ศาลฎีกาสั่งโอนคดี 78 ศพตากใบไปสงขลา



ประชาไท 20 ตุลาคม 2548 ศาลฎีกามีคำสั่ง โอนคดีชันสูตรพลิกศพม็อบตากใบที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว 78 ศพ จากศาลปัตตานีไปไต่สวนที่ศาลสงขลา ตามที่อัยการยื่นคำร้องเพราะหวั่นความปลอดภัยพยาน เกรงขัดขวางการพิจารณา ญาติผู้ตายโวยเพิ่มภาระค่าใช่จ่ายในการเดินทางขึ้นศาล


เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 20 ตุลาคม 2458 ที่ห้องพิจารณาคดี 3 ศาลจังหวัดปัตตานีได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาให้โอนคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างการขนย้าย 78 รายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปพิจารณาที่ศาลจังหวัดสงขลา โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่า ศาลได้พิเคราะห์ตามลักษณะของคดี จำนวนผู้ที่เกี่ยวข้อง และเหตุการณ์ในพื้นที่แล้ว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่อาจมีการขัดขวางต่อการพิจารณา หรือน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายอย่างอื่นขึ้น


ศุนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยคำให้สัมภาษณ์ของญาติผู้เสียชีวิตจากอำเภอตากใบรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ร้องคัดค้านในคดีดังกล่าว หลังจากฟังคำสั่งศาลว่า แม้ว่าจะไม่ได้โอนคดีได้กรุงเทพตามที่อัยการต้องการ แต่การโอนไปที่จังหวัดสงขลาก็สร้างภาระให้กับเธอและเพื่อนบ้านที่เป็นญาติผู้เสียชีวิตในการเดินทางมาฟังการพิจารณาของศาลมากเช่นกัน

"จากเดิมที่เราเหมารถมาจาก อ.ตากใบมาศาลที่ปัตตานีเสียวันละพันกว่าบาท แต่ถ้าไปถึงสงขลาคงเกือบสามพัน ไม่รู้เหมือนกันว่าคนอื่นๆ เขาจะคิดกันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ค่าใช้จ่ายเราจะมากขึ้นแน่กว่าเรื่องจะจบในศาล" เธอกล่าว


มารดาผู้เสียชีวิตอีกราย กล่าวเสริมว่า การเดินทางมาศาลจังหวัดปัตตานีในวันที่มีนัดตอนเช้า จะต้องออกจากบ้านราว 6 โมงเช้า และอาจจะกลับไม่เย็นนัก แต่ถ้าหากมาถึงสงขลาก็อาจต้องออกเช้ากว่าเดิม และอาจกลับมาถึงบ้านเวลาค่ำ หากพิจารณาคดีกันถึงเย็น แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องความปลอดภัยในระหว่างการเดินทางที่ไม่มีการรับประกันภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน


"วิ่งรถในเวลาเช้าๆ หรือตอนค่ำๆ จะต้องระวังตะปูเรือใบด้วย ยิ่งกลางคืนไม่รู้ว่าใครจะกล้าเดินทางบ้าง คงไม่มีใครอยากมาขึ้นศาล"


เธอยังกล่าวว่า แม้จะย้ายไปพิจารณาที่สงขลา แต่ส่วนตัวเธอยังกล่าวหนักแน่นว่าจะไปฟังการไต่สวนคดีนี้ทุกครั้ง เพราะอยากรู้ว่าบุตรชายที่เสียชีวิตไป ไม่ได้เป็นคนผิดตามคำร้องของอัยการ และต้องการรู้ว่าบุตรชายถูกกระทำอย่างไร ถ้าเป็นไปได้ยังอยากให้นำคนที่กระทำความผิดมาลงโทษ

"ถ้าเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ทำกับลูกชายเราได้ แม้ว่าจะต้องเสียเวลาเสียเงินมาขึ้นศาลเท่าไหร่ ก็คุ้มนะ"

ด้านทนายความที่ร่วมรับผิดชอบคดีดังกล่าวรายหนึ่งบอกว่า แม้ว่าฝ่ายทนายความจะไม่มีข้อจำกัดในการทำคดีในศาลจังหวัดสงขลา แต่มองว่าเหตุผลในการขอโอนคดีนี้ไม่มีน้ำหนักและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะตั้งแต่มีสถานการณ์ความไม่สงบมาในรอบ 2 ปี ไม่ปรากฏว่าจะมีการขัดขวางการพิจารณาคดีในชั้นศาลแต่อย่างใด


"ทนายคงไม่ลำบากมากเพราะเรามีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีการประสานงานประจำพื้นที่ แม้ว่าจะไม่มีเครือข่ายทนายความที่สงขลาก็ไม่ลำบากมาก แต่ที่หนักคือชาวบ้านกับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง" เขากล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งศาลฎีกาที่ออกมาให้โอนมาที่ศาลจังหวัดสงขลา ในขณะที่คำร้องขอโอนคดีไปที่กรุงเทพฯ อาจเป็นเพราะศาลเห็นสมควรเพียงเท่านี้ ทั้งนี้เห็นว่าการที่อัยการทำคำร้องขอโอนคดีนั้น อาจเป็นเพราะต้องการลดกระแสแรงกดดันในพื้นที่ต่อการทำคดีของเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนทั่วไป และพยานในคดี

นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้กับคดีอาญาที่ยื่นฟ้องต่อผู้ชุมนุม 60 คนที่ศาลนราธิวาสเหมือนกัน พยานหลักฐานของทั้งสองคดีอาจเป็นชุดเดียวกัน ซึ่งพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวมีอยู่เกือบ 2 พันรายการ โดยเฉพาะพยานบุคคลที่ล้วนมีภูมิลำเนาอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แทบทั้งหมด แต่ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการไม่ได้ส่งบัญชีพยานในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพให้ศาลพิจารณาด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ แต่หากยื่นบัญชีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาลมาก

ขณะที่นายรัษฎา มนูรัษฎา ที่ปรึกษาคณะทำงานในคดีดังกล่าวจากสภาทนายความ กล่าวว่า ต้องถือว่าการที่ประชาชนเดินเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีหลักนิติธรรม เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบ ดังนั้น เราควรสนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมของชาวบ้านในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะในฐานะใดก็ตามแต่ เช่น มารับรู้ มาร่วมไต่สวน เพื่อให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถให้ความยุติธรรมได้

"แต่ถ้าหากชาวบ้านคิดว่าการพิจารณาคดีอยู่ไกล การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมก็ยากขึ้นตามไปด้วย"

เขายังระบุว่า ญาติผู้เสียชีวิตเองก็มีสิทธิตามกฎหมายเต็มที่ที่จะนำพยานของตนเข้าร่วมไต่สวนถึงสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิต แต่ถ้าหากไม่เกิดความสะดวกในการเข้าสู่การพิจารณาของศาล หากมีความลำบากและต้องเดินทางไกล พยานบางคนอาจไม่อยากเข้าร่วม การอำนวยความยุติธรรมก็อาจจะลดน้อยลง

ก่อนหน้านี้ พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ผู้ร้องในคดีดังกล่าวได้ทำคำร้องยื่นต่อศาล ลงวันที่ 22 เม.ย.2548 เพื่อขอให้ประธานศาลฎีกาโอนคดีดังกล่าวไปยังศาลอาญาหรือศาลภายในเขตกรุงเทพฯ โดยคำร้องดังกล่าวระบุถึงเหตุผลว่า คดีดังกล่าวลักษณะของความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรและความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน

คำร้องระบุว่าผู้กระทำผิดที่ร่วมชุมนุมกับผู้ตายมีจำนวนรวม 1,298 คน ซึ่งโดยความรู้สึกของประชาชนสวนมากในท้องถิ่นและญาติพี่น้องของผู้ตาย รวมถึงเหตุผลด้านด้านความมั่นคงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานอัยการจึงเห็นว่าการพิจารณาที่ศาลจังหวัดปัตตานีอาจมีการขัดขวางต่อการพิจารณาและน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายแรงอื่นขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ทางญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นคำร้องคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้เป็นคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ไม่ใช่คดีที่มีลักษณะความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบสุขตามที่อัยการอ้าง เพราะผู้ชุมนุมได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังให้เหตุผลคัดค้านว่าการชุมนุมในครั้งนั้นไม่ปรากฏว่ามีสิ่งที่น่ารังเกียจ หากแต่หลังจากเกิดเหตุแล้ว ต่างมีผุ้ที่ให้ความเห็นอกเห็นใจแก่ญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ ในขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ได้แสดงความรับผิดชอบโดยการจ่ายเงินเยียวยาอีกด้วย


ญาติผู้ร้องคัดค้าน ยังให้เหตุผลอีกว่า การกังวลว่าจะเกิดการขัดขวางต่อการพิจารณาคดีและเกิดความไม่สงบสุขตามคำขอของอัยการนั้น เป็นเพียงเหตุแห่งความกลัวที่คิดเอาเอง โดยไม่มีข้อเท็จจริงมาสนับสนุน เนื่องจากคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพเช่นเดียวกับคดีนี้ ต่างก็พิจารณาในศาลของพื้นที่นั้นๆ ทั้งสิ้น โดยไม่เคยเกิดเหตุดังที่ทางอัยการกังวลแต่อย่างใด เช่น คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดปัตตานี ยะลา และสงขลา ในกรณีเหตุปะทะในวันที่ 28 เมษายน 2547 ซึ่งเกิดขึ้นกว่า 10 จุด เป็นต้น


นอกจากนี้ คำร้องคัดค้านยังระบุว่า การโอนการพิจารณาคดีดังกล่าวจะสร้างภาระและความยากลำบากแก่ญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องการเข้าฟังการพิจารณาเกินความจำเป็น เพราะญาติของผู้เสียชีวิต ทนายความผู้ร้องคัดค้าน พยานของทั้งฝ่ายอัยการและฝ่ายญาติของผู้เสียชีวิตเองต่างก็มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท