Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


มาถึง ณ เวลา กรณีความขัดแย้งระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ก็จวนเจียนจะกลายเป็นวิกฤติของรัฐบาลไปแล้ว


 


การใช้กระบวนการทางศาลเพื่อหยุดยั้งสนธิของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกตอบโต้ด้วยการเปิดโปงในข้อหาใหม่ๆ ราวกับหมูไม่กลัวน้ำร้อน แม้บางครั้งอดรู้สึกไม่ได้ว่า การเปิดประเด็นเปิดโปงใหม่ๆ มีลักษณะหยุมหยิมและไม่น่าเชื่อถืออยู่บ้าง แต่ประเด็นหยุมหยิมเหล่านี้ ก็อาจจะส่งผลกลายเป็นการกระชากทักษิณลงจากบัลลังก์อำนาจ หรืออย่างน้อยก็น่าจะทำให้สถานะอันสูงส่งที่ค้ำยันด้วยคะแนนนิยมอันสูงสุดตลอดช่วงที่ผ่านมาต้องต่ำลงอย่างไม่น่าเชื่อ


 


เราคงบอกไม่ได้ว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ รู้จักนิ่งให้มาก ไม่ปล่อยให้ลิ่วล้อออกมาตอบโต้นั้นจะทำให้สนธิฝ่อไปเอง เพราะความนิ่งนั้น พรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำมาแล้วตลอดหลายสัปดาห์ ทว่าสถานการณ์กลับรุนแรงขึ้น  คนที่เข้าร่วมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรก็มากขึ้น และเสียงชักชวนทวงถามว่า "วันนี้จะไปร่วมงาน "สนธิ" ที่สวนลุมหรือไม่" จากญาติสนิทมิตรสนิทก็ถี่กระชั้นและมีน้ำเสียงเร่งรัดมากขึ้น ความนิ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงอาจจะมีสภาพกลายเป็นความประมาทไปอย่างไม่น่าให้อภัย


 


อย่างไรก็ตาม เราบอกได้แต่เพียงว่า จุดที่ทำให้หลายคนที่ไม่เคยคิดจะเห็นด้วยกับสนธิ ตัดสินใจเดินหน้าไปสวนลุมฯในคืนวันศุกร์นั้น มาจากสองประเด็นสำคัญ หนึ่งคือการคุกคามสื่อและปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ สอง ก็คือการเคลื่อนไหวของบุคคลระดับสูงในกองทัพ เพราะทั้งหมดมันก่อให้เกิดความรู้สึกว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นคนเก่งอย่างไร แต่การปล่อยให้คนเก่งที่เผด็จอำนาจทำอะไรก็ได้นั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่า และน่าเชื่อว่าจะนำไปสู่คำตอบที่ว่า "สู้ไม่มีคนเก่งคนนี้เสียยังดีกว่า" ได้ในที่สุด


 


อย่าลืมว่า จุดอ่อนของสนธิ ตลอดช่วงที่ผ่านมา คือแรงจูงใจต่อการเคลื่อนไหวแบบหมดหน้าตัก โดยเฉพาะการชูเรื่อง การแต่งตั้งผู้ว่า สตง. การใช้วัดพระแก้ว ทำบุญประเทศ การแต่งตั้งรักษาการสมเด็จพระสังฆราชฯ ซึ่งทั้งหมด ขมวดเข้าสู่ประเด็นเรื่อง "พระราชอำนาจ" นั้นถูกมองว่าเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเรื่องการเมือง แต่จุดอ่อนนี้กำลังจะถูกเปลี่ยนให้เป็นจุดแข็งได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อไปสอดคล้องเข้ากับ "การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2" ตามแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม ที่เสนอโดย ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ โดยการเริ่มต้นด้วยการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" เพื่อทวงคืนประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่หนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ" ชูและขยายความรู้เรื่องนี้มาตลอดไม่น้อยกว่า 5 ปี


 


ถามว่า ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นใคร คำตอบในความเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดนั้นโยงใยไปถึงอดีตผู้นำประเทศและอดีตผู้นำกองทัพคนสำคัญ ซึ่งน่าจะมีผลโน้มเอียงไปในทางถวายคืนพระราชอำนาจอยู่เสมอมา


 


ถามว่า ประเด็นเรียกร้อง ถวายคืนพระราชอำนาจนี้ มีน้ำหนักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ณ วันที่รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกใช้มาเพียง 8 ปี ก็ต้องตอบว่า ไม่มีน้ำหนัก


 


แต่เมื่อพิจารณาสภาพการบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญที่โชคร้ายเมื่อเริ่มใช้แบบเต็มรูปก็มาตกอยู่ในมือของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วละก็ เหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักนี้ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ "ไม่มีทางเลือก"


 


ประการแรก รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีหลัก 3 ประการ หนึ่ง คือการให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน สอง คือการมีประบวนการและกลไกตรวจสอบที่เข้มแข็ง และ สาม การสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล ซึ่งจะเป็นหลักสมดุลสำคัญที่จะขับเคลื่อนประชาธิปไตยไทยให้มีผลต่อการพัฒนาประเทศนั้น ก็อยู่ในสภาพพิกลพิการ ด้วยเหตุที่ เสถียรภาพรัฐบาลเข้มแข็งเกินความสมดุลจนไปเผด็จอำนาจทั้งมวล คุกคามสิทธิเสรีภาพ และเปลี่ยนสภาพองค์กรตรวจสอบต่างๆ ให้กลายเป็นเครื่องมือเผด็จอำนาจของรัฐบาลซ้ำเข้าไปอีก


 


ประการต่อมา ภายใต้โครงสร้างผูกขาดอำนาจทางการเมืองที่เอื้อโดยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลทักษิณก็ไม่รีรอที่จะขยายซึ่งอำนาจนั้นให้ลงรากฝังลึก คนสนิทชิดเชื้อได้รับการจัดวางให้ไปอยู่ในองค์กรสำคัญๆ ต่างๆ เครือญาติผู้นำ ใช้อำนาจและทรัพยากรของทางราชการไปในทางเอื้อประโยชน์ส่วนตน ความไม่โปร่งใสในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ไปคาบเกี่ยวกับผลประโยชน์พวกพ้อง แม้สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐบาลอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา หรืออาจจะไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐบาลในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ภายใต้มายาภาพชนิดนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดความกลัว และเกรงว่า รัฐบาลไทยรักไทยจะผูกขาดอำนาจทางการเมืองต่อไปในทุกยุคทุกสมัยต่อจากนี้


 


ว่ากันให้ถึงที่สุด นี่นับเป็นเรื่องตลกชนิดหนึ่ง ขณะที่คนไทยไปเลือกตั้งและมอบให้นักเลือกตั้งรับเหมาทำแทนทั้งหมด ขณะเดียวกันคนไทยเองกลับไม่เชื่อในการเลือกตั้งว่าสามารถที่จะผลัดเปลี่ยนผู้มีอำนาจได้ หรือไม่เช่นนั้นมันก็ฟ้องอยู่เองว่า เอาเข้าจริงคนชั้นกลางในเมืองนั่นเองที่ไม่ไว้ใจว่าคนชนบทจะเลือก พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาผูกขาดอำนาจอีกหรือไม่ นี่ย่อมสะท้อนสภาพความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมืองไทยโดยแท้


 


อย่างไรก็ตาม เราจะหวังการเปลี่ยนแปลง "ถวายคืนพระราชอำนาจ ทวงคืนประเทศไทย" ด้วยการมีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 จากเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองคงไม่ได้ หากไม่มีคนชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ อย่าลืมว่า กระแสธงเขียวที่ผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเกิดขึ้นจาก ส.ส.ทั่วประเทศ ถูกกระแสกดดันจากคนในพื้นที่ของตนทั่วทั้งประเทศจนไม่สามารถปฏิเสธการยกมือผ่านร่างรัฐธรรมนูญได้


 


อย่าลืมด้วยว่า รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มาจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม และรัฐบาลไทยรักไทยนี่เองที่น่าจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างเข้มแข็งที่สุด เพราะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญมากที่สุด


 


ภายใต้สภาพเช่นนี้ จึงเป็นสภาพน่ากลัว เมื่อฝ่ายหนึ่งเข็นม็อบออกมา ขณะที่อีกฝ่ายก็ดำรงตนเพราะถือว่าตนเองมีความชอบธรรม และหากสถานการณ์บานปลาย จนเกิดการเผชิญหน้า ทางเดียวที่จะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลได้ก็คือเกิดความรุนแรงขึ้นในการสลายม็อบ เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยบอกเอาไว้ว่า ความรุนแรงที่เกิดกับม็อบ (คนชั้นกลาง) เป็นกุญแจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง


 


แต่มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน มีกระบวนการตรวจสอบรัฐ จริงหรือ แล้วถึงวันนั้นใครจะได้ประโยชน์กัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net