Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดรายการราชดำเนินเสวนาเรื่อง "การใช้อำนาจ กกต. ชัวร์หรือมั่วนิ่ม" โดยมี อาจารย์คมสัน โพธิ์คง จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช นายการุณ ใสงาม สมาชิกวุฒิสภา จ. บุรีรัมย์ นายนคร มาฉิม ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฎร และพลเรือโทณรงค์ ชโลธร จากกรรมการองค์กรกลาง เป็นวิทยากรร่วมเสวนา


 


นายนคร กล่าวว่า ถึงวันนี้คำถามถึงความผิดปกติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะผู้ที่ได้รับใบเหลืองหรือใบแดงเท่านั้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังสงสัยว่ากกต.ชุดนี้ทำหน้าที่โดยสุจริตจริงหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงเริ่มปรากฏออกมามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่ามี "เงิน" สะพัดเป็นจำนวนมากที่ส่งผลถึงการแพ้-ชนะการเลือกตั้ง แต่กลับไม่มีการแจ้งจับการทุจริตจากกกต.มากเท่าที่ควรจะเป็น


 


ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง กล่าวว่า ไม่นานมานี้ได้เชิญทั้งกกต. ศาลฏีกา และผู้ที่เข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้งมาหารือให้ข้อเท็จจริง ปัญหาจากข้อชี้แจงในที่ประชุมก็คือ คำวินิจฉัยของกกต.ไม่ได้มาตราฐาน ขณะที่ศาลฎีกาตั้งข้อสังเกตว่า คำวินิจฉัยของกกต.มีธงคำตอบก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยหรือไม่


 


"ในบางเรื่องมีคำวินิจฉัยที่เป็นธงคำตอบออกมาก่อนแล้ว จึงเกิดข้อปัญหาอย่างกรณีที่จ.ร้อยเอ็ด ที่จ.เพชรบูรณ์ หรือที่อื่นๆตามมาว่า ทำไมคำวินิจฉัยจึงไม่ตรงกับธงคำตอบ"


 


พลเรือโทณรงค์ กล่าวว่า วันนี้ตนไม่เชื่อมั่นกับการทำหน้าที่ของกกต. พร้อมกับตั้งคำถามถึงประชาชนว่ามีความเชื่อมั่นในกกต.มากน้อยเพียงใด เช่นคำถามที่ว่า กกต.ไม่ได้ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองจริงหรือไม่ หรือการบริหารจัดการของกกต.บริสุทธิ์เที่ยงธรรมมากน้อยเพียงใด แม้กระทั้งคำถามว่า จริงหรือที่ใบเหลืองใบแดงมีการซื้อกันได้ ผู้เกี่ยวข้องจะต้องมานั่งระดมสมองเพื่อทบทวนที่ของกกต.ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นแล้วความเสื่อมศรัทธาในกกต.จะมีเพิ่มมากขึ้น 


 


กรรมการองค์กรกลาง เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่กกต.กลาง ควรกระจายอำนาจสู่กกต.จังหวัดให้มากขึ้น และตั้งศาลเลือกตั้งเป็นกรณีพิเศษ เพราะดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่อมั่นในระบบของศาลมากกว่าเชื่อมั่นในตัวกกต. รวมถึงการยกเลิกการให้ใบเหลือง เพราะที่ผ่านมาเมื่อกกต.ให้ใบเหลืองก็ปัดความรับผิดชอบ จนนำมาสู่การเลือกตั้งใหม่


 


"หากพบผู้สมัครที่ทำการฝ่าฝืนอย่างชัดเจนก็ให้ใบแดงไป แต่หากยังคลุมเครือเพราะไม่มีหลักฐานว่าเขาทำผิดจริงก็อาจจะให้เขียวไปเลย เพราะจะช่วยลดปัญหาการวินิจฉัยที่ซับซ้อนได้ ไม่ต้องแก้กฏหมายหรือแก้รัฐธรรมนูญ"


 


ด้าน อาจารย์คมสัน เห็นแย้งว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งศาลเลือกตั้ง เพราะอาจจะทำให้กลับไปสู่ระบบเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ขณะที่การกระจายอำนาจให้กับกกต.จังหวัด อาจไม่เหมาะสมเท่าใดนัก เนื่องจากการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการเลือกตั้ง ว่าทุจริตหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของกกต. แต่การบริหารไม่ควรให้กกต.ทำ เพราะจะทำให้การบริหารกลับไปสู่ที่เดิมเช่นกัน


 


อาจารย์คมสัน กล่าวว่า สังคมค่อนข้างหมดหวังกับสภาพของกกต.หรือองค์กรอิสระส่วนใหญ่ เปรียบเสมือนคนที่เป็นอัมพาตไม่สามารถขยับร่างกายได้ ขณะที่ปัญหาเรื่องใบเหลืองใบแดงของกกต. โดยอำนาจหน้าที่แล้วไม่ควรเกิดเรื่องผิดพลาดเช่นนี้ขึ้น และรู้สึกรับไม่ได้ที่กรรมการเลือกตั้งบางคนมองว่า ทำงานมา 4 ปี ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ


 


ด้านนายการุณ กล่าวว่า หากนำข้อมูล ข้อเท็จจริงถึงผลงานการปฏิบัติงานของกกต. วันนี้มาดู จะพบความผิดปกติที่น่ากลัวหลายประการ แต่ทั้งนี้เคยเรียกร้องให้มีการถอดถอนกกต.ในหลายครั้ง แต่ฝ่ายการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมถึงผู้เกี่ยวข้องกลับสนใจเพียงชั่วคราว แต่ที่สุดก็ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป


 


นอกจากนี้ ส..บุรีรัมย์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาเรื่องที่กกต.ทุจริตหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะแม้ไม่มีใบเสร็จการรับเงินที่จะนำมาเป็นหลักฐานจับผู้กระทำผิดได้ แต่เมื่อมองโดยเนื้องานของกกต.กลับพบว่ามีความไม่ชอบเกิดขึ้น เช่น กรณีการขึ้นเงินเดือนให้ตนเอง หรือกรณีการใช้งบประมาณราชการลับ หรืองบประมาณรับรอง เป็นต้น ส่งผลให้มีผู้ได้ประโยชน์จากการกระทำไม่ชอบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันผลประโยชน์ไม่ชอบดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่แทบทั้งสิ้น เช่น การชนะการเลือกตั้งนายกฯอบต. ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล รวมไปถึงการชนะเลือกตั้งส.. .. เป็นต้น โดยที่มูลค่าการลงทุนถึงความผิดปกติดังกล่าวในแต่ละระดับเป็นจำนวนเงินมาศาล


 


นายการุณ กล่าวต่อว่า สื่อมวลชนควรตั้งคำถามกับกกต. ต่อกรณีคำวินิจฉัยในแต่ละปี แต่ละเดือน ที่ยังไม่สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่ามีกี่ฉบับ ที่ใดบ้าง และเพราะอะไร เพราะหากกกต.ตอบด้วยความสุจริตสังคมจะพบความผิดปกติเป็นจำนวนมาก


 


"คำวินิจฉัยที่เกิน 1 ปี ยังเซ็นชื่อกันไม่ครบ และไม่สามารถนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ มีกีฉบับ ที่ไหนบ้าง เพราะอะไร เกิน 6 เดือนมีกี่ฉบับ เกิน 3 มีกี่ฉบับ ตรงนี้ถามให้ชัด ถ้ากกต.ตอบตรงๆเห็นแล้วจะน่ากลัวมาก เพราะเมื่อไปเปิดในราชกิจานุเบกษาแล้ว จะพบว่ามีเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ลงประกาศ"


 


ขณะเดียวกันส.. บุรีรัมย์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงอำนาจหน้าที่ของ พล... วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกกต.ถึงคำสั่งที่ลงนาม 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ 1 กรณีการเซ็นมอบอำนาจให้กับกกต.จังหวัดทำหน้าที่วินิจฉัยในกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด บกพร่องผิดพลาดอย่างไร ฉบับที่2 คือ คำสั่งว่าด้วยเรื่องการตั้งพนักงานสอบสวน 400 เขต 1200 คน ทั่วประเทศ เนื่องจากทั้ง 2 ฉบับ ต้องไม่ได้มีมติจากกกต.ทั้งหมดรับรอง แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าเป็นการลงนามโดยประธานกกต.เพียงคนเดียว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net