รายงาน : เชียงใหม่จัดมหกรรมหนังสือทำมือ หนังสั้น และดนตรีอินดี้

 

เชียงใหม่ในตอนนี้ อาจถือได้ว่า เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีนักคิดนักเขียนทยอยกันมาพักอาศัยอยู่กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่พาชีวิตมาปักหลักอยู่อย่างคงมั่นถาวร บ้างเป็นเพียงการจาริกพักผ่อนเพียงชั่วคราว นั่นย่อมหมายความว่า หลายคนอาจชื่นชอบกับบรรยากาศที่ชวนปลุกไฟฝันให้หลายๆ คนได้ออกมาขีดเขียนผลงานของตนออกมา และหากสังเกตดูดีๆ จะรู้ว่า ในห้วงขณะนี้ มีคนรุ่นใหม่ ได้หมั่นฝึกฝนผลิตผลงานออกมาให้เห็นอยู่เนืองๆ


 

ล่าสุด เชียงใหม่ ก็กำลังเตรียมจัดงานมหกรรมหนังสือทำมือและสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 ในวันที่ 11-13 พฤศจิกายนนี้ ที่ร้านเล่า ใกล้กาดเชิงดอย เชียงใหม่ โดยภายในงานจะมีการเสวนาในหัวข้อ การทำหนังสือทำมือ หนังและดนตรีอินดี้ พร้อมกับการประกวดหนังสือทำมือ การฉายหนัง และการแสดงดนตรีอินดี้ รวมทั้งการจัดแสดงซุ้มการแสดงหนังสือทำมือภายในงานกันอย่างหลากหลาย

 

โดยการจัดงานในครั้งนี้ ทางผู้จัดงานได้ใช้ชื่อ BOOMF. นั่นหมายถึง Book Battel, Mind Music, และ Film Free โดยมีเป้าหมายเพื่อจุดไฟในการรวมตัวระหว่างกลุ่มผู้ผลิตหนังสือทำมือ นักเขียนรุ่นใหม่ รวมไปถึงสื่อทางเลือกอื่นๆ เช่น การทำหนังนอกกระแส และดนตรีแนวอินดี้ เพื่อให้เป็นอีกเส้นทางหนึ่งของกระแสทางเลือกใหม่ในสังคมขณะนี้

 

ที่มาที่ไปของการเกิดกิจกรรมเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่า ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของเมืองไทยมีการพัฒนากว้างไกลเติบใหญ่เคียงคู่กับการเติบโตของวงการธุรกิจหนังสือก่อให้เกิดแนวคิด "หนังสือคือสินค้า" ซึ่งทำให้การแข่งขันทางด้านธุรกิจหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเข้มข้นด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด นักอ่านถูกกำหนดให้เป็นกลุ่มเป้าหมายทางการค้าด้วยกระแสความนิยมแบบมหาชน การผลิต และการบริโภคหนังสืออยู่ภายใต้วงจรของอุตสาหกรรมสมบูรณ์แบบเน้น "ปริมาณ" มากกว่ามองเห็นคุณค่าของการอ่านและการเขียนอย่างมีคุณภาพ

 

โดยจะมองเห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ตลาดหนังสือในขณะนี้ ล้วนถูกผูกขาดด้วยอำนาจทางการตลาดของสำนักพิมพ์ใหญ่ครบวงจร ซึ่งเบียดบังหนังสือดีมีคุณภาพของนักเขียน-สำนักพิมพ์เล็กๆ จนทำให้ไม่สามารถผลิตงานและเผยแพร่ผลงานออกไปในทิศทางเดียวกับตลาดกระแสหลักได้

 

ด้วยเหตุนี้ หนังสือทำมือจึงก่อเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นทางออกของการเผยแพร่ผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งว่ากันว่า นับเป็นก้าวแรกก้าวสำคัญของคนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัย ที่จะได้พัฒนาและขัดเกลาฝีมือของตน เพื่อก้าวสู่การเป็นนักเขียนระดับคุณภาพในอนาคต

 

นอกจากนั้น สามารถเป็นสื่อทางเลือกใหม่ในวงการธุรกิจหนังสือที่นักเขียนรุ่นใหม่ จะได้มีโอกาสสร้างสรรค์ความคิดอันหลากหลาย โดยปราศจากกรอบเกณฑ์ รวมทั้งเป็นสะพานของการก้าวข้ามจากการเป็นนักอ่านสู่การเป็นนักเขียน และเป็นอิสระจากการควบคุมโดยกลไกทางการตลาดด้านสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะกลุ่มหนังสือทำมือกลุ่มเล็กๆ หลายต่อหลายกลุ่มที่มีความตั้งใจและมุ่งหวังได้สร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการอย่างเป็นรูปธรรม

 

หนังสือคือสิ่งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ คือสิ่งที่สร้างคน

อ.เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินละแวกหน้าวัดอุโมงค์ ผู้เป็นทั้งที่ปรึกษา และเป็นคณะกรรมการตัดสินผลงานในการทำหนังสือเด็กในงานมหกรรมหนังสือทำมือและสื่อทางเลือกที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่ ได้แสดงความคิดเห็นกับงานในครั้งนี้ว่า ในอดีต เคยทำ Dummy (การจำลองหนังสือก่อนพิมพ์) เป็นส่วนหนึ่งในวิชาที่ผมเคยสอน ชื่อว่าวิชาศิลปะเกี่ยวกับสื่อ คือก่อนทำหนังสือต้องจัดโครงเรื่อง การพิมพ์ต้องมีตัวใหญ่ตัวเล็ก หัวหนังสือต้องอ่านเข้าใจง่าย รูปเล่มต้องดูดี การทำหนังสือต้องมีศิลปะ ตัวหนังสือต้องมีรสคำ รสความ มีการตบเสียง ตบจังหวะ เหมือนดนตรีมีชีวิต

 

"จริงๆ แล้ว การทำหนังสือมือทำ หรือทำมือ ก็เหมือนกับเด็กๆเล่นขายของ คือเหมือนกับเราเอาใบไม้ เอาดินมาใส่ในกะลา รู้วิธีพูด รู้วิธีเจรจา ทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นอาหารมีราคา ถ้าเรารู้จักการขาย การปรุงใบไม้กับดินให้อร่อย สิ่งเหล่านั้นจะมีคุณค่าขึ้นมา การทำหนังสือทำมือ คนทำก็ต้องถามตัวเองว่า เล่นขายของ หรือ เล่นของจริงอยู่ เราต้องรู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำอะไร เราจะก้าวไปไหน เพื่อเป็น technician หรือไม่"อ.เทพศิริ กล่าว

 

อ.เทพศิริ ยังได้พูดถึงองค์ประกอบสำคัญในการทำหนังสือด้วยว่า ต้องวางโครงเรื่อง ต้องมีสีสัน ต้องรู้สึกสนุกทั้งข้างในและข้างนอก ยกตัวอย่างเช่น บ้าน การกวาดบ้านต้องกวาดทั้งข้างในและข้างนอกบ้านให้รู้สึกสะอาดทั้งข้างในและข้างนอก บางคนกวาดแต่ข้างในบ้านตัวเองไม่คิดที่จะไปกวาดนอกบ้าน การกวาดนอกบ้านก็เหมือนการกวาดโลกนั่นเอง

 

อ.เทพศิริ ยังให้ความเห็นอีกว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือ คนทำหนังสือต้องมีจิตวิญญาณที่รักหนังสือ คือต้องเข้าใจว่าการทำหนังสือไม่ใช่งามแค่เนื้อหา แต่คือความงามของรูปลักษณ์ทั้งหมด การหยิบหนังสือมาอ่านก็เหมือนกัน คนส่วนมากหยิบหนังสือมาอ่านแล้ววางไม่เป็นที่ วางผิดวางถูกแต่คนที่รักหนังสือเขาจะวางหนังสือเป็นระเบียบ อันนี้หนังสือจะสอนเรื่องความประณีตในจิตใจของเราด้วย หนังสือคือสิ่งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ คือสิ่งที่สร้างคน

 

