Skip to main content
sharethis

เรื่องราวต่างๆ ในชุมชน มักเกิดขึ้นและจบลงเหมือนอย่างไม่เคยมีอะไรมาก่อน หากแต่ความสงบเรียบง่ายนั้นกำลังฉาบหน้าปัญหาต่างๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างเงียบๆ มายาวนาน คงเหลือเพียงรอยยิ้มแห้งๆ กับแววตาเศร้าๆ ที่มอบให้กัน อันเนื่องมาจากปัญหาหนี้สินทับถม ขาดที่ดินทำกิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ฯลฯ คงไม่ง่ายนักที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆได้หากรอคอยรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่จนทุกวันนี้ส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐนั่นเอง


 


สิ่งที่จะบรรเทาและพอที่จะเป็นความหวังของเพื่อนผู้ยาก รวมทั้งการจุดประกายให้ชุมชนช่วยกันหาทางออกจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย ข้อต่อที่เชื่อมโยงสู่สังคมภายนอกจึงเป็นสิ่งที่ชุมชนหวังพึ่งพาเมื่อรัฐไม่อาจพึ่งพิงได้ ทั้งนี้เสียงจากชุมชนจะได้รับการสื่อผ่านไปยังคนกลุ่มอื่นในสังคมได้ก็ด้วยกระบอกเสียงของชุมชนนั่นเอง และนี่คือบทบาทหน้าที่อันสำคัญของ "เหยี่ยวข่าวชุมชน"


 


0 0 0


 


เมื่อ 10-13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.พิษณุโลก และโครงการวารสารข่าวทางอินเตอร์เนตประชาไท พร้อมกับเยาวชนอีก 18 ชีวิต ได้ร่วมเดินทางทำกิจกรรมค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ "เหยี่ยวข่าวชุมชน ครั้งที่ 1" ณ บริเวณน้ำตกปอย สวนป่าเขานกกระยาง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก โดยเยาวชนที่เดินทางร่วมกิจกรรมมีทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เยาวชนในพื้นที่ชุมชนภาคเหนือตอนล่าง รวมทั้งเยาวชนชาวปกากะญอ จ.เชียงใหม่


 


แม้การเดินทางจะยาวนานและทำให้หลายคนอ่อนเพลียก็ตาม แต่เมื่อถึงที่พักความกระตือรือร้นก็ปรากฏอยู่ในแววตา เมื่อเสียงน้ำตกปอยกระทบหินผาดังก้องผืนป่าเขานกกระยางแม้จะยังมองไม่เห็นสายน้ำตกก็ตามที ในค่ำวันแรกทุกคนได้ทำความรู้จักกันด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพ


 


ตื่นเช้าวันแรก หลายคนได้เดินไปสัมผัสน้ำตกปอยอันยิ่งใหญ่อลังการ สายน้ำขุ่นเชี่ยวไหลระทบผาหินดังกึกก้อง ละอองน้ำลอยไอขาวฟุ้งทำมุมย้อนแสงอาทิตย์ยามสาย ทุกคนทำให้ได้แต่เพียงยืนมองจ้องน้ำตกกว้างที่กำลังหลากไหลสู่เบื้องล่างอยู่ไกลๆ เมื่อทุกคนเข้าห้องประชุมที่มีผนังเป็นกระจกใสก็สามารถมองเห็นสายน้ำตกด้วยเช่นกัน


 


ช่วงสายตลอดไปจรดเย็น เราอยู่ในห้องประชุมตลอดทั้งวันเพื่อเรียนวิชา "ถอดรหัสทักษิโณมิกส์" โดย รศ.ดร.มาฆะสิริ เชาวกุล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาจารย์มาพูดคุยถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังอธิบายและแสดงความเห็นตามหลักวิชาในนโยบายสำคัญที่เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลชุดปัจจุบันอีกด้วย


 


หลังจากอาจารย์บรรยายจบ น้องขวัญ--ขวัญกมล โปสัยะคุปต์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ปี 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า วันนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของปัญหาทั้งหมดไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้นแต่โครงสร้างยังทำให้ทุกปัญหาเกิดขึ้นด้วย โครงสร้างนั้นก็คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1


 


นอกจากนี้ น้องขวัญยังกล่าวย้ำถึงสิ่งที่ตนเข้าใจว่า "เราต้องไม่มองแค่สิ่งที่เห็นอยู่นี้ แต่เราต้องมองไปไกลกว่านั้น"


 


สำหรับ อาจารย์อัจฉริยา เนตรเชย อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านโดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาตลอด ได้บรรยายในหัวข้อ "เศรษฐกิจชุมชน" ซึ่งอาจารย์ได้มาตีแผ่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจชุมชนของไทย โดยอธิบายปัญหารากเหง้าของระบบทุนนิยมที่ก้าวกระโดดมาจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมจนทำให้ชาวนาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จนเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งปัญหาหนี้สิน ความยากจน การศึกษา การว่างงาน การเข้าไม่ถึงสวัสดิการจากภาครัฐ เป็นต้น


 


อาจารย์อัจฉริยา ชี้แนะว่าในหลายพื้นที่มีเศรษฐกิจชุมชนร่วมกัน เช่น การกลับไปพึ่งพิงเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่พอเพียง  การตั้งกลุ่มต่างๆ เป็นต้น ขณะที่ปัญหาจากนโยบายภาครัฐที่หวังเข้าไปจัดการปัญหา อาทิ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทห่างไกลโรค พักชำระหนี้และฟื้นฟูเกษตรกร เป็นต้น พบว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้ยังไม่สามารถทำให้ชุมชนมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่อย่างใด และในบางพื้นที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้


 


ทั้งนี้ อาจารย์อัจฉริยา มองว่า วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ที่ผุดเป็นโครงการต่างๆ ข้างต้น จึงไม่อาจช่วยเยียวยาแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานปีได้อย่างแท้จริง ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามชุมชนต่างๆ ของประเทศไทย


 


เมื่อจบการบรรยายของอาจารย์ทั้งสองแล้ว ในช่วงกลางคืน อาจารย์รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยให้ความรู้กับเยาวชนชาวค่ายให้ได้รู้จักรูปแบบและวิธีการเขียนงานต่างๆ เช่น ข่าว บทความ สารคดี และรายงานพิเศษ  ทั้งยังแนะนำข้อสังเกตและคุณสมบัติต่างๆ ของงานเขียน เพื่อให้ว่าที่เหยี่ยวข่าวทั้งหลายนำไปใช้ในงานเขียนของตนเมื่อถึงเวลาลงชุมชน ซึ่งทั้งหมดจะต้องออกเดินทางลงพื้นที่ภาคสนามกันในวันรุ่งขึ้น


 


0 0 0


 


เช้าวันต่อมา เราทั้งหมดได้เดินทางไปยังตำบลบ่อโพธิ์ อ.นครไทย เพื่อลงพื้นที่ให้เยาวชนว่าที่เหยี่ยวข่าวเก็บข้อมูลมาเขียนงานในช่วงค่ำ โดยได้แบ่งกลุ่มกระจายกันไปตามบ้านต่างๆ เช่น บ้านลุงม่วง ที่มีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ กลุ่มทอผ้า กลุ่มออมทรัพย์ร้านค้าชุมชน รวมถึงชาวบ้านที่พร้อมในการให้ข้อมูลอีกหลายหลังคาเรือน


 


แม้การลงพื้นที่ในวันนี้แดดจะร้อนระอุ แต่ทุกคนก็แบกความมุ่งมั่นตั้งใจมาเต็มบ่า ต่างหวังที่จะไปทำความรู้จักกับชาวบ้าน ปัญหา ความสำเร็จและเรื่องราวต่างๆ ของตัวตนและชีวิตของชาวบ้าน รวมถึงรับฟังคำบอกเล่าถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้


 


ท่ามกลางนาดำผืนเล็กที่พลิ้วใบเขียวเข้ม มีบ้านเรือนเป็นกลุ่มตั้งเรียงรายอยู่ริมทาง เบื้องหลังเป็นแนวทิวเขาเตี้ยๆ ซึ่งเป็นที่เลี้ยงโคและไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน บนถนนซีเมนต์มีว่าที่เหยี่ยวข่าวบินเป็นหมู่น้อยๆ หยุดบ้านโน้นแวะบ้านนี้เพื่อล่าข้อมูลมาใส่ในงานเขียนของตน


 


ตลอดทั้งวัน พวกเราได้เดินสำรวจไปรอบๆ หมู่บ้าน สังเกตเห็นถึงความเงียบเหงาของหมู่บ้านแห่งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่ชาวบ้านออกไปเก็บข้าวโพดที่ไร่ พวกวัยรุ่นก็เข้าไปหางานทำในเมืองรวมทั้งตั้งหลักปักฐานอยู่ที่กรุงเทพฯเสียเป็นส่วนใหญ่ ในหมู่บ้านจึงเหลือเพียงพ่อเฒ่าแม่แก่และลูกเล็กเด็กแดงตัวน้อยที่ลูกหลานนำมาฝากไว้เท่านั้น ขณะที่ลมหายใจของที่นี่ยังคงติดขัดทั้งเรื่องรายได้ที่ไม่พอจากอาชีพหลัก ทั้งยังหนักอึ้งด้วยภาระหนี้สินแทบทุกหลังคาเรือน


 


ในช่วงค่ำหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว พวกเราได้นั่งสรุปประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชุมชน รวมไปถึงวิถีชีวิต การรวมกันจัดตั้งกลุ่ม ปัญหาด้านการประกอบอาชีพ รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ที่ได้รับรู้จากตำบลบ่อโพธิ์ ซึ่งประเด็นต่างๆล้วนแต่ผูกโยงกับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยว่าที่เหยี่ยวข่าวแต่ละคนมีความสนใจในประเด็นที่แตกต่างหลากหลายกันไป หลังจากพูดคุยกันถึงเรื่องประเด็นและรูปแบบในการนำเสนองานเขียนแล้ว ทุกคนต่างก็ไปหาพื้นที่ว่างส่วนตัวเพื่อผลิตงานชิ้นแรกออกมาอย่างขะมักเขม้น


 


0 0 0


 


น้องเจฟ--รุทธกร แซ่หยาง นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ เอกพัฒนาสังคม ปี 2 เล่าถึงชุมชนที่ลงไปว่า รู้สึกถึงความแตกต่างของระดับชีวิตความเป็นอยู่ของหมู่บ้านแห่งนี้ คือมีทั้งบ้านที่มีหนี้เป็นเรือนแสนกับบ้านที่ปล่อยเงินกู้ ทั้งยังพบอีกว่าบางบ้านก็มีชีวิตแบบอิงทุนนิยมเต็มที่ในขณะเดียวกันก็มีบ้านที่มีลักษณะพึ่งพาตนเองคือเข้าป่าหาผักทำนาเก็บข้าวไว้กิน เป็นต้น


 


"ทั้งรัฐบาลและพวกเอ็นจีโอต่างก็อยากให้ชาวบ้านรวมกลุ่ม โดยมุ่งหมายว่าชาวบ้านจะมีส่วนร่วมมีความสัมพันธ์กัน มีพลังต่อรองกับนายทุน แต่ผมเห็นว่าการรวมกลุ่มของเขาไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะเป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อที่จะเอาไว้รับโครงการต่างๆ ที่ลงมามากกว่า โดยที่กระบวนการต่างๆ ไม่เคยมีใครมีความรู้ที่จะสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาจริงๆ" น้องเจฟ เล่าอย่างเอาหัวใจใส่ไว้ในคำพูดด้วย


 


ทั้งนี้ น้องเจฟยังบอกอีกว่า อยากเรียนรู้หลักการเขียน เพราะที่ผ่านมาตนไม่เคยฝึกการเขียนมาก่อน นอกจากจะจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ บางอย่างไว้เท่านั้น เมื่อพบว่ามีเรื่องราวที่ยังไม่ถูกเปิดเผย จนในที่สุดผมมองว่าชาวบ้านอาจจะมีเงินแต่สุดท้ายกลับไม่มีอะไรกิน


 


ด้าน น้องตั๊ก--วิลาวัลย์ รินคำ เพื่อนนักศึกษาจากสถาบันเดียวกับเจฟ เล่าถึงหมู่บ้านที่ลงไปเก็บข้อมูลว่า "เราพบเห็นหนี้สินที่เกิดจากการพึ่งพิงตลาดอยู่ เช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นที่ถูกโครงสร้างเศรษฐกิจกดขี่เหมือนกัน"


 


หลังจากนั้น งานเขียนของทุกคนได้นำมาแลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ส่วนที่ดีและสิ่งที่ควรปรับปรุงเพื่อให้ลูกเหยี่ยวเหล่านี้ได้เรียนรู้ทั้งด้านการเขียนและประเด็นที่ต้องการนำเสนอ โดยหยิบมาจากชุมชนที่ตนจะต้องลงไปจริงๆ ในวันข้างหน้า


 


0 0 0


 


หลังจากอยู่ร่วมกันมา 3 คืน ก็ถึงวันสุดท้ายแล้วที่เยาวชนทุกคนจะต้องออกไปเป็นเหยี่ยวข่าว และต้องลงไปในพื้นที่จริงเพื่อผลิตงานเขียนออกมา 1 ชิ้น ภายในระยะเวลา 1 เดือน และจะกลับมาพบกันใหม่ในเดือนธันวาคม ทุกคนต่างตระหนักถึงภารกิจหน้าที่นี้อย่างกระตือรือร้น


 


อย่างน้องต๊อก--พิเชฐ ใจบุญ คณะสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาสังคม ปี 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า "ผมคิดว่าเหยี่ยวข่าวชุมชนคือตัวแปรสำคัญในการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน เป็นการเผยแพร่ชุมชนของเราให้คนอื่นรับรู้ทั้งในเรื่องดีและไม่ดี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อการปรับเปลี่ยน"


 


น้องต๊อก ยังบอกอีกว่าการเป็นเหยี่ยวข่าวชุมชนก็ต้องติดตามข่าวในชุมชน เหมือนเป็นนักล่าข่าวที่สำคัญ ซึ่งมีประโยชน์เมื่อลงพื้นที่ของตัวเองเพื่อค้นหาสิ่งที่มีและมีประโยชน์ให้คนอื่นได้รับรู้ นอกจากนี้ การที่เราอยู่ในชุมชนของตัวเองเป็นสิ่งที่ได้เปรียบ เพราะเรามีพื้นฐานทั้งด้านทรัพยากร ความคิดในการมองปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน ไม่ตีความผิดๆ ไม่คิดทึกทักเอาเอง ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าอย่างที่หลายๆ สื่อทำอยู่ในตอนนี้


 


สำหรับน้องต๊อกนั้นสนใจที่จะลงพื้นที่ในชุมชนของตนเอง ซึ่งมีความหลากหลายของอาชีพต่างๆ จึงตั้งข้อสงสัยว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้ดีหรือไม่ดี และอาจจะเจอปัญหาโดยไม่ตั้งใจ จะทำตัวเป็นเหมือนอวนตาถี่เก็บทุกอย่างให้ได้เป็นข้อมูลเอาไว้


 


ส่วนน้องกลาง--กลาง ศิริ เยาวชนจาก ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงบทบาทของตนในฐานะเหยี่ยวข่าวชุมชนว่า การเป็นเหยี่ยวข่าวคือการสะท้อนเสียงของชุมชนในสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนภายนอกได้รับรู้ และเรารู้ดีว่าปัญหาใดกระจุกตัวอยู่ในชุมชนของเราเอง ภายในชุมชนอาจหาทางออกด้วยตนเองไม่ได้ก็ต้องให้คนอื่นช่วยกันแก้ไข


 


"การเป็นเหยี่ยวข่าวไม่ได้เป็นเพื่อตนเองแต่สิ่งสำคัญคือเพื่อชุมชนของเรา บ้านเกิดของเราเราควรดูแล เราไม่ควรลืมบ้านเกิดของตน" น้องกลาง กล่าวทิ้งท้ายด้วยแววตาแน่วแน่


 


0 0 0


 


ภารกิจหลังเสร็จสิ้นจากค่ายเหยี่ยวข่าวชุมชนครั้งนี้ คือการฟักตัวของเหยี่ยวข่าวตัวน้อย ที่จะต้องออกตระเวนจิกโฉบหาล่าข่าวจากชุมชนที่พวกเขาสนใจหรือในชุมชนของพวกเขาเอง เพื่อทำออกมาเป็นงานเขียนที่สื่อให้สังคมได้รับรู้ หรืออาจมุ่งหมายให้สะเทือนไปถึงระดับนโยบายของรัฐบาลเลยทีเดียว


 


ด้วยพลังเล็กๆ กระบอกเสียงน้อยๆ ของเหยี่ยวข่าวทั้ง 18 ชีวิตนี้ พร้อมที่จะสยายปีกส่งสียงผ่านสื่อและเชื่อมต่อกับสังคมแล้ว ขณะนี้พวกเขากำลังลงพื้นที่ออกล่าในชุมชนอันหลากหลายด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่น พวกเขาจะไปลอกเปลือกภาพมายาที่ฉาบปัญหาต่างๆ เอาไว้ และเปิดช่องทางใหม่ให้กับชุมชนของตน อีกไม่นานเกินรอ เราจะได้พบกับผลงานชิ้นพิเศษของพวกเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net