จาก "อินโดจีน" ถึง "จินเดีย" การฟื้นชีพจ้าวเอเชีย ?

คลื่นความคิด

โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์และทีมงาน

ออกอากาศ   วันเสาร์  9.00 - 10.00 น. / วันอาทิตย์  8.30 - 10.00 น.

ออกอากาศซ้ำ (re-run) ประมาณ 03.00 น.  คืนวันเสาร์ / อาทิตย์

ทางสถานีวิทยุ FM 101 เมกะเฮิร์ตซ์

(คลื่นความคิดเป็นรายการสนทนาเชิงวิเคราะห์ในหลากหลายเรื่องราว ในมิติของประวัติศาสตร์ ปัจจุบันและอนาคต)

 

 

จาก "อินโดจีน" ถึง "จินเดีย"

การฟื้นชีพจ้าวเอเชีย ?

(ออกอากาศ  15 -16 ตุลาคม 2548)

 

 

"ความกังวลของเรามิใช่อยู่ที่เราจะบูชากราบไหว้ในถ้ำได้อย่างไร

 หากอยู่ที่เราจะอยู่ในอาคารที่สูงเยี่ยมเทียมเมฆอย่างเป็นมนุษย์ได้ฉันใด"

Rabbi Abraham Joshua Heschel

 

 

คลื่นความคิดสัปดาห์นี้ ชวนท่านไปดูสองประเทศที่กำลังวิ่งไล่กันในลู่วิ่งทุนนิยม กำลังโต กำลังดัง กำลังเป็นที่จับตาของใครต่อใคร นั่นก็คือ จีนกับอินเดีย อันที่จริงในรายการนี้ได้คุยไปเกือบหมดแล้ว ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ ยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ทั้งปัจจุบัน และอนาคต แต่คราวนี้จะลองมองในมุมที่ต่างออกไปสักนิด เพราะในระยะหลัง มักมีการนำสองประเทศนี้ไปวัดช่วงชกทางการเมือง เศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจนั้นเป็นที่สนใจอย่างมากสำหรับพวกนักธุรกิจที่ชอบเรื่องเงินๆ ทองๆ เช่น นิตยสารธุรกิจระดับโลกอย่าง Business Week  ที่ถึงกับนำชื่อจีนกับอินเดียผสมกันเป็น "จินเดีย" โดยคาดกันว่าอาจกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับสูงสุดของโลกในอนาคต ก็ไม่แน่

 

พ่ออินเดีย-แม่จีน

ต้องยอมรับว่าประเทศในย่านบ้านเรา คือที่อยู่ทางด้านใต้ของจีนและอินเดีย ในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด ต่างมีความผูกพัน เกี่ยวพันหรือตกอยู่ใต้อิทธิพลหรือได้รับอิทธิพลของจีนและอินเดีย ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งมาโดยตลอด จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์โบราณคดีบางรายเปรียบเทียบว่าอินเดียนั้นคล้ายกับเป็นพ่อ จีนคล้ายกับเป็นแม่ บรรดาลูกๆ หรือประเทศเล็กๆ ที่อยู่ทางด้านใต้จึงเป็นลูกผสม คือมีทั้งอิทธิพลของจีนและอินเดียสอดแทรกผสมผสานกันชุลมุนชุลเก ซึ่งก็คงไม่ต่างไปจากสายตาของพวกฝรั่งในอดีตที่มักจะเรียกดินแดนแถบนี้ว่า "อินโดจีน" (Indo-China) อันเป็นดินแดนที่รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจมาจากสองประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นมหาอำนาจในย่านนี้ต่อเนื่องมานับเป็นพันๆ ปี

แต่บทบาทของจีนและอินเดียต่อประเทศเล็กๆ ย่านนี้ในยุคอดีต อาจมีความแตกต่างในรายละเอียดที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่อิทธิพลของอินเดียจะหนักมาทางด้านวัฒนธรรม ปรัชญา ความคิดประเพณี อิทธิพลต่างๆ ที่กระจายเข้ามามักค่อยเป็นค่อยไป จากพ่อค้าที่แล่นเรือเข้ามาค้าขายบ้าง จากพราหมณ์ จากพระ หรือจากกษัตริย์บางเมืองที่ร่อนเร่พเนจรเข้ามาในดินแดนบางแห่ง  ลงหลักปักฐานแต่งงานอยู่กินกับคนพื้นเมืองจนกลายเป็นราชวงศ์ของเมืองแต่ละเมือง สืบทอดต่อๆ กันมาจนเป็นประเทศ เป็นอาณาจักรของตนเอง ไม่เกี่ยวพันกับอินเดียอีกต่อไปแล้ว หรือเข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองจนเป็นประเทศเอกราชสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ เช่น ตำนานของประเทศเขมรหรือกัมพูชา ที่กล่าวถึงพราหมณ์อินเดียชื่อ "โกญฑัญญะ" ร่อนเร่พเนจรมาจากทางไหนไม่ทราบได้ จู่ๆ มาโผล่แถวๆ เขมร แผลงศรออกไป พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่า ลูกศรไปตกที่ไหนก็จะสร้างเมืองขึ้นที่นั่น เผอิญลูกศรไปตกในถิ่นของพวก "นาค" ที่ถูกมองว่าเป็นพวกป่าเถื่อน ยังไม่มีวัฒนธรรมสักเท่าไหร่ โกญฑัญญะจึงอยู่กินกับพวกนาค รับธิดาหัวหน้านาคเป็นภรรยา ซึ่งก็แปลกที่ธิดานาคมีชื่อกระเดียดไปทางจีน บางตำนานเรียกว่า "พระนางโสม" บางตำนานเรียกว่า "นางหลิวเย่"  เป็นอันว่า โกญฑัญญะ ที่แน่นอนว่าออกไปทางอินตระเดีย  กับนางหลิวเย่ที่น่าจะออกไปทางจีนนิดๆ ก็เลยออกลูกออกหลานสร้างบ้านสร้างเมืองกลายเป็น "เมืองพระนคร" ของขอม  หรือกลายเป็นอาณาจักรกัมพูชา ที่เป็นมหาอำนาจรายแรกในพื้นที่แถบนี้รองจากจีนอินเดีย หรือเป็นอาณาจักรใหญ่โตมหึมาตั้งแต่คนไทยหรือที่เรียกว่า "เสียม" ยังไม่ได้สร้างบ้านแปงเมืองเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไหร่

นอกจากโกญฑัญญะแล้ว คนอินเดียที่เข้ามาสร้างอิทธิพลด้านความคิด ประเพณีวัฒนธรรม ปรัชญาต่างๆ ดูแล้วมาแบบตัวคนเดียว หรือไม่ก็เป็นแค่กลุ่มคณะ ไม่ถึงกับยกทัพโยธาจากอินเดียมายึดบ้านยึดเมือง เช่น พวกพราหมณ์ที่เข้ามาแผ่อิทธิพลในเรื่องวัฒนธรรมประเพณี วิธีการปกครองตามแบบฮินดู ซึ่งมีหลายต่อหลายนิกาย  มีทั้งที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่เรียกว่า "ไศวนิกาย" นับถือพระวิษณุเรียกว่า "ไวษยนิกาย" จากนั้นต่างก็ยุยงหนุนหลัง เจ้าชาย กษัตริย์ พระราชินีของแต่ละเมือง แต่ละอาณาจักรแย่งชิงอำนาจกันเพื่อนิกายของตนจะได้เป็นใหญ่ วุ่นวายกันไปแทบทุกอาณาจักร ตั้งแต่จัมปา เขมร ไปจนถึงอินโดนีเซีย

เมื่อถึงยุคศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะในยุคที่พระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย ส่งสมณะทูตหรือ "กองทัพธรรม" เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในแต่ละทิศ ในทิศนี้ ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนรุ่นแรกจะนำโดย "พระโสณ-เถระ" จนศาสนาพุทธมีอิทธิพลเหนือฮินดูขึ้นมาทีละเล็กละน้อย หรือไม่ก็ผสมผสานกลายเป็นพุทธแบบฮินดู หรือปะปนกันทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ ทั้งมอญ พม่า ไทย ลาว ไปจนถึงมีการสร้าง "บุโรพุทโธ" สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นมาในอินโดนีเซีย

 

นุ่มเนียน VS หักหาญ

ในขณะที่อิทธิพลของอินเดียแผ่เข้ามาอย่างที่อาจเรียกได้ว่า "นิ่มๆ" นุ่มเนียน จีนกลับใช้กรรมวิธีที่ดุเดือดเลือดพล่านก็ว่าได้ ไล่มาตั้งแต่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่จะใช้วิธีหักหาญกันตรงๆ โดยเฉพาะดินแดนด้านใต้ที่อยู่ติดกับจีน ถ้าไม่ถูกยึดครองเป็นเมืองๆ ก็อาจแตกกระฉานซ่านเซ็นกันเป็นรายๆ อย่างกรณีของไทย ถ้าหากเชื่อในประวัติศาสตร์ที่บอกว่าคนไทยมาจากอาณาจักรน่านเข้า ก็ต้องถือว่าโดนจีนหักมาตั้งแต่ต้น คือบุกเข้ายึดกวาดล้างสิบสองจุไท สิบสองปันนา ยึดอาณาจักรน่านเจ้า จนคนไทยที่ไม่ว่าจะเป็นไทยดำ ไทยขาว ไทยอาหม ไทยใหญ่ ไทยน้อย ฯลฯ ต้องบ้านแตกสาแหรกขาดไปคนละทิศละทาง ส่วนดินแดนที่ถือว่าเป็นของเวียดนามนั้นได้ถูกจีนยึดครองมาตั้งแต่แรก คือถือว่าเป็นประเทศจีน ไม่ใช่ประเทศเวียดนาม จนกระทั่งเกิดคนดีมีฝีมือในหมู่คนพื้นเมือง เป็นผู้หญิง หน้าตาไม่สะสวย ตามตำนานว่านมยานเป็นศอกๆ ชื่อนาง"เตรียวเกี้ยว" รวบรวมคนเวียดนามปลดแอกจีน สู้กันไปมาเดี๋ยวแพ้เดี๋ยวชนะ เดี๋ยวปลดแอกได้ เดี๋ยวถูกใส่แอกอีก แต่ก็สู้กันมาตลอดจนจีนชักจะเบื่อๆไปเอง ดินแดนทางตอนบนของเวียดนามและตอนใต้ของจีนจึงกลายเป็นประเทศเวียดนาม ซึ่งก็คือพื้นที่เวียดนามเหนือเท่านั้น

เมื่อปลดแอกจากจีนได้หรือจีนชักจะเบื่อในการยกกำลังเข้ามาหักหาญแล้ว เวียดนามก็หันไปใช้กรรมวิธีเดียวกับจีนคือแผ่อิทธิพลลงใต้ เข้ายึดครองอาณาจักรที่คั่นอยู่ระหว่างเวียดนามกับเขมร มีชื่อเรียกในสมัยโบราณว่า "อาณาจักรจัมปา" ซึ่งอาณาจักรที่ว่านี้เมื่อต้องการลดแรงกดดันจากเวียดนาม วิธีที่มักใช้อยู่บ่อยๆ คือ ส่งคนไปขอร้องให้พระจักรพรรดิจีนช่วยพูดกับเวียดนาม หรือไม่ก็กดดันเพื่อที่เวียดนามจะได้ถอยไป  ในเวลาต่อมาหลายต่อหลายประเทศได้ใช้วิธีที่ว่านี้กันมากขึ้น จนกระทั่งจีนรู้สึกว่าตัวเองเป็น "ศูนย์กลางของโลก" เพราะบ้านเล็กเมืองน้อยต่างก็ต้องมาขอร้อง มาขึ้นต่อ หรือไม่ก็ต้องส่งเครื่องบรรณาการมาให้ช่วยเจรจาความเมืองอยู่เนืองๆ อาณาจักรจัมปาใช้วิธี "เล่นไพ่จีน" ไปได้สักพัก แต่สุดท้ายก็เสร็จเวียดนามจนได้ ถูกยึดบ้านยึดเมืองจนไม่เหลือร่องรอยความเป็นอาณาจักรหรือความเป็นชาวจัมปาให้เห็นกันอีกเลย กลายเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม ซึ่งก็คือเวียดนามใต้ที่ต่อกับเวียดนามเหนือมาจนทุกวันนี้    

สำหรับพม่า รายนี้โดนจีนเล่นงานหนักหน่วงไม่น้อย โดยเฉพาะในยุคที่จีนมีจักรพรรดิเป็นชาวมองโกลชื่อ "กุบไลข่าน" ได้เข้ายึดพื้นที่ทางตอนเหนือของพม่าที่ติดกับจีนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปเลยก็ว่าได้ เหลือเพียง "มอญ" ที่อยู่ทางตอนใต้ลงมาที่ยังพอคงความเป็นประเทศเอาไว้ได้ หลังจากนั้นพม่าก็ต้องสู้รบปรบมือกับจีนมาโดยตลอด จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพก๊กมินตั๋งที่พ่ายแพ้กองทัพพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ล่าถอยเข้ามายึดดินแดนพม่าไว้เป็นฐานที่มั่น กว่าจะทวงคืน กว่าจะผลักดันออกไปได้ก็ยุ่งยาก วุ่นวายกันพอสมควร

แม้กระทั่งลงใต้ลึกลงไปกว่านั้น คือแถบมาลายูหรือมาเลเซียในทุกวันนี้  ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า  เจ้าชายฮินดูพระนามว่า "ศรีปรเมศวร" ได้หลบหนีปัญหาทางการเมืองจากปาเล็มบังในอินโดนีเซียมาขึ้นฝั่งมาเลย์ สร้างบ้านสร้างเมืองอยู่แถบหมู่บ้านชาวประมง จากนั้นได้ตั้งตนเป็นโจรสลัด ออกปล้นเรือสินค้าต่างๆ จนมีเงินทองพอที่จะสร้างอาณาจักรของตัวเอง แต่เพื่อป้องกันไม่ให้อาณาจักรไทยหรือสยามที่อยู่ทางด้านเหนือซึ่งตอนนั้นมีอำนาจมานานแล้ว เข้ามาเล่นงานในตอนที่ตัวเองเพิ่งเริ่มตั้งไข่         ก็ถึงกับลงทุนเดินทางไปเมืองจีนด้วยเรือของ "นายพลเช็งโฮ" หรือ "แต้ฮั้ว" ที่ออกเดินทางสำรวจทะเลในยุคราชวงศ์หมิง  เพื่อเข้าเฝ้าถวายบรรณาการพระจักรพรรดิจีน ขอให้ช่วยปรามอาณาจักรสยามมิให้กดดันรุกราน ทุกสิ่งทุกอย่างก็เลยเรียบร้อยโรงเรียนจีนมาตั้งแต่บัดนั้น

 

ชาวจีนโพ้นทะเล : กองทัพพลเมืองที่ทรงอิทธิพล

นอกเหนือจากการหักหาญกันแบบตรงๆ โดยอิทธิพลทางการเมืองการทหารของพระจักรพรรดิจีนหรือกองทัพจีนแล้ว อิทธิพลจีนที่แผ่กระจายเข้ามาในประเทศย่านนี้ที่สำคัญไม่น้อยหรืออาจจะสำคัญมากก็ว่าได้ ก็คือการอพยพเข้ามาของพลเมืองจีนเป็นระลอก เป็นรุ่นๆ สืบต่อกันแบบไม่ขาดสาย ซึ่งไม่ได้ค่อยๆ เข้ามาทีละคนสองคน ทีละคณะสองคณะอย่างพวกพราหมณ์หรือพวกพ่อค้าชาวอินเดีย แต่เข้ามาเป็นกองทัพพลเมือง เข้ามาคราวละมากๆ ในแต่ละยุคแต่ละรุ่น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาจเป็นคนพื้นๆ เป็นสามัญชนคนธรรมดาเข้ามาแสวงโชค ทำมาหากินหรือดิ้นรนหนีความทุกข์ยากในแผ่นดินจีน ไม่ว่าความอดอยาก การกดขี่ของผู้ปกครองที่เป็นชาวจีนด้วยกัน หรืออาจเป็นชาวมองโกล ชาวแมนจูที่เข้ามายึดแผ่นดินจีนในยุคหลังๆ โดยเฉพาะในราชวงศ์แมนจู หรือที่เรียกว่า "ราชวงศ์เช็ง"  ได้เปิดโอกาสและสนับสนุนคนจีนที่ทำมาหากินอยู่นอกประเทศให้ช่วยเหลือบ้านเมืองที่กำลังอยู่ในสภาพยุ่งเหยิง  บรรดาคนจีนที่อพยพเข้าไปในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย  พม่า ได้นำเอาวัฒนธรรม ประเพณี ความสามารถทางเศรษฐกิจเข้าไปมีบทบาทในประเทศต่างๆ ที่ว่านี้ จนเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในประเทศนั้นๆ สูงมาก เคยมีพละกำลังถึงขั้นก่อการจลาจลแข็งข้อต่ออำนาจการปกครองในแต่ละประเทศมาด้วยกันทั้งสิ้น  ไม่ว่าจลาจลของชาวจีนในมาเลเซีย ในอินโดนีเซีย ในไทย ในพม่า แต่สุดท้ายก็ผสมกลมกลืนเป็นชาติเดียวกัน เป็นชาวมาเลย์ ชาวไทย ชาวพม่า ชาวอินโดนีเซีย ชาวฟิลิปปินส์ ในช่วงเวลาไม่กี่สิบกี่ร้อยปีมานี่เอง  แต่ได้มีบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในทุกๆ ประเทศ  อย่างกรณีของมาเลเซีย ก็มีบทบาทถึงขั้นแยกตัวออกไปตั้งประเทศใหม่คือ สิงคโปร์ ในฟิลิปปินส์ ชาวจีนตระกูลโค้วได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีที่ชื่อ "อาคิโน" มาแล้ว ในอินโดนีเซียก็เคยมีการรวมตัวกันของชาวจีนกับชาวพื้นเมืองอินโดฯ ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย มีสมาชิกนับล้านๆ คน ก่อนที่จะถูกอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตสังหารหมู่ตายไปเป็นล้าน

เรียกได้ว่าอิทธิพลของทั้งจีนและอินเดียนั้นผสมผสานในแบบที่แยกไม่ออกจากบรรดาประเทศต่างๆ ในย่านนี้ได้เลย

 

ฟื้นชีพจ้าวเอเชีย

แต่เมื่อโลกได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ ความเป็นมหาอำนาจของจีนและอินเดียได้หมดบทบาท หมดอิทธิพลลงไปเพราะฝรั่งตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ มาจนถึงทุกวันนี้ ว่ากันว่าบทบาทที่เคยเกรียงไกรในอดีตกำลังจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ทั้งจีนและอินเดียได้ถูกคาดการณ์ว่าในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกล คือราวไม่เกิน 30 ปี จะกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจอย่างมาก ไม่ใช่แค่เพียงในระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ในระดับโลกอีกด้วย

เริ่มกันตั้งแต่ขนาดพื้นที่เป็นอันดับแรก อินเดียมีเนื้อที่กว้างขวางถึง 1,266,599 ตารางไมล์   จีนมีเนื้อที่ประเทศถึง 3,696,100 ตารางไมล์ เรียกว่าใหญ่โตสุดลูกหูลูกตาด้วยกันทั้งคู่ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ จำนวนประชากรที่เป็นพื้นฐานสำคัญโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ที่จะเป็นพลังในการผลิตสินค้าต่างๆ รวมทั้งการเป็นตลาดในการรองรับสินค้าซึ่งจะทำให้เกิดการดึงดูดการค้าขายการลงทุนกันได้คราวละมากๆ จำนวนประชากรของอินเดียนั้น พุ่งไปถึงตัวเลข 1.08 ล้านคน แล้ว ในขณะที่จีนซึ่งพยายามควบคุมจำนวนประชากรมาโดยตลอด แต่ตัวเลขในปัจจุบันก็อยู่ที่ประมาณ  1.30 พันล้านคน ซึ่งหากนำจำนวนประชากรของทั้งสองประเทศมารวมกันก็จะเท่ากับประชากรประมาณครึ่งโลก คือเกือบจะถึง 3,000 ล้านคนในอีกไม่ใกล้ไม่ไกล

ถ้าหากจะวัดคุณภาพของประชากรจากระดับการศึกษา เรียกได้ว่าไม่สูงมากนัก หรืออาจยังอยู่ในระดับด้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ  กล่าวคืออินเดียมีจำนวนประชากรที่ไม่รู้หนังสือ หรืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่จีนมีน้อยกว่าคือไม่ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยปริมาณของประชากร ทำให้จำนวนผู้ที่สามารถสร้าง สามารถผลิตอะไรต่อมิอะไรที่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ มีไม่ด้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วแต่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าสักเท่าไหร่นัก  ซึ่งหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน 6 ตุลาคม ที่ผ่านมารายงานว่า นาย "ไคลด์ วี. เพรสโทวิชต์"   อดีตผู้แทนการค้าสหรัฐฯ  ได้เขียนหนังสือชื่อ "Three Brillion new Capitalist the Great Shift of Wealth and Power to The East" โดยเนื้อหาพยายามชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของประเทศในโลกตะวันออกอย่างจีนและอินเดียไว้มากมายว่า อาจกลายเป็นประเทศที่เติบโตแซงหน้าสหรัฐอเมริกา และประเทศชั้นนำในตะวันตกในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า หรือภายในปี ค.ศ. 2050 ก็ไม่แน่    โดยชี้ให้เห็น "ความได้เปรียบ" เรื่องจำนวนประชากรไว้ด้วย ดังที่นายเพรสโทวิชต์ได้กล่าวว่า…"ในจำนวนประชากรของจีนและอินเดียที่รวมกันแล้วประมาณ 3,000 กว่าล้านคนนั้น จะมีประชากรประมาณ 300 ล้านคน หรือมากเท่ากับจำนวนประชากรของสหรัฐฯ ทั้งประเทศ ที่มีศักยภาพหรือมีขีดความสามารถพอที่จะทำการผลิตในสิ่งที่ชาวอเมริกัน หรือชาติพัฒนาแล้วอื่นๆ ผลิตได้ และยังสามารถผลิตได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่ามากอีกต่างหาก…"

ความเห็นดังกล่าวนี้ไม่ต่างไปจากที่นิตยสาร  Business Week   ได้บอกไว้คือ บุคลากรที่มีความรู้ระดับ

"บัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์" ที่จีนและอินเดียผลิตได้ในขณะนี้มีมากถึงประมาณครึ่งล้าน หรือ 500,000 กว่าคนต่อปี ในขณะที่สหรัฐฯ ที่ถือว่าก้าวหน้าที่สุด สามารถผลิตบุคลากรในสาขา หรือในระดับเดียวกันได้ประมาณ  60,000  คนต่อปีเท่านั้น     ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการอ้างถึงรายงานของบริษัทวิจัย    "แมคคินซีย์

โกลบเบิล" ที่บอกว่า บรรดาบุคลากรที่มีความสามารถสูงในระดับที่เรียกว่านักวิจัยนั้น  ทั้งจีนอินเดียมีนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานวิจัยในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถคาดการณ์ได้ว่าภายในปี ค.ศ. 2008 หรือในอีกแค่ 3 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนนักวิจัยเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์  ขณะที่จำนวนนักวิจัยของสหรัฐฯ ในระยะเดียวกัน กลับมีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ คืออาจเหลือแค่ 760,000 คน ภายในปีค.ศ. 2008 หรือลดลงไปถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแนวโน้มที่ออกมาในลักษณะเช่นนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตข้างหน้าหรือในอนาคตอันใกล้นี้ "ดุลอำนาจทางเทคโนโลยี" ที่เอียงไปทางประเทศซีกโลกตะวันตกมาตลอดนั้น อาจถูกเหวี่ยงมาทางตะวันออก หรือเคลื่อนตัวจากโลกตะวันตกมาอยู่ที่โลกตะวันออกแทน

นอกจากปริมาณบุคลากรที่มีคุณภาพ จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศแล้ว บรรดาผู้คนทั้งหลายที่มีปริมาณมากมายมหาศาลยังถูกมองในฐานะตัวสร้าง "ศักยภาพการตลาด" หรือเป็นพลังการบริโภคที่ใครต่อใครต่างให้ความสนใจกันสุดขีด หรือกลายเป็นตัวดึงดูดการลงทุนของต่างชาติให้เข้ามาผลิตสินค้าเพื่อขายในตลาดเหล่านี้กันได้อย่างสะดวก อย่างมากมายกว้างขวางกันต่อไป จีนนั้น แทบไม่ต้องห่วง พลังการบริโภคของผู้คนระดับเป็นพันล้าน ทำให้ชาวจีนกลายเป็น "นักบริโภคแห่งศตวรรษที่ 21" ของโลกไปแล้ว แค่เพียงการบริโภครถยนต์ก็ทำให้บริษัทรถยนต์ต่างประเทศวิ่งกรูเข้าหาตลาดจีนกันอุตลุด รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ทำยอดทะลุ 3 ล้านคัน  ทำให้จีนกลายเป็นตลาดบริโภครถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกไปเรียบร้อย ยิ่งมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตอันใกล้ ท้องถนนในเมืองจีนจะมีรถราขวักไขว่ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านคัน สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นตัวดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศกันแบบไม่ขาดสาย

ส่วนอินเดียแม้ว่าจะออกสตาร์ทช้ากว่า วิ่งตามหลังจีนหลายก้าวชนิดทิ้งห่างกันพอสมควร แต่ก็บริโภคกันแหลกลาญและมีอัตราความเร็วที่น่ากลัวไม่น้อย เช่น กรณีของโทรศัพท์มือถือที่ในปัจจุบันมีตัวเลขระบุว่ามีจำนวนผู้ใช้มือถือระบบ GSM ประมาณ 45 ล้านคน แม้ว่าจะน้อยกว่าจีนที่ตอนนี้พกมือถือกันไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคนเข้าไปแล้ว แต่ความเร็วในการบริโภคของอินเดียนั้นเรียกว่าแรงมาก คือ จากที่เคยใช้มือถือกัน 13 ล้านคน ได้เพิ่มเป็น 45 ล้านคนในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น หรือในแต่ละเดือนจะมีคนมาจดทะเบียนใช้โทรศัพท์รายใหม่ๆ  ถึง 2.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขการบริโภคสวยหรูแบบนี้ทำให้บริษัทผลิตและจำหน่ายมือถือตาลุกกันเป็นแถวๆ  ไม่ว่าโนเกีย ซัมซุง โมโตโรลา ฯลฯ ต่างเตรียมย้ายฐานการลงทุนไปอยู่ที่อินเดียด้วยกันทั้งนั้น นอกเหนือไปจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นยอดซื้อรถยนต์ การขยายตัวของตลาดหุ้นมุมไบ และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายล้วนเฟื่องฟู อู้ฟู่ เรียกว่าถึงจะมาช้ากว่าจีน แต่พอมาแล้วก็เร่งเต็มที่ ทั้งเร็วและแรงอีกต่างหาก

ความแรงของทั้งจีนและอินเดีย ทำให้นายไคลด์ เพรสโทวิชต์สรุปไว้ในหนังสือของเขาว่า…แม้ว่ารายได้โดยเฉลี่ยของประชากรทั้งสองประเทศอาจไม่สูงขึ้นสักเท่าไหร่  แต่ GDP ของจีนอาจแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ไม่ยากหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นทุกวันนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2050 ในขณะที่อินเดียจะแซงหน้ามหาอำนาจเศรษฐกิจยุโรปทุกประเทศ…

นายเพรสโทวิชต์ยังสรุปถึงขั้นว่า ศักยภาพของทั้งสองประเทศที่เป็นไปเช่นนี้นั้น จะทำให้จีนและอินเดียมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีอิทธิพลต่อองค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง ไม่ว่าองค์การการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (IMF)  ธนาคารโลก (World Bank) ฯลฯ  หรือพูดง่ายๆ ว่า การที่พลังขับเคลื่อนระบบโลกหรือพลังขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ในอนาคตจะถูกผลักถูกเหวี่ยงโดยตะวันออกแทนตะวันตก อาจมีความเป็นไปได้มากขึ้น ???

 

2050 จีนจะครองแชมป์

ถ้าหากมองจากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่วัดจากตัวเลข GDP แล้ว ต้องถือว่าทั้งจีนและอินเดียยังอยู่ในระดับ "เด็กๆ"  คือจีนอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โลก อินเดียอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์   ขณะที่สหรัฐฯ มีสัดส่วนอยู่ถึง 28 เปอร์เซ็นต์   ญี่ปุ่น 12 เปอร์เซ็นต์ ที่สูงที่สุดคือ สหภาพยุโรป หรือ EU ที่มีสัดส่วนรวมอยู่ 34 เปอร์เซ็นต์ แต่นักเศรษฐศาสตร์ และแวดวงเศรษฐกิจโลกค่อนข้างเชื่อว่าตัวเลขที่ว่านี้จะเปลี่ยน และเปลี่ยนเร็วพอสมควร ถ้าหากไม่มีอุปสรรค อุบัติเหตุทางการเมือง การทหาร หรือเรื่องอื่นๆ เข้ามาแทรกแล้ว ในช่วงปี ค.ศ. 2025 หรืออีกราว 20 ปีข้างหน้า ตัวเลขจะเปลี่ยนไปเป็น สหรัฐฯ มีสัดส่วนลดลงไปเหลือ 27 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โลก  สหภาพยุโรปร่วงลงไปอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์  ญี่ปุ่นหดตัวเหลือแค่ 7 เปอร์เซ็นต์  จีนจะผงาดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ และอินเดียจะค่อยๆ แบกแผงโรตี แผงถั่วตามมาเป็น 5 เปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าหากปล่อยให้ภาวะแบบนี้ไหลไปเรื่อยๆ จนถึงปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 45 ปีข้างหน้า ตัวเลขก็จะเปลี่ยนไปอีก คือสหรัฐฯ จะหดตัวเหลือ 26 เปอร์เซ็นต์  สหภาพยุโรปจะรูดมหาราชเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์  ญี่ปุ่นร่วงลงมาเหลือแค่ 4 เปอร์เซ็นต์   ในขณะที่จีนแซงหน้าเข้าเส้นชัย คือจะมี GDP เมื่อเทียบกับ GDP โลกแล้วใหญ่โตที่สุดคือ 28 เปอร์เซ็นต์   ส่วนอินเดียนั้น   จะยังแบกแผงถั่ว แผงโรตีหรือไม่ก็ตาม  แต่จะโผล่ขึ้นมาสูงกว่าสหภาพยุโรป คือจะโตไปถึง 17 เปอร์เซ็นต์ของ GDP โลก

การคาดการณ์เป็นตัวเลขในแนวนี้มีการมองกันมานานแล้ว ทั้งโดยผู้เชี่ยวชาญในจีน อินเดีย อเมริกา หรือในระดับโลก  ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็แล้วแต่ ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะลักษณะอัตราการเติบโตยังไม่ถึงกับทิ้งห่างหรือก่อให้เกิดความแตกต่างจนน่าตกใจเกินไป ยังอยู่ในสภาพวิ่งไล่กวดกันไปตามสภาพ หรือโตแบบเฉลี่ยๆ กันไป  แต่ที่กลาย "เป็นเรื่อง" ขึ้นมาก็เพราะในช่วงหลังๆ นี้ ได้มีการสร้างมุมมองหรือแง่คิดใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้เรื่องที่ว่าถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้งอย่างเอาจริงเอาจังพอสมควร นั่นก็คือเกิดมีมุมมองขึ้นมาว่า ถ้าหากอินเดียที่กำลังไล่กวดจีน   หรือสามารถเป็นตัวเบียดตัวรั้งจีนไว้บ้าง   กลับไป "รวมตัว" กับจีน กลายเป็น

"จินเดีย" อย่างที่ว่า หรือร่วมมือกันโต ร่วมมือกันเปลี่ยนดุลอำนาจ เปลี่ยนพลังขับเคลื่อนโลกจากตะวันตกให้ไหลมารวมอยู่ที่ตะวันออก อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ??? บรรดาพวกโลกตะวันตก ไม่ว่าฝรั่งอเมริกาหรือฝรั่งยุโรป จะกลายสภาพจากเรือรบเป็นไม้จิ้มฟันไปเลยหรือไม่… ประมาณนั้น

ซึ่งคนที่ตั้งปุจฉาเรื่องทำนองนี้ขึ้นมาอย่างเช่นนิตยสาร Business Week ที่บอกว่า "แนวโน้มของความร่วมมือส่งเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันมีความเป็นไปได้ เพราะแม้นว่าทั้งคู่จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องแรงงานราคาถูก แต่ทักษะและเทคนิคการบริหารมีจุดเด่นแตกต่างกัน จุดเด่นของจีนอยู่ที่ศักยภาพในการผลิตสินค้าคราวละมากๆ  ซึ่งจีนถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติที่สามารถสร้างโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมหนักมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ได้ ในขณะที่อินเดียเด่นเรื่องการผลิตสินค้าไอที ประเภทซอฟต์แวร์ การออกแบบ บริการ อุตสาหกรรมที่ต้องการความประณีต" ก็เลยมีการตั้งคำถามว่า "แนวโน้มดังกล่าวจึงก่อให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าประเทศทั้งสองรวมตัวกันเป็น…จินเดีย" และยังบอกต่อไปด้วยว่าแนวโน้มในแบบที่ว่านี้พอได้กลิ่นอยู่เหมือนกัน  ถึงแม้ว่าในขณะนี้ประเทศทั้งสองจะค้าขายแลกเปลี่ยนกันในระดับเล็กๆ มูลค่าเพียงปีละ 14,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่แนวโน้มที่น่าสนใจคือการเข้าไปลงทุนในจีนของบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ซึ่งบรรษัทเหล่านั้นใช้ซอฟต์แวร์ที่ผลิตในอินเดียควบคู่กันไป

หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ 20 สิงหาคม 2548 รายงานว่า "มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดียเช่นนี้    อาจทำให้ผลที่ตามมาก็คือ  การปลดคนงาน  หรือลดค่าจ้างแรงงานในสหรัฐอเมริกาหรือไม่

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโลกตะวันตกจะได้รับผลกระทบจากความสั่นสะเทือนในอนาคตแน่ๆ จนเมื่อมีข้อเสนอจากบริษัทจีนที่จะเข้าเทคโอเวอร์บริษัทธุรกิจต่างๆ หรือมีความพยายามทำข้อตกลงตั้งศูนย์ปฏิบัติการนอกประเทศในอินเดียแต่ละครั้ง จึงมักได้รับการต่อต้านอย่างหนักเสมอจากนักการเมืองในสหรัฐฯ   และทำให้กลุ่มนักวิชาการของรัฐบาลวอชิงตัน มักจะตีพิมพ์เผยแพร่เอกสารปึกใหญ่ที่แสดงถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนในด้านไมโคร-อิเล็กทรอนิกส์ นาโนเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอวกาศ  โดยพยายามให้ภาพด้านลบถึงผลกระทบที่จะบังเกิดต่อความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ เสมอๆ…"

เรียกว่าถ้าหาก 2 ประเทศยักษ์ในเอเชียเกิดจับมือกันอย่างที่ว่าจริงๆ ก็คงวุ่นไม่น้อยสำหรับสหรัฐฯ

 

รวมกันเราใหญ่

ในเรื่องนี้ หากมองจากข่าวคราวโดยทั่วไปแล้ว ดูเหมือนว่าจีนที่ต้องถือว่าเป็นเป้าหมายแรกของสหรัฐฯ จะมองเห็นแนวโน้มที่ว่านี้อยู่เหมือนกัน ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของจีนที่ในระยะหลังออกไปในทางที่ต้องการจะเจาะเข้าไปกินถั่วกินโรตีกับอินเดียนั้นมีอยู่ไม่น้อย  เช่น เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าว AFP ได้รายงานถึงความเห็นของกลุ่มคนที่เรียกว่า "นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ" โดยหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 5 เมษายนนำมาถ่ายทอดต่อว่า "เมื่อวันที่ 4 เมษายน เหล่านักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศระบุว่า จีนกำลังเริ่มแผ่อิทธิพลลงไปในภูมิภาคเอเชียใต้แล้ว เห็นได้ชัดจากการที่นายกรัฐมนตรี เหวินเจียเป่า มีกำหนดการเดินทางไปเยือนภูมิภาคเอเชียใต้ในสัปดาห์นี้ ซึ่งน่าเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากความวิตกกังวลหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะให้การสนับสนุนและผลักดันให้อินเดียขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกภายในศตวรรษนี้ นักวิเคราะห์ฯ มองว่าการเยือนเอเชียใต้ของผู้นำจีนในครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าจีนเริ่มตระหนักถึงภูมิภาคเอเชียใต้ในฐานะปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของจีนเองบ้างแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐฯประกาศร่วมมือกับอินเดียให้แน่นแฟ้นขึ้น"

โดยนาย "แบรด กอสแมน" นักวิเคราะห์แห่ง Pacific Forum CSIS ในฮาวายกล่าวว่า "ดูเหมือนจีนกำลังวิตกว่าสหรัฐฯ กำลังปิดล้อมจีนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจีนกำลังพยายามหาวิธีที่จะสร้างความสัมพันธ์ด้านบวกกับเอเชียใต้ให้มากขึ้น หลังจากที่ได้ตั้งสมมติฐานว่ากำลังเกิดการแข่งขันระหว่างอิทธิพลจีนและสหรัฐฯ บ้างแล้วในภูมิภาคนี้" นอกจากนั้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นาย "เดวิด มัลฟอร์ด" ทูตสหรัฐฯ ประจำอินเดียเปิดเผยว่าเป็นเพราะนโยบายสหรัฐฯ ที่จะทุ่มความช่วยเหลือให้กับอินเดียเพื่อการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในศตวรรษที่ 21 นี้  ได้ทำให้จีนรู้สึกชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าสหรัฐฯพยายามโอบล้อมอิทธิพลจีนที่กำลังขยายตัวอยู่ในเอเชีย…"

เรียกได้ว่า เริ่มมีการจับทางกันว่ามังกรจีนน่าจะเลื้อยเข้าไปกินโรตีแน่ๆ  แต่ก็ไม่ได้มีเพียงการเดินทางไปเยือนของนายกรัฐมนตรีจีนเท่านั้นที่แสดงถึงแนวโน้มในแบบที่ว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดียในบางเรื่อง เช่น การแข่งกันหาแหล่งน้ำมันที่เพิ่งชิงกันประมูลซื้อบริษัทน้ำมันแคนาดาที่ชื่อ "ปิโตร คาชัคสถาน" ที่เคยนำมาเล่าให้ฟังไปเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วว่าบริษัทจีนเสนอราคาซื้อตัดหน้าบริษัทอินเดียสูงกว่ากันถึง 580 ล้านดอลลาร์ ก็เลยคว้าพุงปลาไปกิน จนทำเอาแขกหนวดกระดิกไปพอสมควร แต่ข่าวคราวล่าสุดที่ออกมาในตอนต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ต้องเรียกว่าเริ่มมีความพยายามสมานแผล ในการหาทางขจัดความขัดแย้งประเภทนี้ในอนาคตข้างหน้ากันพอสมควร กล่าวคือ จีนและอินเดียได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องพลังงาน จนมีแผนที่จะลงนามความตกลงกันในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เพื่อที่จะร่วมกันในการประมูลโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแหล่งต่างๆ พูดง่ายๆ ว่าได้บรรลุข้อตกลงที่จะ "ฮั้ว" กันในการออกไล่ล่าหาน้ำมันและก๊าซ แทนที่จะแย่งชิงตัดราคากันในแบบเดิมๆ

ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็น "สัญญาณ" ที่มีความสำคัญไม่น้อย ถึงขั้นที่ศาสตราจารย์ "ฮิว ไวท์" จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้ความเห็นไว้ว่า "ความร่วมมือระหว่างจีนกับอินเดียในการจัดหาแหล่งพลังงานร่วมกันนั้นจะส่งผลดีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมไปถึงทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย และอาจสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือกันในทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศที่มีต่อภูมิภาคนี้ เนื่องจากหากความมั่นคงด้านพลังงานของแต่ละประเทศประสบปัญหา ย่อมหมายถึงการนำไปสู่ภาวะไร้ความมั่นคงของทั้งภูมิภาคได้"

 

ไม่มีใครอยากเห็น…ใครเด่นเกิน

เอาเป็นว่า สัญญาณที่เป็นไปในลักษณะที่ว่าพอเริ่มให้เห็นกันบ้างแล้ว แต่มันจะนำไปสู่ความร่วมมือกันถึงขั้นผนึกกำลังกันเป็น "จินเดีย" เขย่าโลกตะวันตก เปลี่ยนดุลอำนาจของโลกกันในอนาคตเลยหรือไม่ ในเรื่องนี้แม้กระทั่งนิตยสาร Business Week   ซึ่งเปิดประเด็นขึ้นมาเอง  ก็ดูจะยังไม่แน่ใจ หรือไม่มั่นใจสักเท่าไหร่ว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้ง่ายๆ  โดยบอกไว้ในท้ายที่สุดว่า "ถ้าหากมองถึงการแข่งขันทางการเมืองของทั้งสองประเทศ และความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจของแต่ละฝ่ายแล้ว อาจทำให้แนวคิดดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้..." ซึ่งข่าวคราวทำนองนี้ก็มีให้เห็นเช่นกัน โดยหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน วันที่ 6 ตุลาคม ได้อ้างถึงกรณีที่  "คณะกรรมการส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตแห่งชาติ" ของอินเดีย ได้ออกเอกสารสมุดปกขาวว่าด้วย "ยุทธศาสตร์แห่งประเทศอุตสาหกรรมการผลิต" เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งที่ชี้แจงไว้คือ การแย่งชิงตำแหน่งศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตกับประเทศจีน ที่ถือว่าเป็นแนวทางที่จะสามารถทำให้อินเดียขจัดปัญหาการว่างงานในประเทศและสามารถยกระดับชีวิตเกษตรกรนับล้านคนขึ้นมาได้ง่ายๆ

"Research and Market"   ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านการตลาดรายใหญ่รายหนึ่ง   ชี้ให้เห็นว่านอกจากอินเดียจะมีแรงงานราคาถูกจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกับจีน อันเป็นเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญในการลงทุนทางธุรกิจแล้ว ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นที่น่าสนใจกว่าจีนไม่น้อย เช่น ระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเมืองที่มีลักษณะ "เปิดกว้าง" กว่าจีน มีเสรีในการแข่งขันสูงกว่า และยังมีความใกล้ชิดกับประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็น "ตลาดใหม่" อย่างประเทศในเอเชียใต้ ในตะวันออกกลาง ในแอฟริกาอีกต่างหาก

นอกจากนั้น อัตราการเติบโตของการบริโภคสินค้าที่แรงและเร็วมาก  เช่นโทรศัพท์มือถืออย่างที่กล่าวไปแล้ว  ทำให้เกิดความพยายามย้ายฐานการลงทุนการผลิตมือถือจากจีนไปยังอินเดีย จนนาย "เหอซิ่งหยวน" CEO บริษัทโนเกียในประเทศจีน ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "จีนอาจกำลังสูญเสียตำแหน่งโรงงานของโลกให้กับอินเดียไปเลยก็ไม่แน่ เพราะมีบริษัทจำนวนมากที่กำลังจะย้ายฐานการผลิตไปที่อินเดีย เช่นเดียวกับโนเกียที่คิดจะย้ายเหมือนกัน" ทางด้านนาย "กี ซุง โซย" CEO ของบริษัทซัมซุง ซึ่งเพิ่งจะไปเยือนอินเดียได้ออกมาพูดในทำนองเดียวกันว่า การที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในอินเดียเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 2,500,000 คนนั้น ทำให้ซัมซุงเชื่อมั่นว่าโอกาสในการย้ายการลงทุนเข้าไปในอินเดียมีมากขึ้น

การผลิตคอมพิวเตอร์ PC  ก็มีอาการไม่ต่างไปจากโทรศัพท์มือถือ  นั่นคือ บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อย่าง ฮิวเล็ตต์-แพคการ์ด และ  IBM ได้ย้ายเข้าไปใช้เมืองบังกาลอร์เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตและประกอบคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น  จนทำให้รายงานประจำปีนี้ของ  World Economic Forum ลดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของจีนจากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 46 ตกลงมาเป็นอันดับที่ 49 ในขณะที่เพิ่มอันดับให้อินเดียจากอันดับที่ 55 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 50 ตามเบียดตามจี้ก้นจีนมาติดๆ

และเมื่อไปดูปัญหาทางการเมืองก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ จีนกับอินเดียนั้นเคยมีปัญหาถึงขั้นลงไม้ลงมือกันมาแล้ว จนกลายเป็น"สงครามซิโน-อินเดียน" ในปี  ค.ศ. 1962   (พ.ศ. 2505)  และจีนได้หันไปถือหางปากีสถานที่ขัดแย้งกับอินเดียมาเป็นเวลายาวนานจนมีสัมพันธภาพที่ลึกซึ้งไม่น้อยทีเดียว ยิ่งตอนที่จีนเริ่มขยับตัวทำท่าจะแผ่อิทธิพลลงมาหาทางออกทะเลในแถบประเทศพม่า  หรือแทรกตัวลงมาทางใต้เพื่อหาช่องทางออกทะเลที่มหาสมุทรอินเดียอีกช่องทางหนึ่ง  อินเดียก็ตั้งรับแบบฉับพลันทันที มีการขยายศักยภาพกองทัพเรือ  พัฒนาฐานทัพในหมู่เกาะนิโคบาร์ , ลัคคาดีฟ , ไมคอย จ่อปากประตูเส้นทางที่มังกรจีนจะเลื้อยลงมากันซึ่งๆ หน้า  และความเคลื่อนไหวทำนองนี้ สหรัฐอเมริกาเห็นมานานแล้ว จึงตัดสินใจยื่นมือให้ด้วยการเลิกคว่ำบาตรอินเดียตั้งแต่ก่อนหน้าเหตุการณ์  11 กันยายน  ค.ศ. 2001 จากนั้นก็ได้หันมารื้อฟื้นการซ้อมรบร่วมกับอินเดียในปี ค.ศ. 2002  ภายใต้ชื่อรหัสว่า " Exercise Balance Iroquois " ในช่วงเดือนพฤษภาคม  ค.ศ. 2002

เพราะฉะนั้น   ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็คงจะต้องบอกว่า        สหรัฐอเมริกานั้นคงไม่ยอมปล่อยให้จีนกับอินเดียกลายเป็น  "จินเดีย" ที่จะนำเอาจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเสริมความแข็งแกร่งให้กันและกัน แล้วโค่นความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ กันได้ง่ายๆ

 

ซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง

แต่ถ้าหากจะสรุปถึงสัมพันธภาพของจีนกับอินเดียในอนาคตข้างหน้า ว่าจะมีผล มีอิทธิพลอย่างไรต่อบรรดาประเทศเล็กๆ ที่เคยผูกพันกันมาในอดีต และยังต้องเกี่ยวข้องกับบทบาทของทั้งสองประเทศอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงอิทธิพลที่จะมีต่อโลกทั้งโลกว่าท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลออกมาแบบไหนกันแน่

ก็คงต้องสรุปเป็น 2 แนวทาง   ในแนวทางแรกนั้น   ถ้าหากทั้งจีนและอินเดียไม่สามารถหลอมรวมกันในฐานะประเทศที่เป็นเอเชีย หรือกลายเป็นดุลอำนาจแห่งโลกตะวันออกได้อย่างจริงๆ จังๆ แต่กลับมาวิ่งกวดวิ่งไล่ แข่งขันกันจนอาจจะขัดแย้งแตกแยกกันต่อไปในอนาคตข้างหน้า ก็คงต้องสรุปว่าประเทศเล็กๆ ทั้งหลายที่อยู่ร่วมภูมิภาคน่าจะซวยไม่น้อย คือมันอาจจะนำไปสู่ความไม่มั่นคง ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคได้ไม่ยาก ไม่ว่าในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทหารก็ตาม   ในแนวทางที่สอง ถ้าหากทั้งคู่หันมาร่วมมือกันได้จริง ขยายขนาดเศรษฐกิจให้มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบโลกได้ ตามวิถีทางทุนนิยมที่ทั้งคู่ต่างพยายามวิ่งไล่กันอย่างสุดขีดในทุกวันนี้  ก็น่าจะก่อให้เกิด "ความซวย" ได้เช่นกัน แต่จะซวยด้วยกันไปทั้งโลก  เพราะเมื่อจินตนาการว่าประชากรของจีนกับอินเดียรวมกันประมาณ 3,000 ล้านคน หรือประมาณครึ่งโลก ได้หันมาบริโภคกันตามวิถีทางทุนนิยมกันแบบจริงๆ จังๆ โลกก็คงถูกสูบ ถูกแทะกันจนไม่น่าจะมีอะไรเหลือ

เดิมนั้น ท่าน "มหาตมะ คานธี"   เคยเตือนชาวอินเดียตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า อย่าเดินตามลัทธิทุนนิยมหรือลัทธิอุตสาหกรรมแบบตะวันตกอย่างเด็ดขาด   เพราะพระเจ้านั้นทรงไม่ประสงค์ให้อินเดียเดินไปตามวิถีทางนี้แน่ๆ   ในช่วงที่ท่านมหาตมะ คานธี เตือนนั้น อินเดียยังมีประชากรอยู่แค่ 300 ล้านคน ท่านบอกว่าให้คิดง่ายๆ ว่าถ้าหากประชากร 300 ล้านคน อยากจะมีชีวิตเหมือนกับชาวตะวันตกขึ้นมา มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากชาวอินเดียจะกลายเป็นฝูงตั๊กแตนขนาดมหึมาที่จะกัดแทะโลกทั้งโลกให้พินาศไปได้ง่ายๆ

แต่มาถึงวันนี้ สรุปได้ว่าชาวอินเดียไม่ฟังคำเตือนของท่านมหาตมะ คานธี อีกต่อไปแล้ว ทั้งๆ ที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นพันกว่าล้าน เช่นเดียวกับจีนที่มีอีกพันกว่าล้านเช่นกัน

บริษัทด้านการตลาดของอเมริกาชื่อ "Grey   global"   ได้สำรวจทัศนคติของคนหนุ่มคนสาวชาวจีนและอินเดียในระยะนี้แล้วพบว่าเหมือนกับหนุ่มสาวชาวอเมริกันเมื่อ 2-3 ทศวรรษที่แล้ว นั่นก็คือต่างเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานและมุ่งแสวงหาความสำเร็จด้านวัตถุอย่างรุนแรง

หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าหากทั้งคู่สามารถหลอมรวมกันเพื่อหาทางผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่ในโลกทุนนิยมได้จริงๆ แล้ว ก็หมายถึงการเกิดขึ้นของตั๊กแตนฝูงมหึมาถึง 3,000 กว่าล้านตัว และเมื่อรวมกับตั๊กแตนอีกกว่า 3,000ล้านตัวทั่วทั้งโลกแล้ว นักวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมเคยสรุปไว้ว่า จะต้องมีโลกถึง 5 ใบ จึงจะสามารถสนองตอบความต้องการกัดแทะของฝูงตั๊กแตนทั้งหลายได้

สรุปว่า ไม่ว่าจะแข่งกันหรือรวมกัน แนวโน้มน่าจะออกไปในทางซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง  นอกเสียจากว่าทั้งจีนและอินเดียจะหันหน้ามาร่วมมือกันแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เลิกคิดที่จะเป็นใหญ่ในโลกทุนนิยมอย่างที่กำลังเป็นอยู่ อย่างที่มีข่าวว่าจีนเริ่มที่จะเลิกให้ความสนใจกับตัวเลข GDP แบบเดิมๆ แต่จะหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า Green GDP หรือ "GDP เขียว"  ส่วนอินเดียอาจจะหันไปขุดตำนานเรื่อง "โรมวิสัย"  ที่เขียนทำนายอนาคตของประเทศไว้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช     มาศึกษาทบทวนกันอีกครั้ง…

ก็อาจจะพอรอด พอหายซวยกันไปได้บ้าง.  

 


บทความที่ออกอากาศฉบับก่อนหน้านี้






เมื่อธรรมชาติประกาศสงคราม…ทั้งดาวเดือนดินฟ้าก็อาเพศ…(ออกอากาศ 8-9 ตุลาคม 2548)






น้ำมันกับความมั่นคงเชิงป้องกัน (ออกอากาศ 24-25 กันยายน 2548)






โลกทั้งผองพี่น้องกัน (ออกอากาศ 10 -11 กันยายน 2548)




มาตรฐานความดี-ความชั่วที่เปลี่ยนไป?(ออกอากาศ 27-28 สิงหาคม 2548)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท