Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท—31 ตุลาคม 254 8 อาจารย์จุฬาฯ ระบุ กรุงเทพฯ อันตราย! เต็มไปด้วยอากาศพิษ พบฝุ่นขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ทำให้ประชาชนป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น จี้รัฐจัดการด่วนโดยขยายการศึกษาในเขตจังหวัดใหญ่ด้วย


 


จากงานเสวนาในหัวข้อ "ผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่นขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่มีต่อแม่บ้านและเด็กในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดนครราชสีมา" โดย รศ.ดร.วนิดา ทรัพย์สุข สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุถึงปริมาณฝุ่นและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซค์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเปรียบเทียบระหว่างเขตตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ ชานเมืองและปริมณฑล กับพื้นที่ต่างจังหวัด อ.พิมาย จ.นครราชสีมา


รศ.ดร.วนิดา เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของการศึกษาคือ กลุ่มเด็กและผู้หญิง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่จะแสดงอาการที่ได้รับผลกระทบจากคุณภาพอากาศได้เด่นชัด ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าแหล่งที่มาของฝุ่นขนาดเล็กได้แก่ การเผาไม้เชื้อเพลิง ยานหานะ อุตสาหกรรม การก่อสร้าง และการโม่หิน ส่วนแหล่งที่มาของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ยานพาหนะ อุตสาหกรรม และการประกอบอาหารในครัวเรือน


"ผลการศึกษาพบว่า ในตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร ตรวจพบฝุ่นขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ขณะที่เขตชานเมืองและปริมณฑลจะตรวจพบฝุ่นขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์น้อยกว่า ส่วนที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ตรวจพบฝุ่นขนาดเล็กปริมาณสูง แต่พบว่ามีก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศน้อย" รศ.ดร.วินิดา กล่าว


นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้เสนอว่า จะต้องมีการจัดการคุณภาพในเขตเมืองเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะประชาชนคงทำเองไม่ได้ สำหรับผลการศึกษานี้ก็จะส่งไปยังกรมควบคุมมลพิษเพื่อพิจารณาต่อไป


ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดจากปริมาณฝุ่นและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ อาจส่งผลให้เกิดโรคทางเดินหายใจต่างๆ อาทิ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบระยะเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคปอดอุดตันเรื้อรัง รวมถึงอาการไอจามและมีเสมหะ


อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.วนิดา มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการศึกษามลภาวะทางอากาศในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ที่มีความเจริญเช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต เพราะจากการศึกษาครั้งนี้พบว่าในต่างจังหวัดก็อาจมีความเสี่ยงของมลภาวะทางอากาศต่อสุขภาพของประชาชนด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net