Skip to main content
sharethis





 


Encore! Encore! Encore! คำคุ้นๆ หลังเพลงสุดท้ายของนักร้องสุดที่รักในคอนเสิร์ตแสนประทับใจ เมื่อคนฟังไม่อยากให้งานเลี้ยงเลิกรา ก็มักเรียกหาให้นักร้องของเขา "ทำซ้ำอีกครั้ง- Encore (มีความหมาย =อีกครั้ง)" ด้วยเสียงดังๆ อย่างพร้อมเพรียง


 


ถ้าเปรียบการเมืองไทยเป็นเวทีคอนเสิร์ต ทุกอย่างคงดำเนินไปในทางกลับกัน เพราะนักร้องที่ไม่รู้ (ตัว) ว่าคนดูรักหรือไม่นั้น มักจะ "ทำซ้ำ" บ่อยๆ จนจำไม่ค่อยได้ว่ามันเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้ว และใคร "ขอร้อง" ให้พวกเขาต้อง "ทำซ้ำ""แบบนั้น


 


แม้จะเป็นคนละเพลงกัน แต่ด้วยท่วงทำนองที่ไม่ต่างกันมาก คนดูที่มีความอดทนไม่สูงจึงอาจแยกไม่ค่อยออกว่าเพลงนี้ (เช่น กรณีผู้ว่า ส.ต.ง. ที่โยนกลับไปกลับมาระหว่างวุฒิสภา กับศาลรัฐธรรมนูญ) ต่างจากเพลงนั้น (เช่น การเลือก กสช. หรือการสรรหา ป.ป.ช. ที่กำลังจะเกิดขึ้น) อย่างไร


 


ลองปล่อยอารมณ์ละไมตามท่วงทำนองไปอีกสักครั้งกับบทเพลง ป.ป.ช. ที่กำลังจะต้องถูกบรรเลงซ้ำในวันที่ 1 พฤศจิกายนรับลมหนาวที่จะมาถึงดูที เผื่อผองเราจะแยกทำนองออกว่า กำลังฟังเพลงอะไรอยู่


 


ป.ป.ช. ที่รัก เรา (จำ) ต้องอยู่กันไปอีกนาน


ป.ป.ช. สำคัญอย่างไร ทำหน้าที่อะไรในบ้านในเมืองนี้ เราท่านต้องรีบถามตนเองในใจพลัน เพราะพวกเขาจะต้องอยู่กับเราไปอีกนาน (ถ้าไม่โชคดีเกิดอุบัติเหตุเหมือนชุดที่แล้ว) นานถึง 9 ปี ประมาณว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งเพิ่งเกิดในเดือนพฤศจิกายนนี้ เขาจะต้องอยู่กับ ป.ป.ช.ชุดนี้ไปจนกว่าเขาจะจบชั้น ป. 3 หรือ ป. 4 เลยทีเดียว


 


ตำแหน่ง ป.ป.ช. นั้นเป็นตำแหน่งสำคัญที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ (รธน.) หมวดที่ 10 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ชื่อเต็มๆ ของ ป.ป.ช. คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ


 


มาตรา 298 ใน รธน. กำหนดให้พวกเขาอยู่กับเรานานถึง 9 ปีเต็ม และมาตรา 297 ก็กำหนดองค์ประกอบว่าพวกเขามีกันทั้งสิ้น 9 คน ประกอบไปด้วยประธาน 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน


 


คนที่จะมาเป็น ป.ป.ช.ได้ต้อง "แก่" และ "เก่ง" คือ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ เคยเป็นรัฐมนตรี กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด อธิบดีหรือ เทียบเท่า หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าศาสตราจารย์ (รัฐธรรมนูญมาตรา 256 http://www.kodmhai.com/m1/m1-255-270.html)


 


ป.ป.ช.นั้นมีอำนาจตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐทั้งที่เป็นข้าราชการประจำตัวเล็กๆ ไปจนถึงข้าราชการการเมืองตัวใหญ่ที่สุดอย่างนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว ถ้าจะไล่รายละเอียดโดยอ้างอิง รธน. มาตรา 291 คนที่จะต้องถูกตรวจสอบโดย ป.ป.ช. ก็ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ว. ส.ส. ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด


 


คนเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบภายใน 30 วันนับจากวันที่เข้าสู่ตำแหน่งและวันที่พ้นจากตำแหน่ง ไม่ใช่ยื่นเฉพาะบัญชีทรัพย์สินของตัวเองเท่านั้น แต่คู่สมรสและ บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ต้องยื่นด้วย หลังจากตรวจสอบและไต่สวนแล้วก็ไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 301…


 


มาตรา 301 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้


 (1) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอ ต่อวุฒิสภาตาม มาตรา 305


 (2) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นส่ง ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม มาตรา 308


 (3) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำ ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพิ่อดำเนินการ ต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต



 (4) ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงรวมทั้งความ เปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนึ้สินของผู้ดำรงตำแหน่งตาม มาตรา 291 และ มาตรา 296 ตามบัญชีและเอกสารประกอบที่ได้ยื่นไว้


 (5) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อม ข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทุกปี และ นำรายงานนั้นออกพิมพ์เผยแพร่ต่อไป


 (6) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 146 และ มาตรา 265 มาใช้บังคับกับ


 การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติด้วย โดยอนุโลม


http://www.kodmhai.com/m1/m1-297-302.html


 


ป.ป.ช.  จะเข้าสู่ตำแหน่งได้ก็โดยได้รับการเลือกสรรจาก "กรรมการสรรหาป.ป.ช." ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีทั้งสิ้น 15 คน


 


เริ่มกันใหม่อีกครั้ง


อันที่จริงเรามี ป.ป.ช. ที่อยู่เกือบจะครบวาระแล้วเชียว ถ้าไม่บังเอิญเกิดเรื่องเสียก่อน หากยังจำกรณี "ขึ้นเงินเดือนตัวเอง" อันโด่งดังซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการประพฤติผิดต่อหน้าที่ 9 อรหันต์ที่ "แก่" และ "เก่ง" ก็เลยยกธงขาวลาออกจากตำแหน่งไปแบบเหนียมๆ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมาเราก็เลยต้อง Encore ฟังเพลง ป.ป.ช. ด้วยเหตุฉะนี้


 


แต่ว่ามันไม่ง่ายก็ตรงที่ว่า ป.ป.ช. มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายนักการเมืองทั้งตัวใหญ่ตัวเล็ก เรื่องราวการสรรหา ป.ป.ช. ชุดใหม่จึงไม่หมู


 


จังหวะกระตุกของกระบวนการแต่งตั้งกรรมการสรรหา ป.ป.ช.


ชั้นกระบวนการแต่งตั้งกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ก็วุ่นวายเสียแล้ว เนื่องจากเดิมทีนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนดองค์ประกอบกรรมการสรรหา 15 คน มาจาก ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 7 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน


 


แต่เจ้ากรรมที่ว่าพรรคการเมืองไทยนั้นเข้าสู่ยุคการเมืองเสียงข้างมากพรรคเดียว กับฝ่ายค้าน 3 พรรค คือพรรคต่ำร้อยอย่างประชาธิปัตย์ 1 พรรค พรรคต่ำสิบอย่างชาติไทย 1 พรรค กับพรรค 2 เสียงอย่างมหาชนอีก 1 พรรค ไม่ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดเสียแล้ว


 


อะไรไม่เท่า มีเสียงกระซิบว่า เนื่องจากพรรครัฐบาลมีเพียงพรรคเดียว ก็เลยกลัวจะสู้ฝ่ายค้านที่มีหลายพรรค (เล็กๆ) ไม่ได้ ก็เลยพยายามชงประเด็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีพรรคการเมืองไม่ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงอยากจะขอให้แก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ถึงขั้นที่เสนอให้มีตัวแทน ส.ส. แค่ 2 คนคือ ผู้นำฝ่ายค้าน กับผู้นำฝ่ายเสียงข้างมาก จนมีเสียงโต้กลับว่า "ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมาก" เขามีแต่ในระบบประธานาธิบดีเท่านั้น


 


นักวิชาการด้านกฎหมายหลายคน ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้หรอก มันยังพอใช้ได้อยู่ ก็เอาตัวแทนเท่าที่มีก็ใช้ได้แล้ว ขาดตัวแทนพรรคการเมืองไปเพียง 1 คน เหลือ 14 คนก็น่าจะพอถูไถดีกว่าจะไปแก้กฎหมายแม่บทอย่างรัฐธรรมนูญทีละมาตรา 2 มาตรา ถ้าจะแก้ก็น่าจะไปแก้กันทีเดียวครั้งใหญ่ๆ ให้เป็นเรื่องเป็นราว


 


อย่างไรก็ตามพรรคใหญ่อย่างไทยรักไทยยังคงแสดงความห่วงใยต่อกระบวนการเลือกกรรมการสรรหา ป.ป.ช. อย่างเด็ดเดี่ยวและย้ำชัดว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ


 


แน่นอนว่าพรรคใหญ่คนเยอะ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะมาตราก็ผ่านพ้นไปได้ท่ามกลางเสียงบ่นบริภาษจากนักวิชาการ ส.ส. ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชน


 


เมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้ว กรรมการสรรหา ป.ป.ช. ชุดใหม่จึงประกอบไปด้วย กรรมการสรรหาโดยตำแหน่ง 6 คนได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการสรรหาจากฝ่ายกรรมการสรรหาที่มาจากองค์กรอิสระ คือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาซึ่งมีอยู่ 2 คน ให้เลือกกันเองเหลือ 1 คน กรรมการสรรหาจากฝ่ายการเมือง 2 คน คือตัวแทน ส.ส.รัฐบาล 1 คน และตัวแทน ส.ส. ฝ่ายค้าน 1 คน กรรมการสรรหาที่มาจากฝ่ายวิชาการโดยให้อธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่เป็นนิติบุคคลทั่วประเทศทั้งสิ้น 48 แห่ง เลือกกันเองเหลือ 6 คน


 


เสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องกรรมการสรรหา ป.ป.ช.


หลังจากตกลงเรื่องกติกาเรียบร้อย เราก็ได้ กรรมการสรรหา ป.ป.ช. มา 15 คนสมใจ แต่กรรมการคนอื่นๆ นั้นก็เข้ามาโดยตำแหน่งบังคับ เรื่องสนุกก็เลยไปตกอยู่ที่ อธิการบดีซึ่งต้องคัดเลือกกันเองจำนวน 6 คน สุดท้ายก็ได้มา โดยมีเสียงนินทาเรื่อง หวยล็อก-บล็อกโหวต ลอยตามลมมาพอหอมปากหอมคอ โดยตัวแทนฝ่ายอธิการบดีทั้ง 6 ได้แก่


1. นายสุพล วุฒิเสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ บ้านสมเด็จเจ้าพระยา


2. นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร


3. นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ


4. นายสว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย ราชภัฏพิบูลสงคราม


5. นายเปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร


6. นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


จากนั้นกรรมการสรรหาฯ ก็เริ่มทำงาน โดยใช้วิธีเชื้อเชิญคนที่น่าสนใจ ในขณะที่ผู้กล้าหาญบางคนก็สมัครเข้ามาให้พิจารณาเอง แต่บางคนแม้เชิญแล้วก็ยังปฏิเสธ อย่างรายของนายกล้าณรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. ผู้ทำหน้าที่ซักฟอกนายกฯทักษิณในคดีซุกหุ้นอันโด่งดัง นายกล้าณรงค์ให้เหตุผลว่า กลัวอกหักเพราะไม่รู้ว่ากรรมการสรรหาฯ ใช้มาตรฐานอะไรในการคัดใครไว้ คัดใครออก และไม่แน่ใจว่าเมื่อเข้าไปเป็น ป.ป.ช. แล้วจะทำอะไรได้จริงๆ


 


ร้อยเนื้อทำนองเดียว เสียงกระซิบจาก ส.ว. เสียงส่วนน้อย


จากจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 80 คน กรรมการสรรหาฯ คัดเหลือ 18 คน ในวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา แล้วเสนอรายชื่อให้กับ ส.ว. พิจารณา


 


18 คนที่ฝ่าด่านการคัดเลือกเข้ามาประกอบไปด้วย


 


ผู้พิพากษาในศาลฎีกา 4 คน คือ นายประเสริฐ เขียนนิลศิริ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นายกุลพัชร์ อิทธิธรรมวินิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นายสุรพล เอกโยคยะ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และนายไสว จันทะศรี  อดีตรองประธานศาลฎีกา


 


ข้าราชการทหาร 3 คน คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกเกษมชาติ นเรศเสนีย์ ที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และพลโท พิชาญเมธ ม่วงมณี แม่ทัพภาคที่ 3


 


ข้าราชการตำรวจ 2 คน คือ พลตำรวจโทวันชัย ศรีนวลนัด ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจเอก ดรุณ โสตถิพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


 


ผู้ว่าราชการจังหวัด 2 คน คือ นายศิวะ แสงมณี อธิบดีกรมการปกครอง และนายสมศักดิ์ แก้วสุทธิ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


 


ข้าราชการอัยการ 1 คน คือ นายคัมภีร์ แก้วเจริญ อัยการสูงสุด


 


องค์กรอิสระ 1 คน คือ นางสัจจา ศศะนาวิน รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน


 


ผู้บริหารระดับสูงในพลเรือน 5 คน คือ ศาสตราจารย์ดร.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายสมโภชน์ กาญจนาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ นายสันติ บางอ้อ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายภิรมย์ สิมะเสถียร รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนางแน่งน้อย ณ. ระนอง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร


 


ในชั้นของ ส.ว. นี้เอง เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของวุฒิสภา โดยกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ทีได้รับการเสนอรายชื่อดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นำโดย ส.ว. ทองใบ ทองเปาด์ ประธานกรรมาธิการ และ ส.ว. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานอนุกรรมาธิการตรวจสอบกระบวนการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งแต่เดิมวุฒิสภามีมติให้ใช้เวลา 30 วันในการสอบประวัติ แต่แล้วก็ต้องขยายระยะเวลาจากกำหนดเดิม 27 ก.ย. ไปอีก 30 วัน ด้วยเหตุผลว่าเมื่อ กมธ.ฯ ทำการตรวจสอบแล้ว ได้รับข้อร้องเรียนมากมาย โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ถูกร้องเรียนมีจำนวนถึง 11 คนจากรายชื่อทั้งหมด 18 คน


 


ข้อมูลยุ่งๆ อีรุงตุงนังค่อยๆ เผยขึ้นมา นายเจิมศักด์ ปิ่นทอง เปิดเผยว่า จากจำนวนทั้งสิ้น 18 คน มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 11 คน ยังไม่นับกรณีที่กรรมการสรรหาบางคนก็มีคดีอยู่ใน ป.ป.ช. ด้วย....เรื่องมันเริ่มคุ้นๆ เหมือนหนังม้วนเดียวกับของ กสช. ไม่ผิด ถ้าเป็นเพลงก็ต้องบอกว่า "ร้อยเนื้อทำนองเดียว"


 


ในคราวของ กสช. นั้น ข้อครหาเรื่อง ผู้สมัคร กสช. มีส่วนได้เสียกับธุรกิจสื่อสาร และมีส่วนได้ส่วนเสียกับกรรมการสรรหา กสช. บางคนมีออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีหลักฐานถึงขึ้นที่ ศาลปกครองสูงสุดเคยพิพากษาไปแล้วว่า ถือเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังลอยลำเข้ามาเป็น กสช. ได้ในที่สุด ด้วยข่าวลือ (อีกแล้ว) เกี่ยวกับ บล็อกโหวต รวมถึงข่าวการวางตัวประธาน กสช. ตั้งแต่ยังอยู่ในกระบวนการสรรหา ซึ่งก็ให้บังเอิญเหลือเกินว่า ถึงวันนี้ คนในข่าวลือก็ได้เข้ามานั่งในตำแหน่ง ว่าที่ประธาน กสช. แล้วจริงๆ


 


คราวของ ป.ป.ช. ชุดใหม่นี้ก็เช่นกัน ข่าวลือประเภทบล็อกโหวต และตัวเก็ง 9 ป.ป.ช. มีมาเป็นกระสายตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวกรรมการสรรหาฯ ด้วยซ้ำไป


 


ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเรื่อง ป.ป.ช. มันจะทำนองเดียวกันกับ กสช. เปี๊ยบเลยหรือไม่ งานนี้แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทยอาจจะไม่ได้ส่งเสียงตะโกนประเภท "Encore" เป็นไปได้มากกว่า ถ้าจะมีก็แต่เสียงรำพึงเบาๆ.... "อีกแล้วหรือนี่"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net