Skip to main content
sharethis



พรุ่งนี้ 1 พฤศจิกายน วุฒิสภาจะประชุมลงมติเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยจะพิจารณาจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมา 18 คน เลือกให้เหลือ 9 คน


 


วันนี้ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ มีบทสัมภาษณ์ "นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. วุฒิสภา


 


ถาม : การเลือก ป.ป.ช.ครั้งนี้ มันต่างจากการเลือกองค์กรอิสระครั้งที่ผ่านๆ มายังไงครับ?


นายเจิมศักดิ์ : สำคัญมากสิครับ เพราะ ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการโกงกินบ้านเมืองของนักการเมืองและข้าราชการ มีอำนาจที่สามารถชี้ "ต้นตายปลายเป็น" ในกรณีทุจริตคอรัปชั่น ไม่ว่าคนอย่างนายกฯ ร.ม.ต. หรือข้าราชการ จะถูกกล่าวหาว่าทุจริต ประพฤติไม่ชอบหรือจะถูกวุฒิสภาถอดถอน ก็จะต้องถูกส่งผ่านมาให้ ป.ป.ช. พิจารณาก่อน ถ้า ป.ป.ช. ไม่เอาผิด ใครก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วทุกวันนี้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในบ้านเราก็รุนแรงเสียยิ่งกว่าอะไร ถึงขนาดว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่ง "สาปแช่งคนโกง" เลยทีเดียว


 


ที่สำคัญ อย่าลืมว่า ป.ป.ช. ชุดนี้จะมีวาระอยู่ในตำแหน่งนานถึง 9 ปี ยาวนานกว่าเทอมอายุรัฐบาล 2 สมัย อยู่นานกว่าอายุของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ยาวนานกว่าประธานรัฐสภา หรือถ้าเปรียบเทียบกับผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายตุลาการ ก็ยังไม่เคยมีประธานศาลฎีกาคนไหนอยู่ในตำแหน่งยาวนานขนาดนี้


 


เรียกว่า ถ้าครั้งนี้ กรรมการสรรรหาป.ป.ช. หรือวุฒิสภาทำงานบกพร่องผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว เกิดตัดสินใจผิด เลือกคนที่ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วน หรือไม่อิสระจริง ก็น่ากลัวว่า แผ่นดินไทยคงวิปโยคไปอีก 9 ปี


 


ถาม : แล้วคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ไปตรวจเจออะไรที่น่าเป็นห่วงบ้างไหม?


นายเจิมศักดิ์ : เจอตอเลยล่ะครับ!


คืออย่างนี้ครับ คณะอนุกรรมาธิการฯ ไปตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว พบว่า มีประเด็นปัญหาหลักๆ อยู่ 3 เรื่อง ที่จะต้องนำมารายงานให้ประชาชนผู้เป็นเจ้านายตัวจริงทราบ


 


ประเด็นแรก คือ เรื่องการมีส่วนได้เสียของกรรมการสรรหาฯ เพราะได้ตรวจพบว่า มีกรรมการสรรหาคนหนึ่ง มีคดีค้างการพิจารณาอยู่ใน ป.ป.ช. หรือพูดง่ายๆ ว่า กำลังถูก ป.ป.ช. สอบสวนความผิดอยู่ถึง 5 กรณีทั้งกรณีทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง กรณีทุจริตในการจัดทำบัตรนักศึกษา กรณีทุจริตในการเบิกจ่ายค่ากิจกรรมนักศึกษา กรณีทุจริตการก่อสร้างอาคารเรียน และกรณีทุจริตนำรถราชการไปใช้ส่วนตัว


 


กรรมการสรรหาคนดังกล่าว จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับตำแหน่ง ป.ป.ช. ที่กำลังสรรหาอยู่ เพราะเท่ากับว่า กำลังจะเลือกคนเข้ามาทำหน้าที่สอบสวนตัดสินความผิดของตัวเอง


