Skip to main content
sharethis


ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้สัมภาษณ์แก่ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ถึงสถานการณ์ปล้นปืนคืนวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ในทั่วพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า

 


"ไม่อยากเรียกว่าเป็นการปล้นปืน เพราะถ้าเป็นการปล้น ต้องมีผู้เสียชีวิตมากมาย บางทีอาจจะเป็นการยอมจำนน รวมทั้งไม่มีการดูแลรักษาปืนของรัฐอย่างรัดกุม บางที่เอาปืนพิงฝาไว้ น่าจะเป็นการช่วงชิงปืนมากกว่า มหาดไทยต้องสร้างจิตสำนึกในการรักษาอาวุธให้ปลอดภัย เพราะปืนเหล่านั้นจะกลับมาทำร้ายคนในพื้นที่เอง


 


สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่เหตุการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม แต่เป็นเพียงการรักษาระดับความรุนแรงให้เป็นไปตามปกติ


 


มีการวางกำหนดระยะเวลาปฏิบัติการ วางแผนเป็นระบบ พวกที่ก่อเหตุไม่สงบรายวันก็ทำปกติ ส่วนแผนที่จะปล้นปืนก็อีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการครบรอบเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งทางราชการมักจะมองว่าการปฏิบัติการต้องกระทำในวาระครบรอบความรุนแรง เพราะเมื่อคิดเช่นนี้จึงมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุรุนแรง ผู้ก่อการสามารถที่เลือกพื้นที่อื่นเพื่อก่อเหตุได้ เพราะไม่จำเป็นต้องก่อเหตุในพื้นที่เดิมเสมอไป"ผศ.ชิดชนก กล่าว


 


กลุ่มก่อการเตรียมพร้อมตลอดเวลา มีการวางแผนการกระทำซึ่งไม่นับการฆ่ารายวันเท่านั้น แต่เหตุการณ์ใหญ่ๆ ก็มีการเตรียมพร้อม แล้วแต่ว่าจะเลือกดี-เดย์วันไหนเท่านั้นเอง


 


เหตุผลในการช่วงชิงปืน คือการตอบโต้การท้าทายจากคำพูดของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่บอกว่าจะปะทะ โดยโชว์กำลังให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีการตรึงกำลังทหารมากมายขนาดไหน ก็ไม่สามารถหยุดการก่อเหตุได้ เหมือนเป็นการตบหน้ารัฐ โดยสามารถเลือกวันที่เหมาะสมปฏิบัติการได้ เพราะเป็นผู้บังคับวิถีการต่อสู้ที่รัฐต้องเดินตามเกม ไม่รู้ว่าจะเกิดที่ไหน เมื่อไร ทายใจไม่ถูก


 


การที่ผู้ก่อการเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เพราะเป็นพลเรือนที่ไม่มีศักยภาพในการรักษาทรัพย์สินของทางราชการและชีวิตตนเอง


 


ถ้าบุคคลที่ถูกยิงเป็นคนร้าย ซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ด้วยนั้น อาจตีความได้ว่าจะต้องมีคนพื้นที่ชี้ทางให้ และชี้บ้าน ชรบ. เพราะการจะหาบ้านของ ชรบ.แต่ละคนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ บางคนอยู่ซับซ้อน สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วยังมีแนวร่วมในพื้นที่มากมายมหึมา ที่รัฐออกมาบอกว่ามวลชนพัฒนาของทหารประสบความสำเร็จ ตำรวจดีขึ้น ความร่วมมือจากชาวบ้านดีขึ้นนั้น มันไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่เข้าใจ


 


"ความต้องการอาวุธของกลุ่มผู้ก่อการอาจจะมีอยู่ตลอด แต่การวางแผนที่จะก่อเหตุเพื่อให้ได้อาวุธด้วยแล้วได้ตอบโต้อำนาจรัฐด้วย เห็นได้ชัดว่ากลุ่มผู้ก่อการจะเลือกโอกาสมากกว่า โดยไม่เลือกวัน สถานที่ที่มีความหมายเพราะรัฐให้ความสำคัญกับการครบรอบมากเกินไปจนทำให้ดูแลเป้าอื่นๆ ไม่ทั่วถึง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net