บทความ : เกษตรกรไทยทัวร์สหรัฐอเมริกา

อติชาต เกตตะพันธุ์

kettapun@hotmail.com

18 ตุลาคม 2548

 

..................................................

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้มีโอกาสไปฟังชาวนาและสมาชิกจากสหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์จำกัด พูดเกี่ยวกับเรื่อง "ชาวนาไทยที่ปลูกข้าวแฟร์เทรด : นำเสนอจากประสบการณ์ตรง" (Fair Trade Rice Farmers From Thailand : Speak about their experiences)  ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟลอเนียร์ ณ เมืองซานตาครูซ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ช่วยเปิดมุมมองเรื่องการทำการเกษตรในเมืองไทยเป็นอย่างดี ทั้งในแง่การสนับสนุนของภาครัฐ การผลิตข้าวในประเทศไทย รวมถึงการส่งออก

 

 

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการทัวร์สหรัฐอเมริกาของชาวไทยสามคน ซึ่งจัดโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ ENGAGE (Educational Network for Global and Grassroots Exchange) องค์กรนี้ได้พาชาวไทยเหล่านั้นไปพูดคุยให้คนอเมริกันตื่นตัวและสนับสนุนข้าวแฟร์เทรด โดยเริ่มจากฝั่งตะวันออกไปถึงฝั่งตะวันตกของประเทศในหลายพื้นที่ อาทิ รัฐเมน กรุงวอชิงตันดีซี  เมืองชิคาโก เมืองลอสแองเจลิส และเมืองซานฟรานซิสโก นอกจากนี้ก็ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรรายย่อยในประเทศนี้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการทัวร์ที่เข้มข้นมาก โดยใช้เวลาเวลานานถึง 3 สัปดาห์

 

ในการพูดคุยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟลอเนียร์ ณ เมืองซานตาครูซ มีผู้ร่วมงานที่เป็นอาจารย์และนักศึกษาที่ทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผู้สนใจทั่วไปจำนวนมากกว่า 20 คน  มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักศึกษาไทยในปีการศึกษานี้น้อยมาก แต่ก็มีนักศึกษาไทยมาฟังสองคน คือ ตัวผมเองและนักศึกษาอีกคนหนึ่งซึ่งไม่เคยพบกันมาก่อน

การพูดคุยครั้งนี้คุณกัญญา อ่อนศรี ได้เล่าถึงประสบการณ์ตรงของเธอให้ฟังว่า ข้าวเป็นวิถีชีวิตของคนไทย ครอบครัวเธอทำนากันมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว ทานข้าววันละ 3 มื้อ (เรื่องนี้ฝรั่งส่วนมากไม่รู้นะครับ) ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนทั้งงานบวชและงานแต่งก็ใช้ข้าวทั้งนั้น และเธอคิดว่าอยากจะเป็นชาวนาตลอดไป เธอเล่่าต่อว่าในอดีิตนั้นเมืองไทยปลูกข้าวแบบธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ยา คนในชุมชนก็สามารถมีอยู่มีกินได้ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีการปฏิวัติเขียว คือรัฐส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือปลูกพืชชนิดเดียว ควบคู่ไปกับใช้สารเคมีต่างๆ ทั้งยาและปุ๋ย ซึ่งต้องมีเงินมาลงทุน ค่ายาค่าปุ๋ยนั้นเพิ่มขึ้นทุกปีๆ แต่ราคาผลผลิตกลับไม่สูงขึ้นตาม  เกษตรกรก็เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติต่างๆ ก็เปลี่ยนไป คนในชุมชนเริ่มขายที่มาใช้หนี้ และอพยพเข้าเมืองเพื่อหางานทำ กลุ่มวัยรุ่นก็เิริ่มอพยพไปอยู่ในเมืองกับพ่อแม่ และไม่อยากทำการเกษตรอีก โดยถือว่าเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ  คนทำนาก็น้อยลง  คนไทยมีปัญหามากขึ้นเมื่อคนไปขายแรงงานในเมืองมากขึ้นค่าแรงจึงถูก ต่อมาเกษตรกรในมุชนของเธอเริ่มปลูกข้าวอินทรีย์

และรวมตัวกันเพื่อส่งข้าวขายในราคายุติธรรม

 






 

"ปลูกทุกอย่างที่เรากิน และกินทุกอย่างที่เราปลูก"

ภาคภูมิ อินทร์แป้น - เกษตรกรรายย่อย จ.สุรินทร์

 

หลังจากคุณกัญญาเปิดประเด็นแล้ว คุณภาคภูมิ อินทร์แป้น ซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรรายย่อยอีกท่านหนึ่ง ได้พูดในเรื่อง "การทำเกษตรทางเลือก" โดยชี้ให้เห็นว่าในอดีตนั้นรัฐได้ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการปลูกพืชชนิดเดียวเพื่อขายเป็นสำคัญ ซึ่งต้องใช้ยาและปุ๋ยเคมีมาก และได้ส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น สุขภาพ จนต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ และบางคนก็ถึงกลับเสียสติ จากนั้นจึงรู้สึกกลัวและงดการใช้สารเคมี พอเริ่มมาทำข้าวที่ไม่ใช้ยาและุปุ๋ยเคมีหรือที่เรียกว่าข้าวอินทรีย์ก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่ทางออกสำหรับเกษตรกรทั่วไปที่จะเอาไปใช้ได้ เพราะข้าวจากนา 10-20 ไร่มันไม่พอกับรายจ่ายที่มีทุกปี จึงเริ่มมาทำเกษตรผสมผสาน คือปลูกพืชหลายอย่าง รวมทั้งเลี้ยงสัตว์ด้วย โดยปลูกเพื่อกินไม่ใช่เพื่อขายเป็นส่วนใหญ่ ดังคำที่ว่า "ปลูกทุกอย่างที่เรากิน และกินทุกอย่างที่เราปลูก" มีการรวมตัวกันในชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันทำเกษตรที่ยั่งยืน ให้มีอาหารพอเพียงกับคนในชุมชน และเมื่อมีเหลือก็จะขายให้กับคนชุมชนอื่น เช่น คนในเมือง โดยทำตลาดทางเลือกในการขายสินค้า ตลาดนี้เปิดสำหรับผู้ผลิตที่ไ่ม่ใช้สารเคมีเท่านั้น และเน้นขายตรงแก่ผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงที่ดีต่อกัน

 

 

ต่อมาคุณภาคภูิมิเปิดประเ็ด็นเรื่องข้าวแฟร์เทรดว่า ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อจัดขายข้าวในลักษณะของข้าวแฟร์เทรด โดยเริ่มขายในยุโรปก่อน แต่ต่อมาผลผลิตเยอะขึ้นก็เลยเริ่มหาตลาดเพิ่ม ซึ่งเริ่มมีการขายข้าวแฟร์เทรดในสหรัฐอเมริกาในเดือนที่ผ่านมา ตอนนี้มีเกษตรกรหลายชุมชนในเมืองไทยที่อยากขายข้าวแฟร์เทรดแต่ก็ช่วยไม่ได้มาก เพราะไม่มั่นใจว่าจะหาตลาดให้ได้ นี่ก็เป็นเหตุผลหลักอันหนึ่งในการมาพูด ณ เมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา  คุณภาคภูิมิพูดต่อว่าข้าวแฟร์เทรดน่าจะเป็นหนทางช่วยเกษตรกร ที่มีทุนก็น้อย และขาดแคลนเครื่องมือ การค้าระบบแฟร์เทรดนี้จะทำให้เกษตรกรขายข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาทั่วไป โดยได้เงินรีเมียม (premium) ซึ่งเป็นเงินที่จะใช้ไปส่งเสริมให้มีเกษตรกรลักษณะีนี้เพิ่มขึ้น  ส่งเสริมชาวบ้านรวมกลุ่มขายของกันเอง  เมื่อก่อนได้ส่งข้าวให้พ่อค้าที่โรงสี ก็มีปัญหาทั้งตาชั่งและราคา พ่อค้าบอกน้ำหนักเท่าใดก็ต้องตกลงตามนั้น และยังบอกว่าข้าวไม่ถึงมาตรฐานบ้างจากนั้นก็รับซื้อข้าวในราคาที่ถูกกว่าราคาที่ประกาศรับซื้อ ปกติเกษตรกรก็มักจะไม่ทราบว่าที่เถ้าแก่โรงสีพูดนั้นจริงหรือไม่ ก็มักจบลงด้วยการขายข้าวตามราคาที่ได้รับการเสนอมา แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ พวกเถ้าแก่โรงสีนี้ก็รวยขึ้นๆ และขยายกิจการใหญ่โต  สำหรับระบบแฟร์เทรดนี้ชาวนาได้ตั้งโรงสีกันเอง โดยชั่งข้าวเอง สีข้าวเอง และส่งขายด้วยกัน ในช่วงท้ายของการพูดคุณภาคภูิมิก็โยนลูกให้กับผู้พูดคนต่อไป

 

คนสุดท้ายนี้ไม่ได้เป็นชาวนาแต่ก็เป็นสมาชิกของเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกภาคอีสาน (ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่สุรินทร์ด้วย) คุณอารัติ แสงอุบล ชี้แจงว่ากลุ่มที่ตนสังกัดมีเป้าหมายเพื่อสร้างเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดกลุ่มเหล่านี้ทั่วประเทศไทย ตอนนี้มีสมาชิกทั่วทั้ง ๔ ภาค ใน ๑๙ จังหวัด จากนั้นได้ย้ำว่าเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยนั้นก็มีปัญหาคล้ายกับเกษตรกรทั้งสองคนที่เพิ่งพูดเสร็จ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรที่ปลูกพืชที่ตนไม่ได้กินได้ใช้  อาจกล่าวได้ว่าคนที่เริ่มเข้ามาสู่เกษตรยั่งยืนและทำการค้ากันเองนั้นยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศ  คุณอารัิติมองว่า นโยบายการพัฒนาเกษตรของชาตินั้นไม่เห็นว่าคนข้างล่างสามารถพัฒนาตนเองได้ แต่ให้ความสำคัญกับพวกบริษัท   ในเรื่องปุ๋ย ยา ปัจจัยการผลิต และการเปลี่ยนแปลงเมล็ดพันธุ์ ได้ถูกประชาสัมพันธ์จากบริษัทที่ได้กำไรโดยตรงจากกิจการเหล่านั้น รวมทั้งเรื่ืองการค้าเสรีนั้นก็ไม่ได้เกิดประโยชน์กับคนจนแต่เกิดกับบริษัทขนาดใหญ่

คุณอารัติได้พูดเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหรัฐอย่างน่าสนใจว่า ยังมีการตกลงกันไม่เรียบร้อยและการเจรจานี้จะไม่ก่อประโยชน์แก่เกษตรกรรายย่อย สินค้าเกษตรของสหรัฐแม้ต้นทุนสูงมาก แต่สามารถส่งออกในราคาที่ถูกมากเพราะได้รับการอุิดหนุน (subsidize) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา  จากการไปเยี่ยมเกษตรกรรายย่อยที่รัฐอิลินอยส์ เกษตรกรที่นั่นก็ย้ำว่าเขาอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐทุกปี อย่างข้าวโพดนี้เขาส่งมาขายกิโลกรัมละ ๔ บาท ในขณะที่เมืองไทยขายกิโลกรัมละ ๗ บาท  มองโดยรวมแล้วล่าสุดรัฐบาลสหรัฐอุดหนุนภาคการเกษตรมากถึง ๑๘๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ ๗.๒ ล้านล้านบาท) ต่อปี

 

หากพวกเราพิจารณาถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ถือได้ว่าการทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรแฟร์เทรดนี้ มีความสอดคล้องกันเป็นอย่างยิ่ง โดยเ้น้นการปลูกเพื่อใช้อยู่กินในครัวเรือน ที่เหลือก็ส่งขาย และนี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้นส่งผลดีกับสังคมโดยรวมหลายด้าน การไม่ใช้สารเคมีนั้นมีผลดีกับสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยตรง และยังมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ชาวนาไทยแฟร์เทรดยังได้ขายสินค้าคุณภาพในต่างประเทศในราคาที่สูงกว่า้ท้องตลาดซึ่งเป็นเพิ่มมูลค่าการส่งออกแก่ประเทศไปพร้อมกัน

 

อันที่จริงเรื่องแฟร์เทรดนั้นไม่ได้ทำกับ "ข้าว" เท่านั้น แต่ได้ทำกับกาแฟ ชา โกโก้ ช็อคโกแลต น้ำตาล และกล้วย อีกด้วย ซึ่งได้ช่วยเหลือเกษตรกรในหลายทวีปทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกานั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงในการขายกาแฟแฟร์เทรดจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ส่วนเรื่องแฟร์เทรดในเอเชียนั้นยังเป็นที่รู้จักน้อยมากจึงยากที่จะทำตลาดทางด้านนี้ในขณะนี้

 

การมาเยือนของชาวไทยทั้งสามคนนี้สรุปแล้วก็มาเพื่อสร้างตลาดข้าวไทยแฟร์เทรด และต้องการสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติ ทั้งกับเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มองค์กรต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา  ซึ่งสร้างความตื่นตัวให้กับคนในสหรัฐฯ ได้ไม่น้อย ดังเช่น ในการคุยที่เมืองซานตาครูซก็มีผู้ถามว่าจะซื้อข้าวแฟร์เทรดได้ที่ไหน รวมถึงการพูดคุยกันของกลุ่มคนไทยในสหรัฐที่อยากสนับสนุนการขายข้าวไทยแฟร์เทรด เรื่องข้าวแฟร์เทรดนี้ถ้าได้รับการสนับสนุนจากคนไทยในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทั้งในแ่ง่การซื้อมาบริโภคและการประชาสัมพันธ์ก็น่าจะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยในไทยได้ฟื้นตัวได้มากยิ่งขึ้น

 

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

 

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก ณ เว็บไซต์สยามเสวนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท