำหรับเก็บข้อมูลสำหรับประชาชนในพื้นที่ในคราวเดียวกัน จะได้ไม่เป็นการทำงานซ้ำซ้อน และทำให้การเก็บข้อมูลนั้นทำได้รวดเร็วขึ้น

      

 สำหรับงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ทั้งสิ้น 2,294 ล้านบาท แบ่งเป็น งบค่าจ้าง 2,079 ล้านบาท งบฝึกอบรม 189 ล้านบาท งบบริหารจัดการ 20 ล้านบาท และงบติดตามประเมินผล 6 ล้านบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท