Skip to main content
sharethis



 


ก่อนหน้านี้ 1 ปี คือเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นคนจังหวัดนราธิวาส เกือบ 1,300 คน ไปร่วมชุมนุนกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส แต่ถูกสลายการชุมนุมแล้วถูกควบคุมตัวขนย้ายไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ทว่าระหว่างการขนย้ายกลับมีผู้เสียชีวิตถึง 78 คน สร้างความสะเทือนไปทั่วโลก นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุมก่อนหน้านั้น 7 คน


 


ไม่เท่านั้นหลังเหตุการณ์ ได้มีชาวบ้านหลายคนไปแจ้งชื่อญาติที่หายตัวไปที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงานฯ เป็นผู้จัดพิธีศพผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายที่ยังไม่มีญาติมายืนยันตัวบุคคลถึง 22 ราย ต่อมาไม่นานได้มีญาติมายืนยันตัวบุคคลเพิ่มเติมอีก 11 ราย คงเหลืออีก 11 ราย ที่ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ


 


ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 หรือ 10 เดือนหลังจากเหตุการณ์ตากใบ ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจพิสูจน์อีเอ็นเอไปยังญาติผู้เสียชีวิตแล้วถึง 10 ราย (อ่านข้อมูลล้อมกรอบ) คงเหลือเพียง 1 รายเท่านั้นที่ยังไม่มีผู้มายืนยันตัวบุคคล


 


นางสะรีฮา คาเดร์ ชาวบ้านตาเซะ ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส คือเหยื่อหนึ่งในสิบราย ที่สามีของเธอหายตัวไปหลังจากเหตุการณ์ชุมนุมที่อำเภอตากใบ


 


10 เดือนที่รอคอยสามี กับลูกๆ 6 คนที่รอคอยพ่อ จนกระทั่งปรากฏความชัดเจนขึ้นมา เมื่อทางบ้านได้รับหนังสือแจ้งจากทางจังหวัดนราธิวาสว่า ผลการตรวจดีเอ็นเอว่า ผู้เสียชีวิตที่เหลือ 11 ราย หนึ่งในนั้นคือสามีของเธอ


 


ผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เธอเมื่อครั้งเดินทางมาที่ศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อร่วมกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อกรณีการเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ พร้อมกับแม่สามีและญาติคนอื่นๆ ด้วย


 


เธอเล่าพร้อมกับอุ้มลูกคนเล็กว่า สามีฉันชื่อ มะกือตา ยูโซ๊ะ เขาตายเมื่ออายุ 36 ปี ฉันเห็นเขาครั้งสุดท้ายตอนกินข้าวซะโฮร์ (เวลารับประทานอาหารช่วงก่อนละหมาดเช้ามืดในช่วงการถือศีลอดของชาวมุสลิม โดยทั่วไปจะเริ่มเวลาตี 2 - ตี 4 เศษ) เพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอนด้วย รุ่งเช้าไม่รู้ออกไปตอนไหน วันนั้นฉันก็รอเขา จะรอจนกว่าจะกลับ แต่ก็ไม่กลับ พอดีกับมีข่าวออกโทรทัศน์ว่ามีการชุมนุมกันที่ตากใบ


 


ต่อมาอีก 2 วัน ก็มีข่าวว่า มีคนตายถึง 78 คน ก็ตกใจคิดว่าคงจะมีสามีรวมอยู่ด้วย แต่ฉันไม่ได้ออกไปดูศพ แต่มีคนในหมู่บ้านออกไปดูที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ก็ไปพบว่ามีคนในหมู่บ้านตายด้วย 1 คน ส่วนศพอื่นจำไม่ได้ว่าเป็นใครบ้าง


 


ผ่านไปหลายวันฉันก็คิดว่า สามีคงหายตัวไปแน่แล้ว หรือไม่ก็เป็นศพใดศพหนึ่งที่ยังไม่มีญาติมายืนยัน จากนั้นแม่สามีจึงไปแจ้งที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส


 


เธอเล่าต่อว่า จากนั้นไม่กี่เดือน ทางอำเภอตากใบก็เรียกให้ไปตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งแม่สามีและลูกชายและลูกสาว 2 คนเดินทางไปที่ที่ว่าการอำเภอตากใบ ในที่สุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ที่ผ่านมาได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจดีเอ็นเอ ยืนยันว่าหนึ่งในผู้เสียชีวิต 11 ราย คือ สามีของเธอ จึงนำหนังสือแจ้งผลดังกล่าว ไปขอใบมรณบัตร ณ ที่ว่าการอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี


 


เธอเล่าอีกว่า พอทราบผลแล้ว ก็มีหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าเยียวยา 3 แสนบาทที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งตอนนั้นมีการจัดพิธีมอบกันอย่างเป็นทางการร่วมกับญาติผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ทางจังหวัดนราธิวาสก็ได้เรียกไปรับเงินอีก 1 แสนบาท เขาบอกว่าเป็นค่าเยียวยาเบื้องต้น


 


เธอบอกว่า ลูกคนสุดท้องที่อุ้มมาด้วย ชื่อ นูร์ซาฮาดะห์ ตอนพ่อตายยังอยู่ในท้อง 4 เดือน เกิดมาก็ไม่เห็นหน้าพ่อแล้ว ส่วนคนโตตอนนี้อายุ 9 ขวบ อยู่ชั้นประถมปีที่ 3 คนรองอายุ 8 ขวบอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 คนต่อมาเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 ซึ่งเงินที่ได้จะเก็บเอาไว้เป็นทุนการศึกษาของลูกๆ


           


นางสะรีฮา เล่าอีกว่า หลังจากสามีหายไป ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เมื่อก่อนสามีจะเป็นคนกรีดยางหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ส่วนตนเองก็ทำหน้าที่เลี้ยงลูก พอสามีหายตัวไปก็ต้องออกมากรีดยางเอง ส่วนลูกที่ยังเล็กอยู่ก็จะสลับกันเลี้ยงกับแม่สามี คือแม่สามีออกไปกรีดยางตอนตี 2 กลับมาตอนเช้าก็มาเลี้ยงหลาน ตนก็ออกไปกรีดยางต่อ สลับกันอยู่อย่างนี้เกือบทุกวัน


           


ส่วนลูกๆ ที่เข้าโรงเรียนแล้ว ก็จะอาศัยเพื่อนบ้านไปส่งลูกไปโรงเรียน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเกือบ 1 กิโลเมตรน่าจะได้ แต่ถ้าไปส่งเองก็จะไปกรีดยางไม่ได้ จะไปรับไปส่งเองไม่ได้ ต้องทำงาน


"ยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสียสามี คิดว่าคงอีกนานกว่าจะทำใจได้ ตอนนี้ยังเสียใจอยู่" เธอกล่าวเพียงเท่านั้นก็นิ่งเงียบ และพยายามเก็บอารมณ์เอาไว้


 


เธอกล่าทิ้งท้ายว่า สาเหตุที่เขาไป เราก็บอกไม่ได้ว่าเขาไปทำไม แล้วเหตุการณ์มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็ดีใจที่ได้รู้ว่าเขาไม่ได้หายสาบสูญไปไหน


 


ด้านแม่สามีของนางกล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ตอนนั้นพอรู้ว่ามีคนตายมากก็หมดเรี่ยวแรงเพราะ ตกใจ สำหรับลูกชายปกติจะเป็นคนเรียบร้อยร้อย เวลาออกไปไหนก็จะกลับบ้าน ไม่นอนค้างที่อื่น แต่วันนี้ลูกชายไม่กลับบ้าน ประกอบกับมีข่าวว่า มีคนชุมนุมที่ตากใบถูกจับไปหลายคน ก็คิดว่าลูกชายคงถูกจับไปด้วย แต่เขาก็ไม่กลับมาจนกระทั่งวันนี้


           


"ฉันพยายามตามหาเขา เคยไปให้หมอดูก็มี พยายามหาทางทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพราะเราเองก็ไม่มีเงินมาก" เธอกล่าว


 


เธอเล่าต่อว่า ทางอำเภอตากใบเรียกให้ไปตรวจดีเอ็นเอ ฉันก็ไปกับลูกเขา 2 คน ไปถึงเขาก็เก็บน้ำลายไปตรวจ พอเดือนสิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา ก็มีหนังสือแจ้งว่า ศพลูกชายเป็นศพหมายเลข 5 ฝังอยู่ที่กูโบร์ (สุสานมุสลิม) บ้านตะโละมะเนาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส


 


พอลูกชายหายไป ครอบครับเขาก็ลำบาก เราก็ยากจะช่วย แต่ถ้าจะให้เงินก็คงไม่ได้เพราะเราก็ยากจนเหมือนกัน ฉันเองก็คิดถึงเขาตลอด มองดูลูกของเขาก็คิดถึง ไม่รู้ว่าต่อไปลูกๆ เขาจะอยู่อย่างไร


 


ตอนลูกชายอยู่ เมื่อเขาอยู่บ้านก็สอนอ่านคัมภีร์อัล - กุรอ่านให้ลูกๆ แต่พอไม่มีเขา ก็ต้องให้ลูกๆ เขาไปเรียนกับครูในหมู่บ้าน ซึ่งปกติจะสอนกลางคืน ถ้าเด็กๆ กลัว ก็จะไม่บังคับให้เขาไป คือตอนนี้เด็กจะกลัวทหารกับตำรวจที่เข้ามาในหมู่บ้าน ที่จริงทหารกับตำรวจเขาไม่ทำอะไรอยู่แล้ว แต่เด็กมันกลัว เราก็ไม่บังคับให้เขาไป


 


"สาเหตุของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เราก็บอกไม่ได้ว่ามันเกิดจากอะไร หรือเกิดเรื่องอะไรขึ้นบ้าง เราไม่อยากสนใจ ขอให้ได้หากิน ทำงานก็พอ ส่วนจะแก้ปัญหาอย่างไร มันก็อยู่ที่รัฐบาล เราจะไปมีส่วนแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะเราไม่มีความรู้" เธอกล่าวทิ้งท้าย


 


บางครั้งการพิสูจน์ให้ได้คำตอบที่ชัดเจนในสิ่งที่ยังคลุมเครือและคลางแคลงใจ คงจะมีส่วยช่วยทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายมากไปกว่านี้


 


...................


พบคนหายที่ตากใบ


 


รายชื่อผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายผู้ชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จำนวน 10 ราย ที่ได้รับการยืนยันตัวบุคคลแล้วจากผลการตรวจดีเอ็นเอ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2548 โดยทั้งหมดถูกฝังไว้ที่กูโบร์ตะโละมะเนาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วย (ข้อมูลจากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย)


 


1.นายอับดุลลาเต๊ะ วานิ บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 4 ตำบลกาเยาะมาตี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส


2.นายมะยูแล เงาะสีหา บ้านเลขที่ 36/3 หมู่ที่ 4 ตำบลนานาค อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส


3.นายดุลกีพือลี มะซา บ้านเลขที่ 236-7 หมู่ที่ 5 ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส


4.นายสะรี มูซอ บ้านเลขที่ 356 หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส


5.นายมะไซดี บือราเฮง บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 3 ตำบลบางปอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส


6.นายซอตี เฮง บ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 3 ตำบลเอราวัณ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส


7.นายมะกือตา ยูโซ๊ะ บ้านเลขที่ 131/2 หมู่ที่ 6 ตำบลปะลุรู อำเภสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส


8.นายอาร์ฮัม มะวิง บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 4 ตำบลกาเยาะมาตี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส


9.นายนุห์ กอเดร์ บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 1 ตำบลกาวะ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส


10.นายยะรี เจ๊ะแม บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 2 ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net