Skip to main content
sharethis










วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2005 17:00น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ทำความเข้าใจความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้


คณะอนุกรรมการทั้ง 5 ชุดของ กอส.วินิจฉัย "โรค" ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเกิดขึ้นจาก ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับความยุติธรรม และเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม นโยบายของรัฐสับสนระหว่างแนวทางสันติวิธีกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ ซึ่งใช้ความรุนแรงเป็นหลัก ขาดเอกภาพในการทำงานและมีช่องว่างในการนำนโยบายไปปฏิบัติ เด็กและเยาวชนในพื้นที่ไม่ได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพพอที่จะเข้าสู่ตลาดงานได้ ขาดดุลยภาพระหว่างการศึกษาสายสามัญกับสายศาสนา ฯลฯ


 


นอกจากนี้ ชาวบ้านในท้องถิ่นกำลังเผชิญกับปมขัดแย้งภายใน ด้านหนึ่งชีวิตถูกคุกคามโดยพลังทุนนิยม วัตถุนิยมขนาดใหญ่ จนรู้สึกไม่อาจต่อรองได้ อีกด้านหนึ่งมีความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่าที่ประสงค์จะดำเนินชีวิตเรียบง่ายของตนตามหลักศาสนาโดยไม่ปรารถนาจะต่อกรกับพลังจากภายนอก กับคนรุ่นใหม่ที่ถ้าไม่เปลี่ยนชีวิตวิญญาณให้คล้อยตามพลังที่คุกคามตน ก็ต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆ


 


กอส.ตระหนักดีว่า ในสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้นั้นมีคนร้ายอยู่จริง แต่เมื่อตั้งคำถามว่า เหตุรุนแรงทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยน้ำมือใคร ทั้งหมดเป็นเพราะฝีมือกลุ่มขบวนการเหล่านี้หรือ? แม้แต่หน่วยราชการต่างๆ ก็มีคำตอบที่แตกต่างกัน


 


หน่วยงานความมั่นคงแห่งหนึ่งระบุว่า เกิดเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น 528 กรณี ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2548 ในจำนวนนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง 261 คดี หรือร้อยละ 49.4  ขณะที่ข้อมูลของฝ่ายตำรวจระบุว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548 เกิดคดีอุกฉกรรจ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 701 คดี แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ก่อคดีเหล่านี้ถึง 566 คดี หรือร้อยละ 80.74


 


ขณะที่ประชาชนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยเห็นว่า สาเหตุของเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจากการฉวยโอกาสแก้แค้นเรื่องส่วนตัว และกลุ่มฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เพื่อแก้แค้นเจ้าหน้าที่มากกว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือการแบ่งแยกดินแดนอย่างที่ฝ่ายรัฐเชื่อ


 


ยังมีอีกสองเหตุผลซึ่งทำให้ กอส. เลือกไม่สนใจตัวขบวนการแยกดินแดน


 


ข้อแรก ผู้บริหารรัฐบาลหลายท่านให้ข้อมูลตรงกันว่า ตัวคนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการมีไม่มากนัก ไม่เกิน  700 คน ที่เหลืออาจมีผู้เป็นแนวร่วมอยู่อีกบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป้าหมาย กอส.จึงอยู่ที่คนส่วนนี้ และหาหนทางให้พวกเขาได้อยู่ในแผ่นดินในฐานะพลเมืองไทยที่มีสิทธิเสมอกับคนไทยอื่นๆ


 


ข้อสอง  ความแตกแยกระหว่างมุสลิมส่วนใหญ่กับชาวพุทธส่วนน้อย ถ้าไม่สามารถฟื้นฟูสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างผู้คนเหล่านี้รวมทั้งลูกหลานของเขา อนาคตสังคมไทยจะเป็นปัญหาหนักหนากว่ามาก


 


ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคำอธิบายหลายแนวทาง แนวทางแรกเชื่อว่า เป็นเพราะบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ขบวนการแบ่งแยกดินแดน  ขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ ยุทธศาสตร์ชาติจักรวรรดิที่เห็นประโยชน์จากสถานการณ์ และขบวนการค้าสิ่งผิดกฎหมาย


 


 อีกแนวทางเห็นว่า เกิดจากสาเหตุหลายประการ


 


 ๐ ประวัติศาสตร์ปัตตานีที่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเห็นว่าเป็นการสูญเสียเอกราชต่อรัฐไทย


 


 ๐ ความแตกต่างทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งทำให้การผสมผสานกับคนในวัฒนธรรมอื่นเป็นไปได้ยาก


 


 ๐ สภาพทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับมาเลเซีย ทำให้ความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่ว่าเป็นชาวมลายูและนับถือศาสนาอิสลามเข้มข้น จนเห็นไปว่าการเป็นคนไทยเท่ากับการนับถือศาสนาพุทธ


 


 ๐ สภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวทำให้พื้นที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศเพื่อนบ้าน


 


 ๐ ผู้คนยากจนขาดการศึกษา จึงง่ายต่อการถูกชักนำไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์กับรับไทย


 


 ๐ ชาวมลายูมุสลิมเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เชื่อผู้นำ ทำให้ผู้นำท้องถิ่นที่ตีความศาสนาเพื่อประโยชน์ของตนและสนับสนุนความรุนแรงมีอิทธิพล


 


 ๐ ภาครัฐไม่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหา ขณะที่ส่วนราชการบางหมู่เหล่าไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลบางเรื่อง


 


 ๐ กลุ่มอาชญากรรมประเภทต่างๆ และยาเสพติดขยายตัวในพื้นที่


 


สรุปข้อวินิจฉัยเหตุของปัญหา


เหตุของปัญหาความรุนแรงมิได้มาจากสาเหตุเดียว การที่ "คนร้าย" ทำการของตนได้เป็นผล เพราะมีตัวบุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ปรากฏเป็นผลของสาเหตุเชิงโครงสร้าง ซึ่งประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง และมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง


 


ทั้งหมดนี้หมายความว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างปัญหาความยากจน หรือความไม่เป็นธรรมเกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรง แม้จะเชื่อกันว่าแกนนำกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้ยากจน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมมาโดยตรง แต่ทั้งความยากจนและความไม่ยุติธรรมก็เกี่ยวกับการก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นทั้งเงื่อนไขที่ทำให้เกิดแนวร่วมและการสนับสนุนทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นข้ออ้างในการต่อสู้ใช้ความรุนแรงได้


 


ทำนองเดียวกัน มักกล่าวกันว่า ศาสนาอิสลามไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับผู้คนในโลกมุสลิม หรืออาจจะเพราะสงครามในอัฟกานิสถานหรือในอิรักหรือไม่


 


ข้อวินิจฉัยในที่นี้ชี้ชัดว่า ศาสนาไม่ใช่เหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็เกี่ยวกับความรุนแรงนี้ในฐานะข้ออ้างที่คนบางกลุ่มนำมาใช้ให้ความชอบธรรมกับวิธีการรุนแรงของตน ที่สำคัญศาสนาก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างความชอบธรรมเช่นนี้


 


ประวัติศาสตร์และอัตตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงด้วย


 


ทำนองเดียวกันบริบทของโลกที่ความรุนแรงปรากฏอยู่ในรูปแบบการโจมตีสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 หรือการตอบโต้ของสหรัฐฯ ด้วยการรุกรานอัฟกานิสถาน และโจมตีอิรัก ก็เกี่ยวกับความรุนแรงได้ เพราะสามารถเป็นเงื่อนไขให้เห็นว่า โลกมุสลิมกำลังถูกรุกรานโดยจักรวรรดิอเมริกันในสงครามที่ไม่เป็นธรรม


 


ถ้านำเหตุปัจจัยเหล่านี้มาจัดเรียงเป็นชั้นคำอธิบายปรากฏการณ์ความรุนแรง จะเห็นได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยผู้ก่อการและการตอบโต้ของฝ่ายรัฐด้วยความรุนแรง ดำรงอยู่ในเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่เป็นจริง เป็นบ่อเกิดความขัดแย้ง อันได้แก่สภาพของประชากร ปัญหาทางเศรษฐกิจ / ทรัพยากรที่พวกเขาต้องประสบ การศึกษาที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้เขามีพลังเอาชนะการท้าทายทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม และความไม่เป็นธรรมอันเกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในบริบทภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้การเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างผู้คนพวกเดียวกันในสองประเทศเป็นไปอย่างแจ่มชัด ส่วนปัจจัยทางวัฒนธรรมคือ ภาษามลายู ศาสนาอิสลาม และประวัติศาสตร์ปัตตานี ไม่ใช่สาเหตุ แต่เป็นเงื่อนไขในสังคมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง หรือยอมรับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง


 


ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่น่าประหลาดใจที่วาทกรรมการต่อสู้ด้วยความรุนแรงของผู้ก่อการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นส่วนผสมระหว่างวาทกรรมชาติพันธุ์กับศาสนา ทั้งสองแบบส่งผลสำคัญคือ ให้เหตุผลรองรับการใช้ความรุนแรงในนามอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม









ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net