Skip to main content
sharethis


ประชาไท 26 ตุลาคม 2548 - ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย ได้พูดถึงเรื่อง การจัดการเกษตรที่สูงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยได้ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมา รัฐมุ่งพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงให้เหมือนกับระบบพัฒนาเมือง ด้วยการนำงบประมาณเข้าไปในชุมชนเพื่อพัฒนาทางด้านวัตถุ โดยเอาปริมาณเป็นตัวตั้ง จนทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่าคนบนพื้นที่สูงนั้นเปลี่ยนไป

 


"จากอดีต ชนเผ่าเคยอยู่กับระบบการเกษตรแบบยังชีพ ต้องเปลี่ยนเป็นระบบการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกพืชเช่น ขิง กะหล่ำ มันฝรั่ง รวมไปถึงการปลูกส้ม ลิ้นจี่ ซึ่งรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างแท้จริง สุดท้าย ก็ถูกระบบทุนครอบงำ และหากเป็นเช่นนี้ การเกษตรบนพื้นที่สูงในอนาคตก็จะกลายเป็นของนายทุนทั้งหมด" นางเตือนใจ กล่าว


 


นางเตือนใจ ยังเสนอทางออกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในประเด็นที่ชุมชนบนพื้นที่สูงมักจะถูกมองว่า คือสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ว่า พื้นที่การเกษตรจะต้องสมดุลกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และต้องมีมาตรการในการจัดการกับปัญหาการพังทลายของหน้าดิน เช่น การปลูกหญ้าแฝก ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นต้น


 


"นอกจากนั้น จะต้องคำนึงถึงพันธุ์ไม้พันธุ์พืชที่ใช้ในการเพาะปลูกในเขตพื้นที่สูง ซึ่งอาจจะหันมาส่งเสริมให้มีการปลูกพืชพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่ดั้งเดิม และต้องลดการใช้สารเคมี เพื่อรักษาหน้าดิน รวมไปถึงการจัดการระบบน้ำในการเกษตรบนพื้นที่สูง และที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่า การพัฒนานั้นจะต้องพัฒนาให้สอดคล้องควบคู่ไปกับการใช้วิถีชีวิตของคนบนดอยด้วย ไม่ใช่ไปเอาวิถีคนเมืองไปส่งเสริมพวกเขาอย่างที่ผ่านมา" นางเตือนใจ กล่าว


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net