แนะนำหนังสือ : มาอ่านหนังสือ "ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งฯ" กันเถอะ (ตอนที่ 1)





แนะนำหนังสือ : มาอ่านหนังสือ "ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งฯ" กันเถอะ (ตอนที่ 1)


 

หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า  "ขงเบ้งออกศึกด้วยพัดเล่มเดียว แต่อาวุธที่สำคัญคือปัญญา" กันมาบ้าง คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ "ปัญญา" ที่จะสามารถนำมาใช้จัดการกับปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้อย่างลงตัว หลายต่อหลายครั้งที่ขงเบ้งชนะศึกโดยไม่ต้องรบ และหลายต่อหลายครั้ง ขงเบ้งเลือกที่จะประนีประนอมมากกว่าการใช้กำลังเข้าปะทะห้ำหั่นเพื่อแลกกับสันติและสงครามที่ไม่ยืดเยื้อ

 

"ปัญญา" ดังกล่าวของขงเบ้งคงจะไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ส่วนหนึ่งนั้นคงมาจากการสะสม "ความรู้" ที่หลากหลาย และต่อมาจึงจัดการประยุกต์ "ความรู้" อันหลากหลายนั้นมาเป็น "ปัญญา"  ที่สามารถใช้จัดการกับปัญหาหลายรูปแบบให้คลี่คลายไปได้โดยสูญเสียน้อยที่สุด

 

ปัญหาชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและเรื้อรัง การจัดการปัญหาแบบทื่อด้านที่เน้นการปะทะด้วยกำลังเพียงอย่างเดียว อาจเป็นเรื่องที่ดูเบาปัญญาไปสักหน่อย หากขงเบ้งต้องย้อนกลับมาเกิดในยุคนี้ก็คงจะหนักใจจนกระอักเลือดตายไปก่อนแก่ เพราะเสนอการจัดการปัญหาแบบอื่นไม่ได้ เนื่องจากท่านผู้นำคงจะเพียงรับฟังไว้แต่ไม่ทำตาม  ทั้งๆ ที่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า การใช้การความรุนแรงปะทะความรุนแรงไม่ได้ทำให้ปัญหาลดลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้น มีความหลากหลายขึ้น และมีความซับซ้อนมากขึ้น

 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงดังกล่าวลดลงไม่ได้ คือการที่สังคมขาด "ความรู้" จนไม่สามารถที่จะกดดัน รัฐบาล "ประชาธิปไตย" ที่ผู้นำนิยมแนวทาง ทหาร "ไม่ตายฟรี" ให้เข้าใจถึงการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อน ด้วยวิธีการที่มี "ปัญญา" ได้

 

ด้วยความพยายามที่จะเติม "ความรู้" ให้สังคม เพื่อให้สังคมกระตุ้นรัฐบาลใช้ "ปัญญา" ในการจัดการกับปัญหามากกว่าการใช้อารมณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มูลนิธิเอเชีย  ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง คณะรัฐศาสตร์และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ จึงร่วมมือกันจัดทำหนังสือ "ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งกรณีวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้" และจัดงานเสวนาเรื่อง "สมานฉันท์บนพื้นฐานการใช้ความรู้ : แนวทางแก้วิกฤติชายแดนภาคใต้"  โดยใช้หนังสือเล่มนี้ประกอบในงานเสวนาดังกล่าว ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19-20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

 

หนังสือดังกล่าว มีการวิเคราะห์ถึงรากฐานและแนวทางแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยใช้มุมมองทางวิชาการจากหลากหลายสาขา และการวิเคราะห์นั้นใช้ "ความรู้" ที่ศึกษาจากข้อมูลเชิงลึกในแต่ละมิติของปัญหา ซึ่งมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเป็นผู้วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดพื้นที่แห่งการอภิปรายและนำมาสู่การเสริมสร้าง "ปัญญาร่วม" ในสังคมไทย

 

สิ่งสำคัญที่ควรจะเกิดขึ้นคือ "ปัญญาร่วม" ในการยอมรับและเข้าใจในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งหากสังคมไทยไม่เข้าใจในจุดนี้จะนำมาสู่การยอมรับในนโยบายการจัดการปัญหาของรัฐบาลทุกอย่างทั้งๆ ที่ใช้ "ความรู้" มุมเดียว  ซึ่งอาจมีความผิดพลาดได้ และต่อไปสังคมก็จะยอมรับข้อผิดพลาดนั้นด้วยความขาดองค์ความรู้ที่จะนำมาวิเคราะห์ความผิดพลาดในนโยบายนั้นๆ ของรัฐบาล ในขณะที่รัฐบาลเองก็มักสื่อสารให้สังคมเห็นในแง่มุมเดียวอยู่เสมอ 

 

ผศ.อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต นักวิชาการประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขียนบทความ "ปอเนาะกับการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้" และเป็นบุคคลแรกที่อภิปรายในเวทีเสวนา วันที่ 19 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์ โดยอธิบายถึง 4B ที่เป็นรากเหง้าของปัญหาในภาคใต้ และวิเคราะห์เกี่ยวกับในปอเนาะในมุมมองที่แตกต่างจากรัฐบาลไว้ในหนังสืออย่างละเอียด แต่ก็เข้าใจง่าย

 

4 B ที่ ผศ.อิบราเฮ็ม กล่าวถึง มีดังนี้

B1 ได้แก่ Background หรือ ความเป็นมลายูทางประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดกลุ่มที่มีอุดมการณ์ในการที่จะต่อสู้กับรัฐไทยและต้องการที่จะแบ่งแยกดินแดนชัดเจน ความรุนแรงของปัญหาก็ขึ้นกับความเข้มแข็งของ กลุ่มนี้

 

B2 ได้แก่ Benefits หรือกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งในอดีตมีความชัดเจนว่ามีความเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ คือ คนในพื้นที่จะรู้กันว่าช่วงที่มีการจัดสรรงบประมาณลงในพื้นที่ ความรุนแรงก็จะมีมากในช่วงนั้น

 

B3 ได้แก่ Beliefs หรือ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งมีความแตกต่างที่สร้างความไม่เข้าใจกันกับส่วนกลางมาก เช่น การคลุมผ้าของผู้หญิงในอดีต จะถูกรัฐมองว่าเป็นเรื่องของชาวอาหรับ ไม่ใช่เรื่องของศาสนา เป็นความไม่เข้าใจของรัฐ แต่การต่อสู้ของกลุ่มนี้ จะไม่ใช้ความรุนแรง หากไม่พอใจและต้องการเรียกร้องจะเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ เช่น การรวมกลุ่มประท้วง

 

B4 ได้แก่ Bureaucrat หรือความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ในกรณีตากใบ ในกรณีนี้จะมีผลอย่างมากที่กระตุ้นให้กลุ่ม B3 โยกตัวไปเป็นกลุ่ม B1  เพราะความเคียดแค้น ทั้งๆที่ไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่การโยกไปกลุ่มB1 คือการใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องศักดิ์ศรีและความยุติธรรม

 

ที่ผ่านมา รัฐเองก็ไม่สามารถแยก กลุ่ม B1 กับ กลุ่ม B3 ได้ และใช้นโยบายที่เหมารวมทำให้ชาวมุสลิมมีความกลัว และบานปลายจนกลายเป็นปัญหาความหวาดระแวงระหว่างกัน

 

ส่วนสาเหตุที่วิเคราะห์ว่า กลุ่ม B3 หรือศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงก็เพราะ หากศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ฝ่ายโลกมุสลิมในระดับสากลจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และความยุ่งยากที่มากกว่านี้จะตามมาทันที

 

เรื่องของปอเนาะและปัญหาที่มาจากปอเนาะนั้น ผศ.อิบราเฮ็ม เสนอว่า ควรประเมินให้เป็นเรื่องจากตัวบุคคลมากกว่า เพราะตามหลักที่ปอเนาะสอนนั้นจะมุ่งไปที่หลักธรรมและสันติภาพ ดังนั้นถ้าเรียนรู้ผ่านปอเนาะที่สอนอย่างถูกต้องจริงๆจะทำให้เป็นผู้รักสันติ

 

ผศ. อิบราเฮ็ม อธิบายถึง ปอเนาะอีกว่า  เป็นคำที่มาจากภาษาอาหรับ แปลว่า ที่พัก มาจากลักษณะที่ผู้มาเรียนศาสนาอิสลาม จะสร้างที่พักอาศัยบริเวณรอบๆ บ้านของโต๊ะครู ที่อยู่ตรงกลาง ใกล้บ้านโต๊ะครูจะมีบ้านใหญ่เป็นที่สำหรับเรียน ทั้งนี้ ปอเนาะแต่ละแห่งจะมีโต๊ะครูเพียงคนเดียวเป็นผู้สอนศาสนา ซึ่งคำสอนจะไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีระดับของชั้นเรียน

 

ปอเนาะ จะมีส่วนในการสร้างคนในพื้นที่ให้เรียนรู้ภาษามลายูได้ เป็นการเพาะบ่มให้คนรักภาษา ซึ่งสำหรับชาวมุสลิมมลายูนั้น ภาษามลายู มีนัยยะที่หมายถึงศาสนาอิสลามด้วย เช่นเดียวกับคำว่า ไทย หรือสยาม ในความรู้สึกของคน 3 จังหวัด จะหมายถึงพุทธศาสนา

 

ปอเนาะยังมีส่วนสร้างผู้นำทางศาสนาหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ คือทำให้ผู้นำท้องถิ่นเป็นผู้ได้รับการนับถือสูงสุด และในบางครั้ง คนใน 3 จังหวัดอาจจะเชื่อผู้นำท้องถิ่นมากกว่า จุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาอิสลามสูงสุด

 

ในขณะเดียวกัน ปอเนาะก็สร้างให้คนที่ผ่านปอเนาะมีคุณลักษณะบางอย่าง คือจะเป็นคนที่พอใจกับการใช้ชีวิตแบบง่ายๆ คล้ายๆกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นคนที่ดูสงบ ซึ่งจะกลายเป็นอัตลักษณ์พิเศษ

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------





ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนะนำหนังสือ : มาอ่านหนังสือ "ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งฯ" กันเถอะ (ตอนที่ 2)

ดูความคิดเห็นท้ายข่าว.. แนะนำหนังสือ : มาอ่านหนังสือ "ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งฯ" กันเถอะ (ตอนที่ 1) 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท