เปิดร่างรายงาน กอส. (ตอนที่ 1) : จินตนาการเพื่อสมานฉันท์

 

วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2005 17:07น. 

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้ยกร่างรายงาน "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" เพื่อเสนอเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ กอส. ทั้ง 50 คนจะพิจารณาร่างดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อเสนอแนะ แก้ไข และเพิ่มเติมอีกจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อรัฐบาลได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2549

 

ศูนย์ข่าวอิศราเห็นว่า การยกร่างแนวทางเพื่อคลี่คลายหรือยุติปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องอาศัยพลัง และการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง จึงขอนำเสนอรายงานฉบับนี้ซึ่งมีอยู่ 8 ส่วนอย่างละเอียด เพื่อให้สังคมไทยได้ร่วมคิด ร่วมศึกษา ต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาที่กำลังยกร่างกันอยู่นี้

 

1 . จินตนาการ 1 : เรื่องของยศพรและอัมมานา

ยศพร มีพี่ 3 คน พี่คนโตต้องเลิกเรียนกลับมาอยู่บ้าน พี่สาวคนที่สองกับพี่ชายคนที่สามอายุ 11 ปีป่วยเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวเหมือนกัน แต่พี่สาวเสียชีวิตไปแล้ว พ่อของยศพรชื่อวิชิต ขายขนมและผลไม้หน้าร้านชำเล็กๆริมถนน วันนั้นเวลาโพล้เพล้ มีคนขี่มอเตอร์ไซค์มาซื้อของที่ร้าน 2 คน ยศพรทันเห็นพ่อหยิบขนมปังใส่ถุงให้สองคนนั้น ก็ไม่ได้สนใจอะไร

 

แต่ฉับพลันเสียงปืนที่ดังขึ้น 3 นัด ยศพรทันเห็นพ่อล้มลงจมกองเลือดอยู่หน้าบ้าน พ่อไม่ตาย แต่นับจากวันนั้น พ่อไปส่งพวกเราที่โรงเรียนไม่ได้อีกแล้ว เพราะพ่อเป็นอัมพาต จะลุกจะนั่งเก้าอี้ต้องให้แม่กับพวกเราช่วยกันยกตัว ทุกคืนพ่อจะผวาเวลาได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ ทุกวันเวลาแม่หยิบของให้ลูกค้า พ่อก็มือสั่น เหงื่อออกท่วมตัว เพราะไม่รู้ว่าที่คนขี่มอเตอร์ไซค์หยิบออกมาจากการะเป๋าจะเป็นเงินหรือปืน ยศพรรู้ว่า ภาพแม่กับพวกเราขายของหน้าร้านกลายเป็นภาพที่น่ากลัวจนพ่อต้องกลั้นใจ จับพระที่ห้อยคอทุกครั้ง ยศพรอยากจะปลอบพ่อแต่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอะไร สงสารแม่ที่ต้องรับภาระหนัก เสียใจที่พ่อต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เข้าใจว่าพ่อไปทำอะไรให้ใคร ยศพรรู้สึกโกรธคนยิง ...เกลียดพวกที่ยิงพ่อ...

 

อัมมานา อายุ 8 ขวบมีพี่สาวคนหนึ่งอายุ 13 ปี พ่อของอัมมานาชื่อ มะตอลาฟี เป็นอดีตทหารผ่านศึก วันนั้นอัมมานาจำได้ว่าดึกแล้ว ที่บ้านปิดไฟนอนกันหมด แต่ก็ตกใจตื่นเพราะมีคนกลุ่มใหญ่มาพังประตูบ้าน

 

อัมมานาทันเห็นคนพวกนั้นจับพ่อไว้แล้วถามเป็นภาษาไทยว่า "เอ็งเอาปืนที่ปล้นไปไว้ที่ไหน" พ่อตอบว่าไม่รู้เรื่อง คนสิบคนนั้นก็ซ้อมพ่อ พอสองยามก็ลากพ่อไปขึ้นรถ แม่ยืนพิงประตูร้องไห้ ยกมือขอให้อัลเลาะห์คุ้มครองพ่อ สามวันต่อมาเขามาบอกว่า พบศพพ่อทิ้งไว้ข้างถนน มีรอยถูกจี้ด้วยไฟฟ้า จมูกหัก

 

ตำรวจบอกพวกเราว่า พ่อถูกทุบจนตาย แม่พูดกับคนที่มาเยี่ยมว่า "กลัวจนไม่รู้จะกลัวอะไรแล้ว ได้แต่บอกตัวเองว่าถึงจะกลัวอย่างไร ถ้าเขาต้องการฆ่า เขาก็ฆ่าเราได้อยู่ดี" อัมมานากำมือแน่น สงสารแม่จับใจ รู้สึกโกรธคนที่อุ้มพ่อไปฆ่า เกลียดพวกที่อุ้มพ่อไปฆ่า...

ทั้งสองเรื่องไม่ใช่นิยาย เรื่องแรกวิชิต วิลาศไพสิฐ อายุ 47 ปีถูกยิงที่ อำเภอรามัน ยะลา เรื่องที่สอง ศพมะตอลาฟี แมะแชะถูกพบอยู่ริมถนนที่ บาเจาะ นราธิวาส ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2547

 

ความรู้สึกของเด็กชายอย่างยศพรและอัมมานาสองคนนี้คาดเดาได้ยากนัก ที่น่ากลัวคือจำนวนของเด็กอย่างสองคนนี้เพิ่มขึ้นทุกวันและทุกหนแห่งตามปริมาณและตำแหน่งแห่งที่ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้คนทุกหมู่เหล่า กระทรวงศึกษาเคยระบุว่า ขณะนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเด็กๆที่ถูกทำให้เป็นกำพร้าเพราะความรุนแรงระบาดมาเกือบสองปีนี้แล้ว 6,020 คน งานสมานฉันท์ใส่ใจกับชีวิตและอนาคตของเด็กๆเหล่านี้ เพราะนี่คืออนาคตของสังคมไทย

 

ถ้าพวกเขาผูกพันรักใคร่กัน ไม่ว่าจะมีใครคิดร้ายเพียงไรสังคมไทยก็มั่นคงแข็งแรง แต่หากพวกเขาเติบโตขึ้นด้วยความโกรธแค้นเกลียดชัง หรือเพียงไม่แยแสใส่ใจในทุกข์ร้อนของกันและกัน อนาคตของสังคมไทยก็จะมืดทะมึนไปด้วยเมฆหมอกแห่งความรุนแรง ไม่ว่าจะใช้ปืนกี่กระบอกหรือใช้กำลังสักเพียงไรก็สร้างความร่มเย็นในสังคมให้หวนคืนมาไม่ได้

 

ด้วยเหตุนี้งานสมานฉันท์จึงไม่ใช่การทำงานเพื่อหยุดความรุนแรงรายวัน เพราะการคุ้มครองชีวิตของผู้คนพลเมืองเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล ไม่ใช่งานไล่จับคนร้ายที่กระทำผิดกฎหมาย เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของตำรวจ และไม่ใช่การสืบจับหาให้ได้ว่ามีขบวนการร้ายที่ใช้ความรุนแรงกับผู้คนทั้งที่เป็นมุสลิมและพุทธ ทั้งที่เป็นชาวบ้านสามัญและคนของราชการอยู่หรือไม่ เพราะนั่นเป็นงานของฝ่ายความมั่นคงของรัฐ

 

คนผิดคนร้ายมีในบ้านเมืองนี้แน่ และควรต้องดำเนินการจับกุมตามกฎหมาย แต่จากข้อมูลของทุกฝ่ายล้วนตรงกันว่า คนเหล่านี้มีจำนวนไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติในฐานะตัวกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางลดความรุนแรงในสังคมไทย สร้างสันติที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้น จึงมุ่งทำงานสมานฉันท์กับเป้าหมายสำคัญ 3 อย่าง คือ

 

- มุ่งหาหนทางให้ผู้คนทั้งส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมและส่วนน้อยที่เป็นพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อยู่ในสังคมการเมืองไทยอย่างพลเมืองไทยที่มีความสุขตามสมควร

 

- มุ่งหาหนทางให้ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าใจเหตุอันซับซ้อนซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ร้อนของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

- มุ่งคิดถึงการสร้างอนาคตที่ผู้คนซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และระหว่างผู้คนในที่นั้นกับสังคมไทยส่วนรวมจะอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข งานสมานฉันท์จึงเป็นความพยายามจะตอบปัญหาว่า เหตุร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราได้อย่างไร จะลดทอนผ่อนเบาปัญหาที่รุมเร้าอยู่ในตอนใต้ของประเทศด้วยการลดเงื่อนไขแห่งความรุนแรงได้อย่างไร จะสรรค์สร้างสังคมการเมืองไทยอย่างไร เพื่อให้ลูกหลานอย่างยศพรและอัมมานาอยู่กันต่อไปได้อย่างมีกำลังใจ ในฐานะสมาชิกของสังคมไทย ที่สำคัญให้พวกเขาอยู่ด้วยกันได้ อย่างมีศักดิ์และสิทธิเสมอกัน และเอื้ออาทรต่อกันในฐานะเป็นพลเมืองของสังคมไทยที่เข็มแข็งร่วมกัน











 ข่าวประกอบ
 แย้มร่าง กอส. บนเส้นทางฝันเป็นธรรมนูญดับไฟใต้










ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท