Skip to main content
sharethis


 


"เมื่อเพลงฮิตใกล้ชิดหนังสั้น"  "สันติวัฒนธรรม"  "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" "ดี ดี ดี"  "FILM in U"  "ห้องเรียนชุมชนในสายตาคนรุ่นใหม่" "เซ็กส์ที่ไม่เจ็บ" "แจ๋ว โพสสิทีฟ" "108 วิธีบอกรัก กับ Sony Handy Cam" นี่เป็นเพียงตัวอย่างคอนเซ็ปต์ของการจัดประกวดหนังสั้น ที่สะท้อนให้เห็นความเบ่งบานของกระแสการเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียงในสังคมไทย สังคมแห่งความศิวิไลซ์บนพื้นฐานประเทศกำลังพัฒนา


 


บางโครงการถูกจัดขึ้นภายใต้การควบคุมของกลุ่มธุรกิจ บางโครงการถูกจัดขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐ และปัจจุบันก็ยังมีอีกหลายโครงการที่จัดขึ้นด้วยความประสงค์ขององค์กรภาคประชาชน หรือที่เรียกกันติดปากว่า เอ็นจีโอ ซึ่งแน่นอนว่าวัตถุประสงค์ในการก่อร่างสร้างโครงการหนังสั้นของแต่ละองค์กรย่อมแตกต่างกันไปตามที่มาที่ไปหรือจุดกำเนิด และนี่เองที่ก่อให้เกิดความน่าสนใจว่า เหตุใดองค์กรต่างๆ ที่ดูเหมือนจะมีรูปแบบ พื้นที่การทำงานและจุดยืนที่แตกต่างกัน จึงเลือกที่จะหันมาหยิบฉวยหนังสั้นเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร


 


เสน่ห์ และความเป็นมาของหนังสั้น


"หนังเป็นสื่อที่จะเข้าถึงคนได้ง่าย สามารถกำหนดแนวทางได้ เพราะฉะนั้นกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการเผยแพร่แนวความคิดของตัวเองก็จะอาศัยหนัง เลยมีการจัดประกวดหนังกันขึ้นมา ยิ่งเป็นหนังสั้นที่ไม่ใช้เวลามากคนก็จะรับได้ง่ายขึ้น" กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าของไทย กล่าวถึงเสน่ห์ของหนังสั้น ก่อนที่จะอธิบายถึงความเป็นมาของหนังสั้นในประเทศไทยว่า


 


"หนังสั้นไม่มีตำราตามหลักสูตรการสอนในมหาวิทยาลัย ความเข้าใจเกี่ยวกับหนังสั้น เกิดขึ้นจากความเข้าใจของคนที่ทำหนังด้วยกันเอง คือมาทำแล้วก็มาทำความเข้าใจร่วมกันว่าหนังสั้นต้องเป็นอย่างนี้ แต่ไม่มีหลักสูตรโดยตรงที่จะมาบอกว่าหนังสั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นหนังสั้นจะเป็นได้หลายรูปแบบ


 


"มันเริ่มมาเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว จากพวกที่เรียนทางด้านภาพยนตร์ เนื่องจากในปีสุดท้ายนักศึกษาทางด้านภาพยนตร์จะต้องทำงาน Final Project ส่งเพื่อจะจบการศึกษา ซึ่งงานของนักศึกษาเหล่านี้ก็จะเป็นหนังสั้น เนื่องจากว่าไม่มีทุนที่จะไปลงทำหนังใหญ่ หนังยาว


 


"แต่ว่าที่มาให้ความสนใจกันมากจริงๆ ก็ประมาณเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เพราะทางมูลนิธิหนังไทยจัดการประกวดหนังสั้นขึ้นมา คือเมื่อก่อนคนทำหนังสั้นทำไปแล้วก็ฉายดูกันเองในสถาบัน แต่ทีนี้พอเป็นงานใหญ่ มีเวทีที่ให้เขานำหนังของเขามาฉายให้คนทั่วไปได้ดูกัน คนที่เคยทำแล้วก็อยากเอามาฉาย หรือคนที่ไม่เคยทำก็นึกอยากทำขึ้นมา เพราะมีที่ให้ฉาย หลังจากนั้นจึงมีอีกหลายที่ที่จัดงานเทศกาลหนังสั้น โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ให้ความสนใจหนังสั้นคือนักศึกษา


