Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ประเดประดังมาให้สังคมได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง จนอาจจะบอกได้ว่า ข่าวความรุนแรงในภาคใต้ได้ครอบครองพื้นที่สื่อเกือบทุกวันในทุกแขนงไปแล้ว


 


จากสถิติตั้งแต่ พ.ศ.2544-2547 ที่รวบรวมโดย ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่าตลอดช่วง 4 ปีมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นถึง 2,115 ครั้ง หรือเฉลี่ยปีละ 528.75 ครั้ง ซึ่งสูงมากหากเทียบกับสถิติความรุนแรงในช่วงที่มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือตลอดช่วง 8 ปีตั้งแต่ พ.ศ.2536 - 2543 พบว่ามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเพียง 468 ครั้ง หรือเฉลี่ยปีละ 58.5 ครั้ง


 


ว่ากันเฉพาะปีนี้ (2548) ที่ยังไม่ทันครบปี ก็มีเหตุการณ์รุนแรงปาเข้าไปกว่า 500 ครั้งแล้ว


 


เรื่องเหล่านี้คือสิ่งที่สังคมได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง ส่วนรัฐบาลเองก็ป้อนวิธีการแก้ไขอย่างต่อเนื่องตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชนิดรายวันเช่นกัน


 


น่าสนใจว่าการรับรู้ในความรุนแรงและการแก้ปัญหาที่ถี่บ่อยแบบรายวันนี้ จะนำไปสู่ "ความชินชา" ต่อความรุนแรงหรือไม่ และ "ความชินชา" ดังกล่าว จะมีผลทางจิตวิทยาต่อผุ้คนในสังคมโดยรวม หรือจะนำไปสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมร่วมของคนในสังคมอย่างไรต่อไปหรือไม่


 


ด้วยความสงสัยนี้ "ประชาไท" จึงถือโอกาสเข้าไปขอความรู้จาก รศ.ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้อธิบายเรื่องนี้ตามหลักทฤษฎีสื่อสารมวลชนและด้านจิตวิทยา และหลายคำตอบก็อาจจะชวนให้เราได้ฉุกคิด เพื่อตระหนักในความอ่อนไหวที่ซ่อนอยู่ในความชินชาต่อปัญหาความรุนแรงตลอดช่วงที่ผ่านมาและที่จะเกิดต่อจากนี้มากขึ้น


 


ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้จะมีผลต่อพฤติกรรมมวลชนอย่างไรไหม


ความรุนแรงที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่ใช่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแบบธรรมดา แต่เป็นความรุนแรงที่เผยแพร่ผ่านสื่อ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องสร้างภาพของความรุนแรงให้ทุกฝ่ายเห็นและรู้สึกถึงความน่ากลัว น่าสยดสยองของแต่ละเหตุการณ์


 


ความรู้สึกที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับในสถานการณ์ภาคใต้เท่านั้น แต่หมายถึงทุกสถานการณ์ เช่น วันนี้มีรถชน ข่าวรถชนถูกหยิบยกขึ้นไปที่หน้า 1 เขียนบรรยายสภาพให้เห็นเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไร เล่าเหมือนให้เห็นของจริง คนที่อ่านก็ย่อมจะสะพรึงกลัว


 


นี่เฉพาะหนังสือพิมพ์ ถ้าเป็นโทรทัศน์ โดยธรรมชาติจะต้องหามุมหรือจุดที่สามารถสะท้อนสาระ เนื้อหาที่จะสื่อให้ได้มากที่สุด ดังนั้น มันจึงเป็นความรุนแรงที่สามารถจะขยายให้เห็นถึงความรุนแรงนั้นได้มากยิ่งขึ้น แล้วจะขยายต่อไปด้วยปากต่อปาก


 


เทคโนลียีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้ามากขึ้นก็มีส่วนในการสื่อและขยายต่อ เช่น มีกล้องดิจิตอล ก็สามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้ โดยไม่ต้องไปคอยหนังสือพิมพ์ชื่อหลัก ชื่อดัง โทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อหลักอีกต่อไป และสามารถที่จะเอาเรื่องส่งเข้าเว็บ หรือส่งไปที่ไหนต่อไหนได้


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร ในเชิงของข้อมูลข่าวสาร เราควบคุมข้อมูลข่าวสารไม่ได้เลย และสิ่งที่น่ากลัวตามมาคือ เราจะไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร ข้อมูลอะไรเป็นข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน แล้วเราก็ไม่สามารถคอนโทรลต่อไปได้ว่า อะไรคือแหล่งข้อมูล


 


ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เรากลับไปสู่ยุคเก่าที่สามารถ ปิด หรือคอนโทรลสื่อทุกอย่าง เพียงแต่เราต้องปรับเข้าสู่ยุคใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของสื่อให้มากขึ้น ทำความเข้าใจกับธรรมชาติของตัวสถานการณ์ให้มากขึ้น แล้วสนใจบทบาทและวิธีการให้ข้อมูลของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น


 


ผู้ก่อความไม่สงบเขาหวังผลอะไรจากสื่อในฐานะที่เป็นเครื่องมือสะท้อนภาพความรุนแรง


หากมองจุดนี้แล้ววิเคราะห์ในเชิงทฤษฎี อย่าว่าแต่เหตุการณ์ที่ภาคใต้เลย สมัยที่มีเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมต่างๆ เกิดขึ้นใหม่ๆ ในประเทศอื่น ลักษณะของการก่อวินาศกรรมทั้งหลายมักมีเรื่องของสัญญะเข้ามาเกี่ยวข้อง


 


การใช้สัญลักษณ์ คือไม่ได้คิดจะทำอะไรที่ไหนก็ทำ แต่จะทำอะไรที่สะท้อนให้เห็นถึงความหมายหรือความสำคัญของพื้นที่นั้นด้วย อย่างกรณีที่ชัดมากคือ กรณี 911 จุดที่เป็นการใช้สัญลักษณ์ มีตั้งแต่การเลือกใช้เครื่องบิน ซึ่งเครื่องบินมีตั้งหลายชาติ แต่ต้องเลือกเป็นเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา เป็นสายการบินที่คนอเมริกันเดินทาง เพราะมันสะเทือนได้แรงกว่า แล้วปกติคนอเมริกาเดินทางด้วยเครื่องบินมากกว่าพาหนะอื่นๆ อยู่แล้ว พอเครื่องบินถูกจี้ มันจึงสะเทือนความรู้สึกมาก


 


สะเทือนอันที่ 2 คือ เครื่องบินถูกจี้ไปชนตึก 2 ตึก ที่เป็นหัวใจทางการค้า กับหัวใจทางการทหาร จึงต้องยอมรับว่า สัญลักษณ์มีผลต่อการตัดสินใจ ผลคือการจู่โจมหัวใจทางการทหารมีความหมายว่าความมั่นคงไม่มี ส่วนการจู่โจมหัวใจทางการค้ามันเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชน และชนลำเดียวไม่พอเอากี่ลำไปชน


 


ตรงนี้มันเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ธรรมชาติของข่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกแล้ว อันดับแรกข่าวทั้งหมดจะต้องพุ่งความสนใจไปที่นั่น โดยเฉพาะนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางของพวกสื่อต่างๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงต้องรายงานแบบถ่ายภาพเหตุการณ์สด


 


เขาเข้าใจธรรมชาติของสื่อดีมาก และสื่อสารให้โดยไม่ต้องหาหลักฐานหรือรอการพิสูจน์ต่างๆ ว่าใครเป็นใคร ใครทำ เป็นอุบัติเหตุหรือไม่ การชนซ้ำอีกลำก็เพื่อให้เห็นว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดา เป็นการก่อการร้ายแน่นอน เป็นการจงใจแน่นอน


 


แต่สิ่งที่ต้องชมอเมริกาในช่วงนั้นก็คือ การปรับตัวที่ค่อนข้างเร็ว จนแทบไม่เห็นข่าวคราวของเพนตากอน ที่เป็นหัวใจทางด้านการทหารหรือด้านความมั่นคง มีภาพที่ออกมาจากเวิร์ลเทรดบ้าง แต่เราจะไม่เห็นภาพคนแขนขาด ขาขาด สภาพศพที่ติดตามซากปรักหักพัง ภาพที่เห็นจะเป็นภาพที่ให้ขวัญให้กำลังใจคนอย่างมาก เพื่อทำให้เห็นว่า อเมริกายังอยู่ได้ สังคมยังอยู่ได้ แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง นี่ก็เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างที่เขาสู้กัน


 


การสู้กันในเชิงสัญลักษณ์นี้จะโยงมาในมิติจิตวิทยาและในเชิงที่จะเอาชนะใจมวลชน


 


แม้กระทั่งในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด หากตามดูภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 911 ที่นำเสนอเกี่ยวกับ สหรัฐฯหรือนิวยอร์ก ก็พยายามที่จะนำเสนอในแง่ Positive มีความร่วมมือกันในการผลิตหนังเพื่อที่จะทำให้ขวัญและกำลังใจกลับมา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ความคิดของคนไปคิดว่ามันแย่ มันก็จะแย่


 


การต่อสู้ในเชิงสัญญะแบบนี้ มีในกรณีเหตุการณ์ในภาคใต้ของเราด้วย?


ตรงนี้ไม่อยากวิจารณ์ แต่ที่จะต้องถามอันดับแรกก็คือ เราแม่นหรือเปล่าว่า สถานการณ์คืออะไร สภาพปัญหาเป็นอย่างไร คนแต่ละกลุ่มที่มีภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา ได้ข้อมูลชุดเดียวกันหรือไม่ เพราะว่าถ้าฐานข้อมูลหรือมีชุดข้อมูลที่ต่างกันก็นำไปสู่การดีไซน์หรือการออกแบบโครงการแก้ไขปัญหา หรือมีนโยบายที่ต่างกันไป


 


แต่ส่วนตัวเองจะไม่กล้าแตะว่า เราควรจะทำอะไร แบบไหน อย่างไร เพราะถือว่าไม่ได้รับข้อมูลจากทุกฝ่ายทุกด้านพอที่จะตอบให้เห็นระบบ หรือเห็นองค์ประกอบที่มันเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน


 


เหตุดังกล่าวอาจเป็นเพราะหลายคนเห็นว่า เป็นเรื่องของความมั่นคง เป็นเรื่องของข้อมูลความลับ แต่ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็กำลังช่วยเรื่องความมั่นคงด้วยเช่นกัน ถามว่าข้อมูลเหล่านั้นมันมีส่งต่อถึงกันมากน้อยแค่ไหนที่จะให้เราเห็นภาพ แล้วจะช่วยกันให้ทุกฝ่ายเห็นปัญหา


 


แต่การแก้ปัญหาต้องไม่ใช่แก้แบบรายวัน หรือแก้แบบ อยากจะทำอะไรพูดผ่านสื่อก่อน ทดสอบกระแสก่อน แล้วก็เอากลับไปแก้ไข อย่างนี้มันอันตราย


 


อย่างกรณีข่าวย้ายคนอีสานลง 3 จังหวัดภาคใต้ที่ออกมา แล้วบอกว่าเป็นการเสนอไอเดีย เป็นแนวคิดอพยพ เดี๋ยวพรุ่งนี้แนวคิดใหม่ก็ออกมาอีก มะรืนนี้ก็มาอีกแล้ว เราไม่รู้ว่าเขาตั้งใจโยนหินถามทางหรือเปล่า หรือเขาตั้งใจจะเอาแนวคิดนี้จริง แต่ถามว่า แนวคิดเดิมล่ะ ทำไปถึงไหน มีอะไรที่ปรากฏผลออกมาเป็นรูปธรรมบ้าง คือไม่ใช่ว่าอยากจะคิดอะไรก็คิด


 


อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ทั้งแนวคิดวันนี้ แนวคิดในอดีต มาจากหลักฐานอะไรที่ทำให้ตัดสินใจเลือกใช้แนวคิดนี้ ใครได้ ใครเสีย เคยมีการคิดอย่างครบวงจรและรอบคอบหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ยอมรับว่าไม่รู้เลย


 


แต่ถ้าในฐานะที่เป็นผู้บริโภคสื่อจะเห็นว่ามาอีกแล้ว แนวคิดใหม่ๆ เดี๋ยวก็ออกมา เราจะเห็นว่าปีสองปีนี้ มีกี่แนวคิดแล้วล่ะที่ออกมา


 


สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันจะนำมาสู่ความชินชาของสังคมหรือไม่ และจะส่งผลอย่างไรต่อไป


การตอบในเรื่องว่าคนชินกับความรุนแรง หรือคนชินกับนโยบายต่างๆ ที่ออกมาหรือไม่นั้น คงไม่สามารถตอบได้ เพราะว่าต้องผ่านการศึกษาอย่างจริงจังเป็นระบบ (Research Base) ตอนนี้ก็ยังไม่มีแม้แต่การสำรวจเบื้องต้นว่าคนคิดอย่างไร คนชินชาหรือไม่ คนที่ใกล้กลับไกล ปัญหาก็คิดต่างกัน หรือระยะเวลาของสถานการณ์ก็มีส่วน เวลาผ่านไปแค่เดือนหรือสองเดือน คนก็รู้สึกต่อประเด็นปัญหาต่างกัน


 


เมื่อตอนลงพื้นที่ 3 จังหวัดช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เข้าไปที่จังหวัดปัตตานี จะมีทีมคนในพื้นที่ดูแล และให้พาไปดูที่ต่างๆ เขาก็พาไปดูบิ๊กซี ที่วันก่อนเพิ่งโดนระเบิดไป พาไปอีกจุดก็เคยเกิดระเบิดไป มันทำให้เรามีคำถามว่า เขาชินกับเรื่องเหล่านี้แล้วหรือ แล้วต่อมาเขาก็ปรับปรุงสร้างตึกใหม่ ถ้าเป็นแบบนั้นมันก็อันตราย


 


หรือเขาอาจจะเห็นว่าเราลงไปเพื่อที่จะทำวิจัย หรือทำงานที่เกี่ยวข้อง เขาเลยถือโอกาสมาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง ดังนั้น ปัญหาความรู้สึกถึงความชินชาจึงเป็นเรื่องที่ตอบยาก


 


ในทางทฤษฎี ถ้าอยู่ไกลแล้วได้ยินข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แน่นอนว่ามันจะเกิดความชินชา มันเริ่มจะดูเป็นสิ่งที่ดูธรรมดา หากอธิบายในเชิงทฤษฎีคือ เมื่อได้สารซ้ำๆๆๆ ก็จะรู้สึก อีกแล้วๆๆๆ ก็จะเป็นอย่างนี้


 


เท่าที่พยายามมองความชินชาตรงนี้ เราก็ไม่อยากเห็นการแก้ไขปัญหาที่มาจากภาครัฐเท่านั้น แต่อยากได้ยินเสียงของประชาชน คนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่เคยอยู่ในพื้นที่ และคนที่เป็นญาติพี่น้อง ว่าเขาคิดอย่างไร เขาอยากเห็นแนวทางการจัดการอย่างไร หรือเขาจะทำอะไรได้บ้าง ณ วันนี้


 


ไม่ใช่ได้ยินแต่ข่าวว่าทางการจะทำอะไร ได้ยินข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น คนตายมากน้อยแค่ไหน วันนี้มีระเบิดกี่จุด ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้คนที่อยู่ในวงนอกชินชาจากสถานการณ์ แต่คนที่อยู่วงในเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา


 


ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างกรณีกระโดดตึก วันนี้มีคนกระโดดตึกที่จุฬาฯ คนจุฬาก็ตื่นตกใจ คนใกล้ชิดตกใจ พรุ่งนี้มีกระโดดตึกที่เอแบ็ค มะรืนมีกระโดดตึกที่รามฯ มะเรื่องมีกระโดดตึกที่อื่นๆ กระโดดไปสิบครั้ง ยี่สิบครั้ง คนก็จะชินชากับการกระโดดตึก ยกเว้นว่าคุณเป็นคนที่เผชิญปัญหานั้นด้วยตัวเอง ในทางจิตวิทยาจะบอกว่า เมื่อคิดอะไรไม่ออกแล้วไปอ่านหรือดูข่าวที่บรรยายไว้แบบนี้ อย่างนี้ แล้วรู้คนนี้เขาเกิดอารมณ์ความรู้สึกคิดมากแล้วกระโดดตึกลงไป ไม่แน่ว่าสำหรับคนที่กำลังอยู่ในสภาวะแบบเดียวกัน อาจจะจำลองว่านี่คือต้นแบบ แล้วก็เอาบ้างเมื่อหาทางออกไม่ได้


 


โดยสรุปก็คือ คนที่อยู่วงนอก ความชินชาจะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าได้ยินความชินชาซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่คนในอาจจะรู้สึกเป็นต้นแบบที่จะกระทำอะไรเหล่านั้นต่อไป


                             


ความชินชาเหล่านี้มีอันตรายแค่ไหน


ความชินชาก็คืออันตราย เพราะเมื่อมองเป็นเรื่องปกติก็อาจจะไม่สนใจ (Ignore) อาจจะไม่ให้ความใส่ใจ การที่ไม่ให้ความใส่ใจก็คือสิ่งน่ากลัว เพราะอาจทำให้ปิดกั้นตัวเองที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนั้น


 


แล้วทำให้เขาเองไม่อยู่ในจุดสำคัญที่จะถ่ายทอดเสียงของเขาหรือความคิดของเขาออกมาว่า อะไรคือแนวทางที่เป็นประโยชน์ ตรงนี้จะเงียบไป


 


แน่นอนคนที่เป็น Active Citizen หรือคนที่ตื่นตัวกับปัญหาบ้านเมืองสักหน่อยเขายังคงเกาะต่อแน่ แต่เขาจะมีช่องทางที่จะถ่ายทอดเสียงของเขามาได้หรือ เมื่อคนรู้สึกชินชา


 


ในกรณีของ 3 จังหวัด ทิศทางจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า


ก็จะเห็นข่าวเสียงของคนในสถานการณ์ออกมาบ้าง แต่อยู่ที่ผู้สื่อข่าวจะสื่อมามุมไหน ไปสัมภาษณ์ใคร ไปถามใครแบบไหนอย่างไร เพื่อให้แสดงทัศนะออกมาซึ่งก็จะเห็นในลักษณะนี้บ้าง แต่บางคนอาจจะไม่กล้าพูด


 


การสร้างสถานการณ์ของผู้ก่อการร้ายในภาคใต้ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่นั้น เขาต้องการสื่อสารอะไร หากมองในเชิงทฤษฎีของสื่อมวลชน


หากมองในทางสัญลักษณ์จะเห็นว่า เขาพยายามสื่อสิ่งที่เรียกว่า ทำไปแล้วจะสร้างความหวั่นไหวในเชิงอารมณ์ ความรู้สึก อย่างกรณีที่เขาเลือกเผาวัดที่ปัตตานี และทำร้ายพระ หรือการเผาโรงเรียน อันนี้เป็นการที่จะสื่อในเชิงสัญลักษณ์ว่า ต้องแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้ดี


 


เขาเลือกที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ก็สื่อออกมา เขาเลือกที่จะทำร้ายประชาชนเขาก็สื่อออกมา ว่าไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่นะ คนทั่วๆ ไปด้วย หรือบางทีก็ทำร้ายคนที่สังคมให้การยอมรับ เช่น เมื่อปีที่แล้วก็เข้าถึงตัวผู้พิพากษา คือทุกอย่างจะเป็นในเชิงสัญลักษณ์


 


แล้วถ้าจะสื่อแบบโต้กลับไปในเชิงสัญลักษณ์บ้างควรจะต้องทำอย่างไร


อันนี้พูดยาก คิดว่าทางการไทยคงต้องประสานความร่วมมือไปกับหลายฝ่ายและควรต้องรีบชัดเจนขึ้นมากกว่านี้ ควรต้องสรุปว่า อะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูดผ่านสื่อ คืออย่าขอให้สื่อมาร่วมมืออย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรจะต้องจัดลำดับความสำคัญเรื่องที่ควรไม่ควรพูดด้วย


 


แนวคิดที่มันเกิดขึ้นมาใหม่ๆ ไวๆ มันทำให้คนไม่มั่นใจ คือไม่มั่นใจว่าตกลงจะใช้นโยบายอะไร ชัดเจนในเชิงนโยบายจริงหรือไม่ หรือว่ามีการวิเคราะห์ข้อมูลได้ชัดแค่ไหน คือข้อเท็จจริง (Fact) ยังไม่ออก แต่ ฟัลลิ่ง หรืออารมณ์ ความรู้สึก ออกไปเยอะมาก


 


ตอนนี้ในการสื่อสารมีวอร์รูมกี่กลุ่มก็ไม่รู้ มีโฆษกของกี่กลุ่มก็ไม่รู้ เมื่อวันก่อนยังมีการแซวกันว่า สมานฉันท์ สมานเธอ ทำให้รู้ว่ามีทีมแก้สองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มคงประสานกันไม่ได้ ถึงได้มีการสื่อความหมาย บางอย่างออกมาสู่สังคม ตรงนี้เราไม่อยากเห็น เพราะอยากเห็นสังคมที่สามัคคีกัน


 


ถ้าให้มองว่าอะไรที่ขาดหายไป และจำเป็นที่จะต้องแก้ไขในระยะยาว อันนี้ไม่มองแค่เรื่อง 3 จังหวัด แต่จะมองไปถึงเรื่องสัมพันธภาพระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว


 


แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ เรื่องสัมพันธภาพระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน เราขาดความเข้าใจในเรื่อง Inter Culture Sensitivity หรือเรื่องของความเข้าใจในเชิงความอ่อนไหวระหว่างวัฒนธรรม


 


คนคิดว่าไทยเป็นไทย ไทยมีวัฒนธรรมเดียว ในความจริง ถามว่าใช่หรือไม่ เรามีไทยที่เป็นไทยพุทธ เรามีไทยมุสลิม ไทยคริสต์ ไทยที่เป็นฮินดู ไทยที่เป็นมอญ ไทยที่เป็นจีน ไทยอีสาน เรามีความหลากหลาย


 


แต่ในอดีตสมัยหนึ่ง เราสามารถที่จะทำให้มันเป็น Unity แต่ยุคนี้มันไม่ใช่ ยุคนี้เป็นยุคที่กำลังเรียกร้องให้เห็นและเข้าใจอัตลักษณ์และความแตกต่างในเชิงวัฒนธรรม


 


ไม่ใช่แค่ไม่ยอมรับอย่างเดียว แต่ที่น่ากลัวมากเลยก็คือเรื่องของการดูถูกคนที่ต่างจากเรา หรือต่างจากสิ่งที่เราคิดว่าเป็นมาตรฐาน อย่างเช่น เสียงคนที่บ้านเหน่อ เราหัวเราะ เสียงคนอีสานเราหัวเราะ การหัวเราะเหล่านี้คือการสะท้อนสิ่งที่เรียกว่า ความไร้เดียงสาในเรื่องเหล่านี้


 


เรื่องเหล่านี้จะไปจุดประกายอะไร วันนี้ พรุ่งนี้ อาจจะยังดีกันอยู่ เรามีเรื่องล้อเลียนชาวเขา เราก็จะเห็นชาวเขาโวยขึ้นมาเป็นระยะ บางทีลาวโวยบ้าง พม่าโวยบ้าง บางทีเขมรโวยบ้าง รอบนี้เป็นรอบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รอบนี้เป็นรอบของมาเลเซียที่โวยบ้าง อันนี้เป็นประเด็นที่น่าจะต้องคุยกันนอกเหนือจากเรื่องการก่อการร้ายที่เราพยายามที่จะแก้ไข


 


เพราะไม่อย่างนั้น เราก็จะไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นมา ณ จุดต่างๆ และไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ที่คนสะท้อนออกมาในเรื่องความหลากหลาย


 


สังคมอเมริกาเมื่อ10 ปีก่อน เขาจะเก่งในเรื่องนี้มาก เขาจะบอกเลยว่า ไม่ว่าจะมาจากไหน ต้องเคารพความหลากหลายตรงจุดนี้ให้ได้ แล้วก็บังคับเลยว่า ในระดับขั้นปริญญาตรี จะต้องเรียนวิชาที่เรียกว่า การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม วัฒนธรรมตรงนี้ไม่ใช่ว่าต้องข้ามชาติ ข้ามประเทศ แต่เป็นในประเทศเดียวกัน


 


คือยอมรับและเข้าใจว่า พวกนี้เป็นอินเดียนแดง พวกนี้เป็นอเมริกันสายยิว พวกนี้เป็นอเมริกันอพยพมาจากยุโรป พวกนี้เป็นอเมริกันเชื้อสายเอเชียน เขาจะต้องเข้าใจกัน และไม่ทำให้เกิดการดูถูกกัน เพราะอาจจะเกิดปัญหาประทุขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ คิดว่าตรงนี้เป็นระยะยาวที่สำคัญมากที่เรายังไม่ให้ความสำคัญ


 


ปัญหานี้เป็นเรื่องของรากฐานความคิดที่มาจากการกล่อมเกลา การหล่อหลอม ลองคิดดูว่า ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษฏ์ ธนะรัชต์ เราจะมีเพลงปลุกใจ หรือไม่ว่าอะไรก็ตามที่บอกว่าไทยเดียวกัน มันหล่อหลอมให้รวมเป็นหนึ่ง แต่ว่าโลกมันเปลี่ยน โลกวันนี้กับโลกเมื่อ 40 ปีที่แล้วมันคนละโลกกัน โลกวันนี้คือโลกที่สังคมพยายามขยายเอกลักษณ์ อัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มย่อยๆ ขึ้นมา


 


เพราะฉะนั้นจะไปทำเหมือนในลักษณะเมื่อ 40 ปีที่แล้วไม่ได้ ซึ่งเชื่อได้ว่าท่านเองก็ไม่ได้วางแผนให้ยาวมาถึงปัจจุบัน


 


อีกสิ่งที่คิดว่าอันตรายคือ เราเป็นสังคมที่เรียกว่าต่างฝ่ายต่างเรียกร้องบนจุดยืนของตัวเอง มากกว่าจะดูจุดยืนของกันและกัน เพื่อที่จะประสานให้ไปได้ด้วยกัน ในมุมการสื่อสารต้องคิดว่า ผู้รับสารไม่ได้มีเฉพาะคนกลุ่มใหญ่ๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องทำอะไรให้คนเมืองดู หรือทำอะไรให้ได้รสนิยมคนกรุงเทพฯ แต่ยังมีพื้นที่อื่นๆ อีกเยอะ


 


อย่างเพลงๆ หนึ่งที่ออกมาก่อนหน้านี้ มีภาพสวยดูดี เพลงไพเราะ เด็กที่อยู่ในสังคมเมืองหรือในภาคอื่นเดินทางลงไปที่ภาคใต้แล้วก็มีการทำกิจกรรมกัน กลับมาก็ส่งข่าวถึงกัน แล้วก็มีภาพระเบิด ซึ่งก่อนทำควรจะต้องเทสต์ก่อนว่า คนในพื้นที่เขาคิดอะไร เขายอมรับภาพระเบิดอะไรเหล่านี้ได้แค่ไหน ภาพระเบิดต่างๆมันแรงไปหรือเปล่า คือไม่ใช่ใช้อารมณ์ ความเป็นสุนทรีย์ ความเป็นครีเอทีฟอย่างเดียว มันเป็นเรื่อง เซนซิทีฟ มันจำเป็นต้องมีการการศึกษาทดสอบก่อน


 


แน่นอนว่าที่กล่าวมานี้ ไม่ได้เรียกร้องให้มีการควบคุม แต่ต้องเข้าใจ ยอมรับความหลากหลายและจุดยืนของกันละกัน เพื่อที่จะหาจุดที่มาร่วมกันให้ได้ และหากมีการควบคุมมากขึ้นเท่าไหร่ การเสียดสีและการปะทะกันก็ยิ่งมากเท่านั้น









ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net