"ผมขอสรุปว่า เหนือการทำรูปเล่ม ต้องเป็นการเขียน เราก็ต้องตั้งคำถามว่า การเขียนนั้นต้องทำอย่างไร อย่างเช่นเราจะเขียนเราก็หยิบเรื่องรอบๆตัวมาเขียน เขียนเรื่องความสุข ความทุกข์ อารมณ์ของมนุษย์นี่แหละ ดึงออกมาจากชีวิตคนแล้วเอามาเขียนจะมาจากประสบการณ์ของเราเองหรือสังเกตจากคนรอบข้างก็ได้ แต่เริ่มต้นต้องอ่านหนังสือเป็นก่อนเรียนรู้เทคนิคในงานเขียนของนักเขียนท่านอื่นๆ หลังจากนั้น ก็ต้องเขียนให้เป็น ต้องฝึกเขียน ต้องต่อสู้กับตัวเองและสิ่งรอบข้าง" อ.เทพศิริ กล่าวทิ้งท้าย

 

ดนตรีอินดี้ใช้งบน้อยๆ แต่ใช้สมองเยอะๆ

ทางด้าน พจนารถ พจนาพิทักษ์ กวี นักเขียน ที่ผันตัวเองมาทำงานดนตรีแนวอินดี้ ซึ่งทำให้คนทั่วประเทศผลงานดนตรีของเขามาก ในการเขียนเพลง ร้องเพลงในอัลบั้มชุด "คนค้นคน" และล่าสุด กำลังออกผลงานเพลงชุดใหม่ ที่ชื่อ "ในร้านหนังสือชื่อความหลัง"

 

พจนารถ กล่าวว่า ตนเองมีผลงานเพลงออกมาแล้ว 3 ชุด ซึ่งสังกัดกับค่ายเพลงที่มีการจำหน่ายอย่างเป็นระบบในวงกว้าง ซึ่งก็ดีในแง่หนึ่ง แต่อีกแง่หนึ่ง จะมีความยุ่งยากในการขอมาขายเองแบบง่ายๆเวลาเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตเล็กๆ ก็เลยอยากทำเพลงสักชุด ที่เราเป็นผู้จัดการขายแบบง่ายๆนี้ได้ทั้งหมด ซึ่งมันก็สอดคล้องกับวิธีทำเพลงแบบคนอินดี้พอดี

 

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างดนตรีอินดี้และดนตรีกระแสหลัก พจนารถ กล่าวว่า ในทางวิธีคิด อินดี้สร้างงานตามใจตัวเองเป็นหลัก คนส่วนใหญ่จะชอบหรือไม่นั่นเป็นผลพลอยได้ แต่พวกดนตรีกระแสหลัก จะตั้งโจทย์การทำงานบนความเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะต้องชอบมัน ขณะที่ในแง่การผลิต พวกอินดี้จะใช้งบน้อยๆ แต่ใช้สมองเยอะๆ ส่วนพวกกระแสหลักจะใช้งบมากกว่า ใช้สมองคิดว่าทำไงคนจะชอบเยอะๆ และที่สำคัญจะโปรโมททุกวิถีทางอย่างบ้าคลั่ง เพื่อให้เพลงเป็นที่นิยม

"ส่วนในเรื่องของการตลาดมีความจำเป็นหรือไม่กับดนตรีอินดี้ ก็อยากจะบอกว่า ถ้าการตลาดหมายถึงจำนวนคนฟังเยอะๆ เพื่อให้เทปขายได้ขายดี ก็ดูจะขัดแย้งกับวิธีคิดของคนทำงานแบบอินดี้ แต่ถ้าการตลาดหมายถึงความเชื่อมั่นว่าเราทำงานที่ดี และมีช่องทางเพื่อให้สิ่งดีๆ ที่เราตั้งใจนำเสนอนั้นไปสู่วงกว้างให้มากที่สุด โดยไม่ขัดแย้งกับรูปแบบงานที่เราสร้างขึ้นมา ก็โอเค นะ" พจนารถ กล่าว

พจนารถ ยังกล่าวถึงที่มาอัลบั้ม "ในร้านหนังสือชื่อความหลัง" ซึ่งจะมีการเปิดตัวในงานมหกรรมหนังสือทำมือและสื่อทางเลือกฯ ว่า เป็นงานที่ตั้งใจทำเป็นคอนเซ็ปท์ ว่าด้วยเพลงที่พูดถึงชีวิต การเดินทาง การอ่าน การเขียนและความรัก เมื่อคิดจะทำ ก็ได้ไปปรึกษากับทางร้านเล่า ก็เลยเกิดอัลบั้มนี้ขึ้นมา และเป็นโอกาสอันดีที่จะมีงานมหกรรมหนังสือทำมือที่เชียงใหม่ขึ้น ประจวบกับงานเสร็จสมบูรณ์พอดี ทางผู้จัดงานเห็นว่า คอนเซ็ปท์อัลบั้มนี้ ที่พูดถึงเรื่องแรงบันดาลใจจากอ่านหนังสือและผลิตผลงานด้วยวิถีทางแห่งดนตรีอิสระแบบทำเองขายเอง สามารถร่วมทางไปกับงานหนังสือทำมือครั้งนี้ได้ ก็เลยจะจัดเปิดตัวอัลบั้มเพลงชุดนี้ในงานมหกรรมหนังสือทำมือครั้งนี้ด้วย

 

"ก็หวังว่า จะเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เชื่อมโยงกันระหว่างคนรักหนังสือและเสียงเพลง ส่องทางและส่งทอดแรงบันดาลใจต่อกันและกันได้อย่างน่ารัก และหวังว่าจะส่งผลให้คนฟัง มีฝันมีไฟในการสร้างสรรค์งานเขียนและการอ่านยิ่งๆ ขึ้นได้ " พจนารถ กล่าว

 

คนทำหนังอินดี้ ต้องอดทน และอย่าหลอกตัวเอง

ในขณะที่มุมมองของ ศุภโมกษ์ ศิลารักษ์ คนทำหนังสั้น หรือหนังอินดี้ ซึ่งเป็นสื่อทางเลือกอีกแขนงหนึ่ง ล่าสุด เขาส่งผลงานเรื่อง "ห่อวอเนอมู" เข้าประกวด จนได้รับรางวัล "วิจิตรมาตรา" จากมูลนิธิหนังไทย ในเทศกาล Thai Short Film and VDO ครั้งที่ 9 ซึ่งจะมีการเปิดตัวในงานครั้งนี้ด้วย

 

ศุภโมกข์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสั้น หรือหนังนอกกระแสว่า เมื่อก่อนหนังสั้นเป็นสื่อนอกกระแส คนทำก็มีไม่มาก เพราะการทำหนังแต่ละครั้งใช้เงินทุนสูง พอถ่ายเสร็จ ก็ต้องไปจ้างห้องอัดอีก จะมีก็เพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีเงินทุนเพียงพอที่จะทำ และฉายให้ดูในคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่ตอนนี้หลายๆอย่างมันก้าวหน้ามาก เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ก็สามารถตัดต่อเป็นหนังได้แล้ว จึงไม่แปลกที่ใครๆ ก็สามารถทำหนังสั้นกันได้

 

"แน่นอน คนทำหนัง คือคนที่ทำงานหนัก จึงจะได้หนังที่มีคุณภาพ สื่อส่วนใหญ่ตอนนี้ มักขายภาพลักษณ์มากกว่าเนื้องาน ภาพลักษณ์มันมีผลต่อทุกเรื่อง ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ดนตรี หรือแม้แต่หนังเองก็ตาม ดูแล้วมันฉาบฉวยเกินไป"

 

"ฉะนั้น หากคนรุ่นใหม่อยากทำหนังสั้นแนวอินดี้ ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า จริงจังกับความฝันของตัวเองมากน้อยแค่ไหน คือคนเราต้องแน่ใจตัวเองเสียก่อน แล้วเราก็จะเกิดความฝักใฝ่ ถ้าหาคำตอบให้กับตัวเองได้แล้วก็ลงมือทำไปเลย บางครั้งเราก็ต้องลองผิดลองถูกเสียบ้าง เพราะพี่เชื่อว่าคนเรามีทางถูกมากกว่าหนึ่งทางนะ ที่สำคัญคือคุณต้องอดทน และอย่าหลอกตัวเอง" ศุภโมกข์ กล่าวทิ้งท้าย

 

งานมหกรรมหนังสือทำมือ และสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นที่ ร้านเล่า ร้านหนังสือทางเลือก บริเวณกาดเชิงดอย ถ.เลียบคลองชลประทาน ต.สุเทพ อ.เมือง เชียงใหม่ โดยงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 - 22.00 น. ระหว่างวันที่ 11 - 13 พฤศจิกายน หากใครสนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวด และเข้าร่วมงานได้ หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 053-401070 email : ranlaobookshop @ yahoo.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท