รายงานพิเศษ : ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติ...น่ากลัวกว่าที่คิด!!

ผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอรายงานชิ้นนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 14:59 น. ประชาไทเห็นความสำคัญถึงผลกระทบที่จะตามมาจึงขอนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง


 

…………………………………..

หลังเจอเสียงทักท้วงวิพากษ์วิจารณ์ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติฯ อย่างหนัก ว่าเป็นความพยายามปิดปากการทำโพลล์ หลังปิดปากสื่อมวลชน ส่งผลให้วิปรัฐบาลที่เป็นโต้โผเรื่องนี้ ต้องดึงเรื่องไว้ก่อนไม่กล้าเสนอให้สภาฯ พิจารณาเมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า...ความน่าห่วงของร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติฯ ของรัฐบาล ไม่ได้อยู่แค่มาตรา 9 ที่กระทบเสรีภาพทางวิชาการเท่านั้น ยังมีอีกหลายจุดที่เป็นช่องโหว่ร้ายแรง

 

กลายเป็นข่าวโด่งดังเมื่อวิปรัฐบาลต้องการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ.2508 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน เหตุที่ทำให้ผู้คนสนใจและผูกโยงเรื่องนี้เข้ากับความพยายามปิดปากสื่อของรัฐบาลชุดนี้ ก็เพราะบางตราในร่างแก้ไขกฎหมายสถิติดังกล่าว มีถ้อยความที่สะท้อนชัดเจนว่า หากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดต้องการทำสำรวจวิจัยเชิงสถิติ ซึ่งหมายรวมถึงการทำโพลต่างๆ ต้องแจ้งให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทราบก่อนล่วงหน้า 5 วัน การกำหนดเช่นนี้หลายฝ่ายมองว่า ไม่ได้ต่างไปจากการปิดปากโพลล์และรวมศูนย์อำนาจการทำโพลล์ไว้ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายดังกล่าวหนักไปถึงขั้นว่า รัฐบาลปิดปากสื่อมวลชนที่เห็นแย้ง ยังไม่พอ ต้องปิดปากโพลล์สำนักต่างๆ เพื่อไม่ให้สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลอีก ทำเช่นนี้จะเกินไปหรือเปล่า?

 

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน ชี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวน่าจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 42 เพราะบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในทางวิชาการ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับเป็นการแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการ เพราะมาตรา 9 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า ให้หน่วยงานของรัฐ ที่จะการสำรวจสถิติต้องส่งเรื่องให้สำนักงานสถิติฯ ตรวจสอบก่อน 5 วัน ซึ่งเท่ากับเป็นการพรีเซ็นเซอร์ และเป็นการให้สำนักงานสถิติฯ เป็นศูนย์กลางในการควบคุมการสำรวจวิจัยทั้งหมด

 

ขณะที่ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย บอก พรรคฯ ขอคัดค้านเต็มที่ เพราะการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการทำงานของภาครัฐ คือ กระจกเงาบานใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือภาครัฐ ทำให้ได้รู้ว่าประชาชนคิดอย่างไรต่อการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ตนจึงไม่อยากเห็นรัฐทำลายกระจกเงาบานใหญ่บานนี้ เพียงเพราะกระจกได้สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของรัฐในทางที่รัฐไม่สามารถที่จะรับได้ จึงปฏิเสธกระจกและทุบกระจก

      

อย่างไรก็ตามทางฟากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นวิปรัฐบาล หรือโฆษกรัฐบาล ต่างออกมาประสานเสียงยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ต้องการรวมศูนย์อำนาจหรือปิดปากการทำโพลล์ แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และเพื่อให้มีการรวบรวมข้อมูลการทำสถิติไว้ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ และว่า ถึงแม้หน่วยงานใดไม่แจ้งสำนักงานสถิติฯ ล่วงหน้า 5 วัน ก็ไม่ได้มีโทษแต่อย่างใด

      

แม้จะไม่สามารถติดต่อผู้รับผิดชอบการทำโพลล์ของหน่วยงานรัฐที่มีชื่อเสียงอย่างสวนดุสิตโพลล์ได้ลองไปฟังมุมมองของผู้ทำโพลล์จากสถาบันการศึกษาเอกชนกันว่า จะรู้สึกอย่างไรต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติฯ ฉบับนี้ แม้จะชัดเจนว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมมามีผลบังคับกับหน่วยงานเอกชนก็ตาม

 

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บอกว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติฯ ที่วิปรัฐบาลเสนอ มีความน่าห่วงหลายประเด็น ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 9 ที่หลายๆ ฝ่ายเป็นห่วง และว่า เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลยกประกอบการแก้ไขกฎหมายสถิติฯ ก็คือ เพื่อให้การทำโพลของหน่วยงานต่างๆ มีมาตรฐาน ซึ่งส่วนตัวแล้ว อาจารย์นพดล ยืนยันว่า เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น แม้รัฐบาลจะบอกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลครอบคลุมถึงการทำโพลของหน่วยงานเอกชนก็ตาม

      

"ณ ขณะนี้ไม่รวมถึงภาคเอกชน ถามว่า แล้วเขียนออกมาทำไม ไม่รวมถึงภาคเอกชน หรือจะไปเขียนคลุมถึงภาคเอกชน ก็ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาอยู่ตรงนี้ว่า สาเหตุที่ต้องปรับปรุง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมา พูดถึงเรื่องการทำโพลล์ขึ้นมา เขาบอกว่า เป็นเพราะว่า ณ เวลานี้ การทำโพลล์การทำวิจัยมันมีหลากหลายมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง เขาต้องการให้มันออกมาเป็นมาตรฐานเดียว และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงจำเป็นที่จะต้องส่งมาที่ส่วนกลาง คือ สำนักงานสถิติฯ ซึ่งถ้ายกเหตุผลนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลในการแก้ไข แล้วหน่วยงานเอกชนที่ทำโพลออกมา แล้วเขาบอกว่า สังคมก็เชื่อด้วย สังคมเชื่อ เลยทำให้เกิดปัญหา

 

"ผมก็คิดว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ หน่วยงานเอกชนเขาก็ทำโพลมา แล้วหลากหลายมาตรฐานเหมือนกัน แล้วออกไป สังคมส่วนหนึ่งก็เชื่อด้วยเหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นแล้ว พ.ร.บ.ตัวนี้จะแก้ไขอะไรยังไงได้บ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องของมาตรฐาน พอยกเหตุผลนี้ ในส่วนตัวผมว่ามันฟังไม่ขึ้น เพราะว่า เรื่องของการทำโพล และการทำวิจัย มันมีหลากหลายมาตรฐาน มีหลากหลายระเบียบวิธี หลากหลายวัตถุประสงค์กัน มันไม่จำเป็นว่าจะต้องได้ผลออกมาเหมือนกัน คนๆ เดียวกัน ทำระเบียบวิธีเหมือนกัน แต่สุดท้ายได้ผลออกมา ก็แตกต่างกันไปอีก มันก็เกิดขึ้นได้ มันไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด

 

"และคนที่สำนักงานสถิติแห่งชาติที่เก่งๆ กันก็ย่อมจะรู้ดีว่า มันมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในงานวิจัยทุกโครงการ และทุกหน่วยงานที่ทำวิจัยก็เจอความผิดพลาดตลอด...แต่สิ่งสำคัญที่สุดจำเป็นที่จะต้องระบุไว้ให้ได้ว่า ในโครงการวิจัยแต่ละโครงการมันผิดพลาดไปเท่าไหร่มากกว่า เพราะไม่มีใครจะทำวิจัยโดยไม่ผิดพลาดเลย ไม่มีโดยเด็ดขาด ผมกล้ายืนยัน

 

"ดังนั้นการที่จะบอกว่า ถ้าพูดกันค่อนข้างไปในทางภาษาทั่วๆ ไป คือ จะให้คนที่ตาบอดไปจูงคนตาบอดเนี่ย มันไม่ได้ ควรที่จะให้คนที่พบกับความผิดพลาดของตัวเอง ก็ต้องช่วยกันไปแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน มาช่วยกันดูว่า ทำยังไงให้มันลดทอนความผิดพลาดนั้นลงไปให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นนี่คืองานวิชาการ นี่คือคำพูดทางวิชาการ

 

"ดังนั้น พ.ร.บ.สถิติ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่อง พ.ร.บ.ทางวิชาการ เมื่อเป็น พ.ร.บ.ทางวิชาการแล้ว มันจึงแตกต่างจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ร.บ.ในเรื่องความไม่สงบ เรื่องความมั่นคงของประเทศ พ.ร.บ.สถิติเป็น พ.ร.บ.ทางวิชาการ กฎหมายโดยส่วนใหญ่ของมาตราจำเป็นที่จะต้องเน้นไปที่การสร้างสรรค์ส่งเสริมเครือข่ายงานวิจัยมากกว่า"

      

นอกจากมาตรา 9 ของร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติฯ ที่กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการแล้ว อาจารย์นพดล ยังแสดงความเป็นห่วงกรณีที่กฎหมายสถิติฉบับแก้ไขมีการบังคับและเอาโทษประชาชนที่ให้ข้อมูลเท็จในการทำสำมะโน ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม โดยกำหนดบทลงโทษหนักกว่าต่างประเทศด้วยซ้ำ

      

"เรื่องของการบังคับให้ประชาชนตอบ การบังคับให้ประชาชนตอบตามกฎหมายเนี่ย มันก็เหมือนกับต่างประเทศ ต่างประเทศก็บังคับให้ประชาชนตอบเหมือนกัน ถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ตอบ แต่การปรับในร่างกฎหมายใหม่นี้จะสูงกว่าที่สหรัฐฯ ด้วย ที่สหรัฐฯ เขาจะปรับประมาณ 100 เหรียญฯ แต่ของเราปรับสูงสุดก็คือ 5,000 บาท (ถ้าผู้ใดไม่ให้ข้อมูล ไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท) ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่สหรัฐฯ ปรับ

 

"เพราะฉะนั้นปัญหาที่ตามมาคือ ถ้าหากว่ามีการเอาผิดถึงขั้นสูงสุด ผมก็ไม่แน่ใจว่า ชาวบ้านจะเดือดร้อนขนาดไหน ประเด็นที่ 2 คือ ถ้าให้ข้อมูลเท็จ ก็จะโดนปรับ และอาจจะโดนจำคุกด้วย ซึ่งการให้ข้อมูลเท็จ ร่างกฎหมายใหม่ไม่เปิดช่องไว้เลย (มาตรา 20 ถ้าผู้ใดให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท) แต่ว่า ในกฎหมายต่างประเทศที่สหรัฐฯ เวลาทำสำมะโน เขาจะบอกว่า ถ้าหากว่า ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ให้ไปมันเป็นเท็จ ก็ไม่สามารถที่จะเอาผิดได้ คือถ้าให้ข้อมูลที่เป็นเท็จโดยเจตนาจะปกปิด อันนั้นสามารถดำเนินการเอาผิดได้

 

"แต่ในร่างกฎหมายใหม่ของเรา บอกว่า ถ้าให้ข้อมูลเป็นเท็จก็คือ อาจจะโดนปรับเลย คือจะมีโทษเลย ไม่ได้เปิดช่องว่า ถ้าเกิดคนที่ให้ข้อมูลเขาไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาให้ไปมันเป็นจริง-เป็นเท็จ เพราะในขั้นตอนการทำสำมะโน เวลาที่เขาไปถึง นึกถึงบรรยากาศการขอข้อมูลของพนักงานทำสำมะโนกับชาวบ้าน บางทีผู้ให้ข้อมูลก็ให้ข้อมูลโดยคิดว่ามันเป็นความจริง แต่สุดท้ายแล้วเขาอาจจะให้อะไรบางอย่างที่มันไม่จริงก็ได้ เพราะเขาไม่รู้ ในร่างกฎหมายใหม่บอกว่า ต้องเป็นจริงอย่างเดียวเลย คือถ้าให้ข้อมูลเป็นเท็จก็มีความผิด ซึ่งผมชี้ให้เห็นว่า ร่าง กม.ใหม่อันนี้เป็นช่องว่างอยู่ ช่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุงก่อน"

      

นอกจากเรื่องบทลงโทษประชาชนที่ให้ข้อมูลเท็จของร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติ จะไม่เปิดช่องสำหรับประชาชนที่ไม่เจตนาแจ้งข้อมูลเท็จแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับเปิดช่องในสิ่งที่ไม่ควร เช่น การเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของแต่ละบุคคลหรือบริษัทต่างๆ จากการทำสำมะโน ทั้งที่ควรเป็นความลับ ซึ่งแม้แต่ต่างประเทศก็ไม่มีใครเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ได้

      

"การปกปิดความลับที่ได้จากการทำสำมะโน ซึ่งการสำมะโนเนี่ย ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นการทำสำมะโนในระดับครัวเรือนเท่านั้น แต่จริงๆ ไม่ใช่ ระดับครัวเรือนคือ พนักงานของการทำสำมะโนจะลงไปที่ตามบ้านแต่ละบ้าน ไปถามคนในบ้านว่า มีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีข้าวของเครื่องใช้เป็นอย่างไรบ้าง คือ จะนับเลยว่า มีโทรทัศน์กี่เครื่อง มีโทรศัพท์หรือไม่ ถ้ามี มีกี่เครื่อง มีตู้เย็นกี่หลัง มีรถกี่คัน อันนี้ก็คือไปตามครัวเรือน แ

 

"ต่ที่ผมเป็นห่วงคือ การทำสำมะโนกับภาคธุรกิจที่จะต้องเข้าไปเหมือนกับเป็นข้อมูลความลับของธุรกิจแต่ละประเภทเลย และกฎหมายนี้ก็บอกว่า ถ้าหากว่า ให้ข้อมูลเป็นเท็จ เขาไม่เปิดกว้างด้วยว่า ให้ข้อมูลเป็นเท็จ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า เป็นเท็จ ซึ่งร่าง กม.ใหม่บอกว่า ถ้าให้ข้อมูลเป็นเท็จ ก็จะมีความผิดแล้ว ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาคือ ถ้าไปทำสำมะโนภาคธุรกิจ เป็นรายเฉพาะภาค คือ แต่ละบริษัทให้ข้อมูลมา แล้วพอมาตรวจสอบ พบว่าให้เป็นเท็จ ก็มีความผิดเลย ซึ่งจำเป็นต้องแก้ แก้ตัวเรื่องการบังคับให้ข้อมูล และหลังจากนั้นก็ต้องไปแก้ในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลด้วย เพราะร่าง พ.ร.บ.ใหม่ (มาตรา 16) เปิดช่องทางไว้ให้สามารถเปิดเผยข้อมูลที่เก็บมาจากภาคธุรกิจ เก็บมาจากการทำสำมะโนเป็นรายบุคคลได้ เป็นรายครัวเรือนได้ เป็นรายบริษัทได้ มีอยู่ 3 ประเด็นด้วยกันที่เขาเปิดช่องไว้ แต่ในต่างประเทศ ในสหรัฐฯ บอกว่า ไม่มีใครเลยที่จะสามารถเปิดเผยข้อมูลที่เก็บมาจากสำมะโนว่า สำมะโนนี้เป็นของใคร เป็นรายบุคคล เป็นครัวเรือนหลังใด หรือเป็นธุรกิจของใคร หรือเป็นธุรกิจเป็นรายใด ไม่สามารถเปิดเผยได้เลย ซึ่งผมคิดว่า อันนี้เป็นช่องโหว่ช่องว่าง อาจจะทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลในเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ และจะส่งผลเสียต่อเจ้าของกิจการต่างๆ เหล่านั้นได้"

      

อาจารย์นพดล ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากที่รัฐบาลบอกว่า ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติฯ ฉบับนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2545 เป็นเรื่องจริง ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับที่มีตำรวจ-ทหารเข้าตรวจสอบการทำโพลของสำนักวิจัยเอแบคโพลในปีเดียวกัน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.สถิติครั้งนี้ มีอะไรแฝงเร้นอยู่หรือไม่

      

"มันก็เหมือนกับแนวคิดของคนที่เข้ามาแทรกแซงตอนที่เอแบคโพลล์โดน ที่มีทหารตำรวจเข้ามา แล้วมาขอตรวจค้นดูระเบียบ มาขอเอาแบบสอบถามไปดูทั้งหมด ตอนนั้นเขาบอกว่า ถ้าเอแบคโพลจะทำอะไร ต้องแจ้งเขาก่อนนะ ช่วยบอกเขาก่อนได้มั้ยว่า จะทำเรื่องอะไร พอทำเสร็จแล้ว ขอดูก่อนได้มั้ย ก็คอนเซ็ปท์แนวคิดแนวเดียวกันเลย แล้วผมก็เพิ่งมาทราบว่า ความจริง พ.ร.บ.สถิติเนี่ย ผ่าน ครม.ตั้งแต่เมื่อปี 2545 ซึ่งเป็นปีไล่เลี่ยกับที่เขาเข้ามาตรวจค้นสำนักวิจัยของเรา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า มันมีอะไรเคลือบแคลงอยู่แฝงเร้นอยู่ข้างในหรือเปล่า ก็เลยทำให้ผมมีความคิดว่า ถ้าเกิดแทรกแซงโดยมี พ.ร.บ.มีกฎหมายรับรอง มันก็เป็นการแทรกแซงโดยมีการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ที่จะแทรกแซงได้"

      

อาจารย์นพดล เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเอแบคโพลล์สำรวจความเห็นประชาชนที่มีต่อภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งพบว่า นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ภาพลักษณ์ลดลง 2-3% เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลดลง 5-10% ซึ่งก็ไม่ได้มากจนเกินไป แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากเจ้าหน้าที่นำข้อมูลดิบการสำรวจของเอแบคโพลไปแล้ว ได้นำไปวิเคราะห์ใหม่และแถลงข่าวใหม่ว่า ภาพลักษณ์นายกฯ และรัฐมนตรีดีขึ้น!!?

      

อาจารย์นพดล ยังทิ้งท้ายด้วยว่า หากที่สุดแล้วร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถิติ ถูกนำมาบังคับใช้โดยไม่ได้มีการแก้ไขให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ส่งผลให้เกิดการปิดกั้นการทำโพลล์แล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับการปิดกั้นเสียงของประชาชน ปิดโอกาสของประชาชนทุกชนชั้น เพราะโพลล์เปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นได้แสดงความคิดเห็น หากโพลล์ถูกปิดกั้น ก็จะเหลือเพียงแค่สื่อ และประชาชนที่จะมีโอกาสแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ก็มีเพียงไม่กี่คน อาจจะมีชนชั้นนำบ้าง ชนชั้นล่างบ้าง แล้วแต่บรรณาธิการข่าวจะกำหนด หรืออาจจะมีใบสั่งทางการเมืองให้สัมภาษณ์คนนั้นคนนี้ หากรัฐบาลต้องการเช่นนั้น อาจารย์นพดล ก็ฝากถามไปถึงรัฐบาลว่า ถ้าบอกว่า โพลล์ชี้นำสังคม แล้วการปิดปากโพลล์-ปล่อยให้ชนชั้นนำหรือคนไม่กี่คนเท่านั้นที่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นในบ้านเมือง จะยิ่งไม่เป็นการชี้นำสังคมมากกว่าหรือ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท