Skip to main content
sharethis


 


 


ประชาไทคัดสรร - ผู้จัดการออนไลน์ 21 ตุลาคม 2548 17:52 น. …ยูเนสโกประกาศยกย่อง "พุทธทาสภิกขุ" เป็นบุคคลสำคัญของโลกและร่วมฉลองชาตกาลครบ 100 ปี ในวันที่ 27 พฤษภาคมปีหน้า เตรียมตั้งกรรมการระดับชาติขึ้นจัดงาน ระบุคำสอนจากหนังสือของพุทธทาสได้รับความยอมรับในระดับนานาชาติ


      


นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีมติให้ประกาศยกย่อง พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลสำคัญของโลก และบรรจุการเฉลิมฉลองครบชาตกาล 100 ปี ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ซึ่งรัฐบาลจะได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นโดยอาจมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลอง จัดกิจกรรมวิชาการเผยแพร่หลักธรรมพุทธศาสนาที่พุทธทาสภิกขุได้สั่งสอน ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี พุทธทาสภิกขุ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และลูกศิษย์ของท่าน ซึ่งได้แต่งตั้งไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2548


      


"ความหมายของการเฉลิมฉลองไม่ใช่การจัดมหรสพ แต่หมายถึงการจัดกิจกรรมทางวิชาการ เผยแพร่ข่าวสารข้อมูลการประชุมเสวนา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งในการเผยแผ่หลักธรรมของพุทธทาส ซึ่งก็คือหลักธรรมของพุทธศาสนาต่อประชาชนทั่วไปด้วย" นายจาตุรนต์ กล่าว และว่าพุทธทาสภิกขุ นับเป็นคนไทยลำดับที่ 18 ที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วย


      


ด้าน นายสันติสุข โสภณศิริ กรรมการมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งเป็นองค์กรที่ผลักดันให้มีการเสนอชื่อต่อองค์การยูเนสโกครั้งนี้ เปิดเผยประวัติโดยสังเขปว่าพุทธทาสภิกขุ เดิมชื่อว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2449 ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ในครอบครัวค้าขายของชำ เป็นบุตรของนายเซี้ยงและนางเคลื่อน พานิช ที่หมู่บ้านกลาง ตำบลพุมเรียง ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นที่ตั้งของจังหวัดไชยา ปัจจุบันคืออำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศึกษาระดับสูงสุดถึง ม.3 จากนั้นบวชเป็นพระที่วัดโพธาราม ไชยา เมื่ออายุ 20 ปี ได้รับฉายาว่า "อินทปัญโญ" แปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ และไม่ได้สึกอีกเลย


      


"หลังจากศึกษาธรรมะจนถึงระดับหนึ่ง ทำให้ท่านมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาที่สอนที่ปฏิบัติกันในเวลานั้นคลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับไปไชยาเพื่อศึกษาตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น พร้อมทั้งตั้ง "สวนโมกขพลาราม" ขึ้นเมื่อวันวิสาขบูชา 12 พฤษภาคม 2475 และได้ประกาศใช้ชื่อ "พุทธทาส" เพื่อแสดงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน" นายสันติสุข กล่าว


      


 นายสันติสุข เปิดเผยอีกว่า ท่านได้รับสมณศักดิ์สูงสุดเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมโกศาจารย์ เมื่อปี 2520 ส่วนในระดับนานาชาตินั้น ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาสากลในหลายประเทศล้วนศึกษางานของท่าน มีหนังสือได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน อินโดนีเซีย กว่า 20 เล่ม จากต้นฉบับภาษาไทยทั้งหมด 140 เล่ม


 


ทั้งนี้ พระธรรมโกศาจารย์ หรือท่านพุทธทาส นามเดิมคือ เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี ณ วัดอุบล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2469 โดยมีพระครูโสภณเจตสิการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "อินทปัญโญ" เดินทางศึกษาธรรมต่อที่วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอก และเรียนภาษาบาลีได้เปรียญ 3 ประโยค สร้างสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดตระพังจิก ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2475 ให้ชื่อว่า "สวนโมกขพลาราม" แปลว่าสวนป่าเป็นกำลังหลุดพ้นจากทุกข์ ต่อมาเมื่อปี 2487 ได้ย้ายสวนโมกขพลารามมายังสถานที่แห่งใหม่คือวัดธารน้ำไหลในปัจจุบัน ได้อุทิศตนเพื่องานพระศาสนาและทำงานมุ่งช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้พบสันติสุขตามปณิธานที่ตั้งไว้ มีผลงานทางธรรมไว้มากมาย เช่น หนังสือและเทปบันทึกเสียง ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทำให้ได้รับการนับถือยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศ กระทั่งได้รับการยอมรับจากชาวโลกว่าเป็นสมณปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีบทบาทอย่างสูงต่อพุทธศาสนา พระธรรมโกศาจารย์ มรณภาพเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 สิริอายุ 87 ปี 67 พรรษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net