รายงาน "พลเมืองเหนือ" : ถมคมนาคม 4,000 ล้าน บูมเชียงใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


 

 

"ทิศทางการพัฒนาระบบคมนาคมของจังหวัดเชียงใหม่จะต้องเดินไปให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด ที่จะเป็นนครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง แต่เราจะจัดการความมั่งคั่ง วิถีธรรมชาติให้เดินไปด้วยกันได้อย่างไร เมืองเชียงใหม่วันนี้เติบโตค่อนข้างเร็ว แต่เป็นการเติบโตที่ขาดคิดขาดทาง ประชากร 90% เดินทางโดยรถส่วนตัว ดังนั้น การมี Mass Transit เกิดขึ้นในเชียงใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างมากและต้องเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ"

 

นี่เป็นถ้อยวลีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเรื่อง "โครงข่ายการคมนาคมกับอนาคตใหม่เชียงใหม่" ที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่ - ลำพูน เทศบาลนครเชียงใหม่ และกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่

 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รับงบประมาณจำนวน 50 ล้านบาท  เพื่อนำมาจัดทำแผนแม่บทด้านการคมนาคมจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้พบว่าในเขตตัวเมืองเชียงใหม่เริ่มมีปัญหาการจราจรติดขัด ปัจจุบันความต้องการเดินทางโดยเฉพาะในเขตผังเมืองรวมในพื้นที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร ประมาณวันละ 1.5 ล้านเที่ยว สัดส่วนประมาณ 90% เป็นการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว อีก 10% เป็นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (สี่ล้อแดง) แต่จากการคาดการณ์ในอนาคตความต้องการในการเดินทางจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็น 2.4 ล้านเที่ยวต่อวันในอีก 5 ปีข้างหน้า และ 2.9 ล้านเที่ยวต่อวันในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น ระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่สามารถรองรับการเดินทางในอนาคตได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการให้บริการการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย

 

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุดคือ การนำระบบขนส่งมวลชนเข้ามาใช้กับระบบการจราจรในตัวเมืองเชียงใหม่ ขั้นแรกอาจะเริ่มด้วยระบบราง ซึ่งสามารถขนส่งผู้คนในเมืองได้ทีละจำนวนมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน หรือลอยฟ้า โดยจะต้องทำการศึกษาและพิจารณาถึงความเหมาะสมให้สอดคล้องกับเมืองและความต้องการของประชาชนด้วย

 

"ในส่วนของรถสี่ล้อแดงนั้น จะต้องมาปรับนโยบายร่วมกัน โดยกระทรวงคมนาคมจะหาทางจัดระเบียบและให้เขาอยู่ได้ แม้ว่าอนาคตจะมีขนส่งสาธารณะระบบใหม่เกิดขึ้น ระบบเดิมกับระบบใหม่ต้องสามารถเดินไปด้วยกันได้ และคงต้องจัดระเบียบรถสี่ล้อแดงให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางของประชาชนอย่างแท้จริง"

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเชียงใหม่ได้กลายเป็นแม่เหล็กดูดเอาทรัพยากรมนุษย์ นักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่างอะไรจากกรุงเทพมหานคร เป็นการรวมเอาความมั่งคั่งกับปัญหามากมายเข้าไว้ด้วยกัน เชียงใหม่จึงเป็นพื้นที่เฉพาะที่มีรูปแบบการขยายตัวของเมือง (Urbanization Pattern) อย่างรวดเร็ว ตามมาซึ่งปัญหาการจราจรและการขนส่งในเมือง เป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและทันท่วงที

 

วันนี้ระบบการจัดการขนส่งมวลชนทางเลือกควรเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับโครงข่ายถนน รวมถึงการผลักดันทางการเมืองที่จะต้องวางแนวคิด เพราะอนาคตจุดขายของเชียงใหม่อาจลดลง หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านระบบขนส่งมวลชน รถเมล์ รถไฟฟ้า รถรางขนาดเบาคือทางเลือกที่ทุกคนกำลังรอให้เกิดขึ้นในอนาคต

 

เจาะเมกกะโปรเจ็กต์โครงข่ายคมนาคม

ถม 4,000 พันล้านบูมเชียงใหม่

นอกจากการจัดระบบการขนส่งสาธารณะในเขตตัวเมืองแล้ว ประเด็นเรื่องโครงข่ายเส้นทางคมนาคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ก็ถูกหยิบขึ้นมาพูดอย่างกว้างขวางในเวทีครั้งนี้

 

นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่อยู่ในช่วงเร่งการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม โดยมีทั้งโครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างและโครงการที่จะดำเนินการในปี 2549โครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างมี 5 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังเร่งรัดดำเนินการ ประกอบด้วย

 

1.โครงการก่อสร้างทางลอดแยกข่วงสิงห์ ทางหลวงหมายเลข 11 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 107 ผู้รับจ้างคือ หจก.จิระเทพ งบประมาณ 243,289,721 บาท เริ่มต้นสัญญา 24 ตุลาคม 2546 สิ้นสุดสัญญา 10 เมษายน 2549 ความคืบหน้าโครงการ 42.61 %

 

2.โครงการก่อสร้างทางลอดแยกศาลเด็ก ทางหลวงหมายเลข 11 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 118 ผู้รับจ้าง หจก.จิระเทพ งบประมาณ 268,823,714 บาท เริ่มต้นสัญญา 24 ตุลาคม 2546 สิ้นสุดสัญญา 10 เมษายน 2549 ผลการดำเนินงาน 37.79 %

 

3.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 107 ตอนอำเภอแม่ริม - อำเภอแม่แตง ตอน 1 กม.17+700 - กม.34+000 ผู้รับจ้าง บ.อุดมศักดิ์เชียงใหม่ จก. งบประมาณ 268,139,230 บาท เริ่มต้นสัญญา 7 สิงหาคม 2547 สิ้นสุดสัญญา 30 กันยายน 2548 ผลการดำเนินงาน 85.27 % กำลังเร่งรัดงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

 

4.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 107 ตอนอำเภอแม่ริม - อำเภอแม่แตง ตอน 2A กม.34+000 - กม.35+000 ผู้รับจ้าง หจก.รัตนานุพัชร งบประมาณ 135,727,589 บาท เริ่มต้นสัญญา 23 กุมภาพันธ์ 2548 สิ้นสุดสัญญา 18 พฤษภาคม 2549 ผลการดำเนินงาน 44.53 % กำลังเร่งรัดงานก่อสร้าง

 

5.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 107 ตอนอำเภอแม่ริม - อำเภอแม่แตง ตอน 2B กม.35+000 - กม.38+800 ผู้รับจ้าง บ.บัญชากิจ จก. งบประมาณ 94,834,342 บาท เริ่มต้นสัญญา 23 กุมภาพันธ์ 2548 สิ้นสุดสัญญา 19 มีนาคม 2549 ผลการดำเนินงาน 58.67 %

 

สำหรับโครงการที่มีแผนดำเนินการปี 2549 มี 4 โครงการคือ

1.โครงการก่อสร้างทางลอดแยกปอยหลวง ทางหลวงหมายเลข 11 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 1006 ผู้รับจ้าง บ.เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จก. งบประมาณ 379,615,000 บาท ระยะเวลาทำการ 600 วัน เริ่มต้นสัญญา 3 พฤศจิกายน 2548 สิ้นสุดสัญญญา 25 มิถุนายน 2550

 

2.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก ทางหลวงหมายเลข 11 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 121 ผู้รับจ้าง บ.เอส แอล พี เอ็นจิเนียริ่ง จก. งบประมาณ 149,030,539.20 บาท ระยะเวลาทำการ 365 วัน อยู่ระหว่างเตรียมเซ็นสัญญา

 

3.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 107 ตอนอำเภอแม่แตง - ศูนย์ฝึกลูกช้าง ส่วนที่ 1 กม.38+800 - กม.50+000 ระยะทาง 11.200 กม. ผู้รับจ้าง บ.อุดมศักดิ์เชียงใหม่ จก.งบประมาณ 216,754,431 บาท ระยะเวลาทำการ 540 วัน อยู่ระหว่างเตรียมเซ็นสัญญา

 

4.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 107 ตอนอำเภอแม่แตง - ศูนย์ฝึกลูกช้าง ส่วนที่ 2 กม.50+000 - กม.55+600 และ กท.63+759.947 - กม.72+500 ระยะทาง 14.340 กม. ผู้รับจ้าง หจก.สหมิตรอินเตอร์ เอ็นจิเนียริ่ง งบประมาณ 229,189,211 บาท ระยะเวลาทำการ 540 วัน อยู่ระหว่างเตรียมเซ็นสัญญา

 

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการเร่งด่วนตามบัญชานายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในจังหวัดเชียงใหม่ 3 โครงการ ได้แก่

 

1.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 สายท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ - แยกรินคำ ขนาด 4 - 6 ชิ่งจราจร ระยะทาง 4.027 กม. งบประมาณ 290 ล้านบาท ผู้รับจ้าง บ.เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จก. ระยะเวลาทำการ 300 วัน เสนอของบกลางปี 2549

 

2.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 121 ถนนเลียบคลองชลประทาน ผู้รับจ้าง บ.เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จก. งบประมาณ 510 ล้านบาท ระยะเวลาทำการ 300 วัน เสนอของบกลางปี 2549

 

3.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1014 ผู้รับจ้าง บ.หาญเจริญเอ็นเตอร์ไพรส์เชียงราย จก. งบประมาณ 290 ล้านบาท ระยะเวลาทำการ 300 วัน เสนอของบกลางปี 2549

 

โดยทั้ง 3 โครงการ อธิบดีกรมทางหลวง บอกว่า เป็นโครงการเร่งด่วนและจะเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาทางหลวงขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง มูลค่ารวมกันมากกว่า 1,000 ล้านบาท มีทั้งหมด 8 โครงการ ประกอบด้วย

 

1.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร สายเชียงใหม่ - ลำพูน 2.โครงการถนนวงแหวนรอบนอกเชียงใหม่ 3.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร สายเชียงใหม่ - เชียงราย 4.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร สายเชียงใหม่ - อำเภอฝาง - อำเภอแม่จัน 5.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร สายอำเภอจอมทอง - อำเภอแม่สะเรียง 6.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายเชียงใหม่ - เชียงราย 7.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายเชียงใหม่ - ลำปาง 8.โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่ - อำเภอสะเมิง - แม่ฮ่องสอน

 

ทั้งหมดเป็นเมกะโปรเจ็กต์โครงข่ายคมนาคมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ใน 1 - 2 ปีนี้ เป็นการเตรียมรองรับการเติบโตของเมืองที่จะขยายมากกว่านี้ในอีกหลายเท่าตัวในอนาคตอันใกล้ สนข.ระบุว่าหากจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่วางแผนล่วงหน้าทั้งการวางโครงข่ายเส้นทางคมนาคม การวางระบบขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม คาดว่าในปี 2563 ประชากรในเชียงใหม่อาจต้องใช้วิธีการเดินแทนการใช้รถส่วนตัว เพราะบนถนนทุกสายจะอัดแน่นไปด้วยรถที่ไม่ต่างอะไรจากสภาพของกรุงเทพมหานคร ในวันนี้

 

นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกวันนี้คนไทยทั้งประเทศต้องสูยเสียเงินกว่า 1 แสนล้านบาทกับการใช้พลังงานจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับเชียงใหม่มีปัญหาเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งการมีรถเมล์เกิดขึ้นในวันนี้นับเป็นเรื่องที่ดีและน่าจะเข้ามาช่วยแก้วิกฤติพลังงานได้ เพียงแต่ชาวเชียงใหม่ต้องร่วมมือกันใช้บริการให้มากขึ้น และต้องทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ได้อย่างยั่งยืน

 

ขณะที่นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า รถเมล์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ต้องขาดทุนแน่นอน แต่การขาดทุนคงไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาเป็นข้ออ้างให้หยุดวิ่งอย่างแน่นอน ยิ่งขาดทุนก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนรถเมล์ให้มากขึ้น เพื่อให้คนเชียงใหม่ยอมเปลี่ยนมาขึ้นรถเมล์ให้ได้ อนาคตวางแผนจะขยายเส้นทางให้ครอบคลุมมากกว่านี้และให้รถเมล์เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด

 

เมกะโปรเจ็กต์โครงข่ายคมนาคมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท หรือระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองเชียงใหม่ในอนาคตที่ชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างเกาะติดแล้ว ประชาชนชาวเชียงใหม่ก็ควรเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท