Skip to main content
sharethis

ประชาไท—20 ต.ค. 48      กรีนพีซเปิดผลสำรวจพบบริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ หนีปัญหาขยะสิ่งแวดล้อม ยังใช้สารพิษเป็นส่วนประกอบในการผลิต และไม่มีมาตรการเรียกเก็บกำจัดสินค้าหลังหมดอายุการใช้งาน จี้บริษัทต้องตัดไฟแต่ต้นลม วอนพลังต้านจากผู้บริโภคไม่สนับสนุนสินค้าปนเปื้อนสารพิษ


 


หลังจากที่คณะทำงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สำรวจนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก นายกิตติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ฯ ได้ออกแถลงข่าวความคืบหน้า "เปิดโปงบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ ตัวการคุกคามชีวิตและสิ่งแวดล้อม" ที่ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ โดยพบว่าบริษัทชั้นนำส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายหรือระบบใดๆ ในประเทศไทยที่รองรับสินค้าหมดอายุการใช้งานแล้วกลับคืน ทั้งยังพบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากไปหยุดอยู่ที่กระบวนการรีไซเคิล และการกำจัดที่ยังก่อให้เกิดมลพิษ


 


นายกิตติคุณ กล่าวว่า "กรีนพีซได้มีข้อเรียกร้อง 2 ข้อไปยังบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก คือให้หยุดใช้สารเคมีอันตรายในการผลิตสินค้า และให้มีมาตรการนำสินค้ากลับคืนเมื่อหมดอายุการใช้งาน ซึ่งเรามั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างยั่งยืน"


 


ทั้งนี้ กรีนพีซได้เจรจากับบริษัทแม่ที่ผลิตโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เพื่อให้บริษัทเหล่านี้มีหลักการป้องกัน ลด ละ เลิก การใช้สารพิษทุกชนิดในกระบวนการผลิต โดยมีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งให้คำมั่นว่าจะลดเลิกใช้สารอันตราย เช่น ซัมซุง โนเกีย โซนี่ โซนี่อิริคสัน โมโตโรล่า แอลจี เป็นต้น ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจแต่อย่างใด


 


นอกจากนี้ นโยบายการรับสินค้ากลับคืนเมื่อหมดอายุการใช้งานมีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ติดต่อกลับกรีนพีซและยืนยันว่าจะรับสินค้าคืนในประเทศไทย ได้แก่ โนเกีย เดล และเอชพี ส่วนบริษัทอื่นๆ กลับเพิกเฉยไม่ได้ให้คำตอบใดๆ อย่างไรก็ตาม นายกิตติคุณ กล่าวว่า ปริมาณสินค้าที่รับคืนยังมีปริมาณน้อยมาก ทั้งยังมีบางบริษัทที่มีวิธีการกำจัดขยะโดยเข้าโรงหลอมซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายได้


 


"จากการสำรวจตามข้อเรียกร้องของกรีนพีซนั้น ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากไร้การรับผิดชอบ ไม่เห็นความสำคัญและพอใจที่จะทำกำไรเพียงอย่างเดียว จึงต้องมีนโยบายมาบังคับใช้ในประเทศเพื่อให้บริษัทมีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยแม้ขณะนี้ประเทศไทยมีร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการจัดการของเสียจากผลิตภัณฑ์ใช้แล้ว แต่ก็เน้นการรีไซเคิลเพียงอย่างเดียว และยังไม่มีความชัดเจนพอ" นายกิตติคุณ กล่าว


 


นายกิตติคุณ กล่าวย้ำว่า "เรามองว่าผู้บริโภคมีพลังมากสุดที่จะไปเปลี่ยนผู้ผลิตเหล่านี้ เช่นประเทศแถบยุโรปที่ให้ผู้บริโภคเขียนจดหมายเรียกร้องต่อผู้ผลิตโดยตรงเพื่อให้ใช้สารที่ปลอดภัยกว่า ทั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยผู้บริโภคเป็นสำคัญ แต่ก่อนอื่นก็ต้องช่วยกันทำให้ประชาชนทราบถึงอันตรายจากผลกระทบของขยะพิษเหล่านี้ด้วย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net