KISS : อยากดื่มเหล้า เรามาจูบกัน!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ




 



"ไหนใครมากับคู่รักบ้าง ส่งเสียงหน่อย...คู่รักคู่ไหนกล้าจูงมือกันขึ้นมาดูดปากกันบนเวที เรามีรางวัลเป็นบัตรเหล้าราคา 1,000 บาท ไว้สำหรับคู่ที่สามารถดูดปากกันได้ดูดดื่มที่สุด" น้ำเสียงจากดีเจ ที่สอดแทรกปนเสียงโห่ร้องเฮฮา คลอเคล้าดนตรีระทึกใจในสถานบันเทิงยามราตรีแห่งหนึ่ง ดึงดูดให้หนุ่มสาวหลายคู่จูงไม้จูงมือกันขึ้นเวที

 

ภาพชายหนุ่มหญิงสาวที่คลอเคลียกันด้วยริมฝีปาก ถูกกระตุ้นด้วยถ้อยคำจากปากดีเจหน้าเดิม  "แลกลิ้นให้เห็นด้วย... โอ๊ยเยี่ยมมากผมใกล้เสร็จแล้ว" หลังคัดเลือกคู่รักที่ถูกใจบรรดาสิงห์นักเที่ยวยามราตรีสำเร็จ ดีเจคนเก่าก็มอบรางวัลตามคำสัญญา

 

เมื่อคู่รักหนุ่มสาวก้าวลงจากเวที ตามโปรแกรมต่อไปที่ดีเจวางไว้ ก็ถึงคิวของเหล่าหญิงสาว "ผู้หญิงคู่ไหนที่กล้าขึ้นมาดูดปากกันโชว์บนเวที แล้วรู้สึกถูกใจคนดูมากที่สุด ก็รับไปเลยบัตรเหล้ามูลค่า 1,000 บาท" สิ้นเสียงคำเชิญชวนของดีเจหนุ่ม เด็กสาวหลายคู่วิ่งจูงมือกันขึ้นสู่เวทีด้วยความมุ่งมั่นในชัยชนะ

 

ภาพหญิงสาววัยประมาณ 20 ปี 5-6 คู่ ประกบริมฝีปากใส่กันอย่างไม่เคอะเขิน ศีรษะเอียงส่าย ร่างกายเบียดเสียดไปมาตามจังหวะการเร้าของเสียงดนตรี ดึงดูดสายตานักเที่ยวเกือบทุกคู่ให้จับจ้องไปที่การแสดงบนเวทีชีวิต "แลกลิ้นกันให้เห็นด้วย... อย่างนั้น...แสดงอารมณ์ให้เต็มที่" ตัวละครบนเวทีชุดเดิมแสดงตามได้อย่างถึงบทบาท ริมฝีปากประกบริมฝีปาก แผ่วเบาแต่ดุดัน ร่างกายส่ายร่อนช้าๆ แต่ด้วยท่าทีที่รุนแรงขึ้น บางคู่ใช้มือป่ายปีนรูปไล้กันและกัน ตามความต้องการที่มุ่งมั่นของศาสดาดีเจ

 

........................            การแสดงแต่ละชุดใช้เวลาร่วม 5 นาที        .........................

 

วรเทพ (นามสมมติ) ชายหนุ่มผู้เคยใช้ชีวิตท่องเที่ยวตามสถานบันเทิงยามราตรีหลายแห่งในกรุงเทพฯ อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า "ภาพการจูบปากแลกกับบัตรเหล้า มันเป็นเรื่องธรรมดาของสถานบันเทิงย่านนี้ คนที่มาที่นี่ก็อยากเห็น"

 

นี่ไม่ใช่นิยาย ไม่ใช่เรื่องสั้น ไม่ใช่ละครโทรทัศน์ ไม่ใช่แม้ภาพยนตร์ แต่ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดคือฉากชีวิตจริง ของค่ำคืนวันที่ 27 ตุลาคม หรือเช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2548 เวลาประมาณ 03.00 น. ณ สถานบันเทิงยามราตรีแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

 

ถัดมาอีกไม่กี่วัน ในค่ำคืนฮาโลวีน ที่ผู้คนคับคั่งย่านถนนข้าวสาร ผู้เขียนมีโอกาสนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถานบันเทิงดังกล่าวไปพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเด็กและสตรี

 

ในวงสนทนาวันนั้นได้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมากมายทั้งเรื่องวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศ การแสดงออกทางเพศของเยาวชน ตลอดจนผลประโยชน์เบื้องหลังงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเพศของเยาวชนที่ผู้ใหญ่เป็นคนจัดทำขึ้น เพื่อจะนำไปสู่คำอธิบายถึงปรากฏการณ์จุมพิตพิชิตเหล้า จนกระทั่งในตอนท้ายของการสนทนา ญาณังกูร แซ่เล้า หนึ่งในนักวิชาการอิสระ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวเอาไว้ว่า

 

"ต้องแยกให้ออกระหว่างการจูบ กับการนำการจูบไปเป็นของโชว์ เพราะที่จริงการจูบไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ถ้าเอามาเป็นสินค้าส่งเสริมการบริโภค มันเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ เป็นกระบวนการลดรูปให้มนุษย์กลายเป็นเพียงสินค้า"

 

 

อีกสินค้าที่เรียกว่า "พริตตี้"

"จริงๆ การจูบปากแลกบัตรเหล้า มันมีมานานแล้วในสถานบันเทิงย่านนี้ จากวิจารณญาณแล้ว คิดว่ามันคงไม่ได้เป็นความจงใจของเจ้าของร้าน แต่มันน่าจะเกิดจากความคึกคะนองของดีเจ แต่เมื่อทำไปแล้วมันได้ผลในการดึงดูดลูกค้า เขาก็เลยทำซ้ำๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา" พี่เอ (นามสมมติ) นักออกแบบเสื้อผ้าสำหรับสาว "พริตตี้" และนักแสดงในสถานบันเทิง อธิบายความรู้สึกในฐานะผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับสาวพริตตี้ที่มีหน้าที่กระตุ้นยอดขายสินค้าประเภทสุรา

 

"ด้วยคนที่มักจะเข้าไปนั่งกินเหล้าในร้าน หรือสถานบันเทิงส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มันก็เป็นธรรมดาที่เขาจะใช้ผู้หญิงเข้าไปยั่วยวนให้เกิดกิเลส ทำให้คนรู้สึกอยากสั่งเหล้ามากขึ้น สาวพริตตี้หรือสาวเชียร์เหล้าจึงมีหน้าที่ในการกระตุ้นยอดขายของร้าน แต่คงเอาไปเปรียบเทียบกับการส่งเสริมการขายด้วยการให้เด็กขึ้นไปจูบปากโชว์ไม่ได้ เพราะคนกลุ่มแรกเป็นคนที่ตั้งใจมาทำงาน ส่วนเรื่องการให้เด็กขึ้นไปจูบปากโชว์มันเป็นเรื่องโหดร้ายเกินไป"

 

ส่วนเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับสาวพริตตี้เหล้าเบียร์นั้น พี่เอ เล่าว่า "ทางบริษัทเหล้าหรือบริษัทเบียร์มักจะกำหนดโทนสีมาให้ โดยมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่เห็นสาวๆ เหล่านี้แล้วรู้สึกว่าพวกเธอเหมือนกับขวดเหล้าที่พูดได้ เพื่อทำให้คนอยากที่จะกินมัน

 

"สิ่งที่เขาเน้นคือความเซ็กซี่ ซึ่งถ้าเทียบกับพริตตี้รถแล้ว ชุดสำหรับสาวพริตตี้เหล้าเบียร์จะโป๊น้อยกว่าเพราะตัวเจ้าของบริษัทเหล้าเบียร์ก็รู้ว่า สินค้าของตนเป็นเรื่องที่ไม่ดีอยู่แล้ว เลยไม่อยากให้คนออกมาต่อต้านกับการแต่งตัวของผู้ทำหน้าที่กระตุ้นยอดขายอีก ชุดของพริตตี้เหล้าเบียร์เขาจะเน้นเรื่องความสง่าเพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าของเขาให้มีค่ามากขึ้น"

 

ตั๊ก (นามสมมติ) หญิงสาววัย 20 ปี พนักงานต้อนรับ ประจำสถานบันเทิงยามราตรี ที่มีการโชว์จุมพิต เล่าให้ฟังว่า เธอมีหน้าที่บริการลูกค้า และหาลูกค้าประจำให้กับร้าน โดยค่าตอบแทนที่เธอได้รับจะมาจากเงินเดือน เดือนละ 8,000 บาท แต่ถ้าเธอสามารถเชียร์ให้ลูกค้าสั่งเหล้าอย่าง "เรด" หรือ "แบล็ค" ได้ เธอจะได้รับส่วนแบ่งในราคาขวดละ 50 - 70 บาท นอกจากนี้เวลาที่ลูกค้าโต๊ะไหนต้องการเรียกเธอเข้าไปคุย เธอก็จะได้รับเงินจากค่าเครื่องดื่มดริ๊งค์ละ (แก้วละ) 80 บาท

 

"อย่างลูกค้าบางคนใจดีไปนั่งแป๊บเดียวเขาก็ให้ทิปแล้ว แต่บางคนนั่งนานมากแต่ไม่ให้ทิปสักบาท ส่วนลูกค้าคนไหนที่ชอบลวนลาม เราก็ยิ่งต้องเรียกทิปให้หนักๆ...ตอนแรกๆ ก็รู้สึกเบื่อ แต่พอเริ่มได้เงินเยอะๆ เราก็รู้สึกดีกับอาชีพนี้" สาววัย 20 บอกเล่าเรื่องราวชีวิตเคล้าเสียงหัวเราะ

 

การกลับมาของลูกค้าขาประจำในสถานบันเทิง นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์ในการกระตุ้นยอดขายด้วยหญิงสาวค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ และในปัจจุบันก็ยังมีหญิงสาวอีกเป็นจำนวนมากที่เลือกเส้นทาง "พริตตี้" "พนักงานต้อนรับ"หรือ "สาวเชียร์เหล้าเบียร์"เพื่อหารายได้ทั้งแบบประจำ และแบบพิเศษ บางคนถ้ามีการศึกษาสูง ก็จะได้งานที่มีรายได้ดี และเป็นที่ยอมรับมากกว่าในสังคม แต่หากหญิงสาวคนไหนที่มีวุฒิการศึกษาที่น้อยลงมา ก็อาจจะได้ทำงานในรูปแบบเดียวกับตั๊ก

 

การเติบโตของอาชีพสาวพริตตี้ในปัจจุบันอาจจะสามารถวัดได้จาก เว็บไซต์พริตตี้ที่ปรากฏมากมายตามอินเตอร์เน็ต ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มกำลังจับตามองว่า มีหลายครั้งที่เยาวชนเหล่านี้ถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสินค้าที่ไม่ถูกต้อง

 

นักวิชาการอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและสตรีท่านหนึ่ง ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการที่บริษัทบุหรี่กำลังใช้สาวพริตตี้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมยอดขายว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่คุณจะส่งเสริมให้เยาวชนไปกระทำผิดกฎหมาย เพราะตามกฎหมายก็ระบุแล้วว่าห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีซื้อบุหรี่ แต่บริษัทกลับนำเยาวชนเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือกระตุ้นยอดขาย

 

นักวิชาการอิสระคนดังกล่าวได้นำภาพและประวัติจากอินเตอร์เน็ตของพริตตี้สาวรายหนึ่งมาให้ดู

 

จากประวัติของเธอพบว่า รายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของพริตตี้สาวรายนี้ระบุว่าเธอเคยเป็นพริตตี้ให้กับบริษัทบุหรี่นอกยี่ห้อดังรายหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการส่งเสริมการขายบุหรี่ก็คือ ข้อมูลของสาวพริตตี้ ในใบประวัติบนอินเตอร์เน็ต ที่นอกจากจะระบุชื่อจริงและชื่อเล่นของเธอแล้ว ในใบประวัติดังกล่าวยังปรากฏรหัสสินค้าที่ระบุหมายเลข 4 ตัว มีราคาที่ระบุว่า 1,500 บาท มียี่ห้อที่ระบุว่า มหาวิทยาลัย มีรุ่นที่ระบุว่าไทย

 

เมื่อนำข้อมูลการกระตุ้นยอดขายของสถานบันเทิงด้วยการชักจูงเยาวชนขึ้นมาโชว์จุมพิตบนเวที ข้อมูลของการใช้สาวพริตตี้เป็นตัวกระตุ้นยอดขายสินค้าประเภทเหล้า เบียร์ รวมทั้งบุหรี่ มาเชื่อมโยงกับการระบุให้เยาวชนมีรหัสสินค้า มียี่ห้อ มีรุ่นเป็นของตัวเอง ก็น่าสงสัยว่าในสายตาของผู้ใหญ่หลายๆ คน เยาวชนเหล่านี้มีคุณค่ากับพวกเขาในฐานะอะไร? คน? หรือสินค้า? ที่สามารถตีราคาค่างวด

 

แล้วใครกันที่ได้รับผลประโยชน์จากสินค้าดังกล่าว?








ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท