Skip to main content
sharethis


วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2005 14:14น. 

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


อาจแบ่งมรดกที่ กอส.จะทิ้งไว้ให้กับสังคมออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกเป็นมาตรการระยะสั้นหรือข้อเสนอที่กอส. เสนอให้รัฐบาลพิจารณานำไปดำเนินการในสถานการณ์พิเศษบางอย่าง และส่วนที่สองคือสิ่งที่เสนอให้สังคมไทยนำไปใช้ประโยชน์ระยะยาวคือ รายงาน กอส. กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ สถาบันที่ กอส.ร่วมมือกับภาคส่วนอื่นในสังคมสร้างขึ้น โครงการฝึกอบรม และที่สำคัญคือ ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กอส.นำเสนอสู่สังคมไทย ให้สาธารณชนได้คิดได้ถกเถียงแสดงเหตุผล และความรู้สึก ช่วยปลุกให้สังคมไทยมีชีวิตวิญญาณได้ครุ่นคิดถึงสิ่งซึ่งโดยปกติน้อยคนจะคิดถึง หรือนำมาแลกเปลี่ยนถกเถียงในเวทีสาธารณะ


 


ข้อเสนอกอส.เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


กรณีการเปิดเผยความจริง


องค์ประกอบหนึ่งของแนวทางสมานฉันท์คือ การเปิดเผยความจริงให้สังคมได้รับรู้ กอส.จึงได้พิจารณาเปิดเผยรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2548 ที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ กรือเซะ และเหตุชุมนุมที่ตากใบ


 


กอส.ได้พิจารณาเปิดเผยรายงานทั้งสองฉบับต่อสาธารณชนในการประชุมที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2548 จนสื่อมวลชนนำข้อมูลในรายงานดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อสังคมไทยในวงกว้าง เพื่อจะได้รับทราบ "ความจริง" จากการตรวจสอบของคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น


 


กรณีการเยียวยาเหยื่อความรุนแรง


เมื่อ กอส.เดินทางเข้าไปในพื้นที่ซึ่งเกิดความรุนแรง กรรมการบางท่านให้ความสำคัญกับการทำงานในฐานะมนุษย์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ได้รับทุกข์ ให้เขารู้สึกว่ามิได้ถูกสังคมไทยทอดทิ้งกัน ความพยายามเช่นนี้นำไปสู่ข้อเสนอให้ดำเนินการเยียวยาแก่ผู้สูญเสียทุกฝ่าย ทั้งพุทธและมุสลิม ทั้งที่เป็นชาวบ้านและข้าราชการ เพราะแม้ตัวผู้ใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นคนของรัฐ หรือเป็นผู้ก่อความไม่สงบ จะควรรับผลตามกฎหมาย แต่ลูกเมีย พ่อแม่ของเขามิได้กระทำผิดอะไรด้วย การแสดงความอาทรต่อคนเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญของแนวทางสมานฉันท์


 


อาจกล่าวได้ว่าความริเริ่มในทางเยียวยามีส่วนนำไปสู่คำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้งบประมาณกว่า 250 ล้านบาท


 


กรณีนักธุรกิจท้องถิ่น


ผู้คนที่ กอส.ได้พบปะพูดคุยด้วยมีหลายกลุ่มหลายเหล่า ทั้งญาติพี่น้องของเหยื่อความรุนแรงโดยตรง มาขอให้ช่วยเร่งรัดเรื่องคดีความ ทั้งกลุ่มองค์กรเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เมื่อได้พบกับกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 จากการเสวนา พวกเขาได้เล่าปัญหาของตนให้ กอส.ได้รับทราบ ทั้งในเรื่องการขอลดหย่อนภาษี เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบ ทั้งขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนธนาคารพาณิชย์เอื้อเฟื้อต่อธุรกิจเหล่านี้ในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากที่ช่วยให้ปัญหาของกลุ่มธุรกิจเป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะ เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบปะผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2548 ก็ได้เสนอมาตรการด้านการคลังเพื่อช่วยเหลือธุรกิจในท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว


 


กรณีชาวประมงพื้นบ้านและที่ทำกินของชาวสวน


ชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี และนราธิวาสจำนวนประมาณ 80,000 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ต้องเดือนร้อนเพราะมีคนอื่นเข้ามาทำประมงผิดกฎหมาย โดยเรืออวนรุน อวนลาก ก็ได้เสนอให้ตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน ดำเนินการลาดตระเวนป้องกัน ปราบปรามผู้ทำผิดกฎหมายในทะเล หรือกรณีชาวบ้าน 3 จังหวัดร้องเรียนกรณีเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ทับที่ทำกินของพวกเขา กอส. ก็เสนอให้กรมป่าไม้ อนุญาตให้ชาวบ้านตัดโค่นยางพาราที่หมดอายุในที่ดินทำกินของตนเองที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้ ข้อเสนอทั้งสองได้รับการตอบรับอย่างดีจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และสามารถปลดเปลื้องความทุกข์ของชาวบ้านไปได้บ้าง


 


กรณีมาตรการระยะสั้น 14 ข้อ


หลังเกิดเหตุรุนแรง เพลิงไหม้ ไฟฟ้าดับทั่วเมืองยะลา รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น และเพื่อใช้แทนกฎอัยการศึกที่ได้ยกเลิกไป กอส.เห็นว่า พระราชกำหนดดังกล่าว ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาความรุนแรงที่สอดคล้องกับแนวทางสมานฉันท์ จึงได้เสนอมาตรการระยะสั้น 14 ข้อ เพื่อแก้ปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ กระทั่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ โดยให้เหตุผลว่าสอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิบัติราชการของข้าราชการ และบางมาตรการที่เป็นการปรับปรุงวิธีปฏิบัติให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การเสนอให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์ในคดีต่างๆ


 


ข้อเสนอ กอส.เพื่อให้สังคมไทยนำไปใช้ในระยะยาว


 


๐ กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ จนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้รับเงินบริจาคกว่า 74 ล้านบาท เงินนี้จะนำไปใช้ช่วยเยียวยาผู้คนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความรุนแรง โดยไม่ซ้ำซ้อนกับการช่วยเหลือของทางราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ 2548


 


๐ ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่ร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม การเรียนรู้จากประชาชน ทำงานเพื่อความเป็นธรรมและสมานฉันท์ในพื้นที่ ศูนย์นี้สำคัญเพราะนอกจากจะเป็นหน่วยปฏิบัติทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับภาคประชาสังคมและภาครัฐแล้ว ยังเป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์กรพันธมิตรที่ทำงานเพื่อสถาปนาความยุติธรรม คือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ และ กอส. ศูนย์นี้จะมีหน้าที่ทำงานต่อไปแม้ว่า กอส.จะสิ้นสุดไปแล้ว


 


๐ โครงการฝึกอบรมต่างๆ ที่ กอส.ริเริ่มขึ้น เช่นโครงการฝึกอบรมด้านสนติวิธี เพื่อให้บุคลากรของรัฐเข้าใจแนวทางสันติวิธีมากขึ้น และมีทางเลือกในการเผชิญกับความขัดแย้งที่นับวันจะทวีขึ้น และมีทางเลือกในการเผชิญกับความขัดแย้งที่นับวันจะทวีขึ้น โครงการลักษณะนี้อาจดำเนินต่อไปโดยหน่วยงานของรัฐเอง หรือสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่


 


๐ รายงาน เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ของ กอส. ที่นำเสนอแนวทางเพื่อสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทยบนฐานความเข้าใจปัญหาความรุนแรงที่แยกบุคคลผู้ก่อความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดออกจากเงื่อนไขปัจจัยในชั้นโครงสร้างและวัฒนธรรม มุ่งจัดการแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวโดยอาศัยยุทธศาสตร์พระราชทานกับแนวคิดสมานฉันท์ทั้ง 9 ที่ประสานกันเป็นความพยายามสร้างชุมชนทางการเมืองด้วยสันติวิธี อาศัยทั้งความคิดเชิงนโยบายและพลังชุมชนเป็นหลักในการแก้ปัญหา ถือว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นพลังอันทรงคุณค่าของสังคม รายงานนี้เขียนขึ้นบนฐานความเห็น และการตริตรองของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ของ กอส. รายงานวิจัยที่ กอส.มอบหมายให้ดำเนินการ และคงมีประโยชน์ในเชิงวิชาการและนโยบายบ้างตามสมควร


 


๐ ที่สำคัญเห็นจะเป็นประเด็นปัญหาและข้อเสนอต่างๆ ที่ทำให้สังคมไทยโดยรวมต้องฉุกคิดไตร่ตรอง เช่นประวัติศาสตร์ชาติไทย มาตรฐานคือความจริงเพียงอย่างเดียวเกี่ยวกับความเป็นมาของผู้คนอันหลากหลายในสังคมไทยหรือ?


 


ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นพลังของสังคมไทยอย่างไร? รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 เปิดช่องทางในการปกครองท้องถิ่นไว้ แต่ช่องทางดังกล่าวจะก่อเกิดผลอย่างไร จะแก้หรือลดทอนปัญหาความรุนแรงได้หรือไม่? สาธารณชนมีส่วนมีเสียงในเรื่องความมั่นคงของชาติอย่างไร? สันติวิธีหมายถึงวิธีการชนิดใด เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้สันติวิธีแล้ว เหตุใดยังมีการสูญเสีย และเหตุใด อีกฝ่ายหนึ่งไม่หยุดใช้ความรุนแรง? หรือที่แท้งานสมานฉันท์เป็นอย่างไร? จะเป็นไปได้จริงหรือในสังคมไทย


 


-------------------------------------------------------------------------------


ข่าวประกอบ


 











เปิดร่าง กอส. ตอนที่ 6 : ลักษณะพิเศษของงานกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติของไทย








เปิดร่างกอส.ตอนที่ 5 : สมานฉันท์ที่ยั่งยืน















เปิดร่าง กอส. ตอนที่ 4 : ยุทธศาสตร์พระราชทานกับแนวคิดสมานฉันท์
เปิดร่าง กอส.ตอนที่ 3 : แนวโน้มความรุนแรง
เปิดร่างรายงาน กอส. ตอนที่ 2 : "ชาติพันธุ์และศาสนา" ข้ออ้างจุดไฟใต้
เปิดร่างรายงาน กอส. (ตอนที่ 1) : จินตนาการเพื่อสมานฉันท์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net