 


"ยิ่งปัจจุบันหนังสั้นทำกันง่ายขึ้น อย่างเมื่อก่อนหนังต้องใช้ฟิล์มถ่าย แต่เดี๋ยวนี้กล้องดีๆ มีเยอะ โทรศัพท์ก็ใช้ถ่ายหนังได้ เพราะฉะนั้นแวดวงของหนังก็กว้างขึ้น เด็กๆ มัธยมก็ทำหนังสั้นกัน"


 


อภิวัฒน์  แสงพัทธสีมา ผู้กำกับสารคดีสั้น Behide The Wall ที่ถ่ายทอดความทุกข์ร้อนของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ จากนโยบายของรัฐในการพลิกโฉมกรุงรัตนโกสินทร์ ให้กลายเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ให้แง่มุมเกี่ยวกับหนังสั้นว่า


 


"หนังสั้นเป็นเหมือน skate design ของงาน design (เป็นบันไดในการก้าวไปสู่การทำภาพยนตร์เรื่องยาว) ใช้ทุนไม่ต้องเยอะ มีอิสระในการที่จะคิด แล้วก็ใช้เวลาไม่เยอะในการนำเสนอ เราสามารถควบคุมมันโดยตัวคนเดียวได้ หนังสั้นมันช่วยทำให้เราสามารถประมวลสิ่งที่ซับซ้อนให้มันออกมาเข้าใจง่าย มันอิสระมากที่จะนำเสนอ"


 


ถ้าสังเกตจากข้อมูลของผู้อาวุโสในวงการภาพยนตร์ และผู้กำกับหนังอิสระรุ่นใหม่ จะพบว่าเสน่ห์ของสื่อประเภทที่ถูกเรียกว่าหนังสั้น นอกจากเรื่องของระยะเวลาในการนำเสนอที่ไม่ยาวแล้ว ความสามารถในการถ่ายทอดความคิดที่ซับซ้อนของผู้ส่งสาร ให้ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่ายด้วยภาพและเสียง รวมถึงความเป็นอิสระในการถ่ายทอดที่หลุดออกจากกรอบ ก็นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนหนุ่มคนสาวในสังคมไทย หันมาให้ความสนใจในการเสพ และผลิตสื่อประเภทนี้


 


แต่ "หนังคืออะไรกันแน่? หนังเป็นแค่มหรสพเพื่อความบันเทิงที่ผู้คนซ่องเสพในยามปราศจากภารธุระทั้งหลาย? คือภาพเคลื่อนไหวที่คลอไปด้วยเสียงดนตรีและการแสดงบางชนิด? คือศิลปะแขนงที่เจ็ดดังที่นักวิชาการบางคนว่าไว้? คืออุตสาหกรรมระดับโลกที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนในแต่ละปีหลายแสนล้านบาท? หรือว่าคือกิจกรรมทางวัฒนธรรมขั้นสำคัญของคนในยุคปัจจุบัน... ตอบแบบกำปั้นทุบดินที่สุด หนังหมายถึงทุกอย่างที่กล่าวไป..." (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : BIOSCOPE ฉบับที่ 47 ตุลาคม 2548)


 


หนังสั้นในกำมือเอ็นจีโอ


หาก "หนัง" หรือ "ภาพยนตร์" เป็นสัญลักษณ์แห่งการสื่อสาร และ "หนังสั้น" คือสัญลักษณ์ของความเป็นคนรุ่นใหม่ การที่องค์กรภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอ ซึ่งครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ "ม็อบ" หรือผู้อยู่เบื้องหลังการรวมตัวของชาวบ้าน หันมาให้ความสนใจกับเครื่องมือสื่อสารประเภทนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ


 


"องค์กรเหล่านี้คงเริ่มเห็นศักยภาพของการทำงานศิลปะ เขาเริ่มรู้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้วันหนึ่งมันอาจจะกลายเป็นอาวุธอันใหม่ เพราะที่ผ่านมาการทำงานขององค์กรเหล่านี้อาจจะเหมือนกับคนที่มีดินสอและถนัดที่จะเขียนอย่างเดียว แต่สเก็ตซ์รูปไม่เป็น เมื่อหนังสั้นเข้ามาก็จะช่วยทำให้การสื่อสารมันง่ายขึ้น" อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา คนรุ่นใหม่ที่หลงใหลในเสน่ห์ของการเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียง แสดงความเห็นเกี่ยวกับกระแสการจัดประกวดหนังสั้นโดยองค์กรภาคประชาชน


 


นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์  องค์กรภาคประชาชนที่จัดกิจกรรมการประกวดหนังสั้น ภายใต้ชื่อโครงการ "หนังม่านรูด" ซึ่งปีนี้ (2548) จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง กล่าวถึงมูลเหตุที่หันมาให้ความสนใจ สื่อประเภท "หนังสั้น" ว่า  "เพราะกลุ่มคนที่เราสนใจจะทำงานด้วยในเรื่องเอดส์ เรื่องเพศ ก็คือ คนหนุ่มคนสาวที่โดยตัวของเขาเองสนใจเรื่องเทคโนโลยีเรื่องการสื่อสารด้วยภาพเสียง เราก็เลยคิดว่าการสื่อสารกับพวกเขาจะต้องใช้ช่องทางที่แรงพอ แรงในที่นี้หมายถึงว่า มันส่งเสียงได้ เห็นภาพได้ ที่สำคัญคือเขาต้องเข้ามามีส่วนร่วมได้ เราก็เลยคิดถึงหนังสั้น


 


"ในกระบวนที่เราทำ เราเน้นการมีส่วนร่วม ด้วยการที่เราเป็นคนให้ประเด็นแล้วชวนเขาคิด ชวนเขากรองออกมาว่า ข้อเท็จจริงเรื่องเพศแบบนี้ สถานการณ์แบบนี้ แล้วทัศนคติด้านลบในเรื่องเอดส์ เรื่องเพศเป็นแบบนี้แล้ว เขาจะทำยังไงกับมัน เขาจะทำยังไงเพื่อจะสื่อกับคนในวัยเขาเอง เมื่อเราเห็นว่าหนังสั้นครบองค์ประกอบตรงนี้ เราก็เลยเลือกใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว


 


"ซึ่งปีที่แล้วมีผู้ส่งเรื่องเข้าประกวดร้อยกว่าเรื่อง แต่ปีนี้มีสองร้อยกว่าเรื่องก็แสดงว่าสื่อตัวนี้มันโดนคนรุ่นใหม่"


 


ด้าน ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม อีกหนึ่งองค์กรที่หันมาจัดการประกวดหนังสั้นภายใต้ชื่อโครงการ "ห้องเรียนชุมชนในสายตาคนรุ่นใหม่" กล่าวถึงที่มาที่ไปของการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่า "จริงๆ การสื่อสารรูปแบบอื่นเราก็พยายามทำ แต่ที่ผ่านมากลุ่มที่ทำงานกับชุมชน กับภาคประชาชนรู้สึกว่าสื่อสารกับสังคมได้น้อย สื่ออื่นๆ ก็ถูกยึดครองค่อนข้างเยอะ ทั้งจากรัฐ และจากภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้นช่องทางในการสื่อสารของภาคประชาชนก็น้อยลง เราจึงพยายามคิดค้น เรื่องของสื่อแนวราบในการสื่อระหว่างภาคประชาชนมากขึ้น

"จากการวิเคราะห์สื่อที่เป็นภาพ ที่เรียกว่า "หนัง" มันทรงพลังในแง่ที่จะสื่อให้คนเข้าใจมากกว่า เนื่องจากเห็นทั้งภาพ ได้ยินทั้งเสียง เห็นการเคลื่อนไหว ซึ่งเมื่อก่อนกระบวนการสร้างสื่อประเภทอย่างสารคดีมันแพงมาก แต่ระยะหลังกระบวนการหนังสั้นมันทำให้เรื่องนี้ถูกลง มีนักศึกษา มีอาสาสมัครที่พยายามคิดค้นวิธีการสื่อสารใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งก็เหมือนกับการเปิดพื้นที่การสื่อสารที่มีพลัง ที่พอจะเข้าถึงได้


 


"เป้าหมายตอนนี้คือต้องการสื่อสารกับสังคมในวงกว้างขึ้น ที่สำคัญคือว่ากลุ่มที่ทำหนังสั้นจะอยู่ในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นกลุ่มที่มีความกระตือรือร้น


 


"แล้วเรื่องราวของชุมชนเรื่องราวของท้องถิ่นเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก สื่อสารยาก เราคิดว่าน้องๆ หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่จะช่วยทำให้สื่อสารมันง่ายขึ้น และสามารถเข้าถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ดีขึ้น ซึ่งสื่อเดิมหรือพวกพี่ที่ทำงานกับภาคประชาสังคมมาเข้าไม่ถึง"


 


อินทิรา วิทยะสมบูรณ์ บรรณาธิการเว็บไซต์วิทยาลัยการจัดการทางสังคม คนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานกับองค์กรภาคประชาชนตั้งแต่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แสดงความเห็นในเรื่องหนังสั้นกับเอ็นจีโอว่า "ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าองค์กรภาคประชาชนทำงานเชย สื่อสารกับคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ค่อยได้ การต่อสู้ในรูปแบบม็อบ หรือสมัชชาประชาชนก็ไม่ค่อยได้ผล บางครั้งการต่อสู้ในรูปแบบดังกล่าวยังเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านด้วยซ้ำ เพราะในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่มักจะมองม็อบหรือกลุ่มสมัชชาเหล่านี้ว่าเป็นปัญหา การพยายามสื่อสารด้วยหนังสั้นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการต่อสู้ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้คงไม่เห็นผลในทันที"


 


คำบอกเล่าจากผู้ทำงานภาคประชาสังคมทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ช่วยเผยให้เห็นปัญหาในเรื่องรูปแบบการสื่อสารระหว่างองค์กรที่ระบุตนเองว่าเป็นผู้ทำงานเพื่อมวลชนกับสังคมวงกว้าง จนเป็นเหตุให้ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการเชื่อมโยงความเข้าใจ ด้วยการดึงกลุ่มชนคนวัยมันมาเป็นทั้งตัวกลางในการสื่อสารและเป็นเป้าหมายในตัวเอง เพื่อให้สังคมที่คลั่งไคล้ความแปลกใหม่สามารถรับรู้แง่มุมที่องค์กรเหล่านี้ต้องการสื่อ


 


ถ้าพูดกันด้วยศัพท์แสงทางธุรกิจ ก็ต้องยอมรับว่า ที่จริง "หนังสั้น" เป็นกลวิธีทางการตลาดอย่างหนึ่งที่จะดึงดูดลูกค้าให้มาสนใจในสิ่งที่ เอ็นจีโอ พยายามจะสื่อ แต่ความหวังเหล่านี้จะเป็นจริงได้มากเพียงใด


 


ความต้องการจากมุมของผู้ส่งสาร


ไกรศักดิ์ กาญจนเกรียงไกร นักศึกษาคณะศิลปกรรม ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรังสิต คนรุ่นใหม่ที่ร่วมส่งหนังสั้นเข้าประกวดในโครงการหนังม่านรูด ครั้งที่2 (เซ็กส์ที่ไม่เจ็บ) กล่าวถึงสาเหตุที่ให้ความสนใจกับการประกวดหนังสั้นว่า "ส่วนตัวผมสนใจเรื่องการทำหนังสั้นอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยส่งหนังสั้นเข้าประกวดในโครงการเมาไม่ขับของ ส.ส.ส. (สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ) แล้วก็เคยได้รับรางวัลชนะเลิศของภาพยนตร์อมยิ้ม


 


"ผมเป็นคนชอบดูหนัง เห็นว่าหนังมันให้อะไรกับเราเยอะดี บางทีเราไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ แต่หนังก็สามารถบอกเล่าอะไรให้เรารู้เรื่องได้


 


"สิ่งที่คาดหวังจากการส่งผลงานเข้าประกวด ก็คือเราอยากจะรู้ว่าเรามีความสามารถขนาดไหน เวทีพวกนี้คล้ายกับเวทีพิสูจน์ความสามารถ ส่วนความคาดหวังอื่นๆ ก็คงอยู่ที่การทำภาพยนตร์เรื่องยาวเหมือนกับว่าหนังสั้นเป็นก้าวแรก จริงๆ แล้วอยากจะทำหนังใหญ่"


 


ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ นักเขียนอิสระ ที่มุ่งทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เรียกว่า หญิงรักหญิง กล่าวถึงสาเหตุที่สนใจเข้าร่วมประกวดหนังสั้นในโครงการหนังม่านรูด ว่า "เผอิญตัวเองเป็นคนที่งานเกี่ยวกับหญิงรักหญิง แล้วก็สนใจทำสื่อเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันอยู่แล้ว อย่างเขียนบทความทำหนังสือ เลยรู้สึกว่าหนังก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่น่าสนใจในการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทย


 


"ชอบหนังอยู่แล้ว แต่มันมีหนังประเภทผู้หญิงรักผู้ชายผู้ชายรักผู้หญิง หรือไม่ก็หนังเกย์ แต่หนังประเภทหญิงรักหญิงไม่มีเลย เราเลยอยากทำเท่าที่พอจะทำได้ ยังไม่เคยส่งหนังเข้าประกวดมาก่อน แต่รู้สึกว่ามันไม่น่าจะยากมาก หนังสั้นจึงน่าจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารเรี่องราวเหล่านี้ให้สังคมรับรู้"


 


ด้าน นายธนิน อภิชาติพันธุ์กวี นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้เข้าร่วมโครงการประกวดหนังสั้น "ห้องเรียนชุมชนในสายตาคนรุ่นใหม่" ที่จัดขึ้นโดยวิทยาลัยการจัดการทางสังคม ให้เหตุผลในการเข้าร่วมโครงการว่า "โดยส่วนตัวเรียนทางด้านโฆษณา แต่สนใจว่าถ้าเรามาทำหนังสั้นแล้วจะออกมาเป็นยังไง ตอนโทรถามเห็นว่าองค์กรจะมีเกียรติบัตรแจกให้ทุกคน เลยคิดว่าน่าจะมีผลต่ออนาคตเวลาที่เราไปสมัครงาน จึงอยากหาประสบการณ์ให้เยอะ ซึ่งก็ดีกว่าที่เราจะมีปริญญาใบเดียว"


 


จากข้อมูลจะพบว่า ในขณะที่ "หนัง" มีพลังในการดึงดูดผู้คนที่ต่างวัย ต่างความคิดและจุดยืนให้เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้สารที่แต่ละคนต้องการจะสื่อ แต่เมื่อมองลึกในเรื่องรายละเอียดจะพบว่า ในขณะที่ผู้จัดงานมุ่งหวังในการขยายข้อมูลที่ตนมีอยู่ให้เป็นที่รับรู้ในสังคมที่กว้างขึ้น แต่สำหรับตัวผู้ผลิตรุ่นใหม่ สิ่งที่พวกเขาคาดหวัง คือการใช้สื่อประเภทนี้ในการก้าวขึ้นไปสู่จุดที่สูงกว่า ซึ่ง อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา ได้ช่วยอธิบายเรื่องราวดังกล่าวด้วยมุมมองของชายหนุ่มที่อายุยังไม่ถึง 30 ว่า 


 


"ถ้ามุมมองของคนทำหนังอาจใช้หนังสั้นเป็นบันได แต่มุมมองของคนที่สนับสนุนการจัดงานเขาก็มองว่าจะไปใช้ต่อยอดองค์กรของเขาได้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลา แต่อย่าไปคาดหวังกับเด็ก การจัดงานประเภทนี้ มีเด็กมาร่วมก็ถือว่าดีแล้ว เพราะถือว่าเป็นการเปิดหนังสือหน้าแรกอ่านแล้ว แต่ที่สำคัญต้องเคารพการตัดสินใจของเขา (เยาวชนผู้ผลิตหนัง) ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มาทำหนังกับตรงนี้แล้วจะกลายเป็นคนนั้นได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องมาทำหนังเป็นแบบซีเรียสจริงจัง แต่การที่มีก็ถือว่าดีกว่าไม่มี"


 


หาก "หนังสั้น" คืออาวุธชิ้นใหม่ในการสื่อสาร การที่จะทำให้อาวุธชิ้นนี้ทรงพลัง นอกจากจะขึ้นอยู่กับการพัฒนาตัวอาวุธให้แหลมคมแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือตัวผู้ถืออาวุธเองจะต้องมีความสามารถในการทำความเข้าใจประสิทธิภาพสูงสุด และข้อจำกัดของอาวุธที่ตนถือ ไม่เช่นนั้น ต่อให้อาวุธดีเพียงใด หรือแหลมคมเพียงใด ก็ไม่อาจจะเฉือดเฉือนจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่ตนต้องการจะสื่อสารได้


 


ส่วนอนาคตหนังสั้นในกำมือขององค์กรภาคประชาชนจะเป็นเช่นไร คงต้องปล่อยให้ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net