Skip to main content
sharethis


 



 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ข้อเสนอสมานฉันท์ มุ่งจะแก้ปัญหาของพลเมืองไทยโดยรวม มิใช่คนหมู่เหล่าใดเป็นพิเศษ มุ่งจะแก้ปัญหาในระยะยาวที่มีผลต่ออนาคตของคนรุ่นต่อๆ ไป ที่สำคัญเป็นการมุ่งแก้ปัญหาบนฐานความจริงคือพลังความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย อาศัยศักยภาพในการทำงานเพื่อความยุติธรรม พลังของชุมชน และสันติวิธีในสังคมไทยเป็นแนวทางสร้างสรรค์สังคมไทยให้เข้มแข็งมั่นคง พร้อมเผชิญกับการท้าทายรูปแบบต่างๆ ในอนาคต


 


วิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างยั่งยืน : ข้อเสนอสมานฉันท์สำหรับสังคมไทย


ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ชาวไทยพุทธเป็นชนกลุ่มน้อย ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างคนเหล่านี้และชนกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เป็นไปตามธรรมชาติ ทั้งรักใคร่เกื้อกูลและมีอคติต่อกันตามสมควร แต่คนทั้งสองกลุ่มก็อยู่ร่วมกันมาได้ เมื่อความรุนแรงอย่างเข้มข้นปรากฏนับแต่ต้นปี 2547 ความรู้สึกของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ย่อมจะเป็นที่คาดเดาได้ไม่ยาก


 


ขณะนี้ทหารบางส่วนในพื้นที่จึงรู้สึกว่าความรู้สึกของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีความเป็นธรรม แต่ก็มีมากที่เป็นผลมาจากถูกคนยุยงและคิดเอาเองตลอดเวลา ขณะนี้ผู้ก่อการทำงานของตนมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ต้องทำงานตลอดเวลา หามรุ่งหามค่ำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นฝ่ายตั้งรับตลอดเวลา


 


ฝ่ายตำรวจก็รู้สึกเกิดความท้อแท้และกำลังใจถดถอย ครูไทยพุทธเองก็รู้สึกว่า เวลาที่กอส.พูดถึงกรณีกรือเซะ ตากใบ ต้องพูดถึงกรณีอื่นๆ ด้วย ขณะที่กลุ่มประชาชนไทยพุทธจำนวนหนึ่งเห็นว่า รัฐไม่มีความเป็นธรรมต่อไทยพุทธ ปล่อยให้ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูมีอภิสิทธิ์ และเห็นว่าความรู้สึกของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู จะเปราะบางมาก จนใครอื่นกระทบแทบไม่ได้เลย


 


วิธีแก้ปัญหาความรุนแรงซึ่งคุอยู่ด้วยความกลัว ความระแวงต่อกัน ต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงในสังคมไทยว่า มีความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาวัฒนธรรมดังนั้นจำเป็นต้อง ได้ยิน เสียงของคนชายขอบหรือคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ในระดับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียงของคนไทยพุทธจึงเป็นเสียงสำคัญที่รัฐและคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องรับฟัง ขณะเดียวกันในระดับประเทศ เสียงของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ก็เป็นเสียงที่ผู้คนพลเมืองไทยส่วนใหญ่ควรต้องได้ยินด้วย


 


สมานฉันท์ 1 : แก้ปัญหาความรุนแรงที่โครงสร้าง


 


1.      ออกกฎหมายให้สิทธิชุมชนจัดการทรัพยากรบนฐานความเชื่อทางศาสนา


พื้นที่สีแดงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 257 หมู่บ้าน จากจำนวน 1,638 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 15.69 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด  ที่น่าสนใจคือ มีหมู่บ้านสีแดง 120 แห่ง หรือร้อยละ 46.69 ของจำนวนหมู่บ้านสีแดงทั้งหมด ที่มีความขัดแย้งทางทรัพยากร คือปัญหาอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน และถ้าพิจารณาจังหวัดปัตตานีเฉพาะในอำเภอที่ติดชายฝั่งทะเล พบหมู่บ้านสีแดง ถึง 44 หมู่บ้านหรือร้อยละ 58.67 ของจำนวนหมู่บ้านติดฝั่งทะเลทั้งหมด 75หมู่บ้าน


 


ถ้าสีแดงของหมู่บ้านเกิดขึ้นเพราะความรุนแรงก็เป็นไปได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางทรัพยากรอยู่ด้วย ความกดดันทางทรัพยากรย่อมผลักชาวบ้านเข้าสู่มุมอับแห่งความยากจน


 


วิธีลดความรุนแรงทางหนึ่งคือลดความกดดันทางทรัพยากร โดยให้สิทธิชุมชนจัดการทรัพยากร รัฐต้องเร่งตรากฎหมายรองรับรัฐธรรมนูญมาตรา 56 ที่ระบุว่า สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ


 


2. คงสภาพความหลากหลายในระบบการศึกษา-เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาสามัญ-และให้ความสำคัญกับนักเรียนไทยในต่างประเทศ


รัฐไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้ความหลากหลายในระบบการศึกษาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีทั้งการจัดการศึกษาทั้งวิชาสามัญ และวิชาศาสนานั้นลดลงหรือหมดไป ที่ควรระวังคือ ป้องกันไม่ให้แตกแยกกันในทางวัฒนธรรม ชนิดที่เด็กไทยพุทธและเด็กไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูแยกกันเรียนมากขึ้น


 


ควรแก้ไขปรับปรุงการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา โดยให้ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับนักเรียนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนวิชาสามัญ ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการเรียนวิชาสายสามัญ เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้มีทางเลือกในชีวิตเพิ่มขึ้น ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกเดินทางเข้าไปในตลาดงานในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ หรือจะเลือกเส้นทางทำกินของปู่ย่าตายายก็ตาม


 


สำหรับนักเรียนไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศโดยเฉพาะในโลกมุสลิม ก็ควรส่งเสริมให้เขามีทางเลือกให้มาก ไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาด้านศาสนาเท่านั้น สถานทูตไทยทุกแห่งรวมทั้งในโลกมุสลิมควรเอาใจใส่ดูแลเด็กไทย สร้างความผูกพันช่วยเหลือเขาในฐานะเด็กไทยในต่างแดน เมื่อคนเหล่านี้กลับมาบ้าน ก็เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำงานในสังคมไทยอย่างเหมาะสมกับคุณวุฒิของตน


 


3. สร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรม และเสริมความเข้มแข็งของสังคมด้วยการให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมรักษาความยุติธรรม


เงื่อนไขแรกก่อนจะเสริมสร้างประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ต้องเริ่มจากการสลายเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเสียก่อน ซึ่งอาจทำได้โดยสร้างกลไกช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจน แสดงให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าประจักษ์ชัดว่า รัฐไม่เลือกปฏิบัติ ทำความจริงให้ปรากฏในเรื่องที่ชาวบ้านทุกข์ร้อน เช่นเรื่องคนหาย และใส่ใจกับเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย เช่นเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาในที่คุมขังได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเหมาะสม และเร่งคืนของกลางให้เจ้าของเมื่อหมดความสำคัญต่อคดีแล้ว


 


การเสริมสร้างประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบคือ การเสริมสร้างบทบาทของประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมกระบวนการชุมชนบำบัด เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างครบวงจร ตั้งหน่วยพิทักษ์ยุติธรรม ให้ทุกฝ่ายในพื้นที่มามีส่วนร่วมเพื่อตรวจสอบ เปิดพื้นที่ให้เยาวชนทุกศาสนาวัฒนธรรมในประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมในฐานะยุวชนยุติธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวทางนี้จะช่วยให้ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมแก่วัยรุ่นซึ่งมักจัดว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรง ทำให้เขาเห็นว่าพวกตนมีพลังอำนาจที่จะทำประโยชน์เพื่อความเป็นธรรมให้พี่น้องของเขาได้ อีกทั้งได้ทำงานร่วมกับภาครัฐและเยาวชนต่างศาสนา อันจะช่วยให้สายสัมพันธ์ทั้งระหว่างรัฐกับประชาชน และ ระหว่างเยาวชนด้วยกันเองเข้มแข็งขึ้น


 


4. เสริมสร้างให้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้


จัดให้มีคณะกรรมการนโยบายสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพลเรือน ผู้แทนทั้งฝ่ายการเมือง ศาสนา และธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ระดับเจ้าหน้าที่ ผลักดันให้ภาครัฐไม่สร้างเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มซึ่งเลือกใช้ความรุนแรงนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้ เพื่อลดโอกาสในการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้


 


ระดับรัฐบาลส่งเสริมให้ผู้บริหารประเทศส่งสัญญาณฐานะการนำในการนำนโยบายสันติวิธีให้ชัดเจน ที่สำคัญต้องแยกแยะให้ได้ว่า การถือว่าสันติวิธีเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ผลักดันประเทศต่างจากการถือว่าสันติวิธีเป็นเพียงยุทธวิธีประกอบยุทธศาสตร์ ด้านอื่นๆ


 


นอกจากนั้นควรดำเนินการเพื่อให้รัฐบาลเร่งรัดตรวจสอบทบทวนข้อกฎหมายและระเบียบที่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ในการส่งเสริมสันติวิธีของภาคประชาชน รวมทั้งตรากฎหมายประกอบที่จำเป็น


 


ระดับระหว่างประเทศ สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมในประเทศ และในโลกมุสลิม โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธี บนฐานศาสนาอิสลามที่โลกมุสลิมยอมรับ ปรับปรุงความเข้มแข็งทางการทูตระหว่างประเทศมุสลิมเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันปัญหาความรุนแรงในระดับภูมิภาค


 


5.      ลดทอนปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ด้วยการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ


ความรุนแรงเป็นผลส่วนหนึ่งของการผูกรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองอย่างเข้มข้น ถ้าจะให้ความรุนแรงเจือจางลง ก็ต้องลดการผูกขาดอำนาจรวมศูนย์ในประเทศ เช่น พัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อม หรือในทางกลับกันกำลังประสบกับภัยความรุนแรงอยู่ ให้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ อาศัยวิธีการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาผ่อนเบาปัญหาความรุนแรง โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ


 


สร้างสมานฉันท์ 2 : แก้ปัญหาความรุนแรงที่ชั้นวัฒนธรรม


 


1.      ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในขอบเขตทั่วประเทศที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในสังคมไทย


จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนทั้งชาติว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นทั้งมรดกทรงค่าจากประวัติศาสตร์ไทย และเป็นความจริงทางสังคม ซึ่งกระทำได้ทั้งด้วยการปรับปรุงปฏิรูปการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และให้การศึกษาสังคมไทยโดยรวมผ่านสื่อสาธารณะ เปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติอย่างภาคภูมิ ให้ประวัติศาสตร์ชุมชนอันหลากหลายเป็นรากฐานอันมั่นคงของประวัติศาสตร์ ประเทศไทย ให้ตระหนักในความงดงามของวัฒนธรรมที่หลากหลาย และความลุ่มลึกของศาสนธรรมที่ผู้คนในสังคมนี้ใช้เป็นประทีปนำชีวิตของเขา


 


2.      ส่งเสริมสันติวิธีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในการเผชิญความขัดแย้งทั้งประเทศ


ต้องทำให้สังคมไทยเผชิญกับความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงในสังคมไทย และวัฒนธรรมที่รองรับให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงที่เป็นอยู่ในสังคม พร้อมๆ กับส่งเสริมทางเลือกสันติวิธี ให้สังคมไทยตระหนักในตัวอย่างผู้คนที่หลากหลายทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้ด้วยสันติ


 


ควรให้ความสำคัญกับทุนทางสังคม เช่น คำเทศนาทางพุทธศาสนา และคุตบะห์(บทเทศนาของมุสลิม) วันศุกร์ ในทางที่ลดความชอบธรรมต่อวิธีการรุนแรงในการแก้ปัญหา


 


ข้อเสนอของกอส.มีลักษณะพิเศษ 3ประการ


 


1. พยายามสร้างชุมชนทางการเมืองขึ้นมาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อาศัยพลังชุมชนเป็นกำลังหลักในการแก้ปัญหาในลักษณะที่เป็นอิสระและเสมอภาค มีเป้าหมายในการสร้างสังคมการเมืองรักสันติที่ทั้งเป็นไทและหลากหลายทางวัฒนธรรม


 


2. เปลี่ยนเอกลักษณ์ไทยให้เป็นอัตตลักษณ์ไทยอันหลากหลาย ใช้รัฐธรรมนูญเป็นกรอบประกันความเสมอภาค เปิดทางให้ไปในทิศทางที่รับความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม


 


3. การประคับประคองและปฏิรูปเศรษฐกิจชายแดนใต้ เปิดกว้างให้พวกเขาพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐเป็นฝ่ายเก็บภาษีและค่าเช่าเศรษฐกิจ แต่ในกรณีของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู อาจต้องปรับเปลี่ยนสร้างนโยบาย ชนิดที่เปิดทางให้ชาวบ้านเลือกเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนาทั้งพุทธและอิสลาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net