เอ็กซ์คลูซีฟ! สัมภาษณ์พิเศษ: "จ๋ามตอง" หญิงไทใหญ่ที่ "บุช" ขอพบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ





 


 

 

"ทหารพม่าต้องการข่มขวัญประชาชน ต้องการทำลายศักดิ์ศรีให้สังคมนั้นๆได้รับความอับอาย โดยใช้เรือนร่างผู้หญิงทุกวัยเป็นเครื่องมือ ทหารพม่าใช้ "การข่มขืนอย่างเป็นระบบ" เป็นอาวุธในการทำสงครามปราบกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิงถูกข่มขืนไม่ใช่เพราะเป็นผู้หญิง แต่ข่มขืนเพราะเป็นผู้หญิงของกลุ่มชาติพันธุ์" บางถ้อยคำของ "จ๋ามตอง" ที่เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร "สารคดี" ฉบับที่ 247 ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2548

 

ลองตั้งคำถามเล่นๆ ให้คุณนึกถึงเวลาว่างของวัยรุ่นหนุ่มสาวไทยในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรกันอยู่ คงไม่เสียเวลานั่งนึกนานนัก หลายคนคงตอบว่า ไปช็อปปิ้งหรือเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้าบ้าง เรียนพิเศษบ้าง ค่ำๆ หน่อยอาจมีดริ้งค์เล็กน้อย หากคิดให้พิเรนเลยเถิดไปก็อาจนึกอะไรจั๊กกะเดียมสมองกว่านั้นได้

 

แต่สำหรับสาวน้อยไทใหญ่ อายุเพียง  24 ปี ชื่อ "จ๋ามตอง" ที่มีความหมายในภาษาไทยว่า "ดอกจำปาเงิน" เธอคงคิดทำอะไรที่ต่างไปจากนั้น

 

"จ๋ามตอง" คนนี้เองที่ได้รับการยกย่องล่าสุดจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 50 ฮีโร่แห่งเอเชีย

 

"จ๋ามตอง" คนนี้เองที่ "จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช" ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญและให้เกียรติเชิญไปพูดคุยถึงในทำเนียบขาว และคุยกันนานกว่า 50 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่นานกว่าผู้นำประเทศหลายๆ ประเทศจะมีโอกาสเช่นนั้นเสียอีก

 

"จ๋ามตอง" คนนี้เติบโตภายใต้ความขัดแย้งและสถานการณ์ที่เลวร้ายในพม่า แต่ด้วยความที่พ่อแม่ของเธออยากให้ลูกมีการศึกษาและเติบโตอย่างปลอดภัยจากไฟสงคราม สุดท้ายจึงตัดสินใจอุ้มเธอใส่ตระกร้าห้อยไม้คานที่พาดบนหลังม้าของคนอื่นฝากให้พาเธอข้ามชายแดนไปเรียนในเมืองไทย ด้วยวัยตอนนั้นเพียง 6 ขวบ

 

ตลอดเวลา 9 ปี เธอจะตื่นนอนตอนตีสี่ครึ่งเพื่อเรียนภาษาอังกฤษจากเจ้าของบ้านเด็กกำพร้า ส่วนตอนกลางวันเธอจะเรียนภาษาไทยจากโรงเรียนไทย ในช่วงเย็นเลยไปจนถึงเวลาค่ำเธอจะไปเรียนภาษาจีนจากโรงเรียนของคนจีนฮ่อในหมู่บ้าน ส่วนในวันที่หยุดเรียนนั้นเธอจะเรียนภาษาไทใหญ่จากคนในหมู่บ้านเพิ่มเติม จนกระทั่งเธอเรียนจบ ม.3 จึงตัดสินใจที่จะออกมาทำงานเพื่อลดภาระทางการเงินของพ่อกับแม่

 

เธอมีความใฝ่ฝันและปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะช่วยให้ "บ้าน" ของเธอสงบสันติ พ้นจากการทารุณกรรมต่างๆ ของทหารพม่า ครั้งหนึ่งเธอเคยพูดไว้ว่า "สิ่งที่คนไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ปรารถนาคือการได้กลับบ้าน กลับไปทำมาหากินบนแผ่นดินเกิดของตนเองอย่างสงบสุข ได้เรียนภาษาและประวัติศาสตร์ของชนชาติตัวเอง ไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องกลัวถูกทหารพม่าทำร้าย รวมทั้งกำหนดชีวิตและอนาคตตัวเองได้"

 

เธอตัดสินใจทำงานในที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและ "บ้าน" ของเธอ เริ่มต้นทำงานครั้งแรกที่สำนักข่าวไทใหญ่ และร่วมกับผู้หญิงไทใหญ่อื่นๆ จัดตั้ง "เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่" หรือ SWAN (Shan Women"s Action Network) ขึ้น ซึ่งในปี 2002 SWAN ได้ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation - SHRF) ผลิตรายงาน "ใบอนุญาตข่มขืน" หรือ License to Rape ขึ้น

 

และรายงานชิ้นนี้กลายเป็นรายงานอื้อฉาวที่เปิดโปงความโหดร้ายทารุณในดินแดนพม่าชิ้นสำคัญที่สุดของโลก โดยเฉพาะการข่มขืนผู้หญิงของกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบ "การข่มขืนอย่างเป็นระบบ" ในฐานะที่การข่มขืนเป็นอาวุธเพื่อข่มขวัญประชาชน

 

การข่มขืนเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพม่าและเกิดขึ้นมากทั่วรัฐฉาน มีทั้งการกักขังเพื่อข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเวลากลางคืน และใช้เป็นแรงงานในเวลากลางวัน กระทำโดยกลุ่มทหารชั้นผู้ใหญ่และในรูปแบบการอนุญาตให้ทหารใต้บังคับบัญชาข่มขืนผู้หญิงได้โดยปราศจากการลงโทษ

 

รายงานชิ้นนี้รวบรวมข้อมูลระหว่างปี พ.ศ.2539-2544 พบว่ามีจำนวนผู้หญิงถูกข่มขืนถึง 625 คน จาก 173 เหตุการณ์ ผ่านการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากปากคำเหยื่อ ก่อนนำมาวิเคราะห์โดยใช้หลักกฎหมายสากลและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จากนั้นจึงนำสถานที่เกิดเหตุมาพล็อตลงบนแผนที่

 

และต่อจากนี้ คือบทสัมภาษณ์ "จ๋ามตอง" ในไม่กี่วันหลังกลับจากสหรัฐอเมริกา   

 

0 0 0

 

คุณคิดว่า ทำไมประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จึงเชิญคุณเข้าไปพบที่ทำเนียบขาว

เรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพม่ามีการพูดถึงที่วอชิงตัน หรือที่อเมริกามาตลอด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่กำลังขอให้ทางอเมริกาช่วยผลักดันให้ทางสหประชาชาติ (UN) นำเรื่องพม่าเข้าไปพูด

 

คือตอนนั้นได้ไปประชุมที่อเมริกา เป็นการประชุมเรื่องพม่าในหัวข้อ Looking Forward ซึ่งต้องไปพรีเซนต์เรื่องผู้หญิงในที่ประชุมนั้นพอดี คิดว่าทางอเมริกาคงรู้จักการงานของ SWAN เกี่ยวกับเรื่องที่ทำตามแนวชายแดน และรู้ว่าเราอยู่ที่นั่นพอดี เป็นจังหวะดีที่เขารู้ทำให้ได้รับเชิญจากทำเนียบขาว

 

เป็นกำหนดการที่รู้ล่วงหน้า ในจังหวะเดียวกับที่ไปร่วมเสวนาที่อเมริกาเลยหรือไม่

ไม่รู้มาก่อน มารู้ก็เมื่อการเสวนาได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ของไวท์เฮาส์มาติดต่อ

 

การประชุมที่ไปเป็นการประชุมในลักษณะใด

เป็นการประชุมของ TBBC มีลักษณะแบบ Donor Forum คือคล้ายๆ การประชุมของกลุ่มที่ช่วยเหลือ IDPs (Internally Displaced Persons) โดยมีผู้ให้ทุนทำงานเรื่องพม่าและตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศของประเทศที่มีตัวแทนจาก UN ที่เข้าไปทำงานในพม่าทั้งทางอียู แคนนาดา อเมริกา มาพูดถึงสถานการณ์ต่างๆ ในขณะนั้น และพูดถึงวิธีการทำงานในพม่าด้วย

 

IDPs หมายถึง ผู้ที่หนีจากการปกครองของรัฐบาลทหารพม่า แต่ไม่ได้ออกมาจากประเทศพม่า คือหนีไปหลบซ่อนอยู่ในป่า ในภาษาไทยน่าจะใช้คำว่า "ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ"

 

มีเวลาเตรียมตัวกี่วันเมื่อรู้ว่าจะต้องไปพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมีใครเข้าไปคุยด้วยบ้าง

ไม่มีเวลามากนัก การเข้าพบในครั้งนั้นมีจ๋ามตองเข้าไปพบคนเดียว ทางอเมริกามีประธานาธิบดีและที่ปรึกษาอีก 4 คน สถานที่พบคือ Oval Office ในทำเนียบขาว

 

มีการเตรียมประเด็นที่จะไปพูดอย่างไรก่อนเข้าพบบุช

อยากให้เขารับรู้มากกว่าว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่า ส่วนสิ่งที่เขาจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเรา เขาเองก็รู้ดีที่สุดว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง แต่ในฐานะที่เราได้มีโอกาสพูด จึงอยากจะให้เขารับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อผลักดันให้มีการการกดดันทางพม่าต่อไป

 

ตอนนี้สถานการณ์ก็ค่อนข้างที่จะวิกฤติ อย่างรายงานที่เสนอไป Threat To The Peace มันบอกชัดเจนมาก ว่าสถานการณ์ค่อนข้างถึงขั้นวิกฤติ เราจึงอยากให้เขานำเรื่องนี้ไปพูดคุยกันต่อในระดับสากลเพื่อหาทางออกที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในพม่ามากกว่านี้

 

ตอนนั้นคิดว่าจะได้พบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯนานแค่ไหน

คิดว่าคงไม่นาน คือไม่หวังวังว่าจะได้เจอนานเท่าไหร่ด้วย คิดเพียงว่าจะใช้เวลาที่เขาให้มาไม่ว่าเท่าไหร่ก็ตามนำเสนอข้อมูลปัญหาเรื่องในพม่าให้ได้มากที่สุด

 

แล้วคุยกันเรื่องอะไรบ้าง

การเสนอสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยทหารพม่า เช่น การทรมานคน การสังหารหมู่ การบังคับใช้แรงงาน การข่มขืนผู้หญิงอย่างเป็นระบบ การใช้คนเป็นลูกหาบจนทำให้มีปัญหาผู้ลี้ภัยออกไปประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงปัญหาผู้พลัดถิ่นภายใน

 

บุชบอกหรือไม่ว่าสนใจประเด็นอะไรบ้าง

เขาสนใจและซักถามหลายคำถามต่อปัญหาต่างๆ ดังที่เล่ามา รวมทั้งสถานการณ์ต่างๆ ในพม่าตอนนี้  รวมทั้งถามว่าสหรัฐฯและนานาชาติสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือช่วยอะไรได้มากกว่านี้ในกรณีเหล่านี้

 

เหมือนเป็นการคุยกันแบบธรรมดาๆ

ใช่ คุยกันธรรมดา แต่เราก็พยายามเสนอข้อมูล

 

ทำไมจึงเข้าพบคนเดียว เพราะเราสะดวกหรือทางอเมริการะบุมา

ไม่รู้มาก่อนว่าเขาจัดเตรียมกำหนดการไว้อย่างไร ถึงเวลาก็นำเราไปพบประธานาธิบดีเลย จึงไม่รู้ว่าจะมีใครบ้าง

 

แล้วได้คุยกันนานแค่ไหน

50 นาที

 

คิดว่านานหรือสั้น

เพียงพอต่อการนำเสนอสถานการณ์โดยสรุปย่อ คือมีโอกาสเล่าให้บุชฟังเกี่ยวกับสภาพชีวิตผู้คน ปัญหาของเด็กและผู้หญิงในทุกวันนี้ ดีใจที่ได้รับโอกาสนี้ และดีใจที่อย่างน้อยก็มีคนอีกคนหนึ่งรับรู้ว่าพม่ามีปัญหาอะไรบ้าง โดยเฉพาะปัญหาของผู้หญิงและเด็กที่ต้องอดทนอย่างมากในสภาพที่มีทหารพม่าปกครอง

 

บุชมีปฏิกิริยาอย่างไรภายหลังได้รับฟังเรื่องพวกนี้

เขาถามคำถามจำนวนมากจึงรู้สึกว่า เขาสนใจ

 

ส่วนมากใครเป็นผู้ถาม บุช หรือที่ปรึกษา

บุช ถาม

 

เท่าที่คุณสังเกต มีเรื่องไหนเป็นเรื่องใหม่สำหรับบุชไหม ที่เขาแสดงท่าทีว่า ไม่เคยรู้มาก่อน หรือแปลกใจ

ไม่เคยพบบุชมาก่อนเลยไม่รู้ว่าเรื่องไหนเขารู้หรือไม่รู้ แต่ดูเหมือนเขาสนใจในการพูดคุยนี้ และในทุกเรื่องที่เราเสนอ

 

ถ้าอย่างนั้น คำถามของเขาเป็นคำถามของคนที่รู้เรื่องมาก่อน หรือไม่เคยรู้เลย

Position ในนโยบายต่างประเทศของอเมริกาชัดเจนมากในเรื่องของประชาธิปไตยในพม่า มีการสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า และชัดเจนด้วยว่า นโยบายของสหรัฐฯ คือการสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในพม่า

 

หลังการพูดคุย อเมริการับปากจะช่วยเหลืออย่างไรต่อ

ก็หวังว่าสิ่งที่เสนอไป เขาจะนำเอาไปประสานหรือนำไปผลักดันต่อในระดับนานาชาติ  อย่างเช่นในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

 

ตื่นเต้นหรือไม่ ตอนเจอบุช

คิดว่าจะพยายามพูดให้ดีที่สุดมากกว่า เพราะต้องใช้โอกาสนี้นำเสนอชีวิตของผู้คนที่ต้องทรมานและลำบาก

                  

ตั้งความหวังว่าจะมีอะไรดีขึ้นแค่ไหนหลังจากการคุยครั้งนั้น

อย่างน้อยนานาชาติจะได้รับรู้มากขึ้นว่าเกิดอะไรกับผู้คนในพม่า ตรงนี้หวังมาก เพื่อที่เขาจะได้ช่วยหาวิธีที่เหมาะสมมาช่วยคนเหล่านี้ให้พ้นจากความทุกข์ยาก คิดว่าน่าจะเป็นผลลัพธ์ที่ออกมาจากการพูดคุย และคาดหวังว่าทางอเมริกาจะกดดันพม่าต่อไป

 

คือหวังว่าเขาจะไม่เพิกเฉย

ใช่

 

ขอถามแบบใจร้ายเลย ที่ผ่านมาเมื่อสังคมรับรู้แล้วเขาเข้ามาช่วยจริงๆ หรือเพิกเฉย

เราเองต้องมีข้อมูลให้เขาเข้าใจมากขึ้นมากกว่า เพราะถ้าเขาไม่ได้รับรู้ข้อมูล เราคงไปว่าเขาไม่ได้ว่าทำไมไม่ช่วย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อมีการรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จะมีคนที่เห็นใจหรือสนใจมากขึ้น ส่วนมากเขาจะคิดว่าจะทำอะไรต่อได้ในจุดที่เขาเป็นอยู่

 

คือประสบการณ์บอกว่าถ้าเขามีโอกาสรับรู้ เขาก็มีโอกาสช่วย อย่างน้อยก็มีโอกาสที่เขาจะแสดงความเห็นใจ

 

งั้นถามแบบไม่ไว้ใจอเมริกา กลัวหรือไม่ ถ้าสมมติว่าเขาช่วยแบบอิรัก เช่น บุกเข้าไปถล่มพม่า

คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในพม่า มีวิธีที่ชัดเจน มีวิธีที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขการเมืองในพม่าได้ก็คือการเจรจาสามฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายกลุ่มหรือทุกกลุ่มชาติพันธุ์คิดแบบนี้

 

สามฝ่ายที่ว่าคือ ทหารพม่า พรรค NLD หรือพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในพม่า นำโดยอองซาน ซูจี ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดเมื่อปี 1990 และตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ ข้อเรียกร้องนี้ชัดเจนและเป็นจุดยืน

 

ในระดับสากล ทาง UN Commission on Human Right (กรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) และหน่วยงานสากลอื่นๆ ก็ชัดเจนเช่นกันว่า การแก้ปัญหาภายในพม่าก็คือการเจรจา 3 ฝ่ายดังกล่าวเป็นวิธืที่ดีที่สุด ทุกฝ่ายเรียกร้องและชัดเจนตรงนี้มาก

 

คุณคิดว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการแก้ปัญหาแบบเดียวกับอิรัก

อเมริกาน่าจะฟังจากคนที่เรียกร้องมากกว่าว่าอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบไหน

 

ประเด็นนี้ได้พูดกับบุชด้วยหรือไม่ว่าอย่าเข้ามายุ่ง แค่กดดันก็พอ

เราเรียกร้องให้เขากดดันเพื่อให้มีการเจรจาและให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่แท้จริง

 

การยอมรับการเจรจาที่ตีกรอบแค่ 3 ฝ่ายแสดงว่า จ๋ามตองเองก็ยอมรับในสนธิสัญญาปางหลวง ในฐานะที่ไทใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐ ทำไมไม่ยืนยันว่าไทใหญ่เป็นเอกราชไปเลย

หากตามข่าวกระบวนการต่อสู้ที่ผ่านมา จะพบว่าหลายคนมีแนวคิดแบบต่อสู้เพื่อเอกราช อาจเป็นเพราะสถานการณ์ที่เขาโดนกดขี่ข่มเหงมานาน จึงไม่ผิดที่จะคิดเช่นนั้น แต่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวและติดตามข่าวอย่างต่อเนื่องจะเห็นการรวมกลุ่มของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ และเรียกร้องให้ทุกกลุ่มเชื่อมั่นในการกดดันให้มีการเจรจา 3 ฝ่าย อย่างไรก็ตามตรงนี้คิดว่าทางกลุ่มต่างๆ คงให้ข้อมูลได้มากกว่าจ๋ามตอง แต่เท่าที่เข้าใจ การรวมกลุ่มนี้มีเพื่อผลักดันให้มีการเจรจา 3 ฝ่าย

 

นอกจากนี้ ตอนนี้ในแต่ละรัฐมีการรวมกลุ่มและเริ่มมีการร่างรัฐธรรมนูญของทุกๆ รัฐ เพื่อให้แต่ละรัฐบอกว่า ในอนาคตอยากให้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ขั้นตอนตรงนี้ต้องทำ มันเป็นกฎที่จะนำมาสู่ความรู้สึกการมีส่วนร่วมในชาติพันธุ์เป็นการเริ่มต้นใหม่ เป็นก้าวหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้เห็นว่า กลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้องอะไร มีกระบวนการที่ทำตรงนี้อยู่เช่นไร

                                 

ถามเพื่อขอทำความเข้าใจว่า แนวทางแบบนี้คล้ายกับสัญญาปางหลวงหรือไม่

ในปี 1947 มีการทำสัญญาปางหลวง คือก่อนหน้านั้นในทางการเมืองก่อนได้รบเอกราชจากอังกฤษทุกกลุ่มในพม่ามีอิสระในการปกครองตัวเอง แต่ทุกกลุ่มมารวมตัวกันภายใต้สัญญาปางหลวง เพื่อที่จะเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

 

สัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิ์อะไร และในรัฐธรรมนูญฉบับปี 1947 ก็เน้นอย่างชัดเจน แต่ทหารพม่าก็ยึดอำนาจตั้งแต่ปี 1962

 

จากนั้นพม่าก็กลายเป็นการปกครองแบบรัฐบาลทหารพม่า เป็นเผด็จการมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะเปลี่ยนชื่อเรียก แต่สรุปแล้วทหารพม่าจะยึดอำนาจทางการเมืองและทุกๆ อย่างให้อยู่ใต้อำนาจ ทำให้เกิดปัญหาการไม่มีสิทธิ์ในกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง คือไม่มีสิทธิ์ทางการเมืองและถูกกดขี่ข่มเหง ทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนมากขึ้น

           

ข้าราชการหรือคนที่อยู่วงในพม่ามองการต่อสู้แบบจ๋ามตองอย่างไร

พบบุคคลเหล่านี้ตามงานสัมมนาบ้าง เขาก็ถูกสั่งไม่ให้พูดอะไร หรือพูดในสิ่งที่ถูกสั่งให้พูด แม้ว่าเขาจะมีความคิดอะไรก็ตาม สมมติเป็นตัวแทนด้านสุขภาพ เขาก็พูดว่าด้านสุขภาพเขาทำดีอย่างไรบ้าง ปัญหาเอชไอวี ทหารพม่าทำดีแค่ไหน ลงพื้นที่กี่จุด ร่วมมือกับองค์กรนานาชาติที่มาอยู่ในพม่าอย่างไร มีโครงการหรือมีการช่วยเหลืออย่างไร เขาจะบอกว่าเขาทำดีที่สุด ไม่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการข่มขืนแต่อย่างใด

 

รู้สึกอย่างไรเวลาได้ยินเขาพูดแบบนั้น

รู้สึกว่าเขาพูดอะไร? ในเมื่อเรามีหลักฐาน เรารู้จักคนที่เขาเดือดร้อนมากๆจากปัญหานี้ที่เขามาบอกเรา เขาเล่าสถานการณ์ว่าผ่านอะไรมาบ้าง เราก็เห็นสภาพจริงๆ ว่าเขาเป็นอะไร แล้วตัวแทนของรัฐบาลทหารพม่าเหล่านี้กำลังพูดอะไร?

 

แต่เราก็เข้าใจ เพราะว่าเขาถูกสั่งมา เขาอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ เขาก็ต้องพูดอย่างนี้ แต่อีกมุมหนึ่งก็คิดว่า เป็นหน้าที่ของเราเช่นกันที่ต้องบอกให้คนอื่นรู้ว่า สิ่งที่เขาพูดนั้นไม่เป็นความจริง คนอื่นต้องได้รับรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นเวลาเขาไปโกหกในที่ต่างๆ คิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะบอกประชาคมโลกว่า ความจริงคืออะไร

 

รู้สึกแย่เหมือนกันเวลาได้ยินการโกหก ไม่รู้ว่าเขาพูดออกมาได้อย่างไร แต่พอมาคิดอีกที เขาก็ถูกสั่งมา บางทีเขาก็ไม่รู้ว่าถูกสั่งให้ไปไหน สังคมพม่าในทุกระดับชีวิตถูกควบคุมหมดจนไม่มีช่องว่างช่องไหนให้ผู้คนมีสิทธิ์ จึงไม่มีใครที่จะกล้าพูด ยิ่งเป็นข้าราชการแล้วเขาจะไม่บังอาจเช่นกัน

 

ตรงนี้ก็รู้สึกแย่ แต่เข้าใจว่ารากเหง้าของปัญหามันมาจากโครงสร้างแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ เราต้องไปว่าที่ต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนี้ กรอบเดิมๆ ที่ทำให้มันเป็นมาจากใครหรือมาจากระบบแบบไหนที่ทำให้คนต้องเป็นแบบนี้ มันต้องแก้ไขตรงนั้น

 

หลังกลับจากการรายงานที่อเมริกา โดนทหารพม่าเข้ามาบีบหรือโดนเฝ้ามองจากรัฐบาลไทยหรือไม่ เพราะเข้าใจว่า ทางรัฐบาลทหารพม่าคงโกรธน่าดูที่จ๋ามตองไปพบบุชตั้ง 50 นาที หรือ "ทักษิณ" อาจจะอิจฉานิดหน่อยอะไรแบบนี้

ตอนนี้ยังไม่มีการโต้กลับจากทหารพม่าแต่อย่างใด เพราะเขารู้ว่าถ้าออกแถลงข่าวคนก็จะติดตามมากขึ้น

 

ทราบว่าสื่อต่างประเทศสนใจและได้มาพูดคุยด้วย

มีวอชิงตันโพสต์ กับเอเอฟพี

 

นอกจากผลงานของ SWAN และรายงาน "ใบอนุญาตข่มขืน" แล้ว อะไรที่ทำให้อเมริกาหันมาสนใจมองเราในช่วงนี้

ดีใจที่มีโอกาสนี้ คือประเทศไหนที่มีความสนใจเรื่องแบบนี้เราก็เห็นว่าเป็นโอกาสดีในการได้ไปเล่าให้เขาฟัง ไม่ใช่แค่อเมริกาประเทศเดียว หากมีหลายประเทศที่เขาสนใจ และอยากจะให้ความช่วยเหลือหรือต้องการรับฟัง ก็ยินดีเล่าให้เขาฟัง เพราะคิดว่าเป็นโอกาสดีสำหรับผู้คนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า

 

ส่วนเขาจะมี Agenda อื่นหรือไม่ก็แล้วแต่เขา แล้วแต่ว่าใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร แต่สำหรับเราถือเป็นโอกาสอันดีที่ให้เขารับรู้ปัญหาและนำมาสู่การแก้ไขปัญหาได้

 

ตัวแทนรัฐบาลไทยสนใจเรื่องนี้หรือไม่ หรือมีองค์กรใดมาพูดคุยขอข้อมูลบ้าง                               

คงสนใจอยู่ เพราะงานที่ทำอยู่ก็ทำตามแนวชายแดนไทย-พม่า และเป็นกิจกรรมที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสร้างสรรค์สมรรถภาพให้กับผู้หญิงและเด็ก อีกทั้งข้อมูลการงานขององค์กรเองก็มีการนำเสนอในเวบไซต์และสื่อตีพิมพ์ต่างๆ

 

สังคมไทยควรมีความเข้าใจเรื่องลักษณะนี้อย่างไร ในฐานะที่ต้องบอกว่าเราเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันมาก และความเข้าใจของคนในสังคมไทยสำคัญต่อกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร

อยากให้มีความเห็นใจ และมีความเข้าใจว่าสถานการณ์ในพม่าเป็นอย่างไรมากขึ้น เวลาเราดูหนังสือพิมพ์หรือในข่าวต่างๆ จะพบว่า ส่วนมากพาดหัวข่าวจะบอกว่า คนจากพม่าขโมยทอง คนพม่าฆ่านายจ้าง แล้วเอาทองหนักเท่าไหร่หนีไป คนพม่านำเชื้อโรคมาให้ หรือว่าคนพม่าค้ายาเสพติด ซึ่งในข้อเท็จจริงก็อาจจะมี

 

แต่ตรงนั้นเป็นแค่ข่าวเหตุการณ์เฉพาะ แต่มีอีกมุมที่ไม่ค่อยเผยแพร่ เช่น นายจ้างข่มขู่ลูกจ้างอย่างที่เคยมีข่าวบ้าง การถูกข่มขืน การไม่จ่ายค่าจ้าง ข่าวพวกนี้ค่อนข้างจะไม่ค่อยเป็นเฮดไลน์ หากเขียนตรงนั้น สังคมไทยคงจะเข้าใจไปเรื่อยๆ และจะพบข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงๆ ในพม่า แล้วจะรู้ว่าทำไมพวกเขาถึงต้องหนีมา

 

ข้อมูลที่ว่า เขาถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไรมักจะไม่ค่อยมี น่าจะเผยแพร่ตรงนี้ให้มากขึ้น ตอนที่อยู่พม่าเขาก็มีที่ดินนะ เขาทำสวนและพอเพียงที่จะเลี้ยงครอบครัวของตัวเองได้ มีไก่ มีวัวควายที่พอจะหาเลี้ยงชีวิตได้ เพียงแต่สถานการณ์ในพม่ามันเลวร้ายมากจนทำให้ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีบ้าน ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงทำให้ต้องหนี คนที่หนีมาก็มาเป็นครอบครัว มากัน 3 รุ่น ทั้งลูกหลาน ปู่ย่า มากันหมด มันไม่ใช่การอพยพที่มาหาเงินแล้วก็กลับบ้าน ต้องมองมากกว่านั้น

 

อาจจะมีเรื่องเศรษฐกิจบ้าง แต่ถ้าเราได้ให้ข้อมูลว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะสร้างความเข้าใจให้สังคมไทยได้ว่าผู้คนเหล่านี้มาทำไม และจะช่วยเขาได้อย่างไร ถ้าเราเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านหรือถ้าเราช่วยกันได้ ประเทศไทยจะลดภาระหลายๆ อย่างด้วย เช่น เรื่องโรคบางโรคที่ไทยเคยควบคุมได้ ถ้ามีการอพยพเข้ามาอีกเยอะๆ ก็ต้องรักษากันใหม่อีก และตรงนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ต้องเข้าใจปัจจัยต่างๆ ภายในพม่าที่ผลักดันเขาให้เข้ามา ปัจจัยพวกนี้มีผลกระทบหลายๆอย่าง หากเราทำความเข้าใจและช่วยเหลือเขา มันก็จะเป็นการช่วยเหลือทั้งประเทศเพื่อนบ้านและไทยเอง และในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ ถ้าสังคมได้รับข้อมูลมากขึ้นจนมีความเข้าใจและมีความเห็นใจ อย่างน้อยก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

 

แต่ก็ยังมีคนไม่เข้าใจอยู่ดี เวลาเขาพูดถึงคนพม่าว่า ทำไมไม่อยู่บ้านตัวเองรู้สึกอย่างไร

เวลาได้ยินก็ต้องเข้าใจเขาก่อน หมายถึงเข้าใจว่า เขาได้รับข้อมูลมาแบบไหน ไม่ใช่ไปว่าเขาเลย ถ้าเขาไม่เคยรับรู้มาก่อนก็ยากที่เขาจะเข้าใจ ต้องดูว่าเขามีข้อมูลตรงนี้บ้างหรือไม่ ทุกคนก็ต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของตัวเอง มีปัญหาของตัวเอง เราโทษเขาไม่ได้ สมมติว่าเป็นตัวเรา แล้วเราไม่เคยรู้ เราก็อาจคิดแบบนั้น

 

ดังนั้น เราน่าจะหาวิธีที่ดีกว่าการมองว่ามันเป็นปัญหา ถ้าเราอยากจะให้มันดีขึ้น ก็ต้องใช้เวลาไปคิดว่าควรทำอย่างไรให้เขามีความเข้าใจ

 

ข่าวที่ออกมาส่วนใหญ่ด่าพม่าหมดเลย คนไทยใหญ่รู้สึกว่าเป็นพม่าด้วยใช่หรือไม่ คือตอนนี้คนบางส่วนคิดว่าพม่ากับไทใหญ่แยกออกจากกัน สังคมไทยเรียนมาว่า พม่าเป็นศัตรู แต่ไทใหญ่ ไทน้อยไม่ใช่ศัตรู

แต่เขาได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน (หัวเราะ) คือสื่อเองบางทีไม่ได้แยกแยะใครเป็นใครอยู่แล้ว คนไทยใหญ่ก็อาจจะถูกเรียกพม่า คนกะเหรี่ยงก็เป็นพม่า คนมอญก็เป็นพม่า เพราะความเข้าใจพื้นฐานของคนไม่ได้รับรู้ว่ามันมีหลายกลุ่มในพม่า กลุ่มเหล่านั้นมีสังคมวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกัน แต่มารวมอยู่ในสหภาพพม่าที่เราเรียกกัน เวลาสื่อเขียนถึงพม่าก็มีความหมายรวมหมด ทำให้คนเข้าใจเหมารวมโดยอัตโนมัติ

 

คนส่วนมากจึงไม่มีความเข้าใจว่าในพม่ามีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ใช่ว่าเขาจงใจ อาจจะเป็นเพราะไม่เข้าใจหรือไม่เคยรู้มาก่อนเลยด้วยซ้ำว่าในพม่ามีความแตกต่างอะไรบ้าง

 

ที่บอกว่าเป็นเดือดเป็นร้อนร่วมกับพม่าในเรื่องอัตลักษณ์ เพราะสังคมก็มองเหมารวม คือไม่ได้เน้นว่าใครเป็นใคร ความไม่เข้าใจว่าในพม่านั้นมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นเวลาที่สื่อเขียนก็จะเขียนรวม ส่วนที่บอกว่าเป็นเดือดเป็นร้อนนั้นคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็น่าจะได้รับความเป็นธรรมบ้าง และไม่สมควรถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นใครก็น่าจะเคารพเขา ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือไม่ ต้องมีความเป็นธรรมตรงนี้บ้าง

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องอัตลักษณ์ก็ต้องมาพูดกันอีกทีหนึ่ง เพราะกลุ่มต่างๆ ก็พยายามที่จะรักษาและทำเท่าที่จะทำได้ เช่นการแต่งชุดประเพณี การพูดหรืออื่นๆ ในระดับสังคมก็พยายามรักษากันต่อไป

 

แสดงว่าเรื่องอัตลักษณ์มันยังไม่ได้แยกออกมาชัดเจน คือไม่เหมือนความรู้สึกในละคร "เก็บแผ่นดิน" ที่คนไทยเทใจให้พระเอกที่เป็นชนกลุ่มน้อย

มีหลายระดับในการมอง แต่อันดับแรกต้องรู้ว่าในพม่ามีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ตรงนี้เป็นข้อมูลขั้นพื้นฐานและเป็นความจริง แต่ว่าในระดับอัตลักษณ์ จะแก้ปัญหาอย่างไร จะทำอย่างไร น่าจะให้เวลากับเขา เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่เขาจะสร้างความปรองดองกัน

 

เรื่องการต่อสู้เท่าที่คุยกับหลายๆ ฝ่าย เขามองว่าการต่อสู้มันต้องไปพร้อมๆ กัน เราอยากให้ผู้ใหญ่เคารพเด็ก อยากจะให้ผู้หญิงมามีส่วนร่วมในการทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการต่างๆ อยากจะให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิ์และได้รับความนับถือด้วย อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้นการต่อสู้มันต้องไปพร้อมๆ กันหมด ไม่ใช่คิดว่าทำให้ได้ประชาธิปไตยมาก่อนแล้วค่อยมาพูดเรื่องอื่นทีหลัง

 

ทำไมจ๋ามตองถึงเริ่มจับเรื่องการศึกษา

เยาวชนชาวไทยใหญ่ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งการถูกทหารพม่ากดขี่ข่มเหงหลายแสนคนแต่ไม่มีการช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ เพราะไม่มีการยอมรับว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ที่อยู่อาศัยต่างๆ เขาแทบไม่มีเลย คนเหล่านี้พอหนีมาถึงชายแดน หลายชั่วอายุคนพยายามจะเป็นลูกจ้าง เพื่อที่จะได้อยู่ไปวันๆได้ เพราะฉะนั้นเรื่องการศึกษาก็จะไม่เป็นประเด็นสำคัญเท่าไร

 

ถ้าเป็นเด็กหากโตพอที่จะทำงานได้ก็จะทำงานหาเลี้ยงช่วยครอบครัว และคิดว่าจะเรียนไปทำไม ทำให้มีปัญหา เลยคิดว่าถ้าเขาได้รับโอกาสทางการศึกษา เขาคงจะช่วยเหลือตัวเองและคนอื่นได้ หรือเขาจะช่วยหาวิธีแก้ไขสังคมที่เขาอยู่ได้

 

ในอนาคตสังคมจะเป็นอย่างไร หากไม่มีพื้นฐานทางการศึกษา คิดว่าการให้โอกาสเขาศึกษาคือการทำให้เขามีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ มันจะเป็นลูกโซ่ที่เขาจะมีโอกาสช่วยคนอื่นๆ และจะเป็นวงกว้างต่อไป

 

วางขอบเขตและให้ความหมายการศึกษาไว้อย่างไร

เป็นอะไรก็ตามที่ทำให้เขาช่วยตนเอง และหาวิธีช่วยเหลือคนอื่นได้ คือหวังให้เกิดทางเลือกมากขึ้น ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ นอกจากนี้ก็หวังให้เขามีศักยภาพ ต้องอ่านออกเขียนได้ เข้าใจประเด็น รู้จักวิเคราะห์ รู้จักหาวิธีแก้ปัญหา รู้จักทางเลือก รู้จักการประสานงาน รู้จักการสื่อสาร อย่างน้อยแค่มีพื้นฐานก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนขั้นอื่นๆ จะดีกว่านี้หรือไม่ คงต้องมีการพูดคุยและต้องไปวางแผนกันในระยะยาวต่อไป

 

เป็นเพราะเติบโตมาโดยแม่ที่เชื่อในเรื่องการศึกษาด้วย

ใช่ และคงเพราะสถานการณ์ที่เราโตมาด้วย การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีความรู้ แม้จะนิดหน่อยแต่ก็ทำให้เราเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร อ่านออก เขียนได้ สื่อสารได้ และเราช่วยตัวเองและคนอื่นได้จากความสามารถและทักษะที่เรามีอยู่ ถึงแม้จะเพียงน้อยนิดก็ตาม

 

หากคนอื่นมีวิธีที่ดีกว่านี้ก็จะสนับสนุน เห็นด้วยว่าถ้าจะมีวิธีมากกว่านี้ มีทางเลือกยิ่งมากก็ยิ่งดี เราต้องการทุกวิธี ในหลายๆรูปแบบมาปรับใช้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

ส่วนใหญ่นักเรียนของคุณอยู่ในวัยไหน

ระดับเยาวชน เป็นผู้ใหญ่ จะรับรุ่นละประมาณ 20 กว่าคน ความจริงคนที่ต้องการการศึกษามีมาก แต่เรารับไม่ได้หมด การให้การศึกษาตรงนี้เป็นส่วนที่เราพอทำได้ และถ้ามีวิธีอื่นที่ทำได้กว้างขวางกว่านี้ก็ยิ่งดีจะได้ครอบคลุมทั่วถึง

 

มีองค์กรอะไรมาช่วยเหลือบ้าง

มีบ้าง เป็นมูลนิธิต่างๆ ที่ทำเรื่องการศึกษา หรือบางกลุ่มที่เห็นว่าการอบรมนี้ดี เยาวชนที่เรียนจบสามารถไปทำประโยชน์ให้กับสังคมได้

 

มีสอบตก สอบผ่าน หรื่อเทียบวุฒิอย่างไร

มีมาสมัครประมาณ 150 คนต่อรุ่น แต่เรารับแค่ 20 คน จะมีการทดสอบเพื่อดูระดับพื้นฐานก่อน ส่วนอายุก็แตกต่างกันไป แต่ถ้าห่างกันมากก็มีปัญหาเหมือนกัน เวลาสอนจะมีครูคนอื่นสอนต่างหาก จ๋ามตองเป็นผู้ประสานงานหาทุน และทำหลักสูตรร่วมกับครู ทำให้คนเข้าใจและประสานงานกับชุมชนด้วยว่าเขาอยากให้เราทำอะไรต่อ หลักสูตรควรเป็นอย่างไร นอกจากนี้ก็มีเพื่อนมาช่วยรับผิดชอบด้านอื่นๆด้วย

 

เหนื่อยไหมเวลาที่ต้องไปคอยเข้าใจคนอื่น

ถ้าทำบ่อยๆ ก็ดีเอง บางทีก็ตะโกนบ้าง (หัวเราะ) แต่ไม่ค่อยทำ

 

เป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยใหญ่ที่อ่อนน้อมถ่อมตน

อาจจะใช่ แต่คงไม่ใช่ทุกคน คงเหมารวมไม่ได้ ก็แล้วแต่ว่าใครจะรู้สึกอย่างไร

 

คุณมีแรงบันดาลใจจากไหน คือไม่ได้ตั้งใจยกใครเป็นฮีโร่ แต่ยุคนี้มันขาดนักสู้และฮีโร่จริงๆ คุณว่าไหม หรือคนในเมืองไม่ได้เจอเหมือนกับที่คุณเจอ

คือในพม่ามีความเครียดทุกรูปแบบ ทั้งถูกกดดัน ถูกกดขี่ จนเปรียบเทียบไม่ได้เลยว่าแต่ละคนเดือดร้อนอย่างไร บางคนสูญเสียที่ทำกิน บางคนอาจมีความเป็นอยู่ดีขึ้นบ้างเมื่ออยู่ในเมืองแต่ก็ไม่มีเสรีภาพในการทำอะไรเลย เพราะทุกอย่างขึ้นกับทหารพม่า

 

การพัฒนาหรือโอกาสต่างๆ ของคนในเมืองอาจจะไม่ทุกข์ยากเหมือนคนที่อยู่ตามแนวชายแดนหรือชนบท แต่จะถูกข่มเหงในอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น การสั่งห้ามในรูปแบบต่างๆ การจำกัดสิทธิในการพูด การถูกกดขี่ข่มเหงแบบนี้อาจจะไม่ใช่โดยทางร่างกายแต่ก็เป็นการข่มเหง สรุปคือรวมทั้งคนพม่าเอง และกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

 

แต่ในกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกกดดันยิ่งไปกว่านั้น ทั้งทางสังคม ภาษาและวัฒนธรรมคือถูกกดขี่ข่มเหงทั้งหมด สิทธิพื้นฐานที่กลุ่มชาติพันธุ์ควรมีก็หายไป

 

อาจเป็นคำถามโง่ๆนะ ทำไมคนในสังคมพม่าจึงยอม ทั้งๆ ที่มีรัฐบาลเป็นเผด็จการมากๆ อยู่กันได้อย่างไรภายใต้สภาพแบบนี้

ต้องลองไปอยู่ (หัวเราะ) สังคมในพม่าถูกกดขี่ข่มเหงเกือบทุกหลายระดับเกือบทุกเสี้ยววินาทีของชีวิต ไม่ใช่ไม่กล้าที่จะออกมาต่อสู้ แต่ปัญหาอยู่ที่ "วัฒนธรรมความกลัว" ที่รัฐบาลพม่าสร้างขึ้นให้ประชาชน คนอยู่ในความกลัวตลอดเวลา เช่น ทหารพม่าเข้ามาในหมู่บ้าน สั่งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็ต้องไปสั่งลูกบ้านให้เอาของไปให้ทหาร ลูกบ้านไม่อยากให้ก็ต้องให้ หรือถ้าไม่ให้ผู้ใหญ่บ้านก็จะกลัวโดนลงโทษ ผู้ใหญ่บ้านก็ต้องสั่งลงไปอีกจนได้ หรือถ้ามีการขัดขืน เขาก็ทำจริงๆ ฆ่าจริงๆ รัฐบาลทหารพม่าทำให้สังคมอยู่ในความกลัวตลอด

 

แต่ถ้าพูดว่าไม่มีการต่อสู้คงไม่ใช่ มีพรรคที่ประชาชนเลือกแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนทุกคนอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ในความเป็นจริงทุกย่างก้าวของผู้คนล้วนถูกควบคุม ในพม่าพูดอะไรไป สักพักก็อาจโดนจับได้ เช่น คุยกัน 3 คน เรื่องการเมือง แล้วถูกจับตลอดชีวิตก็มี เป็นสังคมที่ปิดและถูกกดดันมากๆ ไม่มีการคุยเรื่องการเมือง คือคุยไม่ได้เลย

 

ถ้าเป็นหมู่บ้านที่ติดป่า บางคนมีถ่านไฟฉายเอาไว้ฟังวิทยุ เขาจะหาว่าพวกนี้สนับสนุนกองกำลังอะไรบางกลุ่ม คนจึงพูดอะไรได้ไม่มาก เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จะเชื่อใครได้แค่ไหน เป็นสังคมที่ถูกความกลัวครอบงำ ทุกคนจะกลัวจนไม่รู้ว่า ถ้าพูดอะไรไปใครจะเอาไปพูดอะไรต่อ ไม่รู้ว่าคนที่เราพูดด้วยเป็นใครด้วยซ้ำ

 

เขาสร้างวัฒนธรรมนี้ในทุกๆ ที่ โทษที่เขาตราขึ้นก็สาหัสมากๆ เดี๋ยวนี้องค์กรต่างๆ ที่เข้าไปทำงานในหลายๆ พื้นที่ ก็ไม่ได้รับอนุญาต นอกเหนือจากพื้นที่เขตเมืองได้ แต่หากพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนจะทำไม่ได้ หรือชาวบ้านที่ไปพูดกับองค์กรเหล่านี้ก็จะโดนจับ หรือข่มขู่ เช่น ตัดลิ้น หรือขู่ว่าจะกลับมาฆ่าทิ้งทั้งครอบครัว จึงไม่มีใครกล้าให้ข้อมูล

 

แม้ความกลัวจะถูกฝังอยู่ในทุกระดับและการต่อสู้ทำได้ยากมาก แต่ถามว่าประชาชนหมดหวังแล้วหรือ ตอบว่าไม่ใช่ มีขบวนการหลายอย่างที่หลายคนพยายามทำ สำหรับจ๋ามตองเองแล้ว ประชาชนก็คือฮีโร่เหมือนกัน แม้เขาถูกกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ แต่หลายสิบปีมานี้เขาก็หาวิธีที่จะเอาตัวรอดมาได้ถึงขนาดนี้ เขาทำได้อย่างไรภายใต้อำนาจเผด็จการที่โหดมากๆ

 

เขาไม่มีช่องทาง ไม่มีโอกาส แต่ก็ยังพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ เขาทำได้อย่างไร เขาต้องเก่ง และเขาต้องมีความอดทน มีความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป หลายคนที่หนีมาไม่ใช่ถูกทหารพม่ามาทำร้ายครั้งหนึ่งแล้วเขาก็หนีเลย บางคนโดนหลายครั้ง บางคนโดนขับไล่ให้ไปอยู่อีกที่ พอย้ายไปก็โดนขับไล่อีก หรือพอเขาย้ายไปอยู่ในเขตเมืองก็ไม่มีงานทำ สุดท้ายก็ย้ายเข้าไปอยู่ในป่ากลายเป็นผู้พลัดถิ่นในป่า พอทหารพม่ามาเจอก็ฆ่าหรือข่มขืน แล้วก็หนีกันต่อไป

 

บางคนถูกทารุณกรรมหลายรูปแบบมาก แต่เขาก็ยังพยายามที่จะอยู่ต่อ และต่อสู้เพื่อที่จะให้ชีวิตของเขาดำรงอยู่ได้

 

เขาทำได้อย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าการที่เขาอยู่ได้ภายใต้ความโหดร้ายแบบนี้ได้ ทำให้คิดว่าเขายังมีความหวัง เขาก็พยายามทำในสิ่งที่เขาทำได้ พยายามในสิ่งที่เขาไม่มีโอกาสอะไรเลย เราทำงานแบบนี้อาจมีคนมองว่าเป็นคนที่เสียสละ แต่ชาวบ้านเองเสียเกือบทุกอย่างเขาก็ยังต่อสู้ จึงเป็นอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานต่อไปในอนาคต

 

แต่ถ้าจะลุกขึ้นมาทำอะไรนั้นเป็นเรื่องยาก ขนาดเอ็นจีโอหรือองค์กรต่างประเทศในพม่ายังไม่กล้าทำอะไรเลย ไม่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ ถ้าพูดก็ถูกไล่ออก แล้วคนที่อยู่ในหมู่บ้านที่ไม่มีใครเห็นจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา

 

อย่างเช่นอองซาน ซูจี ที่มีคนรู้จักมาก ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มีคนรู้จักทั่วโลก ทหารพม่าก็ยังทำกับอองซานซูจีได้ นับประสาอะไรกับชาวบ้านที่อยู่ในป่า ใครจะการันตีความปลอดภัยของพวกเขาได้

 

ความหวังอยู่ตรงไหน หรือคิดว่าความขัดแย้งภายในของทหาร จะทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจเอง

มีความเป็นไปได้หลายๆ รูปแบบ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ ซึ่งไม่มีใครรู้ ความหวังที่อยากจะให้เป็น คือมีการเจรจาได้จริงๆ เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เคารพในซึ่งกันและกัน มีความเท่าเทียมกัน แต่จะเป็นได้หรือไม่คงต้องหวังกันต่อไป แต่คิดว่างานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลง

 

ขนาดเราพยายามขนาดนี้ ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะเป็นอย่างไร คือถ้าเรารู้ว่าเป็นปัญหา แต่เราไม่ทำอะไรเลยก็เท่ากับเราสนับสนุนสิ่งที่ไม่ดีให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ คิดว่างานที่ทำอยู่เป็นการสร้างรากฐานและความเข้มแข็ง แต่การกดดันทุกอย่างต้องร่วมกันจากหลายๆ ฝ่าย และคงต้องต่อสู้กันต่อไป

 

................................................................

อ่านข้อมูลประกอบเพิ่มเติมได้ใน

"จ๋ามตอง หญิงสาวผู้ปลูกต้นกล้าแห่งความหวังเพื่อชาวไทใหญ่" นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 247 ประจำเดือนกันยายน 2548

 

รายงานพิเศษ: แผนภูมิการอพยพจากรัฐฉาน หลักฐาน "หนีตาย" ไม่ใช่ "ขุดทอง"


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท