Skip to main content
sharethis

ประชาไท—2 พ.ย. 2548 วุฒิสภาเลือกแล้ว ป.ป.ช. 9 คน ท่ามกลางความวุ่นวายในการตีความเรื่องจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เนื่องจาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ. ทบ. ขอถอนตัว ทำให้ ส.ว. จำนวนมากปฏิเสธที่จะลงคะแนนเสียงเพราะเห็นว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และ ส.ว. อีก  3 คนขอไม่ใช้สิทธิเนื่องจากวิธีลงคะแนนลับ จึงเหลือ ส.ว. ที่ยืนยันลงคะแนนเสียง 149 คน โดยการลงคะแนนในรอบแรกได้ ป.ป.ช. 7 คน ซึ่งผู้ได้คะแนนสูงสุดคือ พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัดได้คะแนนถึง 130 คะแนน


 


ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 1 พ.ย.  วุฒิสภาซึ่งประชุมลับเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. มาตั้งแต่ช่วงเย็น ได้ใช้วิธีลงคะแนนลับเลือก ป.ป.ช. ครบจำนวน 9 คนโดยต้องเลือก 2 รอบเนื่องจากในรอบแรกมีผู้ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (100 คะแนน) จำนวน 7 คนได้แก่ พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้คะแนน 130 เสียง , นายศิวะ แสงมณี อธิบดีกรมการปกครอง ได้คะแนน 125 เสียง, นายไสว จันทะศรี ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา ได้คะแนน 128 เสียง, นายสมศักดิ์ แก้วสุทธิ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้คะแนน 116 เสียง, พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯ ได้คะแนน 112 เสียง ,นายสุรพล เอกโยคยะ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้คะแนน 111 เสียง  ,พล.อ.เกษมชาติ นเรศเสนีย์ ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม ได้คะแนน 108 เสียง


 


น่าสังเกตว่า การได้เสียงเกินกว่า 100 เสียงตั้งแต่รอบแรกนี้ มาจากจำนวนผู้ลงคะแนนเพียง 147 คนเท่านั้น


 


ส่วนรอบที่ 2 ใช้เกณฑ์ผู้ได้คะแนนสูงสุด โดยไม่ต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 คน คือ นายสมโภชน์ กาญจนภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และนางแน่งน้อย ณ ระนอง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร


 


 


พล.อ.ประวิตร ถอนตัว ทำสภาสูงวุ่น


ทั้งนี้ การประชุมของวุฒิสภาเพื่อพิจารณาเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น. วานนี้ เริ่มต้นด้วยการที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กรุงเทพฯ สอบถามนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภาถึงกรณีผู้ได้รับการเสนอชื่อแจ้งขอถอนตัว 1 คน ซึ่งนายสุชนชี้แจงว่า มีผู้ถอนตัวจริง แต่จะแจ้งรายละเอียดหลังจากที่กรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติและความประพฤติผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. รายงานรายละเอียดของผู้ได้รับการเสนอชื่อแล้ว แต่นายการุณ ใสงาม ส.ว. บุรีรัมย์ท้วงว่า หากมีผู้ถอนตัวจริงต้องแจ้งก่อนการประชุม เพราะหากมีผู้ถอนตัว ก็จะส่งผลให้ผู้ไดรับการเสนอชื่อไม่ครบ 18 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด


 


จากนั้นนายสุชน จึงแจ้งว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ. ทบ. ได้ทำหนังสือแจ้งขอถอนตัวมาถึงตนเมื่อวันที่ 31 ต.ค. และตนได้โทรศัพท์ไปสอบถามกับเจ้าตัวก็ได้รับการยืนยันว่า พล.อ. ประวิตร มีเจตนาขอถอนตัวจริงโดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพ เนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ต้องอยู่ในวาระนานถึง 9 ปี เกรงว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สมเจตนารมณ์ และทำให้ต้องมีการสรรหา ป.ป.ช. คนใหม่มาทำหน้าที่แทน ซึ่งจะทำให้การทำงานของ ป.ป.ช. ต้องสะดุดหยุดลง จึงอยากเปิดโอกาสให้วุฒิสภาได้เลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม


 


ภายหลังคำชี้แจงของนายสุชน ที่ประชุมวุฒิสภาก็เริ่มเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย โดย ส.ว. ฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า การถอนตัวของ พล.อ. ประวิตร ทำให้จำนวนของผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดคือ 18 คนในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเสนอว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติเพียงให้กรรมการสรรหาเสนอรายชื่อมาให้วุฒิสภาคัดเลือกเป็น 2 เท่า แต่ไม่ได้ระบุว่า ให้กรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติฯ เสนอชื่อเป็น 2 เท่า การที่ พล.อ.ประวิตร ถอนตัวจึงไม่น่าจะใช่ปัญหา และวุฒิสภาสามารถเลือก ป.ป.ช. ต่อไปได้


 


เจิมศักดิ์ชี้ซ้ำรอย ป.ป.ช. ชุดแรก ส.ว.ให้เลือกไหม


อย่างไรก็ตาม มี ส.ว. บางส่วน เสนอทางออกและให้เหตุผลอื่น เช่น นายแก้วสรร อติโพธิ ให้เหตุผลว่า การถอนตัวของ พล.อ. ประวิตร ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาเช่นนี้ทำไม่ได้ โดยนายแก้วสรรเทียบเคียงกับกฎหมายเลือกตั้งว่า เมื่อผู้สมัครผ่านกระบวนการมาถึงการได้เบอร์แล้วไม่สามารถถอนตัวได้ เพราะถ้าเปิดช่องให้ถอนตัวก็จะมีการซื้อตัวกัน ดังนั้นกระบวนการเลือกจะต้องเดินต่อโดยไม่ถือว่า พล.อ.ประวิตร ถอนตัว ส่วน ส.ว. คนใดจะเลือก พล.อ.ประวิตร หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วน พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ เสนอทางออกให้ประธานสภาโทรศัพท์ไปถาม พล.อ.ประวิตรว่า ให้เปลี่ยนถ้อยคำจากการขอถอนตัวเป็น ขอให้ไม่เลือกตนเองเป็น ป.ป.ช. จะได้หรือไม่


 


นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เสนอว่า การถอนตัวกลางคันเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือก ป.ป.ช.ชุดแรก ซึ่งนายสถิตย์ ไพเราะ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกาแจ้งขอถอนตัว โดยที่ประชุมวุฒิสภาในครั้งนั้นมีมติให้กรรมการสรรหาไปสรรหาเพิ่มมาให้ครบตามจำนวน


 


ด้าน พล.อ.วัฒนา สรรพานิช ส.ว.กาญจนบุรี ได้แจ้งว่า ได้โทรศัพท์สอบถาม พล.อ.ประวิตรแล้ว โดยพล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่คิดว่าจะมีปัญหาในข้อกฎหมาย ซึ่งเมื่อเป็นปัญหาก็ขอยืนยันจะเป็น 1 ใน 18 คนในการเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป แต่ขอแสดงเจตนาไม่อยากได้รับเลือก


 


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมก็ยังคงถกเถียงกันต่อไปถึงมาตรฐานเรื่องการถอนตัว จนเวลาผ่านไปเกือบ 5 ชั้วโมง ที่ประชุมจึงลงมติปิดอภิปรายด้วยคะแนน 114 ต่อ 38 เสียง และมีมติให้ดำเนินการเลือก ป.ป.ช. ต่อไปด้วยคะแนน 92 ต่อ 78 เสียง


 


หลังจากนั้น กรณีหนังสือถอนตัวของพล.อ.ประวิตร ก็ยังเป็นปัญหาตามมา เนื่องจากกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ไม่ชัดเจนว่า จะสามารถรายงานประวัติในส่วนของ พล.อ.ประวิตร ได้หรือไม่ และต้องถกกันให้ชัดว่าหนังสือขอถอนตัวของ พล.อ.ประวิตร นั้น ประธานวุฒิสภามีอำนาจพิจารณาหรือไม่ โดยมี ส.ว. บางส่วนขอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน ทำให้ต้องพักการประชุมอีก 30 นาที


        


ส.ว.วอล์คเอาท์


เมื่อเริ่มอภิปรายอีกครั้งด้วยประเด็นการขอคำยืนยันในการเลือก ป.ป.ช. ก็มี ส.ว.บางส่วนประกาศวอล์คเอาท์ โดยให้เหตุผลว่าที่ประชุมของวุฒิสภากำลังกระทำขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดย ส.ว.ที่วอล์กเอาท์มี นายการุณ ใสงาม ส.ว.บุรีรัมย์ นางมาลีรัตน์ แก้วก่า ส.ว.สกลนคร นายคำนวณ เหมาะประสิทธิ์ ส.ว.อุตรดิตถ์ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย นางประทีป อึ้งทรงธรรม นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กทม. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กทม.ประธานคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบกระบวนการสรรหาฯ


 


ทั้งนี้ เมื่อมาถึงกระบวนการลงคะแนนโดยวิธีประชุมลับ ก็มี ส.ว. ประกาศไม่ลงคะแนนอีก 3 คนคือนายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว. กรุงเทพฯ และนางนิพัทธา อมรรัตนเมธา ส.ว.ปทุมธานี และนายวงศ์พันธุ์ ณ ตะกั่วทุ่ง


 


แต่แม้จะมี ส.ว. ประกาศไม่ร่วมลงคะแนนจำนวนถึง 51 คน แต่ที่ประชุมวุฒิสภาก็เลือกที่จะดำเนินการต่อไปโดยวิธีประชุมลับ และเลือก ป.ป.ช. ครบทั้ง 9 คน ในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net