Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


thumb_dsc004851.jpg


         ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมที่หน้าสภ.อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547พร้อมกับทนายความในคณะทำงานของสภาทนายความยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสดำเนินคดีแพ่งเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจาก กระทรวงกลาโหม, กองทัพบก, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย,กรมการปกครอง และจังหวัดนราธิวาส เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 6 เรียกค่าเสียหายกว่า 18 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตขณะขนย้ายจากที่เกิดเหตุมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จำนวน 78 ราย ก็เตรียมยื่นฟ้องแพ่งต่อศาลจ.ปัตตานี เพื่อเรียกค่าเสียหายอีกรายละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทในวันที่ 25 ตุลาคมนี้


          โดยการฟ้องครั้งนี้แยกเป็น 2 คดีคือ คดีดำหมายเลข 733/2548 นางตีเมาะปะจูกูเส็ง, นายกอเซ็ง ตอรี, นายมะลี มามะ, นายต่วนบือราเฮง มาหะมะเซ็ง และนางรอเม๊าะ บินเจ๊ะและ ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 5 รายร่วมเป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อจำเลยที่ 1-6 ในฐานความผิดละเมิด เรียกร้องค่าเสียหายทั้งสิ้น 5,830,229.94 บาท


        โดยคำฟ้องสรุปว่าการกระทำของจำเลยจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตขณะสลายการชุมนุม โดยจงใจและประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหมดต้องเสียหาย เสียค่าพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นส่วนอื่นๆ รวมทั้งค่าขาดแรงงานคนในครัวเรือน ส่วนอีกคดีหนึ่ง คือ คดีดำหมายเลข 734/2548 ที่มีนายมะรีกี ดอเลาะ และพวกรวม 17 คน เป็นโจทก์ฟ้องต่อกระทรวงกลาโหม, กองทัพบก, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย, กรมการปกครอง และจังหวัดนราธิวาส เป็นจำเลย 1 ถึง 6ในฐานความผิดละเมิด เรียกร้องค่าเสียหายทั้งสิ้น 12,488,279.45 บาท


     โดยในคำฟ้องระบุว่าจำเลยได้ละเมิดต่อโจทก์ทั้งหมดในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการกระทำตามกระบวนการยุติธรรมอาญา ดังนั้น จำเลยทั้ง 6 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชอบตามกฎหมายคดีดังกล่าวมีโจทก์ร่วมกัน 17 คนแต่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบแตกต่างกันบางรายต้องเสียตาและขาขวาไป


        ในขณะที่บางคนอาจเพียงแต่มีทรัพย์สินสูญหายไปในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เท่านั้น การเรียกร้องค่าเสียหายทั้งใน 2 คดีต่างระบุไว้ในสำนวนว่า คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ชำระ แต่เนื่องจากโจทก์เป็นมุสลิมหากศาลสั่งให้จำเลยทั้ง 6 ต้องชดเชยค่าเสียหายให้กับโจทก์ ดอกเบี้ยที่ได้รับ โจทก์ทั้งหมดจะนำไปบริจาคแก่สาธารณะต่อไป


         นายอรรถ บือราเฮง รองประธานสมาคมทนายความ จ.นราธิวาส หนึ่งในคณะทำงานเปิดเผยว่า  การดำเนินการฟ้องจะแบ่งบรรดาโจทก์ได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ญาติที่เสียชีวิตทันทีที่หน้า สภ.อ.ตากใบและรวมทั้งคนที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา จำนวนรวม 7 ราย
ซึ่งในครั้งนี้ญาติของผู้ตายสามารถมาร่วมฟ้องในคดีดำหมายเลข 733/2548 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ 5 ราย กลุ่มที่สอง คือ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัส คนที่ทรัพย์สินสูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งมาร่วมฟ้องในคดีดำหมายเลข 734/2548 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ 17 ราย


        นอกจากนี้ยังมีส่วนที่จะดำเนินการฟ้องอีคดีหนึ่งในวันที่ 25 ต.ค. 2548 คือกลุ่มที่สาม ซึ่งได้แก่ ญาติที่เสียชีวิตในระหว่างขนย้ายจากสภ.อ.ตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร อีก 78 ศพ  ซึ่งจะฟ้องที่ศาลจังหวัดปัตตานี "การฟ้องจะแยกสำนวนฟ้องออกเป็น 3 กลุ่มดังกล่าวโดยคิดค่าสินไหมตามสภาพครอบครัวของญาติของผู้ตาย ผู้ได้รับบาดเจ็บแต่ละคน หากผู้ตายมีแต่แม่ก็อาจเป็นจำนวนหนึ่งในขณะที่หากผู้ตายมีภรรยาและลูกก็อาจจะต้องคิดต่างกัน โดยจะฟ้องต่อ 2 ศาล คือ ผู้เสียชีวิตทันที่ในที่เกิดเหตุและผู้บาดเจ็บจะฟ้องที่ศาลจังหวัดนราธิวาส หากเสียชีวิตขณะขนย้ายจะฟ้องที่ศาลปัตตานีโดยจะมีทนายความในพื้นที่ที่อยู่ในเครือข่ายรับผิดชอบช่วยเหลือ


        นายอรรถ กล่าวอีกว่าระหว่างนี้ยังอยู่ในช่วงการไต่สวนในคดีชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของประชาชน 78 รายในระหว่างการขนย้ายที่ศาลจังหวัดปัตตานีซึ่งยังไม่สิ้นสุดจนกว่าศาลจะมีคำสั่งศาลออกมาถึงสาเหตุการตายในขณะที่การฟ้องทางแพ่งในช่วงเวลานี้ก็เนื่องจากคดีทางแพ่งจะหมดอายุความเมื่อเวลาล่วงเลย 1 ปี จึงต้องฟ้องในช่วงเวลานี้


        กล่าวคือก่อนวันที่ 25 ซึ่งจะครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ตากใบซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าศาลอาจใช้ดุลพินิจชะลอการพิจารณาในทางแพ่งเพื่อรอคำสั่งศาลในคดีชันสูตรพลิกศพ


        "การฟ้องร้องในครั้งนี้ ทางกลุ่มญาติจะขอศาลให้รับคดีอย่างคนอนาถาเนื่องจากฝ่ายโจทก์ต่างไม่มีค่าธรรมเนียมที่จะชำระให้ศาลด้วย"นายอรรถกล่าว


         นายมะรีกี ผู้ได้รับบาดเจ็บขณะขนย้านจนต้องตัดขาขวาทิ้งและมือทั้งสองข้างไม่สามารถใช้การได้ตามปกติกล่าวว่าหลังเกิดเหตุการณ์ได้รับค่าชดเชยจากทางการประมาณ 100,000 บาท ซึ่งทุกวันนี้ เขาไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องให้มารดาช่วยดูแลไม่ทราบว่าในอนาคตจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร เนื่องจากไม่ได้ไปก่อเหตุร้ายเพียงแต่ไปดูเหตุการณ์เท่านั้นจึงอยากให้มีการช่วยเหลือที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต


         ด้านนางรอเมาะ เจ๊ะและ มารดาของนายเปาซี  เจ๊ะมามะ กล่าวว่าทุกวันนี้ยังไม่มีแรงจะทำงานเนื่องจากขาดกำลังหลักที่หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว แม้ว่าที่ผ่านมาเงินที่ได้รับมาจากค่าจัดการศพและเงินเยียวยาก็ใช้ไปในการดำรงชีวิตและเลี้ยงครอบครัวในแต่ละวัน ซึ่งไม่รู้ว่าในอนาคตเมื่อไม่มีกำลังหลักหารายได้ คนในครอบครัวจะอยู่อย่างไร


        "ที่ดินก็มีอยู่ไม่เท่าไหร่ ตอนนี้ก็ไม่มีจิตใจจะทำงานไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป" มารดาผู้สูญเสียบุตรชายในเหตุการณ์ตากใบกล่าว


thumb_dscn1153.jpg


        วันเดียวกันที่ศาลจังหวัดปัตตานี ญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำนวนกว่า 100 คน พร้อมคณะทำงานของสภาทนายความได้เดินทางมาเพื่อยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าสินไหมทดแทน แต่ติดขัดเรื่องเอกสารทำให้ส่งสำนวนต่อศาลไม่ทัน ญาติผู้เสียชีวิตจึงต้องเดินทางกลับบ้านด้วยความผิดหวัง


        ด้านนายรัษฎา มนูรัษฎา ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ สภาทนายความ กล่าวว่า การฟ้องร้องในคดีแพ่งของกลุ่มที่สามหรือกลุ่มญาติที่เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายจะยังไม่ยื่นฟ้อง เนื่องจากมีปัญหาด้านเอกสาร นอกจากนี้มีญาติผู้เสียชีวิตบางรายได้ขอเพิ่มเติมรายชื่อเข้ามาเป็นผู้รับผลประโยชน์ทดแทน ทำให้ขั้นตอนการทำเอกสารใช้เวลานาน อย่างไรก็ตามคาดว่า จะสามารถยื่นฟ้อร้องให้แล้วเสร็จภายได้ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์ดังกล่าวและที่สำคัญเป็นวันที่คดีนี้จะหมดอายุความด้วยเช่นเดียวกัน


        "ขณะนี้กำลังตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด คงจะบอกตัวเลขโดยรวมไม่ได้แต่หากให้เฉลี่ยในแต่ละคนแล้ว คงจะอยู่ราวเลข 7 หลัก" นายรัษฎากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net