 


ที่สำคัญ ในการพิจารณาสรรหา ก็ไม่ปรากฏว่า กรรมการสรรหาคนดังกล่าวได้มีการแถลงให้ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาทราบถึงกรณีที่ตนเองมีส่วนได้เสีย เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาว่า ตนจะสามารถทำหน้าที่ได้โปร่งใส ชอบธรรม และกรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีที่มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่


 


กรณีนี้ จึงน่าจะทำให้กระบวนการสรรหาเป็นการพิจารณาทางปกครองที่ไม่เป็นกลาง ไม่โปร่งใส ขาดความน่าเชื่อถืออย่างร้ายแรง และที่น่าสนใจ ก็คือ เมื่อกรรมาธิการสอบถามข้อมูลจากเลขาป.ป.ช. ก็ได้รับการปฏิเสธ ไม่ยอมให้ข้อมูลแก่วุฒิสภา


 


ถาม : ประเด็นนี้ เจอที่ตัวกรรมการสรรหาคนเดียว แล้วมีประเด็นไหน ที่ตรวจพบว่าเกี่ยวกับตัวกรรมการสรรหา หรือผู้สมัคร ป.ป.ช. หลายๆ คนไหมครับ?


นายเจิมศักดิ์ : มีครับ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกี่ยวข้องกับ "กระบวนการสรรหา" ทั้งนั้น


 


ประเด็นที่สอง เรื่อง คุณสมบัติของผู้สมัครและผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. กรณีคำว่า "อธิบดีหรือเทียบเท่า" ประเด็นนี้ เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครโดยตรง เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กำหนดคุณสมบัติไว้ในมาตรา 9 ว่า กรรมการ ป.ป.ช. จะต้อง "เคยเป็นรัฐมนตรี กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด อธิบดีหรือเทียบเท่า หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าศาสตราจารย์"


 


จะเห็นว่า กฎหมายได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.เอาไว้อย่างสูง เพราะมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการวินิจฉัยตัดสินคดี และอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 9 ปี จึงจำเป็นจะต้องมีประสบการณ์สูง ทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ ต้องเคยดำรงตำแหน่งระดับรัฐมนตรี หรือกรรมการองค์กรอิสระ ถ้าเป็นข้าราชการก็ต้องเป็นคนที่เคยผ่านงานบริหารในระดับสูง คือต้องเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานระดับกรม คือดำรงตำแหน่ง "อธิบดี" หรือ ถ้ามีหน่วยงานขนาดกรม แต่ไม่ได้เรียกชื่อว่ากรม เช่นสำนักงบประมาณ สำนักงาน ส.ต.ง หรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นต้นก็ให้ผู้บริหารสูงสุดที่เรียกว่า ผู้อำนวยการ มีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี


 


กรณีนี้ ได้ตรวจพบว่า มีข้าราชการระดับ 10 เอาระดับชั้นเงินเดือนมาเทียบเท่าอธิบดี โดยไม่เคยดำรงตำแหน่งด้านการบริหารงานระดับอธิบดีหรือตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี มาก่อน ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ


 


เพราะดูให้ดี จะเห็นว่า การกำหนดคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือกรรมการขององค์กรอิสระต่างๆ ล้วนเป็นการกำหนดคุณสมบัติจากตำแหน่งหน้าที่ของการบริหารงานในทุกกรณี โดยมิได้กำหนดคุณสมบัติจากระดับชั้นหรือจากขั้นเงินเดือน ยิ่งชี้ชัดว่าต้องการผู้สมัครที่เคยมีประสบการณ์ด้านการบริหารหน่วยงานระดับกรมมาทำหน้าที่สำคัญนี้


 


ส่วนผู้ที่เคยรับราชการในหน่วยงานอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้มีฐานะเป็นหรือเทียบเท่ากรม ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฯลฯ ก็ใช้กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่บัญญัติว่า "ให้กรมหนึ่งมีอธิบดีหนึ่งคนเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ" ดังนั้น จึงมีแต่เพียง "หัวหน้าของส่วนราชการเหล่านั้นเท่านั้น" ที่มีสถานะเป็นหรือเทียบเท่า "อธิบดี"


 


บรรดาผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามาให้วุฒิสภาเลือก จึงไม่น่าจะเคยเป็นอธิบดีหรือเคยดำรงตำแหน่งที่เทียบเท่าอธิบดี


           


ถาม : บางคนเป็นคนดี แต่คุณสมบัติไม่ถึง?


นายเจิมศักดิ์ : ก็ต้องว่าอย่างนั้น เพราะต้องตรงไปตรงมา ต้องทำตามกฎหมาย ไม่อย่างนั้น ถ้าใช้การตีความเทียบเท่าแบบมาตรฐานต่ำ เกิดมีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นผู้หญิงหรือเทียบเท่า ก็คงจะมีศรีธนญชัยตีความว่า ในเมื่อผู้หญิงเป็นคน แล้วผู้ชายก็เป็นคน ฉะนั้น เป็นผู้ชายก็เท่ากับเป็นหรือเทียบเท่าผู้หญิงได้ มันจะไปกันใหญ่นา


 


นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง ที่กรรมาธิการฯ เป็นห่วงกันมาก คือ เรื่องที่กรรมการสรรหาไม่มีการตรวจสอบประวัติเชิงลึกของผู้สมัครแต่ละคนเลย ไม่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลเชิงลึก แม้ผู้สมัครบางรายจะมีผู้ร้องเรียนเข้ามา กรรมการสรรหาฯ ก็มิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัด ได้แต่พิจารณารับทราบ แล้วไม่เลือกผู้สมัครที่ได้รับการกล่าวหานั้น


 


ยิ่งกว่านั้น กรรมการสรรหา ยังมิได้มีการพิจารณากลั่นกรองแยกประเภทว่า ผู้สมัครคนใดมีความเชี่ยวชาญด้านใด เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลากหลาย สอดคล้องกับลักษณะงานของ ป.ป.ช. ที่ต้องการทั้งคนที่มีความรู้ด้านกฎหมาย การบัญชี การเงิน เศรษฐศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ ฯลฯ เพื่อจะได้ "รู้ทันคนโกง" ไม่ว่าจะโกงแบบดั้งเดิม โกงแบบกินเปอร์เซ็นตร์ โกงแบบซุกหุ้น หรือโกงเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เครือญาติ


 


ถาม : แล้วอย่างนี้ วุฒิสภาจะทำกันยังไงล่ะครับ


นายเจิมศักดิ์ :    ผมก็ต้องรายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภา ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้ อาจจะต้องประชุมลับเพื่อเปิดเผยให้เห็นกันจะจะ ใจจริงๆ ผมล่ะไม่อยากจะตรวจเจอข้อบกพร่องผิดพลาดอย่างนี้ เพราะอยากจะได้คนดีผู้กล้าที่มาจากกระบวนการสรรหาถูกต้อง โปร่งใส มาทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองไวๆ แต่เมื่อเจอแล้ว ก็ต้องบอกกล่าวกันล่ะครับ ขืนทำเฉยมันก็เหมือนละเว้น ถ้าเจอข้อบกพร่องแล้วยังเสนอให้วุฒิสภาเลือกๆ กันไป มันก็เหมือนไม่รับผิดชอบ


 


แต่พูดไปแล้ว วุฒิสภาจะมีมติอย่างไรก็สุดแท้แต่ วุฒิสภาชุดนี้ จะอยู่กับบ้านเมืองอีกแค่ 4 เดือนเท่านั้น แต่ ป.ป.ช.ชุดนี้ จะต้องอยู่ไปอีกถึง 9 ปี


 


คิดดูดีๆ ก็แล้วกันครับ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net