Skip to main content
sharethis

 



กลุ่มแม่บ้านกำลังช่วยกันทำคุ้กกี้จากแป้งสาคู


ซึ่งแปรรูปมาจาก "ต้น" สาคู ส่วนด้านหลังเป็นเสื่อลายนกแก้ว


ผลิตภัณฑ์จาก "ทาง" สาคู


 


 


ในห้วงยามที่อำนาจรัฐรวมศูนย์เข้มแข็งราวจะกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง หลายคนอาจรู้สึกชินชา และคงมีคนไม่น้อยที่รู้สึกสิ้นหวัง 


 


แต่ภายใต้ความใหญ่โตมโหฬารดังกล่าว ยังมี "ช่องว่าง" เล็กๆ ที่คนสามัญธรรมดาสามารถลุกขึ้นมาสถาปนาอำนาจชนิดใหม่ เพื่อขบคิด ดูแล จัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตนเองได้ ภายใต้คำจำกัดความ "การกำหนดนโยบายสาธารณะ"


 


คำ "สาธารณะ" ที่ว่านี้ ไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวางถึงระดับชาติ และไม่ได้มีที่มาจากรัฐบาล หากเริ่มต้นที่ชุมชน-ลุ่มน้ำได้ คิดเอง ทำเอง (ไม่ใช่คิดใหม่ ทำใหม่ ตามคำสั่งใคร หรือ คิดเอง เออเอง แบบราชการ) ดังตัวอย่างของหลายชุมชนตลอดลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง


 


เพื่อท้ายที่สุดแล้วจะพิสูจน์ให้เห็นว่า "กระบวนการมีส่วนร่วม" ในการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นต่างหาก ที่เป็นสาระสำคัญ และแทบหาไม่ได้ในนโยบายสาธารณะของภาครัฐ


 


"นโยบายสาธารณะนี้คำนึงถึงประโยชน์ ความยั่งยืน และความยุติธรรมด้วย"


 


พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ นายกสมาคมหยาดฝน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับนักวิชาการท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเริ่มต้นสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในลุ่มน้ำปะเหลียนมากว่า 20 ปีบอกกล่าว


 


 


อย่าดูเบาพลัง (ทำลาย) ของโครงการพัฒนาขนาดเล็ก


แม่น้ำปะเหลียนมีจุดกำเนิดในป่าทึบบนเทือกเขาบรรทัด มีเส้นทางไหลไม่ยาวนักราว 80 กิโลเมตรผ่านหลายอำเภอในจังหวัดตรัง แต่มีลำคลองสาขาหลายสายหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมากมายตลอดแนวลำน้ำ


 


แต่ในระยะหลัง ชุมชนที่นี่กลับมีปัญหาขาดแคลน "น้ำ" ทั้งที่เคยอุดมสมบูรณ์ กระทั่งพื้นที่นาข้าวส่วนใหญ่ต้องกลายสภาพเป็นนาร้าง หรือกลายเป็นสวนยางพาราที่ใช้น้ำไม่มากและรัฐบาลมุ่งส่งเสริม ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาการเสียสมดุลในธรรมชาติ และการขาดแคลนน้ำถูกมองข้ามผ่านเลยมากขึ้น


 


.... ขาดน้ำ ขาดนา กุ้ง หอย ปู ปลา ก็พลอยขาดแคลนไปด้วย .....


 


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ปัญหาใหญ่โตเช่นนี้มีต้นตอจากโครงการพัฒนาเล็กๆ เท่านั้นเอง นั่นคือ "การขุดลอกคลอง" และการเปลี่ยนทำนบดินของชาวบ้านเป็น "ทำนบคอนกรีต" โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องน้ำโดยเฉพาะ


 


ลุงสมนึก โออินทร์ ผู้ใหญ่ในบ้านไสขันเล่าให้ฟังว่า เมื่อหลายปีก่อน กรมชลประทานได้ทำการขุดลอกคลองต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และได้ถาง "ป่าสาคู" ที่ขึ้นเป็นดงอยู่ริม 2 ฝั่งคลองออกจนเหี้ยนเตียน ทั้งที่มันเป็นพืชเจ้าของถิ่นและเป็นตัวรักษาความชุ่มชื้นให้ลำคลองและพื้นที่โดยรอบ


 



คลองลำชานด้านขวามือของสะพานบริเวณบ้านไสขัน 


เป็นลำคลองสาขาสายหลักที่หล่อเลี้ยงชุมชนแห่งนี้


และอีกหลายชุมชนตลอดลุ่มน้ำปะเหลียน


 


เมื่อขุดลอกคลองแล้ว ทำให้น้ำไหลลงคลอง>แม่น้ำ>ทะเล อย่างรวดเร็วเวลาฝนตก โดยไม่เอ่อล้นท่วมท้องนาริมคลองอีกต่อไป หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำไม่ขึ้นนา" นอกจากนี้ทำนบคอนกรีตก็รั่วบ้าง พังบ้าง จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ให้อุดมตลอดปีได้


 


"มีสาคูที่ไหน มันก็มีน้ำที่นั่น" ชาวบ้านบ้านหนองพาบน้ำ ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง เล่าประสบการณ์ที่เขาพิสูจน์การ "มี" กับ "ไม่มี" สาคูให้ฟัง


 


พร้อมเสริมว่า สภาพน้ำหลากระยะสั้นนั้นทางราชการกลับมองเป็นปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่จริงแล้วนั่นเป็นสภาพปกติของพื้นที่ชุ่มน้ำจืดในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างต้นน้ำและป่าชายเลน


 


จนเมื่อได้เดินทางไปดูป่าสาคูของจริงแล้วนั่นเอง จึงพอจะถึงบางอ้อว่า ทำไมสาคูถึงทำให้น้ำขึ้นนา !


 



หันมองด้านซ้ายมือเป็นต้นสาคูลักษณะคล้ายต้นปาล์ม


ขึ้นอยู่เต็มคลองลำชาน แลดูแปลกตา


 


รู้จัก "สาคู" เจ้าของคลองตัวจริง


บนสะพานข้ามคลองสายหลักของชุมชน-คลองลำชาน แลทางขวามือเป็นผืนน้ำสีน้ำตาลอ่อนกว้างพอประมาณ เห็นเป็นเส้นคดเคี้ยวคล้ายงูยักษ์นอนนิ่งกลางเรือกสวนไร่นา หันมาซ้ายมือกลับเจอต้นไม้ใหญ่คล้ายต้นปาล์มยืนทะมึนอยู่เต็มพรืดตลอดคลอง


 


"นี่นะต้นสาคู มันขึ้นกันแน่นทั้งคลองอย่างนี้เลยหรือ" ???


 


วีรพล เกิดผล สมาชิกอบต.โคกสะบ้า ผู้รับอาสาพาชมป่าสาคูจึงเล่าว่า สาคูเป็นพืชดั้งเดิมที่ชอบขึ้นริมคลองและจะขยายลามลงมาในคลองเรื่อยๆ ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ราชการถางป่าสาคูออกเพราะคิดว่าขวางทางน้ำ แต่ชาวบ้านในชุมชนพยายามรักษาป่าสาคูอายุสิบกว่าปีเท่าที่มีเหลืออยู่ราว 10 กิโลเมตรตลอดคลองลำชานไว้ โดยทำการ "แต่งสางกลางคลอง" ตัดริดกิ่งใบไม่ให้เกะกะเพื่อให้น้ำไหลสะดวกขึ้น


 


แม่จิต ชุมเชื้อ ประธานกลุ่มแม่บ้าน บ้านหนองพาบน้ำ ผู้แปรต้นสาคูให้กลายเป็นแป้งสาคู แล้วรังสรรค์ป็นสารพัดอาหาร (ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมครก ขนมเค้ก ขนมปากหม้อ ขนมกวน ขนมจาก ฯลฯ) เล่าที่มาของต้นสาคูให้ฟังว่า สาคูเป็นพืชที่รุ่นปู่ย่าตาทวดมักปลูกกันตามหัวไร่ปลายนาที่ติดชายคลอง แล้วใช้ประโยชน์สารพัด เช่น ใช้ใบสาคูมาเย็บตับมุงหลังคา ใช้ทางสาคูมาสานเสื่อ เครื่องใช้ต่างๆ โดยส่งต่อความเป็นเจ้าของต้นสาคูแบบหลวมๆ มายังรุ่นปัจจุบันด้วย


 


"เจ้าของแบบหลวมๆ" น่าจะเป็นคำที่เหมาะสม เพราะแม่จิตอธิบายว่า ไม่มีใครหวงต้นสาคูเหล่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็จะมีการบอกกล่าวกันก่อนจะเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆ โดยการใช้ประโยชน์นั้นจะมีกฎกติกาของชุมชนที่ร่วมกันร่างขึ้นมาเพื่อไม่ให้ป่าสาคูหายไปอีก


 


 


"สาคู" มุมไหนที่ "คนชั้นกลาง" สนใจ


งานนี้ "หยาดฝน" เอ็นจีโอในพื้นที่มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงชุมชนร่วมกับนักวิชาการท้องถิ่น รวมทั้งช่วยรวบรวมเขียนรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนที่มีความหลากหลาย ทั้งที่ตื่นตัวมานานแล้ว และอีกหลายชุมชนที่อยู่ในระยะเริ่มสนใจ หรือเพิ่งเริ่มทำกิจกรรม


 


โดยในปีนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และทำการขยายเรื่องราวสู่สื่อมวลชน โดยใช้ "สาคู" เป็นพระเอก ตรงที่สามารถนำทุกส่วนใช้ประโยชน์ได้อย่างน่ามหัศจรรย์จนไม่อาจดูเบา...ทำได้กระทั่งพาสต้า


 


พิศิษฐ์ นายกสมาคมหยาดฝนเล่ากระบวนการสื่อสารครั้งนี้ว่า ปัญหาแท้จริงคือเรื่องน้ำ และสาคูเป็นสิ่งที่ทำให้น้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์ แต่หากจะสื่อสารตรงๆ อาจไม่น่าสนใจสำหรับสังคมทั่วไป จึงหยิบคุณสมบัติของสาคูมาเป็นตัวชูโรง เหมือนกรณีการสร้างกระแสอนุรักษ์ "พะยูน" ที่ประสบความสำเร็จทำให้สังคมร่วมรักษ์ปลาพะยูน-หญ้าทะเล โดยไม่ให้มีการทำประมงอวนลาก อวนรุนในพื้นที่ชายฝั่ง


 


"กรณีนั้นเป็นการหาสัญลักษณ์ที่จะดึงความสนใจ เพื่อสร้างความร่วมมือ ก่อนจะโยงไปเรื่องเรือประมงพาณิชย์ที่ทำลายประมงชายฝั่ง ถ้าบอกว่าชาวประมงชายฝั่งยากจน มีปัญหา ก็คงไม่มีคนสนใจนัก" พิศิษฐ์ให้เหตุผล


 


ขณะที่อาจารย์เลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ช่วยขยายความว่า คนชั้นกลางเป็นกลุ่มสำคัญที่ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมนิยมไปได้ไกล การเคลื่อนไหวจึงดำเนินไปได้นาน และไม่ค่อยมีความรุนแรง


 


อาจารย์เลิศชายอธิบายว่า  ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการแย่งชิงทรัพยากรของท้องถิ่นผ่านนโยบายรัฐ การสร้างกระบวนการ "นโยบายสาธารณะ" นี้จึงเป็นการช่วงชิงพื้นที่เพื่อสร้างการต่อรองให้มากขึ้น ขณะเดียวกันคำๆ นี้ก็ช่วยให้เราไม่ติดกับดักของคู่ตรงข้าม เพราะมันสื่อถึงความต้องการให้ทุกฝ่ายมาร่วมคิดร่วมสร้าง


 


"จะว่าไป แม้แต่เศรษฐกิจพอเพียงก็มีการช่วงชิงความหมายกัน ในอดีตวาทกรรมนี้ไปด้วยกันได้กับสิ่งแวดล้อม การรักษาทรัพยากร แต่ตอนนี้กลับถูกแย่งชิงมาเป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กองทุนหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านพอใจ รอรัฐปลดหนี้ พอเพียงเลยกลายเป็นการรอเงินก้อนใหม่"


 


"ยังไงก็ตาม ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่ได้เป็นเอกภาพ มันมีช่องว่างให้เคลื่อนไหว เราต้องพยายามต่อรอง ไม่ใช่ยอมแพ้ และไม่ใช่โค่นรัฐแบบนี้ เพื่อสถาปนารัฐอีกแบบหนึ่ง"อาจารย์เลิศชายกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่านโยบายสาธารณะเป็นเพียงวิธีคิดหนึ่งที่จะนำไปสู่การอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของชาวบ้าน และยังมีความคิดหรือวิธีการอื่นๆ อีก


 



"ตับสาคู" คล้ายตับจาก แต่ทำจากใบสาคู ใช้มุงหลังคา


ชาวบ้านว่าใช้งานทนทานพอกัน และเป็นแหล่งรายได้ให้คนเฒ่าคนแก่


ได้ใช้เวลาว่างนั่งเย็บตับสาคูขายกันทั้งวัน


 


นาดลุ่มน้ำปะเหลียนไม่มีโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ยังใช้เวลาเนิ่นนานในการสร้างความตื่นตัวและเข้มแข็งของชุมชน เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะของตนเอง พื้นที่อื่นที่เมกกะโปรเจกต์พากันพาเหรดเข้าไป คงต้องใช้ความพยายามในการต่อรองมากขึ้นอีกนับเท่าไม่ถ้วน


 


แต่ยังไม่ทันได้ลาจากลุ่มน้ำปะเหลียนดี ก็เห็นรายงานข่าวว่า ครม.ให้งบประมาณในการขุดลอกแก้มลิงและคูคลองเพื่อเตรียมไว้สำหรับรองรับน้ำอีกระลอกใหญ่  ยังไม่นับแผนงานโครงการแผนเมกกะโปรเจกต์ การบริหารจัดการน้ำ  25  ลุ่มน้ำ มูลค่ากว่า 200,000 ล้านที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา


 


โครงการเหล่านี้เกือบร้อยทั้งร้อยเข้าไปในพื้นที่โดยไม่สนใจลักษณะเฉพาะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงวิถีชีวิต ความต้องการของเจ้าของพื้นที่


 


เพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง จึงมักมีอีกหลายปัญหาตามมาเสมอ บางเรื่องถูกนำเสนอ ขณะที่หลายเรื่องจมหายไปกับกาลเวลา แต่หลายคนก็พยายามอย่างยิ่ง ที่จะไม่ให้มันจมหายไปกับชีวิตของคนเล็กคนน้อยอย่างเงียบๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net